วันพฤหัสบดี, กันยายน 25, 2557

สถานการณ์ ท่องเที่ยว รัฐมนตรี ′กอบกาญจน์′ ′ใบ้′ อมบอระเพ็ด


ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2557

การปะเข้ากับกรณี "ไมค์ทองคำ"อาจทำให้ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล เสียศูนย์เล็กน้อย การปะเข้ากับ "พลังปี๊บ" อาจทำให้ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน เกิดอาการพะว้าพะวัง

แต่ที่หนักหนากว่าน่าจะเป็น นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา

เพราะลำพังราคายางซึ่งไหลลงต่ำกว่า 50 บาทต่อกิโลกรัม ก็เหงื่อตกแล้ว ขณะที่ราคาข้าวเปลือก 5% ก็หล่นมากองอยู่ที่ 7 พันกว่าบาท

ห่างไกลจาก 25,000 บาทเป็นอย่างมาก

และที่หนักหนาอย่างชนิดสาหัสสากรรจ์จนพูดไม่ออกบอกไม่ถูก คือ รัฐมนตรีกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร แห่งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ

เพียงปะเข้ากับ "กรณีเกาะเต่า" ก็เหนื่อย

เหนื่อยเพราะทัวริสต์จากจีนไม่ถือประเทศไทยเป็นเดสตินีอันดับ 1 ต่อไปอีกแล้ว เหนื่อยเพราะจำนวนนักท่องเที่ยวจากรัสเซียตกต่ำลงเป็นลำดับ

ด้วยแรงสะเทือนจาก "ศึกยูเครน"

ความหวังที่เคยฝากไว้กับไตรมาส 4 อันถือเป็นห้วงแห่งไฮซีซั่น ก็มลายกลายเป็นอากาศธาตุ

พูดไม่ออก บอกไม่ถูก กระดูกเสือพากษ์ไทย

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันแม้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลด้านนี้จะเอ่ยอ้างถึง

ดิจิตอล อีโคโนมี

อันเท่ากับเป็นการต่อยอดจากความมั่นใจต่อเศรษฐกิจ "ฐานความรู้" ซึ่ง ปีเตอร์ ดรักเกอร์ ปักธงทางความคิดกว่า 20 ปีมาแล้ว

แต่ก็เป็นเรื่องประเภท "นวนิยาย" มิใช่ "เรื่องสั้น"

ปัญหาเฉพาะหน้าก็คือ เมื่อมิอาจฝากความหวังให้กับการส่งออกซึ่งมีแนวโน้มจะหล่นจากเป้า 3% มาเหลือไม่ถึง 1%

ก็มีแต่ต้องฝากไว้กับ "ท่องเที่ยว"

เพราะธุรกิจท่องเที่ยว 1 แทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย อาศัยทรัพยากรเดิมที่มีอยู่ก็สามารถงอกเงยได้

1 มีผลข้างเคียงอย่างมหาศาลในด้านจับจ่ายใช้เงิน

หากสามารถพลิกฟื้นก็อาจทำให้ 3 เดือนหลัง (ตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม) เป็นเหมือนกระดานหกให้กับไตรมาส 1 ของปี 2558 ได้อย่างสดใส เพราะเป็นความต่อเนื่องจากคริสต์มาส ไปยังปีใหม่ ตรุษจีน

แต่แล้ว "เกาะเต่า" ก็ทำให้ความหวังที่วางไว้กลายเป็น "ริบหรี่"

หากสำรวจสถานการณ์จากปี 2556 มายังปี 2557 ต้องยอมรับว่ามีแรงสะเทือนอันส่งผลด้านลบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจข้างเคียงหลายเรื่อง

1 การเคลื่อนไหวทางการเมืองนับแต่เดือนพฤศจิกายน 2556

ที่ส่งผลร้ายอย่างมหาศาล คือ มาตรการ "ชัตดาวน์" ซึ่งแม้ว่าจะจำกัดเฉพาะ กทม. แต่อย่าลืมว่า กทม.เท่ากับประเทศไทย

1 การรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ความหมายอันแหลมคมอย่างยิ่งของรัฐประหาร คือ การคงประกาศและบังคับใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึกอย่างยาวนาน จึงเท่ากับเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์จากกรณี "ชัตดาวน์" ให้กลายเป็นวิปโยค

1 การสังหารนักท่องเที่ยวอังกฤษที่ "เกาะเต่า"

เป็นการสังหารขณะที่ พ.ร.บ.กฎอัยการศึกยังประกาศและบังคับใช้ เป็นการสังหารที่สื่อนานาชาติให้ความสนใจเป็นอย่างสูง

เข้าลักษณะพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก

ไม่ว่ารัฐมนตรีกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร จะมีวิสัยทัศน์อย่างไรในด้านการท่องเที่ยววิสัยทัศน์เหล่านั้นก็เป็นอัมพาต

พูดไม่ออก บอกไม่ถูก กระดูกเสือพากษ์ไทย

ไตรมาส 4 อันเป็นไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 จึงมิได้ดำรงอยู่ในสถานะแห่ง "ไฮซีซั่น"

สังเกตเห็นได้จาก "ซาร์เศรษฐกิจ" ไม่ว่าในภาครัฐ ไม่ว่าในภาคเอกชน ไม่พูดถึงการขยายตัวในปี 2557 เท่าใดนัก ทุกคนต่างทอดตามองไปยังปี 2558 ด้วยความหวัง

ยิ่งรัฐมนตรีกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ยิ่ง "เหนื่อย"

.............

(ที่มา:มติชนรายวัน 22 กันยายน 2557)