โดย : ดร.นันทนา นันทวโรภาส
คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก
วันที่ : 17 กันยายน 2557
ที่มา http://drnantana.blogspot.com/
“จงคิดทุกอย่างที่พูด แต่อย่าพูดทุกอย่างที่คิด”
สำนวนนี้ใช้เพื่อเตือนสติในการพูดของคนทั่วๆไป ว่าอะไรควรพูดและอะไรไม่ควรพูด เพราะถ้าใช้สมอง “คิด” ก่อน ก็ย่อมกลั่นกรองได้ว่าอะไรเหมาะสมที่จะนำมาพูด และอะไรที่ไม่ควรพูด
แต่สำหรับผู้นำ การพูดผ่านสื่อมวลชน ซึ่งถือเป็นการสื่อสารทางการเมือง ย่อมส่งผลต่อคนทั้งประเทศ และรวมไปถึงนานาประเทศที่ติดตามข่าวสารด้วย
ดังนั้นการสื่อสารของผู้นำ จึงมีความสำคัญยิ่ง จำเป็นต้องผ่านการ คิด วิเคราะห์ กลั่นกรอง วางแผน และเตรียมการทุกขั้นตอน ก่อนที่จะถูกนำมาถ่ายทอดสู่ประชาชน!!
การสื่อสารทางการเมือง จะมีความสำคัญและส่งผลกระทบในวงกว้างเพียงใด ขึ้นอยู่กับสถานะของผู้ส่งสาร ยิ่งผู้ส่งมีตำแหน่งสูงมากผลกระทบยิ่งมาก และถ้าผู้ส่ง เป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ ผลกระทบก็ระดับชาติ !
การสื่อสารของผู้นำส่งผลกระทบอย่างไร?
ผลกระทบภายในคือความเชื่อมั่นของประชาชนในชาติ เมื่อผู้นำพูด ประชาชนจะฟัง ดังนั้น สิ่งที่ออกจากปากผู้นำ จึงเทียบเท่ากับดัชนีชี้วัดความเชื่อมั่น ให้กับคนในชาติ หากผู้นำขาดทักษะในการสื่อสาร พูดโดยขาดความรู้ พูดโดยขาดการไตร่ตรอง พูดโดยขาดข้อมูล พูดตามอารมณ์ ย่อมส่งผลให้ประชาชนขาดความมั่นใจในการบริหารประเทศไปด้วย
ผลกระทบภายนอกคือ ความเชื่อมั่นต่อนานาประเทศ ในยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนาก้าวหน้าถึงขีดสุดเช่นในปัจจุบัน ข่าวสารที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ย่อมถูกถ่ายทอดผ่านสำนักข่าวสากลไปทั่วโลก แม้ท่านผู้นำจะพูดเป็นภาษาไทย ก็ไม่เกินวิสัย ที่ผู้สื่อข่าวจะถอดความเป็นภาษาอังกฤษ ส่งไปยังผู้ที่รู้ภาษาอังกฤษกว่าค่อนโลก และนั่นย่อมหมายถึง ชาวต่างชาติก็ย่อมประเมินสถานะ ความน่าเชื่อถือของประเทศ ผ่านการสื่อสารของผู้นำนั่นเอง
การสื่อสารจึงนับเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการบริหารประเทศให้บรรลุเป้าหมาย กล่าวคือ การนำเอาการสื่อสารมาโน้มน้าวจูงใจให้ประชาชนสนับสนุนแนวทางนโยบายสาธารณะที่รัฐบาลจัดทำ ใช้การสื่อสารในการเร้าระดมการมีส่วนร่วมในโครงการต่างๆ ใช้การสื่อสารอธิบายข้อเท็จจริง และสร้างความเข้าใจในการบริหารประเทศ ซึ่งหากผู้นำสื่อสารได้ดี นอกจากจะได้รับการสนับสนุนให้ทำงานจนครบวาระแล้ว เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป ก็ย่อมจะได้รับการสนับสนุนให้กลับมาบริหารประเทศอีก แต่หากสื่อสารไม่ดี ไม่มีผลงาน ประชาชนก็ย่อมหันไปแสวงหาทางเลือกใหม่ ตามวิถีทางประชาธิปไตย
กรณีผู้นำประเทศในภาวะวิกฤติ ที่มิได้มาจากการเลือกตั้ง ก็มิได้อยู่ในข้อยกเว้น ของการสื่อสารทางการเมือง ตรงกันข้าม กลับยิ่งต้องใช้การสื่อสารให้มีประสิทธิภาพมากกว่า เพื่อแสดงให้ประจักษ์แก่สาธารณะชนว่า แม้มิได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็สามารถสร้างการยอมรับสนับสนุนให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนได้
Harold Lasswell นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ได้เน้นย้ำว่าผลของการสื่อสาร คือตัวชี้วัดประสิทธิผลทางการเมือง ดังนั้นเป้าหมายของการสื่อสารทางการเมือง ก็คือผู้รับสารที่เป็นประชาชน ทั้งในและนอกประเทศ ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าจะเปิดใจผู้รับสารให้ยอมรับและคล้อยตามได้อย่างไร
ประการแรก ผู้ส่งสารต้องเชื่อในความเท่าเทียมกันของผู้ส่งกับผู้รับสาร ไม่มีความคิดว่าผู้รับสารด้อยกว่า โง่กว่า รู้น้อยกว่า ดังนั้นผู้ส่งสารจึงต้องสื่อสารด้วยเรื่องจริง อย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา ไม่ปกปิดข้อมูล ไม่สื่อสารด้วยข้อมูลด้านเดียว (โดยเชื่อเอาเองว่า ผู้รับสาร ไม่มีทางรู้ความจริง หรือ เชื่อว่าไม่ควรพูดเรื่องจริง เพราะจะทำให้ผู้รับสารสับสน เพราะผู้รับสารขาดวิจารณญาณที่ดี)
ประการที่สอง ต้องให้เสรีภาพแก่ผู้รับสาร ในการเลือกเปิดรับสื่อของผู้นำ เช่นไม่จำกัดให้มีการถ่ายทอดทุกช่องทาง การกำหนดให้เปิดรับสื่อแบบไม่มีทางเลือกในเวลาที่ผู้รับสารต้องการรับความบันเทิง นอกจากจะไม่สามารถสร้างความยอมรับแล้ว ยังเป็นการผลักให้ผู้รับสาร หนีไปเปิดรับสื่ออื่นๆทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งเท่ากับปิดรับสารนั้นไปโดยปริยาย
ประการที่สาม ลีลาการนำเสนอ อันประกอบไปด้วย เรื่องของบุคลิกภาพการแต่งกาย การแสดงออก กิริยา ท่าทาง สีหน้า สายตา น้ำเสียง ต้องสอดคล้องกับความพึงพอใจของผู้รับสาร นั่นคือ ต้องเร้าความสนใจ ดึงดูดใจของผู้รับสาร ในขณะเดียวกันก็ต้องดูน่าเชื่อถือ มีพลัง เพราะการสื่อสารของผู้นำย่อมแตกต่างจากจากดารานักแสดง ที่เพียงให้ความบันเทิงเท่านั้น
ประการที่สุดท้าย ซึ่งมีความสำคัญมากที่สุด นั่นคือการเลือกใช้เนื้อหา รวมทั้งถ้อยคำภาษา ต้องคำนึงถึงกาลเทศะ เช่นการแถลงนโยบายในสภา ต้องทำอย่างสง่างาม มีแบบแผน ให้ความเคารพต่อสถานที่และให้เกียรติผู้ฟัง ไม่ควรกล่าวผรุสวาท กล่าวพาดพิง เสียดสีประชดประชัน อันจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในพิธีการอันสำคัญนี้ เช่นเดียวกับการแถลงข่าว การบรรยาย การอภิปรายในที่สาธารณะ ที่มีสื่อมวลชน คอยถ่ายทอดข้อมูลอยู่ ผู้นำ จำเป็นต้องควบคุมอารมณ์ ระมัดระวังการใช้เหตุผล ไม่ควรพูดทีเล่นทีจริง ซึ่งจะสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศ ตัวอย่างเช่น การพูดเชิงเสียดสีว่า หากต้องการให้ยางราคาดี ให้ไปขายบนดาวอังคาร หรือการพูดว่าน้ำท่วมแก้ได้ง่ายเพียงทุกคนสร้างบ้านใต้ถุนสูงก็ไม่โดนน้ำท่วมแล้ว หรือการเชิญชวนให้ทุกคนช่วยกันเก็บผักตบชวาคนละสิบยี่สิบต้น ผักตบชวาก็จะสูญพันธุ์ในที่สุด หรือแม้แต่การพูดถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ว่าไม่ควรใส่ชุดบิกินี เพราะไม่ปลอดภัย ยกเว้นแต่คุณจะเป็นคนไม่สวย ......ฯลฯ คำพูดเหล่านี้ ย่อมถูกสื่อมวลชนหยิบยกไปนำเสนอ เป็นภาพสะท้อนภาวะผู้นำ ไปสู่การรับรู้ของประชาชนไทยและประชาคมโลกในเวลาเดียวกัน โดยไม่ต้องบิดเบือนข้อมูลใดๆ เพราะเป็นการพูดออกจากของผู้นำเอง !
ดังนั้น ผู้นำทั้งหลายหากต้องการให้ภาพลักษณ์ของตนเองดูดี มีปัญญา เพียบพร้อมด้วยภาวะผู้นำ ก็คงต้องสะกดเก็บคำพูดที่ไม่เหมาะสมของตนเองไว้ โดยยึดคำคมที่ว่า “คำพูด เมื่อยังไม่พูด เราเป็นนายมัน แต่เมื่อพูดแล้ว มันเป็นนายเรา”
จะเห็นได้ว่า การสื่อสารทางการเมืองไม่ใช่เรื่องของสามัญสำนึก (common sense) แต่เป็นศาสตร์ที่ผู้นำต้องเรียนรู้ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารงานให้บรรลุเป้าหมาย และหากฝึกฝนทักษะการสื่อสารจนเกิดความชำนาญ ก็ย่อมสามารถใช้พลังของการสื่อสาร มาสร้างความเชื่อมั่นทางการเมืองจนเกิดประโยชน์สูงสุดได้ แต่ ในทางกลับกัน หากใช้ไม่เป็น การสื่อสารก็จะกลายเป็นอาวุธที่หันมาทำลายผู้ใช้เสียเอง
ooo
เรื่องเกี่ยวข้อง...
วันนี้ (12 ก.ย.57) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้เวลาเพื่อแถลงนโยบายของรัฐบาล ต่อ สนช.กว่า 2 ชั่วโมง นับว่าเป็นเป็นการพูดต่อสาธารณะที่นานที่สุดครั้งหนึ่งหลังจากที่ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งลีลาและการพูด ที่พล.อ.ประยุทธ์ สื่อสาร ถูกจับตามองและถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด เช่นเดียวกับการสื่อสารวันนี้ ที่นักวิชาการมองว่ายังไม่เหมาะสมกับการแถลงนโยบาย ที่เป็นพิธีการสำคัญของการเริ่มต้นบริหารประเทศ
ที่มา Thai PBS News