วันพฤหัสบดี, กันยายน 25, 2557

ดร.โสภณ พรโชคชัย : มารู้จักภาษีมรดกกัน



            รัฐบาลไทยของเรากำลังดำริจะเก็บภาษีมรดก สร้างความฮือฮาให้กับสังคมอยู่ในขณะนี้ แต่จะทำสำเร็จหรือไม่ก็ต้องคอยดูกันต่อไป  บางคนก็ปรามาสว่าไม่สำเร็จ เพราะขนาดควบคุมราคาสลากกินแบ่งรัฐบาลยังทำไม่สำเร็จ  แต่เรื่องนี้เราต้องคอยให้กำลังใจรัฐบาล
            ท่านคงเคยได้ยินว่ากรณีปราสาทหรืออาคารหลังใหญ่ๆ ของอภิมหาเศรษฐีในอดีตนั้น ถึงขนาดที่จะต้องยกให้หลวงเพราะทายาทดูแลไม่ไหว และไม่มีเงินจ่ายภาษีมรดกกันเลยทีเดียว  กรณีเหล่านี้จะเกิดขึ้นในเมืองไทยหรือไม่ ต้องมาคอยดูกันต่อไป  แต่ในทางตรงกันข้าม หลังจากเหตุการณ์สึนามิในไทย ที่ทำให้ชาวสวีเดนเสียชีวิตไปหลายร้อยคนยังความโศกสลดแก่ชาวสวีเดนมาก  ผู้รับมรดกก็ยังต้องเสียภาษีมรดกอีก  ทางรัฐบาลสวีเดนจึงยกเลิกการจัดเก็บภาษีมรดกไป
            แนวคิดในการจัดเก็บภาษีมรดกนั้น มีขึ้นเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในหมู่ประชาชน ลดช่องว่างที่ควรจะเป็น บางคนอาจทำเงินได้ร่ำรวยมหาศาล แต่ใช่จะส่งต่อให้ลูกหลานจนสร้างอภิสิทธิ์ชน หรือชนชั้นคหบดีใหญ่เช่นในประเทศกำลังพัฒนาได้  นี่นับเป็นแนวคิดที่ดี  เพราะถ้าสังคมไร้ซึ่งความเป็นธรรม มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงกันมาก ๆ ก็จะทำให้เกิดความไม่สงบ  บรรดาทรัพย์สมบัติที่คนรวยมี ก็อาจสูญค่าไปได้ เช่น กรณีพนมเปญ ไซ่ง่อนแตก  บรรดาอภิมหาเศรษฐีก็ไม่อาจหอบเอาอสังหาริมทรัพยฺ์ติดตัวไปได้แต่อย่างใด
            เรามาดูกันว่าเขาเสียภาษีมรดกกันอย่างไรบ้าง
            ในอังกฤษ จะเสียภาษีมรดกก็ต่อเมื่อมรดกนั้นมีราคาเกินกว่า 325,000 ปอนด์หรือ 17.033 ล้านบาท อย่างไรก็ตามรายได้ประชาชาติต่อหัวของอังกฤษสูงกว่าไทยประมาณ3.767 เท่า ดังนั้นถ้าเทียบเป็นเงินไทยตามฐานะคนไทย ก็ควรเอา 3.767 เท่าหาร ก็ถือว่าถ้าใครได้รับมรดกที่มีราคาเป็นเงินราว 4.521 ล้านบาทขึ้นไปก็ต้องเสียภาษีมรดกนั่นเอง อย่างไรก็ตามตัวเลขเหล่านี้ปรับเพิ่มขึ้นเป็นระยะเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ไม่ได้ตายตัวแบบการกำหนดไว้ในกฎหมายแบบไทยๆ
            วิธีการคำนวณก็เช่น นายโรเบิร์ตมีทรัพย์เป็นบ้าน รถยนต์ หุ้น พันธบัตร เงินฝาก ฯลฯ รวมเป็นเงิน 20 ล้านบาท แต่นายโรเบิร์ตมีหนี้ค่าโทรศัพท์ ประปา ไฟฟ้า ค่าทำศพและอื่น ๆ รวมเป็นเงิน 1 ล้านบาท ก็จะเหลือทรัพย์อยู่ 19 ล้านบาท ดังนั้นทรัพย์สินที่เกินกว่า 17.033 ล้านบาท หรือ 1.967 ล้านบาทก็ต้องเสียภาษี โดยเสีย ณ อัตรา 40% เป็นเงิน786,000 บาทนั่นเอง ทั้งนี้ปกติต้องเสียให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 6 เดือนนับแต่ผู้ให้มรดกเสียชีวิต
            ในสหรัฐอเมริกา ราคาขั้นต่ำของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีมรดกเป็นเงิน 5.34 ล้านดอลลาร์ หรือ 172.319 ล้านบาทในปี 2557 ซึ่งเพิ่มขึ้นตามลำดับ เช่นเมื่อปี 2556 อยู่ที่ 5.25ล้านดอลลาร์ หรือ ปี 2547 อยู่ที่เพียง 1.5 ล้านดอลลาร์เท่านั้น  ส่วนการเสียภาษีก็คล้ายๆ กับในสหราชอาณาจักร โดยมีอัตราภาษีดังนี้:

มรดกเป็นเงิน
แต่ไม่เกิน
ภาษีที่เสีย
ส่วนที่เกินเสียภาษี ณ อัตรา
0
$10,000
$0
18%
$10,000
$20,000
$1,800
20%
$20,000
$40,000
$3,800
22%
$40,000
$60,000
$8,200
24%
$60,000
$80,000
$13,000
26%
$80,000
$100,000
$18,200
28%
$100,000
$150,000
$23,800
30%
$150,000
$250,000
$38,800
32%
$250,000
$500,000
$70,800
34%
$500,000
$750,000
$155,800
37%
$750,000
$1,000,000
$248,300
39%
$1,000,000
ขึ้นไป
$345,800
40%

            อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือประเทศเยอรมนี ซึ่งมีระบบการจัดเก็บภาษีมรดกหรือของกำนัลที่ดี ดังนี้:
ทรัพย์ที่มีราคาตั้งแต่ 

กลุ่มที่ 1
ภริยา-ลูก
กลุ่มที่ 2
พี่น้องและญาติ
กลุ่มที่ 3
บุคคลอื่น
75,000 ยูโร
7%
15%
30%
300,000 ยูโร
11%
20%
30%
600,000 ยูโร
15%
25%
30%
6,000,000 ยูโร
19%
30%
30%
13,000,000 ยูโร
23%
35%
50%
26,000,000 ยูโร
27%
40%
50%
มากกว่า 26,000,000 ยูโร
30%
43%
50%

            การเก็บภาษีของไต้หวันก็เช่นเดียวกับประเทศตะวันตก ค่อนข้างหฤโหด เช่น มีกรณีอภิมหาเศรษฐีรายหนึ่ง เสียชีวิตลง ทายาทได้เข้าปรึกษาทนายความเพื่อเตรียมเจรจาเรื่องการจ่ายภาษีมรดกให้รัฐบาล เป็นเงินกว่า 14,700 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน (ประมาณ 15,180 ล้านบาท) ซึ่งเป็นการจ่ายภาษีมรดกที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์การเก็บภาษีบนเกาะไต้หวัน เนื่องจากนายหวางเป็นผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฟอร์โมซา พลาสติก กลุ่มทุนขนาดใหญ่อันดับ 2 ของไต้หวัน
            กรณีของนายบิล เกตต์ นายวอร์เรน บัฟเฟตต์ หรืออภิมหาเศรษฐีใหญ่ๆ นั้น เขาบริจาคเงินมหาศาลให้กับสาธารณะ เพราะเอาไปไม่ได้ และยังไง ๆ ก็ต้องถูกหักภาษีมรดกไปถึงประมาณ 40% อยู่แล้ว  บ้างก็ตั้งมูลนิธิขึ้นมาเพื่อจะได้นำเงินที่ควรจะเสียภาษีมาบริหารจัดการเองเพื่อสังคม นอกจากว่ายังไง ๆ ก็ต้องเสียเงินเหล่านั้นอยู่แล้ว ยังได้หน้าได้ตาเพิ่มเติมอีกต่างหาก  อย่างไรก็ตามคติคิดเช่นนี้ยังไม่ค่อยพอในอภิมหาเศรษฐีไทยที่หลายคนยังกอบโกยจากรุ่นสู่รุ่น
            ยิ่งกว่านั้นฝรั่งยังมีคติคิดอย่างหนึ่งว่า "ตายอย่างร่ำรวย ตายอย่างน่าอับอาย"  อภิมหาเศรษฐีฝรั่งที่มีค่านิยมในการบริจาคเงินมหาศาลเพื่อสังคม เพราะเชื่อตามนายแอนดรูว์ คาร์เนกี อภิมหาเศรษฐีอเมริกันที่กล่าวว่า "คนที่ตายอย่างร่ำรวย ตายอย่างน่าอับอาย" (the man who dies thus rich dies disgraced). เขาบริจาคทรัพย์เกือบทั้งหมดให้การกุศลก่อนตาย  เหลือไว้ให้ทายาทบางส่วน เพราะมหาศาลจนยังไงก็ใช้แทบไม่หมดอยู่แล้ว  และลูกหลานมักถูกสอนให้รู้จักพึ่งตนเอง ไม่ใช่พึ่งพ่อแม่  ข้อนี้แตกต่างจากไทย
            นี่แหละครับ ด้วยเหตุที่ต้องเสียภาษีกันมหาศาลเช่นนี้ และต้องพิพาทกับชนชั้นสูงในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม  ดีไม่ดีภาษีมรดกออกมาในลักษณะที่เก็บกันนิดหน่อยแบบแก้ผ้าเอาหน้ารอด หรืออาจจะดองยาวเช่นรัฐบาลก่อน ๆ ก็เป็นได้  ข้อนี้ในฐานะประชาชนทั่วไปก็คงต้องลุ้นกันว่าจะประสบความสำเร็จ  อย่าได้กลัวว่านักการเมืองหรือคณะผู้บริหารประเทศจะเอาภาษีไปทุจริตหากมีระบบตรวจสอบที่ดี
            ประเด็นที่น่าสังเกตส่งท้ายก็คือการประเมินภาษีซึ่งขึ้นอยู่กับมูลค่าทรัพย์สิน  กรณีนี้ต่างจากประเทศตะวันตก นั่นก็คือ ราคาประเมินของทางราชการไม่สะท้อนมูลค่าตลาด ไม่มีสัดส่วนที่แน่ชัดว่าเป็นเงินประมาณกี่เปอร์เซ็นตฺ์ของมูลค่าตลาดในแต่ละพื้นที่  ถ้าเราจะซื้อขายหรือแบ่งแยกมรดก จะไม่สามารถใช้ราคาทางราชการมาเป็นฐานได้เลย  ดังนั้นจึงอาจเกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นได้  ด้วยเหตุนี้จึงควรมีการประเมินราคาทรัพย์สินทั้งหลายตามราคาตลาดก่อนมีการแบ่งแยกมรดก เพื่อความเป็นธรรมแก่ลูกหลานและการเสียภาษี
          ดังนั้นหากรัฐบาลไทยโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถทำได้ ก็ต้องสาธุกัน  ผมยินดีกราบท่านเลยแหละครับ

ภาพประกอบ:
57-144.jpg ภาษีมรดก.jpg: ตัวอย่างปราสาทขนาดใหญ่ที่ต้องเสียภาษีจนแทบไม่เหลือราคา

อ้างอิง
สหราชอาณาจักร (อังกฤษ) www.hmrc.gov.uk/inheritancetax/intro/basics.htm