ตลึงงันกันระนาว เมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ สรุปสำนวนในคดีการเสียชีวิต ๙๙ ราย จากการสลายชุมนุมทางการเมือง เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓
“นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า...
จากการสอบปากคำเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี ๒๕๕๓ ทั้งที่บริเวณแยกคอกวัว บริเวณ ถ.ราชปรารภ บริเวณ ถ.พระรามสี่ และบริเวณอื่นๆ ที่มีการเสียชีวิตของประชาชนและทหาร
โดยเจ้าหน้าที่ทหารส่วนใหญ่ที่พนักงานสอบสวนเรียกเข้ามาให้ปากคำนั้นยืนยันว่า ขณะปฏิบัติหน้าที่ในวันและเวลาดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และยืนยันด้วยว่าใช้กระสุนยางเพียงอย่างเดียว ไม่มีการใช้กระสุนจริงแต่อย่างใด”
(http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php…)
เป็นที่กล่าวขวัญกันยิ่งนักแล้วว่า อธิบดีดีเอสไอ (หญิง) ท่านนี้ช่างหาญกล้า สรุปสำนวนฟันธงจากคำให้การของฝ่ายทหารถ่ายเดียว ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากฝ่ายประชาชนผู้เสียชีวิต และเสียหาย ที่ปรากฏอยู่เกลื่อนกลาดทางไซเบอร์เลยแม้แต่กระผีกพี้
ความกล้าเฉกเช่นนี้เป็นที่รับรองไว้แล้วด้วยรางวัลเกียรติยศ 'หนึ่งล้านกล้าความดีถวายในหลวง' บุคคลตัวอย่างแห่งปี ๒๕๕๗ สาขายุติธรรม ซึ่งคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ก็ได้รับเช่นกันแต่ต่างสาขา โดยมีนายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรีเป็นผู้มอบ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ นี้เอง
มิใยที่มีข้อมูล รายละเอียด และคำให้การ ทั้งทางศาล และพยานบุคคลระบุไว้ในหลายต่อหลายเหตุการณ์เสียชีวิตของผู้ชุมนุม รวมทั้งผู้สื่อข่าว ช่างภาพสื่อต่างประเทศชาวญี่ปุ่นและอิตาลี ว่ากระสุนจริงประสิทธิภาพร้ายแรงมาจากทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าสลายการชุมนุม
ดังตัวอย่างคดีการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง แท็กซี่เสื้อแดงผู้เสียชีวิตด้วยกระสุนขนาด .๒๒๓ โดยอาวุธปืนในราชการสงครามของเจ้าหน้าที่ทหาร ที่บริเวณราชปรารภ ซึ่งศาลพิเคราะห์ว่าผู้ยิงเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติตามคำสั่งของ ศอฉ. แม้ว่าถ้าคำสั่งจะมิชอบ แต่ผู้ยิงปฏิบัติโดยสุจริตต่อหน้าที่ จึงไม่ต้องรับโทษ
แม้แต่ผู้ต้องหาสำคัญในการสั่งฆ่ารวมหมู่ครั้งนั้น โดยตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขณะนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ยังเคยยอมรับต่อผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์บีบีซี ว่าตนเป็นผู้ออกคำสั่งให้ใช้กระสุนจริง แม้จะอ้างความชอบธรรมว่าฝ่ายผู้ประท้วงมีอาวุธก็ตาม
(http://news.mthai.com/hot-news/207423.html)
จะมีก็แต่ตัวผู้อำนวยการ ศอฉ. ขณะนั้น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่พูดโดยปราศจากสำนึกชั่วดีว่าผู้ตายวิ่งเข้าไปในเส้นทางของวิถีกระสุนจึงทำให้เสียชีวิต (ไม่ใช่ความผิดของผู้ยิง ประมาณนั้นก็ตาม)
รวมความได้ว่ามีการใช้กระสุนจริงในการปราบผู้ชุมนุม การออกมาปฏิเสธอย่างหน้าตึงเด้งได้ บิดเบือนข้อเท็จจริงชนิดหน้าเข้มซ่อนรอยย่น เช่นว่าทหารใช้แต่กระสุนยางอย่างเดียว จึงเป็นความหาญกล้าไม่เกรงกลัวต่อบาป อย่างหาที่เปรียบมิได้
การบิดเบี้ยวข้อเท็จจริงในทางคดีเช่นนี้ มีเค้ามาตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะยึดอำนาจมีคำสั่งตั้งคณะสอบสวนชุดใหม่เมื่อปลายเดือนมีนาคมนี้แล้ว โดยมอบให้ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ร่วมกับนางสวณา อธิบดีดีเอสไอเป็นหัวหน้า พร้อมด้วยนายตำรวจสันติบาลซึ่งประจำการในกรมสอบสวนคดีพิเศษอีกสามนายเป็นคณะ
(http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1427898226)
หากแต่การมิได้เล็ดลอดไปจากความระแวงระไวของแกนนำ นปช. นำโดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ยกขบวนกันไปพบนางสุวณา ถามหาความชัดเจน
ก็ได้รับคำตอบหน้าตาย “ขอรับรองด้วยเกียรติว่า ไม่มีธง ไม่มีใครมามอบนโยบาย...ไม่มีตำรวจ ไม่มีทหาร มีแต่พนักงานสอบสวนสืบสวน..” ส่วนเจ้าหน้าที่ ๑๐ คน ในเครื่องแบบทหาร ๗ ตำรวจ ๓ นั่นแค่มียศบนบ่าเท่านั้น
(http://breakingnews.nationtv.tv/home/read.php?newsid=755776)
ก็เห็นกันแล้วไงว่าแม้จะเอาถ้วยเกียรติยศมาเดิมพัน ความชัดเจนยังไม่มี ความแท้จริงยังไม่มา
งั้นอย่างนี้ พ่อเจ้าประคุณตู่ ท่านพระครูเต้น จะไปทวงถามความสมัครใจคุณนายอธิบดีเธออีกไหมเนี่ย