ที่มา iLaw
21 ส.ค. 2557
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศทำการยึดอำนาจเพื่อให้การรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และนำความสงบสุขของประชาชนคืนมา มีการประกาศให้สถาบันทางการศึกษาหยุดเรียนตั้งแต่วันที่ 22 - 25 พฤษภาคม ทำให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องปิดชั่วคราว หลังจากจุดนั้น มีความพยายามทั้งจากมหาวิทยาลัย หรือ ทหารเข้าไปแทรกแซงในมหาวิทยาลัยเพื่อ จำกัดสถานที่หรือกิจกรรมเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตามประกาศของ คสช. สั่งห้ามออกนอกเคหะสถานภายในเวลา 4 ทุ่มถึง ตี 5 ทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งต้องปิดประตูเข้า-ออก ตามเวลาดังกล่าว อย่างเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประกาศขอความร่วมมือบนเว็บไซด์ให้การดำเนินกิจกรรมสิ้นสุดในเวลา 2 ทุ่ม และให้ปิดประตูในเวลา 3 ทุ่มเป็นต้น ทั้งนี้ยังมีอีกหลายมหาวิทยาลัยที่ทำตามประกาศของ คสช. เพียงแต่ไม่มีการออกประกาศอย่างชัดเจน
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ผู้รักษาราชการแทนอธิการบดี ลงนามประกาศขอความร่วมมือกับคณาจารย์ บุคลากร นิสิต และนักเรียนของมหาวิทยาลัย ห้ามเขียนใบปลิว ป้าย หรือข้อความใด ๆ ผ่านทางสังคมออนไลน์ ที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ โดยมีข้อความว่า ตามที่คณะกรรมการรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 12/2557 เรื่อง ขอความร่วมมือจากสื่อสังคมออนไลน์ และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 18/2557 การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะเพื่อให้เป็นไปตามประกาศทั้งสองฉบับนี้
นอกจากนี้ ข้อมูลของนิสิตมีซุ้มของทหารอยู่ภายในมหาวิทยาลัยตรงบริเวณหลังตึกบรมฯ มีการส่งภาพการทำกิจการต่อต้าน คสช. ในมหาวิทยาลัยให้กับทหาร และมีความสงสัยกันว่าภาพนั้นมาจากกล้องวงจรปิดของมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ทางมหาวิทยาลัยไม่ได้สั่งห้ามการทำกิจกรรมหรือแสดงความเห็นทางการเมือง และมีการนำประกาศ/คำสั่งของคสช. มาติดไว้และกลายเป็นเหมือนคำสั่งห้ามไปกลายๆ อีกทั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัยมีการแสดงท่าที่ผ่านสื่อสังคนออนไลน์ส่วนตัวว่า ขอความร่วมมือให้นักศึกษางดจัดกิจกรรมในพื้นที่มหาวิทยาลัยแม้ในช่วงปิดเทอม สำหรับกลุ่มทำกิจกรรมหลักในพื้นที่ ทหาร เข้าไปพูดคุยโดยตรงเพื่อขอให้ดู “ความเหมาะสม"
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มีคำสั่งเพื่อควบคุมไม่ให้นักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศของคสช. ใช้พื้นที่เพื่อทำกิจกรรม มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทางเข้า-ออก ภายในบริเวณมหาวิทยาลัย ตรวจบัตรพนักงานและบัตรนักศึกษาอย่างเข้มงวด และมีมีทหารควบคุมอยู่บางจุด นอกจากนี้ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณี นายศรัณย์ ฉุยฉาย ใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างไม่เหมาะสมทางสื่อสังคมออนไลน์ และให้คณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจเชิญบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาให้การเพื่อสรุปหาข้อเท็จจริง และรายงานเสนอมหาวิทยาลัยลงโทษต่อไป
เมื่อวันที่ 8สิงหาคมที่ผ่านมา มีกลุ่มนักศึกษาพยายามจัดงานเสวนาเรื่อง "ห้องเรียนประชาธิปไตย : บทที่ 1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (แบบชั่วคราว) พุทธศักราช 2557" โดยขอใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัย ซึ่งทางทหารได้ขอความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยในการประสานกับกลุ่มผู้จัดเพื่องดการจัดกิจกรรม เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อการแก้ปัญหาภายในชาติ อีกทั้งเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเห็นต่างทางทัศนคติทางการเมืองเกิดขึ้นมาอีก แต่อย่างไรก็ตามจากจัดกิจกรรมดังกล่าวก็สามารถดำเนินต่อไปได้จนเสร็จสิ้น
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ทหารประสานกับมหาวิทยาลัย ขอให้บุคลากรและนักศึกษา ช่วยกันดูแลความสงบเรียบร้อยภายในส่วนงาน งดจัดกิจกรรมหรือการชุมนุมที่มีจุดมุ่งหมายทางการเมือง และสนับสนุนการ รักษาความสงบเรียบร้อย และหากเห็นว่าควรมีการปฎิรูปหรือเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี สามารถเสนอความเห็นในเชิงวิชาการไปยัง คสช. ได้
นอกจากนี้ ผบ.มทบ.33 เรียกผู้แทนสถานศึกษาตั้งแต่ประถม-มัธยม-อุดมศึกษาใน จ.เชียงใหม่ มาทำความเข้าใจเนื่องจาก เป็นพื้นที่ซึ่งถูกจับตามองว่าจะเกิดความรุนแรง มีบุคคลบางกลุ่มไม่เข้าใจ คสช. ขอให้ผู้แทนสถานศึกษาชี้แจงนักเรียนนักศึกษา และให้ช่วยกันเป็นหูเป็นตาแจ้งข่าวสารอันเป็นประโยชน์กับเจ้าหน้าที่ - ขณะที่ขอนายอำเภอ-ตำรวจกวดขันปลดธงแดง
มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ห้วงเวลาหลังรัฐประหารราว 2 สัปดาห์ นักศึกษา 3 คนถูกควบคุมตัวเนื่องจากมีสติ๊กเกอร์ต้านรัฐประหารอยู่ในครอบครอง เด็กคนหนึ่งถูกจับกุมในมหาวิทยาลัยหลังเจ้าหน้าที่กองกิจการนักศึกษาและ รปภ.มหาวิทยาลัยรามคำแหง ออกตรวจตราและไล่นักศึกษาที่ยังนั่งเล่นอยู่ให้กลับบ้านก่อนเวลาเคอร์ฟิว และคนอื่นๆถูกทหารเข้ามาควบคุมตัวพร้อมอาวุธปืน ในระหว่างที่อยู่ในการควบคุมของทหาร นักศึกษาถูกสอบสวนและค้นหอพักและถ่ายรูปหนังสือที่บ่งบอกถึงที่มาที่ไปทางความคิดของเขา
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่
มีการติดป้ายงดกิจกรรมรับน้อง งดกิจกรรมประชุมเชียร์หรือกิจกรรมอื่นใด ที่นอกเหนือจากการเรียนการสอน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หากฝ่าฝืน มีโทษสูงสุดถึงขั้นไล่ออกจากการเป็นนิสิตและดำเนินคดีตามกฎหมาย
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
ส่งหนังสือ โดยมีเนื้อความของหนังสือระบุว่า พล.อ.อุดมเดช สีหบุตร เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในฐานะประธานการประชุมติดตามสถานการณ์และการปฏิบัติที่สำคัญ ฝ่ายสังคมจิตวิทยา กระทรวงศึกษาธิการ ได้สั่งการจากการประชุมเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 ให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาเรื่องการดูแลกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่ต่อต้าน คสช. โดยขอให้ดูแลกวดขันนิสิตนักศึกษากลุ่มดังกล่าว และจัดทำโครงการเสริมสร้างความเข้าใจที่ชัดเจน จึงขอความร่วมมือสถาบันอุดมศึกษาให้ดูแลนิสิต นักศึกษาในสถาบันอย่างใกล้ชิด หากพบนิสิตนักศึกษาที่มีพฤติกรรมต่อต้านคสช. ซึ่งอาจเข้าข่ายการละเมิดประกาศ คสช.ได้ ขอให้สถาบันอุดมศึกษาสร้างความเข้าใจเจตนารมณ์และนโยบายของ คสช.ที่ชัดเจนโดยอาศัยหลักเหตุผลนำไปสู่การให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่และไม่เข้าร่วมการชุมนุมสร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือแนะนำให้นิสิตนักศึกษาใช้ช่องทางที่เหมาะสมในการเสนอแนะความคิดเพื่อนำไปสู่กระบวนการแก้ปัญหาบ้านเมืองอย่างเป็นระบบต่อไป
นี่เป็เพียงเหตุการณ์บางส่วนเท่าที่มีการเปิดเผย อันเกิดจากการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ทหารที่ส่งผลกระทบต่อบทบาทของมหาวิทยาลัยให้จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ชุมนุมทางการเมือง หรือ วิพากษ์วิจารณ์การแก้ปัญหาของทหาร หากสถาบันการศึกษาที่เป็นดังผู้จุดไฟปัญญาในยามที่บ้านเมืองกำลังมืดบอด การกระทำของมหาวิทยาลัยนับจากนี้จึงเป็นที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่า เราจะยังมีเสรีภาพทางความคิดได้มากน้อยเพียงไร
แหล่งอ้างอิง
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
มธ.ตั้งกรรมการสอบ อั้ม เนโกะ
ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คุมเข้ม!! ห้ามเคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
ทหารขอความร่วมมือมหาวิทยาลัย งดจัดกิจกรรมห้องเรียนประชาธิปไตย
จับกุมนักศึกษา ม.รามฯ ต่อต้านรัฐประหาร
ความเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่อุบลฯ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผบ.มณฑลทหารบกที่ 33 ขอให้สถานศึกษาในเชียงใหม่เป็นหูเป็นตา
สกอ.ร่อนหนังสือถึงมหาลัยทั่วประเทศจับตานิสิตนักศึกษาต้านคสช.