วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 10, 2557

สิ่งล้มเหลวของนิติศาสตร์





ผมอ่านข่าว "จับคาหนังคาเขา! หนุ่มเชียงรายทำลายพระบรมฉายาลักษณ์"* ข้อเท็จจริงไม่ชัด เพียงได้ความว่า ประชาชนคนหนึ่งไปดึงภาพในหลวงที่ผนึกอยู่ที่ซุ้ม มากองไว้กับพื้น เท่านั้น มีรายงานข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าพยายามทำลายภาพในหลวง แล้วถูกตำรวจแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ก็ตามเคย รัฐไทยจะไม่ระบุความผิดว่าถูกจับเพราะผิดอะไร ดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย มาตรานี้มีตั้ง ๓ กรณี แต่เข้าใจว่า กรณีนี้น่าจะหมายถึงกรณี 'แสดงความอาฆาตมาดร้าย'

ถ้าเป็นเช่นนั้น เจ้าหน้าที่รัฐไทย คงเข้าใจ'แสดงความอาฆาตมาดร้าย' ว่าหมายถึง แสดงความเคืองแค้นพยาบาท (express a grudge) กระมัง ถ้อยคำภาษาไทยไม่ชัดนะ แต่ถ้าเราไปดูต้นร่างภาษาฝรั่งเศส [ก่อนทำประมวลกฎหมาย เราใช้กฎหมายลักษณะอาญา ซึ่งให้นาย Georges PADOUX คนฝรั่งเศสร่าง และมาตรานี้ก็ตกทอดมาถึงปัจจุบัน] ต้นร่างภาษาฝรั่งเศส คำว่า 'การแสดงความอาฆาตมาดร้าย' ใช้คำว่า menacer ซึ่งมีความหมายถึง คุกคาม/กรรโชกก่อให้เกิดความหวาดกลัว (ถ้าเป็นคำนามก็คือ manaces คือ การทำให้หวาดกลัว) เท่านั้น (ต้นร่างฉบับภาษาอังกฤษ ก็ใช้ threaten)

เป็นคนละเรื่องกับการแสดงออกถึง 'ความพยาบาทหรือผูกใจเจ็บ' (grudge) เลยครับ

หากไปฉีกรูปจะเป็นการแสดงความผูกใจเจ็บ เช่นนี้ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานนี้แต่อย่างใด

หากจะบอกว่า งั้นเป็นการ 'ดูหมิ่น' ผมก็คงบอกว่า "คุณมัน ป.ส.ด. !" ล่ะครับ ภาพหล่นที่พื้น จะเป็น 'ดูหมิ่น' คนที่อยู่ในภาพได้ยังไง หากถือว่าการกระทำนั้นไม่สมควรตามปกตินิยม ก็ไม่ใช่การดูหมิ่นอยู่ดี เช่น กษัตริย์เดินผ่าน เราไม่หมอบ เช่นนี้ก็ไม่เป็นดูหมิ่น (ดูตำราอาญาไทย จิตติ หยุด หรือย้อนไป มหาอำมาตย์โท พระอินทปรีชา ก็อธิบายเช่นนี้) นี่ก็เช่นกัน การไม่ทำตามปกตินิยม (นำภาพไว้ที่สูง ๆ) ก็ไม่เป็นดูหมิ่นไปได้เลย

แต่อย่างว่า ความคิดเห็น/การวินิจฉัยของ เจ้าหน้าที่รัฐ (ตำรวจ อัยการ ศาล) มันเป็น 'การตัดสินที่ก่อให้เกิดผลในระบบกฎหมาย' (l'interprétation authentique) ส่วนเรามัน "ไม่ใช่" หากพูดเป็นภาษาลูกทุ่ง ๆ อย่าง อ.สถิตย์ ไพเราะ ก็คือ "ปากกาอยู่ที่มัน" นั่นเองครับ.
_______________________
* ดูเนื้อข่าว http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?newsid=9570000077349