วันศุกร์, มีนาคม 04, 2559

'สดศรี' มอง กกต.ต้องร่วมรับผิดกับ กปปส.






http://news.voicetv.co.th/thailand/334230.html

by Wanpen Taewutom3 มีนาคม 2559

อดีตกรรมการการเลือกตั้ง มองว่า การล้มเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ต้องเอาผิดกับกลุ่มผู้ขัดขวาง ส่วน กกต.ในฐานะผู้มีหน้าที่ และอำนาจจัดการเลือกตั้งโดยตรงก็ต้องรับผิดชอบด้วยเช่นกัน

นางสดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการเลือกตั้ง ให้ความเห็นทางข้อกฎหมายถึงความรับผิดชอบต่อการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่เป็นโมฆะไปโดยมองว่า บุคคลกลุ่มแรกที่ต้องรับผิดชอบ คือ ผู้ที่ขัดขวางการเลือกตั้งเพราะมีหลักฐานชัดเจนส่วน กกต. มีหน้าที่บริหารจัดการเลือกตั้งรวมทั้งอำนาจในการเลื่อนวันเลือกตั้ง ดังนั้น กกต. ต้องร่วมรับผิดชอบด้วยเช่นกัน

ส่วนการที่ กกต.จะฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำนวน 2,400 ล้านบาท ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น อดีต กกต.มองว่า ยังไม่มีความชัดเรื่องข้อกฎหมาย

ส่วนนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และสมาชิกพรรคเพื่อไทยชี้แจงว่า เมื่อประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ความรับผิดชอบในการจัดการเลือกตั้งทั้งหมดเป็นของ กกต. รวมทั้งอำนาจในการตัดสินใจยกเลิกหรือดำเนินการเลือกตั้งต่อไป

ส่วนนางสาวยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลรักษาการในขณะนั้นตามกฎหมายเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก ช่วยประสานงานหน่วยราชการทั้งหมดให้การสนับสนุนตามที่ กกต. ร้องขอเท่านั้น

ด้านนายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส. กล่าวว่า พร้อมต่อสู้คดีทั้งในทางแพ่ง และอาญาซึ่งได้เตรียมทนายความไว้พร้อมแล้วโดยจะขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ยืนยันว่า การชุมนุมของ กปปส. เป็นการเรียกร้องเชิญชวนไม่ได้ขัดขวางการเลือกตั้ง และกกต. ประจำหน่วยยุติการเลือกตั้งไปเอง

ooo



ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2558

หมายเหตุ - ความเห็นของนักวิชาการและนักกฎหมาย กรณีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อเอาผิดและเรียกค่าเสียหาย 3,000 ล้านบาท กับผู้ที่มีส่วนทำให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ (เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนรายวัน ฉบับวันที่ 25 ธ.ค. 2557)

เอกชัย ไชยนุวัติ
นักวิชาการด้านนิติศาสตร์


ขณะนี้มีคนพูดถึงคน 3 กลุ่ม คือ รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กกต. และกปปส. ซึ่งต้องดูข้อกฎหมายว่า อำนาจอยู่ที่ใครในความรับผิดชอบจัดการเลือกตั้ง เดิมก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญ ปี 2540 กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการเลือกตั้ง โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าของ กกต.แต่ละจังหวัด แต่มีปัญหาว่ามีความเคลือบแคลงใจในความสุจริตและเที่ยงธรรม เนื่องจากรัฐบาลรักษาการในขณะนั้นสามารถที่จะสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดได้ เมื่อมีการปฎิรูปและเกิดรัฐธรรมนูญปี 2540 จึงมีการเกิดขึ้นของ กกต. ซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายบริหารที่เป็น "อิสระ" จากการสั่งการของรัฐบาล

นับแต่นั้นเรื่อยมาจนถึงรัฐธรรมนูญ ปี 2550 และจนถึงสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญปี 2550 กกต.มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดการเลือกตั้ง

หากดูตามกฎหมาย มาตรา 229 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดให้ กกต.ต้องมีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริต และหากดูตามมาตรา 235 ที่ได้ระบุว่า "กกต.เป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้ง หรือการสรรหา ส.ส. ส.ว. สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น แล้วแต่กรณี..." และมาตรา 236 ที่เขียนว่า "กกต.มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้...(1)-(9)" ซึ่งถ้าดูตามกฎหมายจะเห็นได้ชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญมีเจตนาไม่ให้อำนาจหน้าที่ใดๆ แก่ รัฐบาลรักษาการทั้งสิ้น เพราะอาจมีส่วนได้เสียในการเลือกตั้งได้

รวมทั้งใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย คณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 ที่มาตรา 20 เขียนไว้ชัดเจนว่า กกต. "มีอำนาจสั่ง" หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการ ท้องถิ่น เพื่อให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นให้ได้ นอกจากนั้นที่วรรคท้ายของมาตรา 20 ยังได้บอกว่า ถ้าผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ กกต. ซึ่งหมายถึงเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการ ให้ถือว่าเป็นการกระทำความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง

ดังนั้น สรุปได้ว่า ทั้งรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ. มีเจตนาไม่ให้อำนาจกับรัฐบาลรักษาการ และให้อำนาจอย่างเต็มที่กับ กกต.

อีกประเด็นหนึ่ง ต้องย้อนกลับไปดูว่าพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 ที่ให้ยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ต้องดูว่า ณ วันที่รัฐบาลประกาศยุบสภา พระราชกฤษฎีกานี้ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ขอเน้นว่า "ณ วันนั้น" เพราะนักกฎหมายไม่สามารถนำเหตุการณ์ที่เกิดหลังจากวันที่มีการประกาศเลือกตั้งไปพิจารณาย้อนหลังไปถึงวันที่ออกพระราชกฤษฎีกายุบสภาได้ดังนั้นตามกฎหมายแล้วพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ.2556ชอบด้วยกฎหมายทุกประการ

เท่าที่ติดตามครั้งสุดท้ายกกต.ได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ขัดขวางไม่ให้มีการใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของ กกต. ที่ต้องจัดการเลือกตั้ง จึงขอถามว่า คณะอนุกรรมการหลายๆ ชุดทั้งหลายนี้มีการฟ้องร้องบุคคลใดแล้วหรือยัง หรือต้องการที่จะรออะไรสักอย่าง

ถามว่า กกต.จะฟ้องใคร ในเมื่อพระราชกฤษฎีกา ณ วันที่ออกนั้นชอบด้วยกฎหมาย แต่เหตุการณ์ภายหลังที่ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของรัฐบาลที่เกิดขึ้นนั้นทำให้มันไม่ชอบ จึงนำเหตุการณ์ภายหลังมาวิเคราะห์วันที่ออกกฎหมายไม่ได้ เหตุที่เลือกตั้งไม่ได้ไม่ใช่เพราะรัฐบาล

ต้องถามว่าผู้สมัคร ส.ส.ที่ไปติดอยู่ที่สถานีตำรวจ หรือผู้ที่ไม่สามารถไปเลือกตั้งได้นั้นเป็นเพราะใคร เป็นเพราะอะไร เรื่องพวกนี้กำลังถูกบิดเบือนในสังคม และไม่ได้พยายามออกมาสู้ในข้อเท็จจริง

กิตติศักดิ์ ปรกติ
อาจารย์คณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


เรื่องนี้ต้องมองว่า ใครเป็นต้นเหตุเท่านั้นเอง สาเหตุที่ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะนั้นมีหลายสาเหตุ การพิจารณาต้องย้อนกลับไปดูคำตัดสินของศาลก่อนว่า การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เป็นโมฆะเพราะอะไร เเล้วค่อยมาตอบเรื่องนี้

ถ้าหากว่าจัดการเลือกตั้งทั้งที่รู้ว่าเลือกตั้งจะไม่สำเร็จ หรือว่าจัดการเลือกตั้งทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าจะมีผู้ขัดขวาง เเทนที่จะยืดเวลาออกไป ถามว่า กกต.เเละรัฐบาลต้องรับผิดชอบกับเงินที่เสียไปไหม ก็ต้องว่ากันไป ต้องพิจารณากันไป

เเต่ กกต.ต้องออกมาชี้เเจงเสียก่อนว่า ในสายตาของ กกต.นั้น ใครเป็นต้นเหตุ เป็นหน้าที่ของ กกต. หลังจากนั้นก็ไปกล่าวหาคนคนนั้น เเละคนที่จะตัดสินว่า คนนั้นผิดหรือเปล่า ก็คือศาล

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์


ใครต้องผิดรับชอบ ยังพิสูจน์ไม่ได้ ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ เเต่ต้องถามว่า สมชัย ศรีสุทธิยากร ไม่มีอะไรทำหรืออย่างไร ถึงได้ยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูด ขณะที่หลายฝ่ายกำลังสร้างสถานการณ์ไปสู่ความปรองดอง รัฐบาลทหารหาเพลงมาให้คนร้องสมานฉันท์กันเเทบตาย กกต.กลับสร้างความขัดเเย้ง โยนระเบิดลงมา

เพราะว่า เรื่องนี้คุณไปโทษใคร เขาก็กลับมาโทษคุณ เป็นบูมเมอแรง มีข้อถกเถียงเยอะแยะไปหมด การหาผู้กระทำความผิดมีกระบวนยาวมาก เเละสมมุติว่า หากศาลตัดสินว่า กกต.นั่นเเหละเป็นผู้ผิด กกต.จะใช้เงินหรือไม่

ระหว่างนี้ กกต.ที่กำลังกินเงินเดือนประชาชนฟรีๆ ควรจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ เช่น ไปศึกษาหาข้อมูล ว่าจะมีการเลือกหรือไม่เลือกตั้งท้องถิ่น จะเป็นประเด็นให้เกิดความขัดเเย้งขึ้นในอนาคตไหม เราจะเเก้ไข หาจุดบกพร่องของการเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านๆ มา เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งระดับชาติที่ดีในครั้งหน้าได้อย่างไร จะเเก้ซื้อสิทธิขายเสียงอย่างไร คิดหาวิธีกันไป หรือจะสร้างบทเรียนให้เยาวชนมีความเข้าใจในการเลือกตั้งอย่างไร เเละอื่นๆ อีกเยอะเเยะ กกต.มีหน้าที่เหล่านี้

กินเงินเดือนฟรี ไปทำอย่างอื่นไม่ดีกว่าเหรอ มานั่งคิดอะไรอย่างนี้ ผมคิดว่า กกต.ต้องพิจารณาตัวเอง ภายใต้วุฒิภาวะของเขา ตอนนี้เขาควรทำอะไร

ส่วนใครจะเป็นคนชดใช้เงิน 3 พันล้านบาท ต้องพึ่งกระบวนการยุติธรรม หากจะบอกว่ารัฐบาลต้องจ่าย รัฐบาลก็จะบอกว่า อำนาจหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งนั้น กกต.มีอำนาจอย่างเต็มที่ เเล้วทำไมจัดไม่สำเร็จ

สาวตรี สุขศรี
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


จริงๆ กกต.นั่นแหละที่ต้องรับผิดชอบ แล้ว กกต.ทำช้ามาก ควรจะหาตัวคนที่ทำแบบนี้มาตั้งนานแล้ว และจะต้องพิจารณาตัวเองด้วยว่า การที่จัดการเลือกตั้งไม่ได้หรือมีการล้มการเลือกตั้งนั้น เขาบกพร่องในหน้าที่หรือเปล่า องค์กรที่จะต้องรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงคือ กกต.นั่นเอง แล้วจะหาใครมารับผิด

พระราชบัญญัติที่ว่าด้วย กกต. ระบุให้ กกต.มีหน้าที่ในการดูแลการจัดการเลือกตั้ง ถ้าอย่างนี้คือ เขามีความบกพร่อง เห็นกันอยู่ว่ามีการปิดอะไรหลายๆ อย่างในช่วงนั้น แต่สิ่งที่ กกต.พูดมีหลายจุดที่ กกต.ไม่ทำหน้าที่ของตนเอง ทำให้การเลือกตั้งในหลายจุดเกิดขึ้นไม่ได้ องค์กรของเขาตาม พ.ร.บ.แล้วถือว่าบกพร่องในหน้าที่

ส่วนเรื่องการฟ้องร้องนั้น เกี่ยวพันกับเรื่องความเสียหายในทางมหาชน ถ้าบอกว่าประชาชนทั่วไปฟ้องร้องได้ก็อาจเกิดปัญหา โดยเฉพาะอันนี้เป็นเรื่องมหาชนโดยแท้ เป็นภาระหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่ได้เป็นเรื่องของการทำความเสียหายให้กับคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง ถ้าปัจเจกชนแต่ละคนไปฟ้องก็อาจมีปัญหาในแง่ที่ว่ามีสถานะของความเป็นผู้เสียหายหรือเปล่า ซึ่งอันนี้ในศาลรัฐธรรมนูญเองก็ยังตีความไม่ตรงกันเสียทีเดียว ที่ว่าประชาชนโดยทั่วไปฟ้องได้ไหม มีสถานะเป็นผู้เสียหายไหมในกรณีที่เป็นการกระทำขององค์กรของรัฐแล้วทำให้เสียหายโดยรวมแบบนี้ ใครคนใดคนหนึ่งจึงไม่น่าจะใช่ผู้เสียหาย แต่มีบางคดีที่มองว่าเป็นผู้เสียหายด้วย เช่นกรณีที่เคยฟ้องรัฐบาล อันนี้เป็นเรื่องทางมหาชน คดีลักษณะคล้ายกันในเรื่องการจัดการเลือกตั้งนี้ยังไม่เคยเห็น

การฟ้องตัวบุคคลที่ไปปิดคูหาแล้วมีการทำลายทรัพย์สินเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาถ้าคดีอาญามีการฟ้องตัวบุคคลที่ชัดเจนว่าเป็นใครคงจะต้องมีส่วนรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยแต่ว่าสัดส่วนของความรับผิดชอบในทางแพ่งค่าสินไหมทดแทนจะเท่าไรอาจจะต้องว่ากันไปตามจริงคุณอาจสร้างความเสียหายให้แก่คูหาไปทำลายอะไรก็ต้องดูตรงนั้นไปเป็นเรื่องกรณีที่ฟ้องแต่ละบุคคลที่ไปกระทำความผิดในแต่ละครั้ง

ถ้าจะว่ากันตรงๆแล้ว คนที่จัดการเลือกตั้งเป็นคนที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง

(ที่มา:มติชนรายวัน 25 ธ.ค.2557)



วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557

กลุ่มวันใหม่นำนักศึกษาแจ้งความเอาผิด 5 เสือ กกต. อ้างเหตุ จงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่

เมื่อเวลา13.00 น. วันที่ 25 ก.พ. น.ส.พุธิตา ชัยอนันต์ ตัวแทนกลุ่มวันใหม่พร้อมนักศึกษาคณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง และตัวแทนกลุ่มผู้นำชุมชน จำนวนประมาณ 30 คนได้เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 

ภายหลัง พ.ต.อ.ชัยยุทธฉิมพลี พนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ สภ.เมือง จ.เชียงใหม่ ได้เป็นผู้มารับหนังสือและทำการสอบปากคำกลุ่มที่มาร้องทุกข์ไว้เป็นหลักฐานและให้ลงบันทึกประจำวันไว้ 

โดย น.ส.พุธิตา ชัยอนันต์ ตัวแทนกลุ่มวันใหม่ กล่าวว่า ตามที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร, นายบุญส่ง น้อยโสภณ ,นายประวิทย์รัตนเพียร ,นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ และนายศุภชัย สมเจริญกับพวก “จงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่” หรือ"ขัดขวาง" มิให้การเป็นไปตามกฎหมายประกาศหรือระเบียบต่างๆที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาพ พ.ศ.2550 มาตรา20และเนื่องจาก มาตรา 21 (2) พระราชบัญญัติประกอบการรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ กำหนดให้ผู้อำนวยการและกรรมการการเลือกตั้งประจำหน่วยเลือกตั้งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกำหมายอาญานับตั้งแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งจนสิ้นสุดแห่งการงานในหน้าที่ 

ดังนั้นกลุ่มวันใหม่เห็นว่าการกระทำต่างๆของ กกต.ดังกล่าว มีลักษณะเป็นการร่วมกันปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยมีเจตนา และมูลเหตุจูงใจ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศโดยรวมและเสียหายแก่สิทธิตามระบอบประชาธิปไตยของกลุ่มข้าพเจ้าโดยตรง ซึ่งเป็นสิทธิเลือกตั้ง/ผู้รับสมัครเลือกตั้งอันเป็นความผิด ตามาตรา 157แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งความผิดต่างๆ ข้างต้นเป็นความผิดอาญาแผ่นดินซึ่งเป็นคดีที่ไม่อาจยอมความกันได้ ทางตัวแทนกลุ่มวันใหม่จึงขอแจ้งความกล่าวโทษต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้ง 5 คน ว่า เป็นผู้ร่วมกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157และมาตรา 20 ประกอบมาตรา 137 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาพ พ.ศ.25 50จึงขอแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับบุคคลในตำแหน่งดังกล่าว 

ด้าน พ.ต.อ.กิตติสินธุ์ คงทวีพันธ์ ผกก.สภ.เมืองเชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับกลุ่มนักศึกษา ที่มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับทางกกต.กลาง ในความผิดละเว้นไม่ปฏิบัติตามหน้าที่นั้น ได้มอบหมายให้ พ.ต.อ.ชัยยุทธ เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไว้ พร้อมดำเนินการสอบสวนเบื้องต้นไว้แล้ว ซึ่งหลังจากนี้ก็ได้ให้ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานก่อนจะประสานไปยังสถานีตำรวจที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ ที่ กกต.กลางตั้งอยู่ซึ่งก็อยู่ในกรุงเทพฯ จากนั้นก็จะนำเรื่องดังกล่าวส่งไป เพื่อให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายแต่จะส่งไปเมื่อไหร่นั้นก็ต้องประสานกับในพื้นที่ดังกล่าวก่อนว่าพร้อมให้ส่งไปเมื่อไหร่แต่จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด ตามที่กลุ่มดังกล่าวได้เข้ามาร้องทุกข์ไว้.

ooo

คลิปเกี่ยวเนื่อง...

สมชัย ไอ้เอี้ย