วันเสาร์, มกราคม 21, 2560

เจาะ พรบ. คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ แก้ไขดีขึ้น ๓ อย่าง แต่ยังใช้ปิดปากเหมือนเดิม แถมแนวโน้มมากขึ้น

#พรบคอม แก้ไขใหม่แล้ว คดี "ปิดปาก" มีแต่แนวโน้มจะเพิ่มขึ้น

เมื่อ 20 ม.ค. 2560 โดย iLaw

ข้อเรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 14(1) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้รับการตอบสนองโดยสนช. แต่การแก้ไขกฎหมาย ในปี 2559 กลับดูเหมือนยังแก้ปัญหาที่กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือ "ปิดปาก" การตรวจสอบ ไม่ได้มากนัก แถมยังอาจสร้างปัญหาให้หนักขึ้นกว่าเก่าก็เป็นได้ พอจะเรียกได้ว่า การแก้ไขมาตรา 14(1) ในครั้งนี้ ดีขึ้น 3 ประเด็น แย่ลง 1 ประเด็น และ "เล่นลิเก" อีก 1 ประเด็น

พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) หรือร่างแก้ไขฯ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2559 แก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับที่ใช้กันมาเกือบสิบปีไปหลายมาตรา ข้อเรียกร้องที่ดังมาตลอดหลายปี คือ ให้แก้ไขมาตรา 14(1) เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ใช้ฟ้องคดีปิดปากสื่อและนักเคลื่อนไหวจนกระทบต่อเสรีภาพการแสดงออก ดูเหมือนจะได้รับการตอบสนองแล้ว โดยสนช. แก้ไข มาตรา 14(1) ไปหลายประเด็น

ปัญหาเดิม เกือบ 10 ปี การตีความ “ข้อมูลเท็จ” ในมาตรา 14(1) กลายเป็นกฎหมาย "ปิดปาก" การวิจารณ์

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ระบุว่า “ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (1) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าท้ังหมดหรือบางส่วน  หรือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” 

เจตนารมณ์เดิมของการเขียนมาตรา 14(1) เพื่อเอาผิดกับการทำหน้าเว็บไซต์ปลอมเพื่อหลอกลวงเอาทรัพย์สิน (Phishing) หรือ การฉ้อโกงกันในโลกออนไลน์ แต่การเขียนกฎหมายด้วยคำว่า"ข้อมูลอันเป็นเท็จ"  มีความกำกวมเปิดช่องให้ตีความได้หลากหลาย ส่งผลให้ตลอดอายุเกือบสิบปีของกฎหมายฉบับนี้ มาตรา 14(1) ถูกนำมาใช้เอาผิดกับการแสดงความคิดเห็น การเผยแพร่ข้อมูล โดยตีความคำว่า "ข้อมูลเท็จ" ให้กว้างกินความถึงเนื้อหาอะไรก็ตามที่ไม่เป็นความจริง 

มาตรา 14(1) ถูกนำมาใช้ฟ้องคดีต่อสื่อมวลชนหรือนักเคลื่อนไหวทางสังคม ที่โพสต์ข้อมูลลงในโลกออนไลน์ เกี่ยวกับการตรวจสอบการคอร์รัปชั่น การละเมิดสิทธิมนุษยชน การปกป้องสิ่งแวดล้อม การปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ และอื่นๆ อีกสารพัดเรื่อง โดยส่วนใหญ่การดำเนินคดีจะเกิดเมื่อบุคคลที่มีอำนาจ หรือมีสถานะทางสังคมถูกวิพากษ์วิจารณ์ 

เท่าที่ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพของไอลอว์ บันทึกข้อมูลได้ มีคดีมาตรา 14(1) ในลักษณะการฟ้องเพื่อ "ปิดปาก" การตรวจสอบ อย่างน้อย 44 คดี ดูรายละเอียดคลิกที่นี่ 

ปัญหาเดิม มาตรา 14(1) ใช้พ่วงกับข้อหาหมิ่นประมาท ตั้งข้อหาซ้ำซ้อนสร้างภาระให้จำเลย
คดีมาตรา 14(1) ที่ใช้ฟ้อง "ปิดปาก" การตรวจสอบ ส่วนใหญ่จะใช้ฟ้องคู่กับข้อหาหมิ่นประมาท และหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328 ซึ่งระบุว่า 

มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

การฟ้องคดีลักษณะนี้ ศาลจะต้องพิจารณาทุกข้อหาว่า ข้อความที่โพสต์ลงบนอินเทอร์เน็ต 1) เป็น "ข้อมูลปลอมหรือข้อมูลเท็จ" ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) หรือไม่  2) เป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ตามมาตรา 326 หรือไม่ 3) เป็นการโฆษณาด้วยวิธีอื่นใด ตามมาตรา 328 หรือไม่ ซึ่งหลายคดี เมื่อศาลเห็นว่า เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ก็มักจะพิพากษาให้เป็นความผิดตามมาตรา 14(1) ด้วย

การใช้ มาตรา 14(1) ฟ้องคดีคู่กับความผิดฐานหมิ่นประมาท เช่นนี้ ส่งผลกระทบต่อจำเลยหลายประการ ได้แก่

1. เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ซ้ำซ้อน เนื่องจากความผิดฐานหมิ่นประมาทมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้ว แม้จะเป็นการกระทำบนอินเทอร์เน็ต ก็มีความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาอยู่แล้ว ทำให้เกิดความสับสนในการตีความการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้จำเลยมีภาระต้องต่อสู้คดีเพิ่มขึ้น ต้องพิสูจน์ให้พ้นผิดจากองค์ประกอบทั้งตามมาตรา 14(1) และองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาท

2. ทำให้จำเลยต้องเผชิญอัตราโทษที่สูงขึ้น ความผิดฐานหมิ่นประมาทมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณามีอัตราโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท เมื่อนำพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) มาใช้ฟ้องร้องคู่กับความผิดฐานหมิ่นประมาท ทำให้มีอัตราโทษเพิ่มเป็น จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท

3. เป็นคดียอมความไม่ได้ คดีหมิ่นประมาทเป็นความผิดต่อส่วนตัว คดีจำนวนไม่น้อยเมื่อขึ้นสู่ชั้นศาลแล้วสามารถตกลงชดใช้ค่าเสียหาย หรือกล่าวขอโทษกัน ก็ทำให้คดีความจบกันไปได้ แต่ข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ไม่ใช่ความผิดที่ยอมความได้ แม้ผู้เสียหายกับจำเลยตกลงกันได้จนข้อหาหมิ่นประมาทถูกถอนไปแล้ว ความผิดตามมาตรา 14(1) ก็ยังต้องดำเนินคดีต่อไป ส่งผลให้จำเลยต้องมีภาระต่อสู้คดียาวนาน และทำให้คดีรกโรงรกศาลโดยไม่จำเป็น

4. การวิจารณ์โดยสุจริต ไม่เป็นเหตุยกเว้นความผิด การหมิ่นประมาทที่กระทำไปโดยการติชมด้วยความสุจริต หรือการวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นประโยชน์สาธารณะ เป็นเหตุยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษได้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329-330 แต่ความผิดตามมาตรา 14(1) แม้เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะก็ตาม ก็ไม่สามารถอ้างเหตุเหล่านี้ขึ้นต่อสู้คดีได้

แก้ไขมาตรา 14(1) ใหม่ ดีขึ้น 3 ประเด็น แย่ลง 1 ประเด็น และ "เล่นลิเก" อีก 1 ประเด็น
ตามร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ผ่านสนช. เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2559 มาตรา 14(1) ถูกแก้ไขใหม่ เป็นดังนี้

จากปัญหาการใช้มาตรา 14(1) ฟ้องคดี "ปิดปาก" คู่กับข้อหาหมิ่นประมาท การแก้ไขครั้งนี้มีจุดที่อาจช่วยลดความรุนแรงของปัญหาเดิมลงได้ สามประเด็น ดังนี้

ดีขึ้น 3 ประเด็น

1) การเพิ่มคำว่า "โดยทุจริต หรือ โดยหลอกลวง" เข้ามาเป็นองค์ประกอบความผิดด้วย ซึ่งคำว่า "โดยทุจริต" มีคำนิยามอยู่ในมาตรา 2 ของประมวลกฎหมายอาญา หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ดังนั้นการเพิ่มคำว่า "โดยทุจริต หรือ โดยหลอกลวง" เพิ่มน้ำหนักให้เห็นชัดขึ้นว่า เจตนารมณ์ของมาตรา 14(1) มุ่งไปในทางจะเอาผิดกับการหลอกลวงเพื่อเอาทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง หากเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่เจตนาหลอกลวง ไม่ทำให้ผู้แสดงความเห็นได้ประโยชน์ใดๆ อันมิควรได้ ก็ไม่น่าจะตีความให้ผิดตามมาตรา 14(1) ได้

2) การเพิ่มวรรคสอง โดยกำหนดให้การกระทำความผิดมาตรา 14(1) ที่มีผู้เสียหายเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่ได้จงใจหลอกลวงประชาชนทั่วไป เป็นความผิดอันยอมความได้ น่าจะแก้ปัญหาได้มาก โดยเฉพาะคดีที่ผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความเพราะตกลงกันได้แล้ว คดีก็ต้องจบไปจากศาล ไม่ต้องพิจารณาคดีต่อให้เป็นผลเสียต่อทุกฝ่าย

3) การเพิ่มวรรคสอง โดยกำหนดให้การกระทำความผิดมาตรา 14(1) ที่มีผู้เสียหายเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่ได้จงใจหลอกลวงประชาชนทั่วไป ให้มีอัตราโทษลดลง คือ จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท ช่วยให้ปัญหาที่จำเลยต้องเผชิญโทษสูงกว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทจนเกินสมควรบรรเทาลงบ้าง แต่อย่างไรก็ดี อัตราโทษตามมาตรา 14(1) ที่แก้ไขใหม่นี้ก็ยังสูงกว่าอัตราโทษสูงสุดของการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

แย่ลง 1 ประเด็น
ขณะเดียวกัน มาตรา 14(1) ที่แก้ไขใหม่ ยังมีถ้อยคำหนึ่งที่เพิ่มขึ้นมาและดูจะเป็นผลร้าย ทำให้สถานการณ์การใช้มาตรา 14(1) ฟ้องคดี "ปิดปาก" การตรวจสอบแย่ลงกว่าเดิมได้ คือ 

คำว่า "ที่บิดเบือน" การเพิ่มคำนี้เข้ามาแสดงให้เห็นว่า ผู้ร่างกฎหมายจงใจจะให้นำมาตรา 14(1) มาใช้ฟ้องคดีต่อการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับความจริงทั้งหมด แม้ว่าการแสดงความคิดเห็นนั้นอาจจะไม่ถึงกับเป็น "ข้อมูลเท็จ" โดยตรง 

ซึ่ง "ข้อมูลเท็จ" ก็เป็นความผิดอยู่แล้วตามกฎหมายเดิม การเติมคำว่า"ที่บิดเบือน" เช่นนี้ ทำให้มาตรา 14(1) ถูกเขียนให้ตีความได้กว้างขึ้นมาก ห่างไกลออกไปจากเจตนารมณ์เดิมที่มุ่งเอาผิดกับเพียงหน้าเว็บไซต์ปลอม จนครอบคลุมไปถึงการแสดงความคิดเห็นได้หลายรูปแบบ

คำว่า "บิดเบือน" ไม่เคยมีนิยามอยู่ในกฎหมายฉบับใดมาก่อน และไม่มีบรรทัดฐานคำพิพากษาศาลฎีกาที่แน่นอนตายตัวว่าจะต้องตีความอย่างไร จึงยากที่ประชาชนหรือแม้กระทั่งนักกฎหมายจะเข้าใจได้ว่า การนำเสนอข้อมูลหรือการแสดงความคิดเห็นแบบใดจะเป็นความผิดตามมาตรา 14(1) ฐาน"บิดเบือน" หรือไม่ 

โดยเฉพาะการวิเคราะห์สถานการณ์ การคาดการณ์อนาคต การวิจารณ์โดยใส่ความคิดเห็นเพิ่มเติมจากข้อเท็จจริง ย่อมเสียงต่อการถูกดำเนินคดีได้ว่า "บิดเบือน" หากผู้ถูกวิจารณ์ไม่พอใจต่อความคิดเห็นเหล่านั้น

เราเคยเห็นตัวอย่างมาแล้วหลายกรณี ที่เป็นการตั้งข้อหาตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรคสอง จากการที่คนหลายกลุ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ แม้สิ่งที่วิจารณ์จะไม่ใช่ข้อมูลเท็จเสียทีเดียว เป็นเพียงความคิดเห็นจากการตีความร่างรัฐธรรมนูญที่แตกต่างกัน หลายคดีผู้วิจารณ์ก็ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีได้แล้ว เช่น คดีกลุ่มประชาธิปไตยใหม่แจกใบปลิว คดีส่งจดหมายรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

เล่นลิเก"  1 ประเด็น
ประเด็นสุดท้าย การเขียนคำว่า"อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา" เข้ามาด้วยนั้น ไม่น่าจะมีผลอะไรในทางกฎหมาย เพราะตามปกติการตีความว่า การกระทำใดจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ ต้องพิจารณาตามองค์ประกอบของมาตรา 326 ว่า เป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง หรือไม่ ส่วนการพิจารณาว่าการกระทำใดจะเป็นความผิดตามมาตรา 14(1) หรือไม่ ก็ต้องพิจารณาว่า เป็นการนำเข้าข้อมูลเท็จ ข้อมูลปลอม หรือข้อมูลที่บิดเบือน โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงหรือไม่ การตีความว่าการกระทำใดจะเป็นความผิดกฎหมายทั้งสองมาตรา ต้องพิจารณาองค์ประกอบของมาตรานั้นๆ ไม่มีการตีความความผิดสองฐานข้ามมาตราอยู่แล้ว 

การจะตีความและบังคับใช้มาตรา 14(1) ก็ต้องตีความตามองค์ประกอบความผิดที่เขียนอยู่ในมาตรา 14(1) เองอยู่แล้ว หากศาลเห็นว่าการกระทำใดเข้าข่ายผิดตามมาตรา 14(1) ก็สามารถลงโทษได้ และหากศาลเห็นว่าการกระทำเดียวกันเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วย ก็ยังสามารถลงโทษทั้งสองฐานความผิดพร้อมกันได้ การเขียนว่า ความผิดตามกฎหมายมาตราหนึ่งๆ ไม่ใช่การกระทำความผิดตามกฎหมายอีกมาตราหนึ่ง เป็นวิธีการเขียนกฎหมายที่ไม่เคยมีมาก่อน และไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการตีความและบังคับใช้กฎหมายทั้งสองมาตรา

การเขียนกฎหมายลักษณะเช่นนี้ จึงเป็นการพยายามแสดงให้เห็นว่า ผู้ร่างกฎหมายตั้งใจอยากแก้ปัญหาการใช้มาตรา 14(1) ซ้ำซ้อนกับข้อหาหมิ่นประมาทที่มีมาอยู่เดิม และเพื่อจะบอกสังคมว่าการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ครั้งนี้ ผู้ร่างได้แก้ปัญหาดังกล่าวให้แล้ว แต่ขณะเดียวกันเมื่อผู้ร่างใส่คำว่า "ที่บิดเบือน" เข้ามาด้วย การแก้ไขครั้งนี้จึงกลับส่งผลในทางตรงกันข้ามให้มาตรา 14(1) สามารถถูกตีความมาใช้เอาผิดการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์หรือตรวจสอบเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะได้ง่ายและกว้างกว่าเดิม

การเติมคำว่า "อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา" จึงเป็นเสมือนการ "เล่นลิเก" ของผู้ร่างกฎหมาย เท่านั้น แต่กลับไม่ได้แก้ปัญหาหรือส่งผลทางกฎหมายใดๆ ได้เลย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: