วันศุกร์, กันยายน 26, 2557

คำแถลงของที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ ซูซาน อี. ไรซ์ เรื่องภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Southeast Asia and the U.S.: Remarks by Susan Rice and K. Shanmugam
http://www.youtube.com/watch?v=oEkNOEDtlG0

Published on Sep 22, 2014
On September 22 , Foreign Policy at Brookings hosted Ambassador Susan E. Rice, Assistant to the President of the United States for National Security Affairs, and H.E. Mr. K. Shanmugam, Minister for Foreign Affairs and Minister for Law of the Republic of Singapore for remarks at an event launching the activities of the Lee Kuan Yew Chair in Southeast Asia Studies at Brookings.

ซูซาน อี. ไรซ์ เริ่มนาทีที่ 13
...

ทำเนียบขาว
สำนักงานเลขานุการฝ่ายข่าว

คำแถลงของที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ ซูซาน อี. ไรซ์
เรื่องภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ณ สถาบัน Brookings Institution
กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2557

สวัสดีค่ะทุกท่าน ดิฉันรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้กลับมาที่ Brookings อีกครั้งหนึ่ง ดิฉันอยู่ที่นี่ 6 ปี และเนื่องจากคุณแม่ของดิฉันและดิฉันต่างทำงานที่นี่เป็นเวลานาน เรารู้สึกว่าที่นี่เหมือนบ้านของเรา ดิฉันได้พบเพื่อนร่วมงานที่น่าชื่นชมและทรงภูมิจำนวนมากที่นี่ ซึ่งดิฉันยังคงมาขอรับคำแนะนำและความช่วยเหลืออยู่ และช่วงเวลาที่ดิฉันทำงานอยู่ที่นี่คือครั้งสุดท้ายที่ดิฉันได้นอนครบ 7 ชั่วโมง เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงคิดถึงที่นี่มาก Strobe และ Martin ขอบคุณค่ะที่เชิญดิฉันมาในวันนี้

ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาที่นี่พร้อมกับท่านรัฐมนตรีต่างประเทศ Shanmugam ประธานาธิบดีโอบามาและดิฉันได้พบกับประธานาธิบดีลีที่ทำเนียบขาวเมื่อไม่กี่เดือนมานี้เพื่อยืนยันความร่วมมือระหว่างสิงคโปร์กับสหรัฐอเมริกา ดิฉันคิดว่า เป็นการเหมาะสมยิ่งที่ตำแหน่งประธานของเอเชียอาคเนย์ศึกษาของ Brookings ตั้งชื่อตามท่านลี กวน ยู ผู้ก่อตั้งประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคนี้

เราอาจกล่าวได้ว่า สิงคโปร์เป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จของเป้าหมายการพัฒนาที่ประเทศทั้งหลายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังดำเนินการเพื่อให้บรรลุผล ประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เชื่อมโยงกันมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งภายในภูมิภาคเดียวกันและกับเศรษฐกิจของโลก ระบอบเผด็จการที่ฝังรากลึกได้เปิดทางให้กับประชาธิปไตยใหม่ๆ และตลอดทั้งภูมิภาคนี้ ประชาชนเริ่มมีบทบาทมากขึ้นทุกขณะในการปกครองตนเองและในการดำเนินชีวิตด้านประชาสังคม ดังที่ประธานาธิบดีโอบามากล่าวไว้ที่ประเทศมาเลเซียเมื่อต้นปีนี้ว่า “บางที อาจไม่มีภูมิภาคใดในโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน” ตลอดช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมาพร้อมกับอิทธิพลและโอกาสที่เพิ่มมากขึ้นในการมีบทบาทบนเวทีโลก บทบาทของเอเชียที่มีเพิ่มขึ้นในกิจการระหว่างประเทศเป็นผลมาจากความมีส่วนร่วมที่ไม่น้อยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นคือสาเหตุว่า เหตุใดประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงมีความสำคัญและจะยังมีความสำคัญต่อนโยบายปรับดุลยภาพกับภูมิภาคเอเชียของสหรัฐฯ เราถือว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นประเทศหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกันในภารกิจของเราเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ที่จะส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าและการพัฒนา เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศต่างๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่การปกครองระบอบประชาธิปไตย และเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนให้ประชาชนทุกคน ประธานาธิบดีโอบามาจะยังคงดำเนินภารกิจนี้เมื่อท่านไปเยือนภูมิภาคนี้อีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน รวมทั้งการแวะที่ประเทศจีนเพื่อร่วมการประชุมเอเปค ที่ประเทศพม่าเพื่อร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกและที่ประเทศออสเตรเลียเพื่อร่วมการประชุมสุดยอดของประเทศสมาชิกกลุ่ม G20

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตลาดของภูมิภาคนี้มีความสำคัญยิ่งต่อความเจริญรุ่งเรืองของอเมริกา กลุ่มประเทศอาเซียนเมื่อรวมกันแล้วนับเป็นกลุ่มเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับเจ็ดของโลกและอันดับสี่ของประเทศคู่ค้าของอเมริกา สหรัฐอเมริกาลงทุนในอาเซียนมากกว่าประเทศใดๆ ในเอเซีย และเนื่องจากอาเซียนมีประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในโลก อาเซียนจึงยิ่งมีความสำคัญต่ออนาคตของเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นั่นคือเหตุผลว่า เหตุใดเราจึงมุ่งมั่นดำเนินการความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Trans-Pacific Partnership – TPP หนึ่งในสามของประเทศคู่ความร่วมมือ TPP เป็นประเทศในอาเซียน เช่น สิงคโปร์ เวียดนามและมาเลเซีย ซึ่งสำหรับประเทศเหล่านี้ ข้อตกลงที่มีมาตรฐานสูงหมายถึงการมีความยึดมั่นในพันธกิจใหม่ๆ อย่างจริงจัง อย่างไรก็ดี ข้อตกลงดังกล่าวจะเอื้อประโยชน์อย่างมากต่อเศรษฐกิจของเราทุกประเทศ และเรามุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือประเทศคู่ความร่วมมือของเราสามารถดำเนินการตามข้อกำหนดของ TPP ได้ และสามารถสร้างโอกาสเพื่อการค้าและการลงทุนที่มีความสำคัญยิ่งขึ้นอันเป็นผลสืบเนื่องจากข้อตกลงนี้

สหรัฐฯ กำลังดำเนินการเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเดือนมิถุนายน รัฐมนตรี Pritzker ได้นำคณะผู้แทนนักธุรกิจชาวอเมริกันไปเยือนฟิลิปปินส์ เวียดนามและพม่าเพื่อสำรวจโอกาสทางการค้าใหม่ๆ เอกอัครราชทูต Froman ได้พบกับเอกอัครราชทูตของประเทศกลุ่มอาเซียนทั้งหมดในพม่าเมื่อเดือนที่แล้ว พวกเราร่วมกันส่งเสริมการเติบโตที่มีฐานกว้างและยั่งยืนเพื่อว่าประเทศเศรษฐกิจต่างๆ จะสามารถแข่งขันกันได้จากจุดยืนที่เท่าเทียมกันและทุกคนในทุกระดับของสังคมจะต่างมีส่วนร่วมในความเจริญรุ่งเรือง นอกจากนี้ ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีบทบาทสำคัญในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในทวีปเอเชีย สหรัฐฯ เป็นพันธมิตรที่ยาวนานกับไทยและฟิลิปปินส์ และเรายังมีความร่วมมือด้านความมั่นคงที่สำคัญกับสิงคโปร์ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโอบามาและประธานาธิบดีอาคิโนได้ประกาศข้อตกลงความร่วมมือด้านกลาโหมเพิ่มเติม (Enhanced Defense Cooperation Agreement) ซึ่งจะกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกองทัพของเราทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ เรายังกำลังดำเนินการกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงกับประเทศอื่นๆ อีกเช่น มาเลเซียและเวียดนาม ซึ่งรวมถึงการพัฒนาสมรรถภาพของประเทศทั้งสองในการมีส่วนร่วมปฏิบัติการเพื่อความมั่นคงทางทะเล

สหรัฐฯ ยังคงร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เราไม่สามารถดำเนินการตามลำพังได้ อาทิ ภัยคุกคามไร้พรมแดน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปฏิบัติการตอบสนองวิกฤตด้านมนุษยธรรมเช่นกรณีไต้ฝุ่นเมื่อปีที่ผ่านมา การต่อต้านความรุนแรงสุดโต่ง และการแก้ไขความขัดแย้งทางทะเลระหว่างประเทศเพื่อนบ้านอย่างสันติ ในการดำเนินการความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้ สหรัฐอเมริกาได้ลงทุนครั้งประวัติศาสตร์ในการเสริมความเข้มแข็งให้แก่สถาบันต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ซึ่งรวมถึงอาเซียนด้วย ประธานาธิบดีโอบามาได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างผู้นำสหรัฐฯ กับผู้นำประเทศกลุ่มอาเซียนเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2552 และได้กลายเป็นการประชุมประจำปีในปัจจุบัน ประธานาธิบดีโอบามาได้ส่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ไปประจำอาเซียนเป็นคนแรก และวุฒิสภาเพิ่งรับรองให้ Nina Hachigian ดำรงตำแหน่งดังกล่าวในปีต่อๆ ไป ความร่วมมือกับอาเซียนที่เพิ่มขึ้นนี้ได้อำนวยประโยชน์อย่างเห็นได้ชัดแล้ว เช่น การประสานงานที่ดีขึ้นในการปฏิบัติการตอบสนองภัยธรรมชาติ การลงทุนที่เพิ่มขึ้นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคและแหล่งพลังงานสีเขียว ตลอดจนการขยายความร่วมมือด้านความปลอดภัยและความมั่นคงทางทะเลอย่างรวดเร็ว

สหรัฐฯ ดำเนินงานร่วมกับรัฐบาล สถาบันต่างๆ และประชาชน เพื่อเสริมสร้างรากฐานประชาธิปไตยในภูมิภาคและส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เราได้เห็นความสำเร็จที่สำคัญหลายประการ เช่น ในอินโดนีเซีย ที่ได้แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของประชาธิปไตยในประเทศผ่านการเลือกตั้งที่ประสบความสำเร็จและการตัดสินชี้ขาดอย่างสันติ ประธานาธิบดีโอบามารอคอยที่จะได้พบกับว่าที่ประธานาธิบดี Widodo ในเดือนพฤศจิกายนนี้ เราได้เห็นการดำเนินงานที่มีความหวังในพม่า สหรัฐฯ ทำงานร่วมกับรัฐบาลและประชาชนชาวพม่าที่กำลังเดินหน้ากับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยแม้ว่าความท้าทายสำคัญต่างๆ ยังคงมีอยู่ น่าเสียดายที่เราต้องเห็นก้าวถอยหลังที่น่ากังวลด้วยเช่นกัน ดังเช่นในประเทศไทย สหรัฐฯ ยังคงมั่นคงต่อพันธไมตรีที่มีต่อประชาชนชาวไทย แต่เราก็ปรารถนาที่จะเห็นประเทศไทยกลับสู่การปกครองโดยรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยและครอบคลุมทุกภาคส่วนโดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังสานความร่วมมือกับประชาชนในภูมิภาคนี้โดยตรงผ่านโครงการต่างๆ เช่น ความริเริ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Initiative) ซึ่งช่วยพัฒนาความสามารถของชุมชนให้จัดหาการดูแลสุขภาพได้ด้วยตนเอง ตลอดจนให้การศึกษาแก่บุตรหลาน และรักษาสิ่งแวดล้อม ในกัมพูชา องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐดำเนินงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเพื่อเพิ่มโอกาสให้เด็กเล็กได้เข้าโรงเรียนมากขึ้น ในอินโดนีเซีย องค์การ Millennium Challenge Cooperation ช่วยเหลือหมู่บ้านต่างๆ ให้สามารถเพิ่มรายได้พร้อมกับลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล สหรัฐฯ ยังได้จัดโครงการ Young Southeast Asian Leaders Initiative (YSEALI) ของประธานาธิบดีโอบามา เพื่อสนับสนุนและเสริมสร้างทักษะแก่เยาวชนทั่วภูมิภาค อีกทั้งเชื่อมโยงเยาวชนเหล่านี้เข้ากับทรัพยากรที่จำเป็นในการรับใช้ชุมชนของตน รวมถึงสร้างธุรกิจใหม่ๆ และก้าวขึ้นเป็นผู้นำรุ่นต่อไป

ประธานาธิบดีโอบามาเปิดโอกาสให้เยาวชนเหล่านี้มาพบปะกันอย่างไม่เป็นทางการเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาที่ประเทศมาเลเซีย เยาวชนกลุ่มนี้มีทั้งผู้ประกอบการ นักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหว ทุกคนล้วนน่าประทับใจและช่างคิด อีกทั้งแต่ละคนยังมุ่งมั่นสรรค์สร้างอนาคตที่สดใสกว่า พวกเขาไม่เพียงอยากรู้ว่าจะเป็นผู้นำที่เข้มแข็งขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร แต่ยังอยากรู้วิธีเชื่อมประสานความแตกต่างทางวัฒนธรรม ภาษา และความเชื่อ เพื่อผสานรวมภูมิภาคที่มีความหลากหลายอย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อให้สามารถดึงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่

นั่นคือเป้าหมายที่เรามีร่วมกัน ทั้งนี้ก็เพราะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีศักยภาพมหาศาล อีกทั้งภูมิภาคนี้กำลังเผชิญกับคำถามสำคัญเกี่ยวกับการปรับตัวในช่วงเวลาที่มหาอำนาจหลายชาติเข้ามามีบทบาทมากขึ้น การผงาดขึ้นมาของจีน การฟื้นคืนอำนาจของญี่ปุ่น การฟื้นฟูของอินเดีย และการปรับดุลยภาพของอเมริกา พลวัตเหล่านี้มีอยู่จริง และมุ่งมาบรรจบกันที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม ควรนับว่าแนวโน้มเหล่านี้เป็นโอกาสสำหรับความร่วมมือที่กว้างขวางยิ่งขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่การแข่งขัน ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ควรต้องเลือกข้างระหว่างมหาอำนาจต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องของสหรัฐฯ และจีน การธำรงรักษาอิสรภาพและเอกราชของคู่ความร่วมมือทุกประเทศในภูมิภาคนี้คือหัวใจหลักของนโยบายสหรัฐฯ ต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อันที่จริง ความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับจีนนั้นสำคัญต่ออนาคตของทั้งสองประเทศ สำคัญต่อภูมิภาคนี้ และสำคัญต่อโลก ดิฉันเพิ่งเดินทางไปประเทศจีนเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน และได้พบกับผู้นำอาวุโสของจีนหลายท่าน ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ประธานาธิบดีโอบามาจะพบกับประธานาธิบดีสีอีกครั้งหนึ่ง เพื่อกระชับความร่วมมือในประเด็นความท้าทายที่สำคัญทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก อันจะสร้างความสัมพันธ์ที่เอื้อให้ทั้งสองประเทศสามารถร่วมมือกันในประเด็นความสนใจร่วมกัน และสนทนากันอย่างตรงไปตรงมาในส่วนที่เห็นต่างกัน เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน

ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ยังคงสร้างเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีที่เข้มแข็งกับชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง และทำงานร่วมกันด้วยฐานะที่เท่าเทียมผ่านการประชุมพหุพาคีต่างๆ ทั้งนี้เพื่อให้แต่ละชาติรักษาอิสรภาพไว้ได้ พร้อมไปกับบ่มเพาะพลวัตกลุ่มที่ส่งเสริมบรรทัดฐานร่วมกันและป้องปรามไม่ให้รัฐที่ใหญ่กว่ากดดันรัฐที่เล็กกว่า นี่คืออีกเหตุผลหนึ่งที่สหรัฐฯ มุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันระดับภูมิภาคของเอเชีย เช่น การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก สหรัฐฯ ปรารถนาที่จะสร้างและสนับสนุนลักษณะที่ส่งเสริมการร่วมมือกัน เพื่อกำหนดสิทธิและความรับผิดชอบร่วมกันซึ่งในท้ายที่สุดจะช่วยรับรองว่า ทุกฝ่ายจะได้รับโอกาสการแข่งขันเท่าเทียมกัน

ความท้าทายที่ดิฉันกล่าวถึงในวันนี้ล้วนเป็นประเด็นที่ต้องใส่ใจอย่างต่อเนื่อง และถึงแม้ว่าจะมีแรงกดดันจากเหตุการณ์ในโลกที่รุมเร้า ทั้งความขัดแย้งที่ยังคงดำเนินอยู่ในตะวันออกกลาง ความตึงเครียดกับรัสเซียเรื่องยูเครน และการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก สหรัฐฯ ยังคงมุ่งให้ความสำคัญกับเอเชีย โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สหรัฐฯ เป็นประเทศในภาคพื้นแปซิฟิก อนาคตร่วมกันของเรานั้นแน่นอนเช่นเดียวกับอดีตร่วมกันของเรา ประชาชนของสหรัฐฯ และประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีวิสัยทัศน์สู่อนาคตร่วมกัน นั่นคืออนาคตที่ลูกหลานของเราได้ไปโรงเรียนและไขว่คว้าความฝันของตนอย่างมั่นใจ อนาคตที่ไม่ว่าใครก็สามารถเริ่มต้นธุรกิจได้และมีโอกาสประสบความสำเร็จ อนาคตที่สิทธิขั้นพื้นฐานจะไม่มีวันถูกจำกัดหรือถูกปฏิเสธ นี่คือสิ่งที่เราพยายามวางแนวทางตลอดห้าปีที่ผ่านมา นี่คือเหตุผลที่เราร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายร่วมกัน ไม่ว่าจะคุ้มครองเส้นทางเดินเรือในมหาสมุทรแปซิฟิกหรือส่งมอบความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ

สายสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของเรายิ่งผูกพันแน่นแฟ้นขึ้นทุกปี ในยามนี้ที่เราร่วมมือกันเพื่อก้าวสู่อนาคตร่วมกันต่อไป สหรัฐฯ จะยังคงเป็นหุ้นส่วนที่เชื่อใจได้และเป็นมิตรแท้ของประชาชนทุกคนในภูมิภาคนี้ ขอบคุณค่ะ