เสร็จสรรพ ร่าง รธน. ฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่มีฉายามากมายแต่ลงท้ายก็คือพิมพ์เขียวสำหรับ คสช. และแวดวงคนดีๆ ที่จัดฉาก เรียกแขก แบกบ่า อุ้มสม และผลัดกันชม ได้อยู่ยาว
เนื้อหาคร่าวๆ กล่องดวงใจของรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ที่ มาตรา ๒๖๐-๒๖๒ และ ๒๘๐ ซึ่งกำหนดองค์คณะเหนือรัฐธรรมนูญ ประดุจดังบิดาของทุกๆ องค์กร ในชื่อย่อว่า คปป. หรือชื่อเต็มวิลิสสะมาหรา ว่า
คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติ ที่บวรศักดิ์บอกว่าถึงจะไม่เป็นประชาธิปไตยแต่ก็แก้โจทก์การปฏิรูปและปรองดองได้
ส่วนนายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างฯ ขยายความว่า “อำนาจพิเศษจะใช้ได้เฉพาะเงื่อนเดียวคือ ป้องกันไม่ให้เกิดรัฐล้มเหลว
ส่วนสภาดำเนินการปฏิรูป จะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ กรรมการยุทธศาสตร์ คณะกรรมการที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเชี่ยวชาญการปฏิรูปด้านต่างๆซึ่งกรรมการยุทศาสตร์ฯ เป็นผู้แต่งตั้ง และคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดอง”
(http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1440499343)
อันละม้ายคล้ายหลักการ Troika หรือ ‘มังกรสามหัว’ เป็นอย่างยิ่ง แต่เจ้าตัวกับเปรียบเหมือนถังดับเพลิง มีติดอาคารไว้เผื่อเกิดวิกฤต
มิใยที่พรรคการเมืองสองขั้ว ประชาธิปัตย์และเพื่อไทย เห็นพ้องกันได้อย่างน่าทึ่ง ที่จะขอไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้
“สร้างอำนาจรัฐซ้อนรัฐ โดยปราศจากรูปธรรมของการปฏิรูป และไม่มีกลไกที่ชัดเจนในเรื่องป้องกันการใช้อำนาจในทางที่ผิด จะยิ่งเพิ่มความวุ่นวายความสับสนและความรุนแรงในอนาคต” นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. อ้างเพื่อเรียกร้องให้สภาปฏิรูป หรือ สปช. คว่ำร่างฯ นี้เสีย
เช่นเดียวกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งพรรคเพื่อไทย ได้แสดงความคิดเห็นต่อร่าง รธน. ฉบับนี้ว่าไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ไม่ยึดโยงกับประชาชน
โดยที่ นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ออกมาให้ความเห็นเช่นกันว่า “เป็นร่างที่แย่มากๆ สืบทอดอำนาจอย่างชัดเจน จะทำให้ประเทศอยู่ในวังวนเดิม
โดยเฉพาะการมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง ที่ทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทำงานได้ไม่เต็มที่ ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลก็ใช้อำนาจได้ไม่เต็มที่ ผิดครรลองประชาธิปไตย ไม่เห็นหัวประชาชน”
“อย่างไรก็ตาม หากร่างรัฐธรรมนูญสามารถผ่านการทำประชามติจากประชาชนมาได้ ส่วนตัวคิดว่าควรจะลงสนามเลือกตั้ง ไม่จำเป็นต้องบอยคอต แม้กติกาจะไม่เป็นประชาธิปไตย
เพียงแต่ระหว่างการหาเสียงจะต้องรณรงค์ให้เป็นนโยบายชัดเจนว่า หากได้เป็นรัฐบาลจะเข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย แม้จะแก้ไขยากก็จะทำ”
ซึ่งก็มีข่าวออกมายืนยันคำทำนายของ นพ. เชิดชัย ที่ว่า “ร่างรัฐธรรมนูญนี้จะผ่านความเห็นชอบจาก สปช. หมื่นเปอร์เซ็นต์”
หลังจากการประชุมร่วม สปช. กับกรรมาธิการยกร่าง รธน. ที่แจ้งวัฒนะ อันดราม่าเหลือหลาย ได้มีการปรับท่าทีซึ่งกันและกันแล้วว่า สปช. จะโหวตให้ร่างฯ ผ่านการรับรองในวันที่ ๖ กันยายนนี้แน่นอน
ส่วนจะเป็นด้วยคำขู่ของ สปช. ลูกเรือแป๊ะ นายสิระ เจนจาคะ ประกาศฟ้องแพ่ง ๑ พันล้าน นายวันชัย สอนศิริ สปช. ฝ่ายที่รณรงค์ไม่รับร่างฯ มาอย่างแข็งขัน หากทำการโหวตคว่ำร่างฯ จริงๆ หรือเปล่าไม่ทราบ
โดยเหตุแห่งดราม่ากระทบกระทั่งเกิดจากเมื่อนายวันชัยได้ลุกขึ้นอภิปรายท้วงนายบวรศักดิ์ประเด็นร่างฯ ยังไม่มีคำปรารภ
จนทำให้นายบวรศักดิ์ ‘ไม่โกรธ’ แต่เดินไปยังโต๊ะของนายวันชัยแล้วบอกว่า “ขออโหสิกรรม...อาจเป็นเพราะชาติที่แล้วเราสองคนได้มีเวรกรรมต่อกัน”
จึงเป็นอันว่าโร้ดแม็พอยุ่ยาวของ คสช. เข้าสู่โหมดออกเสียงประชามติรับรองร่าง รธน. ซึ่งอาจขยับออกไปอีกนิดจากกำหนดเดิมวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๙ คงราวๆ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ เช่นที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เคยเปรยไว้
นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้แจงรายละเอียดเรื่องกำหนดประชามติ ที่คงต้องใช้งบประมาณเพิ่มมากขึ้นกว่าที่ตั้งไว้เดิม ๓ พันล้าน อีกเล็กน้อย
ไม่เท่านั้นประธาน กกต. มีคำปรามสำหรับช่วงเข้าโหมดประชามติว่าอย่าได้หาเสียง หรือรณรงค์ให้รับหรือไม่รับร่าง รธน. เป็นอันขาด
เพราะถือว่าขัดต่อประกาศคณะรัฐประหารฉบับที่ ๗ เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง
อ๊ะ อะไรมันให้เรียบร้อยไปหมด จนกรุงเทพฯโพลต้องขยายผล แจ้งคะแนนนิยมโลด 'Tu 3' (ใกล้ชิดแนบสนิท Tier 3)
นี่พวก สปช. เขาก็เตรียมเลี้ยงฉลองอำลา ชวนกันกินก่อนจะไป แถมพากันล่องเรือสำราญ บรรยากาศดี ดนตรีพริ้ง
ใช้เรือแป๊ะหรือไม่แปีะ มิรู้ได้ ค่าใช้จ่ายเหนาะๆ สองแสนห้าหมื่นบาท ขนหน้าแข้ง (ชาวบ้าน) ไม่ (มีจะ) ร่วง