วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 06, 2558

นับแต่นี้เราจะไปทางไหนกัน

โดย ชำนาญ จันทร์เรือง

นับแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมาจวบจนปัจจุบัน สถานการณ์ดูเหมือนจะสงบเรียบร้อยเพราะไม่มีม็อบมาปิดกั้นถนนเหมือนช่วงก่อนหน้าการรัฐประหาร แต่ยิ่งนานวันปัญหาต่างๆ ต่างรุมเร้าเข้ามาทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ

โรดแม็ปที่ว่าไว้ก็ดูเหมือนจะไม่แน่นอนเสียแล้ว เพราะอย่างน้อยก็มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อยืดอายุของคณะกรรมาธิการร่างฯออกไปและเปิดโอกาสให้มีการลงประชามติหากสภาปฏิรูปฯผ่านร่างรัฐธรรมนูญแล้ว

นอกจากนั้นยังมีการดัดหลังสภาปฏิรูปฯหรือ สปช.ที่มักออกมาสวนทางกับนโยบายของ คสช.และรัฐบาลอยู่เสมอด้วยการยุบ สปช.เสียภายหลังที่มีการลงมติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฯ

ล่าสุดแกนนำ กปปส.ก็ออกมาแถลงว่าให้ปฏิรูปก่อนแล้วจึงค่อยเลือกตั้ง จนทำให้เสมือนหนึ่งว่าสถานการณ์การเมืองกลับไปสู่ยุคก่อนการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง จึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่า “นับแต่นี้เราจะไปทางไหนกัน

สิ่งที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้

1) ปัจจัยภายนอก คือแรงกดดันจากการเมืองระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการแซงก์ชั่นจากสหรัฐอเมริกาอันเป็นผลมาจากการที่เรายังอยู่ในระดับเทียร์ 3 ของการจัดอันดับการค้ามนุษย์ติดกันเป็นปีที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นการที่อาจจะได้รับใบแดงจาก IUU ในเรื่องของการประมงที่จะครบหกเดือนในอีกไม่นานนี้ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้จะมีผลต่อผลิตภัณฑ์ของเราที่จะส่งไปขายในประเทศเหล่านี้กลายเป็นสินค้าน่ารังเกียจ นอกจากนั้นก็ยังมีปัญหาการบินของ ICAO ที่เราจะต้องเผชิญจนต้องมีการสำรองสนามบินอู่ตะเภาไว้ในกรณีที่ไม่ผ่านมาตรฐานฯ

แรงกดดันนี้นอกจากจะมาจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปเองแล้ว เรายังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากมหามิตรจีนที่เราหวังจะพึ่งพิง แต่กลับกลายมาเป็นแรงบีบเสียเอง ซึ่งก็คือกรณีอูยกูร์ที่เราส่งกลับไปจนถูกด่าไปทั่วโลกและยังถูกบีบให้ส่งที่เหลือกลับไปอีก

ดังจะเห็นจากการเยือนไทยของเจ้าหน้าพรรคคอมมิวนิสต์จีนระดับสูงที่มีหน้าที่นี้โดยตรง ซึ่งทำให้เรากลืนไม่เข้าคลายไม่ออก ครั้นจะหวังให้มาลงทุนรถไฟความเร็วสูงก็เป็นได้แต่เพียงการให้เงินกู้เท่านั้น มิหนำซ้ำอาจจะต้องซื้อเรือดำน้ำเป็นการตอบแทนเสียอีก
นายหยาง จิง เลขาธิการคณะรัฐมนตรีจีน เยือนไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๘

นอกจากจะเสียเงินแล้วยังต้องทำให้ถูกระแวงจากสหรัฐอเมริกาโดยใช่เหตุ

ในด้านความสัมพันธ์หรือแรงกดดันจากสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนนั้นยิ่งมีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน มิหนำซ้ำการคัดเลือกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่ก็ยังขัดต่อหลักการปารีสเสียอีก ทั้งๆที่ถูกเตือนมาแล้วว่าจะถูกลดระดับจาก A ไป B เป็นการถาวร หลังจากที่ให้เวลาทบทวนมา 1 ปี แต่ก็ยังขืนทำ

ซึ่งผลจากการลดระดับนี้จะทำให้สถานะของเรากลายเป็นเพียง ผู้สังเกตการณ์ ไม่สามารถเสนอประเด็นใดๆต่อที่ประชุมในระดับนานาชาติได้

2) ปัจจัยภายใน คือ ความไม่แน่นอนของอนาคตร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่หมายถึงกลับคืนสู่โหมดการเลือกตั้งซึ่งความไม่แน่นอนนี้นับแต่การลงมติของ สปช. ว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเพราะจะทำให้โรดแม็ปยืดขยายออกไป มีการออกข่าวของสมาชิก สปช. กันไม่เว้นแต่ละวันว่าจะรับหรือไม่รับบ้าง มีการออกข่าวว่าจะปฏิรูปก่อนแล้วจึงค่อยเลือกตั้งบ้าง ฯลฯ ซึ่งหากไม่ผ่าน สปช. ก็ต้องกลับไปร่างใหม่ให้เสร็จภายใน 180 วันแล้วจึงลงประชามติ

แต่หากร่างรัฐธรรมนูญฯ ผ่าน สปช. ไปแล้วยังต้องไปลุ้นผลของการลงประชามติอีกว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน หากไม่ผ่านก็ต้องกลับไปยกร่างใหม่อีกเช่นเดียวกับกรณีที่ไม่ผ่าน สปช. ฝ่ายกองเชียร์ก็เชียร์ลำบาก เพราะฝ่ายที่ไม่ชอบร่างรัฐธรรมนูญฯ จะรับก็ขัดต่อความรู้สึก ครั้นจะไม่รับ คสช. ก็จะอยู่ต่ออีก

ส่วนฝ่ายที่ชอบร่างรัฐธรรมนูญฯ เพราะตรงกับความต้องการของตนเองที่สามารถปิดกั้นกลุ่มอำนาจเก่าได้ แต่หากปล่อยให้รัฐธรรมนูญผ่านไป สิ่งที่ตนเองต่อสู้มาก็ยังเหลืออีกมาก เกรงว่าจะเป็นการเสียของไปเสียเปล่าๆ จึงต้องพยายามรณรงค์ให้มีการปฏิรูปก่อนจึงค่อยมีการเลือกตั้ง ภาวการณ์เช่นนี้ไม่เป็นผลดีต่อการค้าการขายหรือการลงทุนเลย

ความไม่แน่นอนของทิศทางทางการเมืองนี้ย่อมนำมาซึ่งความอึดอัดขัดข้อง จนต้องมีการแสดงออกมาอย่างไม่กลัวเกรงต่ออำนาจเด็ดขาดของมาตรา 44 จนเกิดปรากฎการณ์ดาวดินขึ้นมาจนศาลทหารต้องสั่งปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องมีการประกันตัว และหากมีการยืดโร้ดแม็ปออกไปเนิ่นนานปรากฎการณ์เช่นเดียวกันนี้ย่อมจะเกิดขึ้นได้อีก

นอกจากความไม่แน่นอนทางการเมืองแล้วก็ยังมีความไม่แน่นอนทางกฎหมาย ซึ่งศัพท์ทางนิติศาสตร์เรียกว่าความไม่มั่นคงทางกฎหมายนั่นเอง เพราะมีการใช้มาตรา 44 กันอย่างพร่ำเพรื่อและมากมาย แม้แต่ในยุคจอมพลสฤษดิ์ยังมีการใช้มาตรา 17 ไม่กี่ครั้งเอง ซึ่งการใช้มาตรา 44 กันอย่างพร่ำเพรื่อนี้ได้ทำลายหลักนิติรัฐนิติธรรมลงอย่างสิ้นเชิง ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายลดลงเพราะเกิดสภาวะที่ภาษากฎหมายเรียกว่า ผลประหลาด(absurd)

แต่ที่สำคัญที่สุดที่จะเป็นการชี้ตายว่า “นับแต่นี้เราจะไปทางไหนกัน” ก็คือปัญหาเศรษฐกิจ

เราคงคุ้นเคยกับคำว่า “กองทัพต้องเดินด้วยท้อง” ฉันใด การเมืองที่มีทหารนำย่อมขึ้นอยู่กับกึ๋นและฝีมือในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่เกิดปัญหา ต้มยำกุ้งในปี 40 เป็นต้นมาฉันนั้น หากแก้ไม่ดีแม้จะมีอำนาจเด็ดขาดอยู่ในมือก็เอาไม่อยู่ เพราะผู้ที่กุมอำนาจทางการเมืองของไทยที่แท้จริงคือพ่อค้าวาณิชย์ทั้งหลายหากไม่เอาด้วยก็อยู่ไม่ได้แน่นอน

ที่กล่าวมาทั้งหมดดูเหมือนจะเป็นไปแต่ในทางร้ายๆ เสียทั้งนั้น แต่ในวิกฤตย่อมมีโอกาส 

โอกาสที่ว่านี้ก็คือ โอกาสในการที่จะเกิดการรัฐประหารในอนาคตย่อมน้อยลง หรือไม่มีเลย เพราะจากการรัฐประหารในครั้งนี้ที่พยายามปิดจุดอ่อนของการรัฐประหารที่ผ่านมาที่ถูกมองว่าเสียของแล้ว ใช้อำนาจเต็มทุกอย่างแล้วยังไม่ได้ผล

จึงเป็นบทเรียนที่สำคัญว่าการแก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วยการรัฐประหารนั้นใช้ไม่ได้นั่นเอง

--------------------

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 5 สิงหาคม 2558