วันเสาร์, มกราคม 21, 2560

‘ทางแพร่ง’ คนเสื้อแดง





ใบตองแห้งว่า ‘ทางแพร่ง’ ฝรั่งใช้คำ dilemma คือไม่รู้จะไปทางไหนดี สำหรับ ‘เสื้อแดง’ ที่ลุ้นประชาธิปไตย อยากได้เลือกตั้งให้เป็นเรื่องเป็นราวเสียที

ขณะที่ “ประชาชน” ร้อยละ ๘๒.๓๑ ของ ‘ดุสิตโพล’ ๑,๒๗๒ คน สนับสนุน คสช. ทำข้อตกลง MOU เพื่อสร้างการปรองดอง

(http://www.innnews.co.th/show/758342/)

แต่มีการเรียกร้องว่าตะหานจะทำตัวเป็น ‘ตาอยู่’ เอาพุงปลาไปกินแล้วอ้างว่าไม่ใช่คู่กรณี ไม่ได้

นายชัยเกษม นิติศิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะหนึ่งในห้าคณะกรรมการศึกษาและติดตามเรื่องการปรองดอง พรรคเพื่อไทย (พท.) พูดถึงทั่นรองฯ ที่คุมกลาโหม ผู้อ้างว่ายึดอำนาจเพราะประชาชนเห็นชอบ ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง

“การจะบอกว่าทหารไม่ใช่คู่ขัดแย้งคงไม่ถนัดนัก เพราะที่ผ่านมาแม้นักการเมืองจะทะเลาะกันแต่การที่ทหารเข้ามาทำการปฏิวัติก็ถือเป็นการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในความขัดแย้งแล้ว”

ยังไม่หมด “แต่ความจริงแล้วเส้นทางระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตยจะไม่ขัดแย้งกันได้อย่างไร แล้วหากยังไม่เป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ปัญหาก็จะไม่มีวันจบ

คือถ้าท่านพูดแบบนี้ก็เท่ากับว่าท่านยังอยากที่จะเข้ามาแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ หากเมื่อใดที่มีความเห็นไม่ตรงกัน”

(http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1484966620)





ตานี้ พ่อคนดี คนเก่ง ของ คสช. ก็ตามเดิมไม่เปลี่ยน ไม่จืดอีกตามเคย “ระบุว่า ทหารไม่ได้ทำให้ประชาธิปไตยเสียหาย แต่ประชาธิปไตยเสียหายอยู่แล้ว

ซึ่งรัฐบาลได้เข้ามาบริหารและแก้ปัญหาที่ถูกสร้างไว้มากมายก่อนหน้า”

(http://news.voicetv.co.th/thailand/454344.html)

เป็นสูตรสำเร็จเลยนะ ไม่ว่าเรื่องอะไร รัฐบาลทหารนี้แก้ไขให้หมด แต่ไม่รู้จะเห็นผลเมื่อไหร่ ๒๐ ปีเหรอ กะอีเรื่องน้ำท่วมใต้นี่ ป่านนี้ระลอกสามแล้วยังไม่เห็นทำอะไรให้ผ่อนคลายได้ สูตรสำเร็จอีกอย่างก้คือถ้าฝนตกน้ำจะต้องท่วมเมือง






กลับมาที่ทางแพร่งของอธึกกิต “ทางแพร่งมีมาตั้งแต่ก่อนข้อเสนอปรองดอง จะสู้หรือถอย หรือสู้พลางเกี้ยเซียะพลางอย่างที่ทำมา ๑๐ ปี เป็นจุดที่ต้องตัดสินใจ เพราะมีทั้งได้เสีย

เลือกตั้งครั้งหน้า ถ้าไม่ได้เป็นรัฐบาล นักการเมืองส่วนหนึ่งก็จะโดดหนี ถ้าคิดในวิถี ปชต.ไม่เห็นต้องเสียดาย...

ถ้าจะสู้ ก็ต้องยึดหลักการชัด ปฏิรูปพรรค แต่อีกด้านหนึ่งก็แสดงท่าทีแข็งกร้าวลำบากนะครับ เพราะต้องคำนึงถึงคะแนนเสียงคนที่รักสงบ คิดเรื่องปากท้อง (นักสู้อย่างเราไม่คิดก็ได้แต่นักการเมืองต้องคิด)...

คนคำนึงเรื่องปากท้องอยากเห็นเศรษฐกิจดี ซึ่งถ้าไม่ติดเงื่อนไข รธน. อาจเลือกเพื่อไทยหากจัดทีมบริหารที่ดูดีมีฝีมือ เพราะเบื่อรัฐบาลนี้เต็มทน”

(https://www.facebook.com/baitongpost/posts/1289990694416090)

ทว่าหากมองด้วยสายตาของผู้ลี้ภัยที่ใช้ทฤษฎี กษัตริย์ใหม่ “แทรกแซงการเมืองหลังฉาก”

“เช่น กรณีที่ประยุทธ์ออกมาทำเรื่อง ‘ปรองดอง’ (ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ไม่มีวี่แวว เพียงแต่ยืนยันเรื่อง ‘ทำตามโรดแม็ป’ อะไรเท่านั้น) ก็มาจากการ ‘แนะนำ’ (‘สั่ง’) ของกษัตริย์ใหม่...

ซึ่งยากจะเช็คได้ร้อยเปอร์เซนต์ แม้ว่าที่ผ่านมาหลายเรื่อง เช่นกรณีรัฐธรรมนูญ หรือเรื่อง ‘ปรองดอง’ ก็พิสูจน์ว่าอะไรที่ ‘เล่า-ลือ’ กัน ก็กลายมาเป็นความจริง”

Somsak Jeamteerasakul สันนิษฐานแม้กระทั่ง “กรณี ‘ออกกำลังกาย’ วันพุธของประยุทธ์ ก็มีเสียงว่ากันว่า มาจาก ‘คำแนะนำ’ ของกษัตริย์ใหม่ ไม่งั้นจู่ๆ ทำไมประยุทธ์อยู่มา ๒ ปีกว่า เพิ่งออกมาทำอะไรแปลกๆ แบบนี้”

(https://www.facebook.com/somsakjeam/posts/1201942789858998)

จะแปลกหรือไม่แปลกแค่ไหน ก็ชี้ชัดแล้วว่า ทหาร คสช. ชุดนี้กำลังปรับตัวให้อยู่ยงเหมือนสมัย เปรม ‘ครึ่งใบ’ แต่วี่แววที่เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา พระเจ้าอยู่หัววชิราลงกรณ์ทรงลงพระปรมาภิไทยการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ๒๕๕๗ ที่ สนช. ผ่าน ๓ วาระรวดในวันศุกร ทำให้มีผลบังคับใช้ทันทีในวันจันทร์ที่ผ่านมา

(ดูข่าว http://www.bangkokpost.com/…/charter-amendment-on-king-and-…)

ครั้งนี้อาจจะไม่ถึงครึ่งใบ การเลือกตั้งจะมีความหมายเพียงว่า ทั้งสภาผู้แทนราษฎรคือฝ่ายค้านถาวรของ “กษัตริย์-กองทัพ (คสช.)-ตุลาการภิวัฒน์”

ในบริบทที่ สศจ. ระบุว่า “อยู่บนฐานของการยอมรับอำนาจที่มีอยู่” ของทั้งสามสถาบันทั้งสิ้น

ฉะนั้นโปรดดูมิสเตอร์บีนกินเค็กเป็นอุทธาหรณ์ ละกัน