วันอาทิตย์, สิงหาคม 09, 2558

ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง = ห้ามเลือกตั้งตลอดไป?


ภาพจาก Kasian Tejapira

ที่มา FB
Banyong Pongpanich



แก่นการปฏิรูปคืออะไร? ...คณะกรรมการหรือสภาชุดต่างๆ? ...คณะรัฐประหาร? ...หรือกลไกที่เหมาะสม?

เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม2558 ...วันที่กระแสการปฏิรูปมาแรงอีกครั้งหนึ่ง

ในชีวิต 62 ปีอันค่อนข้างยาวนานของผม ...ได้ยินคำว่า"ปฏิรูป"ครั้งแรกเมื่อตอนอายุ 22 ปี ในตอนเย็นวันประวัติศาสตร์เลือด 6 ตุลาคม 2519 เมื่อฝ่ายขวาสร้างสถานการณ์ "ขวาพิฆาตซ้าย"ขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วคณะทหารที่นำโดย พลรอ.สงัด ชลออยู่ ก็เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลที่อ่อนแอของมรว.เสนีย์ ปราโมช แห่งพรรคประชาธิปัตย์

...ตอนรอฟังเพลงปลุกใจทางทีวีตอนเย็นวันนั้น ทุกคนก็คิดว่าจะต้องได้ยิน "ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 1" อันคุ้นเคยมาตลอด 16 ปีช่วงยุคเผด็จการยาวนาน"สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส" ...แต่พอเอาเข้าจริง(อาจจะด้วยความขวยเขิน หรือเพื่อให้แตกต่าง) เค้ากลับเรียกตัวเองว่า"คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" ซึ่งตอนแรกก็วางโรดแมปทำท่าจะปฏิรูปใหญ่จริง เพราะรัฐบาลหอย ที่นำโดยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร วางแผนขอเว้นวรรคประชาธิปไตย 12 ปี(ปีนะครับ ไม่ใช่เดือน) เพื่อเตรียมความพร้อมของประชาชน ที่จะให้ปกครองตนเอง ...แต่พอเอาเข้าจริง ทำไปได้แค่ปีเดียว 20 ตุลาคม 2521 คณะทหารชุดเดิมก็ลุกขึ้นมายึดอำนาจอีกครั้ง แล้วก็เลยสถาปนา"ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ"อันยาวนาน 10 ปี ยอมให้มีเลือกตั้งบ้างแต่สุดท้ายก็ต้องไปเชิญผู้นำกองทัพมาเป็นนายกฯ ซึ่งก็ได้พลอ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เจ้าของสูตรแกงเนื้อใส่บรั่นดีอันลือลั่นเป็นผู้นำ(2520-2523) แล้วต่อด้วยพลอ.เปรม ติณสูลานนท์ อีก 8 ปี (2523-2531)

ช่วงปชต.ครึ่งใบนี้ พอจะกล่าวได้ว่า มีการปฏิรูปทางศก.อย่างมาก ภายใต้ความช่วยเหลือของกลุ่มข้าราชการ"เทคโนแครต" ประกอบกับมีการพบก๊าซธรรมชาติ"โชติช่วงชัชวาลย์" มีการย้ายฐานการผลิต และโลกาภิวัฒน์ ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมากเฉลี่ยเกือบ10% ต่อปี ประเทศไทยปรับสภาพจากประเทศกสิกรรม มาเป็นประเทศอุตสาหกรรมเกิดใหม่ได้อย่างน่าชื่นชม ...ก่อนที่เราจะเปลี่ยนเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยเต็มใบยุค"บุฟเฟ่ต์คาบิเนต" แล้วก็เข้าสู่ยุคฟองสบู่จนเกิดวิกฤติ ...ซึ่งในช่วงที่บิ๊กจ๊อด บิ๊กสุ เค้ารัฐประหาร2534 เค้าก็ไม่เรียกตัวว่า"ปฏิรูป"อีก แต่เรียกเป็น "คณะรักษาความสงบฯ"แทน และก็ดูเหมือนจะไม่ได้ปฏิรูปอะไรจริงจัง นอกจากวางแผนสืบทอดอำนาจอยากให้กลับไปเป็นครึ่งใบ จนนำไปสู่เหตุการณ์"พฤษภาทมิฬ"ซึ่งถือเป็นจุดจบของ"ประชาธิปไตยครึ่งใบ"อย่างเป็นทางการ

เรามาได้ยินคำว่า"ปฏิรูป"กันอีกครั้งก็ในสมัยของคุณบรรหาร ศิลปอาชา เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองในปี 2538 จนนำไปสู่รัฐธรรมนูญ 2540 ...ซึ่งพอจะถือได้ว่าเป็นความพยายามปฏิรูปการเมืองที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด ...แต่เราก็โชคร้ายที่เมื่อใช้เลือกตั้งครั้งแรกในปี 2544 ดันนำไปสู่ระบบ"เผด็จการรัฐสภา-กินรวบประเทศไทย" จนปี 2549 บิ๊กบัง พลอ.สนธิ บุญยรัตกลิน ต้องลุกขึ้นมายึดอำนาจและจัดตั้ง"คณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข"ชื่อยาวเหยียดขึ้นมา แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรจริงจังเลย จนคนเค้าว่า"เสียของ" ...พอเลือกตั้งปี 2550"คณะกินรวบ"ชุดเดิมก็เลยกลับมาเถลิงอำนาจอีก

พอตุลาการภิวัฒน์ช่วยกันพลิกผล สร้าง"งูเห่า2" ความแตกแยกในชาติรุนแรงขึ้นทุกที ทีนี้เราเลยได้ยินคำว่า"ปฏิรูป"บ่อยหน่อย ...กลางปี 2553 หลังเหตุการณ์นองเลือดราชประสงค์ รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่งตั้ง 3 คณะรวด คือ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ(คปร.) มีท่านอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน คณะสมัชชาปฏิรูปประเทศ(คสป.)ที่มีนพ.ประเวศ วะสีเป็นหัวเรือ และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ที่นำโดยศ.คณิต ณ นคร ซึ่งทั้งสามคณะซึ่งรวมเอาคนดีคนเก่งแทบทั้งประเทศ ก็ได้ทำงานกันอย่างหนัก มีข้อเสนอดีๆมากมาย แต่แทบไม่ได้รับการรับรู้จากสังคมเลย และแน่นอนครับ แทบไม่มีผลในทางปฏิบัติเลย

มาสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พอการเมืองใกล้ถึงทางตัน นางก็กระโดดไปหวังพึ่งคำ"ปฏิรูป"กันอีก กลางเดือนสิงหาคม 2556 พยายามจัดตั้ง "คณะปฏิรูป"ขึ้นมาอีก ไปขอให้ท่านบรรหาร ศิลปอาชา เป็นคนประสานสิบทิศพยายามจัดตั้ง แต่พอเห็นหน้าคนที่มาร่วมแถลงประชุมเตรียมตั้ง ทั้งบรรหาร วราเทพ สุวัจน์ อุทัย อนุทิน ฯลฯ บรรยากาศคุ้นๆคล้ายกับงาน"เลี้ยงบุฟเฟ่ต์" คนเลยไม่ค่อยมีใครเอาด้วย กลัวจะเป็น"คณะกรรมการแบ่งเค้กประเทศไทย"ซะมากกว่า แผนการเลยค่อยๆฝ่อไปเอง ...คุณยิ่งลักษณ์เลยไปเสนอตั้ง"สภาปฏิรูปประเทศ"เอาตอนต้นปี2557 เลือกจากทุกอาชีพ 499 คน หวังให้เป็นฟางเส้นสุดท้าย หลังจากวืดเสนอกม.นิรโทษเหมาเข่ง แต่ก็ช้าไปเสียแล้ว บิ๊กตู่เข้ามาล้มกระดานเสียก่อน ล้มเสร็จก็เลยยึดไปทั้งกระดาน

พอมายุคคสช.ก็แน่นอนครับ กระแส"การปฏิรูป"ย่อมมาแรง มีการจัดตั้ง"สภาปฏิรูป"กันอย่างเอิกเกริก เลือกแต่"คนดี" 250 ท่าน เข้าไปช่วยกันทำงาน ให้มีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่างๆ กับมีหน้าที่หลักในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะเป็นแกนในการขับเคลื่อนประเทศ ... ทำงานกันมาแล้วสิบเดือน ข้อเสนอการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมยังไม่ค่อยมีความชัดเจนนักสักด้าน (ยกเว้นเสนอให้มีการตั้งกรรมการขับเคลื่อนมาทำงานสานต่อ...สานสิ่งที่ยังไม่ได้เริ่มไว้น่ะ) ...แม้งานสำคัญที่สุดคือร่างรัฐธรรมนูญก็ยังมีปัญหา ถูกวิจารณ์กันอย่างหนักจากแทบทุกภาคส่วน ยังไม่รู้เลยว่าจะทำให้โรดแมปของท่านผู้นำจะต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรหรือไม่

และท่ามกลางความสับสนนี้ ท่ามกลางความวุ่นวายงุนงงว่าจะปฏิรูปอะไรบ้าง แค่ไหน อย่างไร ก็เกิดเสียงตะโกนก้องสั่งว่า "ต้องเอาให้เสร็จ ต้องปฏิรูปให้เสร็จ ไม่อย่างนั้นก็ห้ามเลือกตั้ง" ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าคนตะโกน คนสั่งนั้น เขาหมายความว่าอย่างไร อย่างไหนถึงจะเรียกว่า"เสร็จ" ถามไปก็ไม่ตอบบอกแค่ว่า"เอาน่า...ทำให้เสร็จก็แล้วกัน"ประมาณว่า"ถ้ากูคิดว่าเสร็จเมื่อไหร่กูจะบอกเอง" ...ก็เขาปฏิรูป เขาทำกันมาสี่สิบปีแล้วยังคืบบ้างไม่คืบบ้าง เดินหน้าบ้างถอยหลังบ้าง เหลียวไปดูทั่วโลกเค้าก็เป็นอย่างนี้ทั้งนั้นปฏิรูปกันมาเป็นพันปี ยังไม่เห็นที่ไหนบอกว่า"เสร็จแล้ว"เลยสักประเทศเดียว

ที่เขียนเล่ามายืดยาวถึงประวัติ 40 ปีการปฏิรูปไทยเท่าที่ผมรู้เห็นนั้น ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า"การปฏิรูป"นั้นมันก็เป็นแค่กระบวนการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ตามเงื่อนไขบริบทของสังคมในแต่ละขณะ รวมไปทั้งสภาพแวดล้อมของโลก(เรื่องหลังนี่สำคัญมากนะครับ ไม่สนใจคนนอกนั้นนำมาซึ่งหายนะแน่นอนครับ) มันเป็นกระบวนการที่"ไม่มีวันเสร็จ" และเนื่องจากทุกอย่างไม่นิ่ง มีพลวัตตลอดเวลา อย่างที่เขาบอกว่า"การเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์"นั่นแหละครับ ...การปฏิรูปที่ดีจึงมักเป็นแค่การวางหลักการ วางกรอบกติกา สร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้กระบวนการดำเนินไปได้ตามพลวัตอนาคตซึ่งไม่มีใครรู้ใครคาดการณ์ได้ถูกต้องทุกอย่าง ...มากกว่า การที่ไปกำหนดให้ต้องปฏิรูปอย่างนั้น อย่างนี้ ตามวิสัยทัศน์ของใครคนใด

แล้วเราจะ"ปฏิรูปให้เสร็จ"ได้อย่างไรล่ะครับ พูดว่า"ปฏิรูปให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง"ก็เท่ากับพูดว่า"ห้ามเลือกตั้งตลอดไป"นั่นแหละครับ

ก่อนจะปฏิรูปอะไร ลองมาสำรวจกระบวนการคิดของเราเองสักหน่อยดีไหม ว่าสมควรได้รับ"การปฏิรูป"หรือไม่