วันเสาร์, กันยายน 06, 2557

คำแปลฉบับเต็ม รายงานจัดอันดับองค์กรต่อต้านคอรัปชั่นในเอเชีย...ทำไมถึงให้คะแนนเสียง "BOO-โห่ไล่" ป.ป.ช.


ชื่อบทตวามเดิม...

เปิดรายงาน PERC ฉบับเต็ม! ทำไมถึงให้คะแนนเสียง "BOO-โห่ไล่" ป.ป.ช.
ที่มา สำนักข่าวอิศรา

หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นคำแปลฉบับเต็ม รายงานจัดอันดับองค์กรต่อต้านคอรัปชั่นในเอเชีย ฉบับล่าสุดของบริษัทที่ปรึกษา Political and Economic Risk Consultancy, Ltd. หรือ PERC ที่ตีพิมพ์ลงในจดหมายข่าว Asian Intelligence ฉบับล่าสุดเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2557 มีการจัดอันดับให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ของไทยอยู่อันดับสุดท้ายใน 12 องค์กรหลักในการต่อต้านคอรัปชั่นของประเทศในเอเชียที่ได้รับการประเมิน และตีพิมพ์ว่า “Boo” หรือโห่ไล่ ป.ป.ช.ในขณะที่ลุกขึ้นยืนและปรบมือ (Standing ovation) ให้กับคณะกรรมการกวาดล้างคอรัปชั่นของอินโดนีเซียที่ถือว่าได้คะแนนสูงสุดในกลุ่ม

------

แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ใช่ประเทศที่มีการทุจริตคอรัปชั่นมากที่สุดเมื่อมองในระยะยาว แต่องค์กรต่อต้านคอรัปชั่นของไทยกลับเป็นองค์กรที่ถูกใช้ในทางการเมืองมากที่สุด แทนที่จะใช้อำนาจในการต่อสู้กับคอรัปชั่น ดูเหมือนว่า ป.ป.ช. จะทำหน้าที่ในการช่วยเหลือรัฐบาลทหารที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ในการทำลายความน่าเชื่อถือของนักการเมืองที่ถูกขับออกจากตำแหน่งไปและป้องกันไม่ให้คนเหล่านี้กลับมาก่อปัญหาทางการเมืองได้อีก ป.ป.ช.ไม่ได้รับเอาแนวทางใดๆ ที่จะต่อสู้กับการทุจริตคอรัปชั่นอย่างเป็นระบบ ปัญหาคอรัปชั่นในประเทศไทยทำท่าว่าจะคงอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนตัวผู้รับผลประโยชน์เท่านั้น

ประเทศที่องค์กรต่อต้านคอรัปชั่นได้คะแนนมาเป็นอันดับที่สองคือ ฮ่องกง ตามมาด้วยสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่ง Asian Intelligence ร้องไชโยให้หนึ่งทีและปรบมือให้

ประเทศที่ได้คะแนนเป็นอันดับที่ 11 มากกว่าของไทย 1 อันดับคือเวียดนาม

Asian Intelligence เป็นจดหมายข่าวรายปักษ์ซึ่งนำเสนอรายงานด้านธุรกิจและการเมืองในเอเชีย จัดทำโดย PERC รายงานฉบับล่าสุดมาจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้จัดการระดับกลางและระดับอาวุโสจำนวน 1,833 คน ซึ่งเป็นชาวต่างชาติที่มาทำงานในเอเชีย

THAILAND
Comments
ความคิดเห็นเกี่ยวกับประเทศไทย ซึ่งตีพิมพ์ใน Asian Intelligence มีดังนี้:

นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยเริ่มมองถึงความเป็นไปได้ที่จะดำเนินคดีกับชาวต่างชาติที่มีส่วนร่วมกับการฉ้อโกงหรือคอรัปชั่นในรูปแบบต่างๆ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เสนอต่อรัฐบาลทหารที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ว่า เจ้าหน้าที่รัฐของต่างประเทศที่สมคบคิดกับข้าราชการฝ่ายไทยในการกระทำเช่นนั้นควรจะมาขึ้นศาลไทยและรับโทษตามคำพิพากษาของศาลไทยด้วยเช่นกัน มีการเสนอแนะอย่างไม่เป็นทางการว่าน่าจะใช้มาตรการแบบเดียวกันนี้กับบริษัทต่างชาติที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนในการคอรัปชั่นด้วย ทั้งนี้ ไม่ควรมีการผ่อนคลายมาตรการที่เข้มงวดเพียงเพราะต้องการดึงดูดชาวต่างชาติมาลงทุน

นอกจากนี้ ป.ป.ช. ยังเสนอแนะมาตรการที่จะอนุญาตให้ทางการไทยสามารถประสานงานกับรัฐบาลต่างชาติเพื่อที่จะนำทรัพย์สินของคนไทยที่ทุจริตกลับมาจากต่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ป.ป.ช. ยังต้องการให้ขยายอายุความสำหรับคดีทุจริตคอรัปชั่นออกไปเป็น 30 ปี โดยที่ในระหว่างนั้น หากผู้ต้องหาหลบหนีก็ให้อายัดทรัพย์ไว้ได้ มาตรการเหล่านี้มีเป้าหมายที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกปลดจากตำแหน่งโดยกองทัพ ในการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2549 พ.ต.ท.ทักษิณสร้างฐานะร่ำรวยขึ้นมาจากการทำธุรกิจกับนิติบุคคลต่างชาติ มีการฝากสินทรัพย์จำนวนมากไว้กับธนาคารและสถาบันการเงินในต่างประเทศ

ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลใหม่และกลุ่มชนชั้นสูงของประเทศไทยถือว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนักโทษหลบหนีคดีที่ต้องโทษจำคุก อดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่ดูไบในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ความพยายามขอตัว พ.ต.ท.ทักษิณในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน และการยึดทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณในต่างประเทศไม่เคยประสบผล

เนื่องจากรัฐบาลต่างชาติไม่ได้มองว่า พ.ต.ท.ทักษิณกระทำผิดในคดีที่เข้าเงื่อนไขการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน

มาตรการอื่นที่กำลังพิจารณากันอยู่ก็จะป้องกันไม่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณได้กลับเข้ามาในการเมืองของไทยอีก มีการเสนอว่าในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะห้ามผู้ที่เคยมีประวัติซื้อเสียง โกงการเลือกตั้ง หรือทุจริตคอรัปชั่นเข้าสู่งานการเมืองตลอดชีวิต จากที่ปัจจุบันมีการกำหนดโทษให้เว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี

ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ป.ป.ช.มีบทบาทสำคัญในการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งนำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ผู้ซึ่งเป็นน้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ป.ป.ช.ถูกกล่าวหาว่าทำรูปคดีเพื่อที่จะช่วยล้มรัฐบาลโดยการชี้มูล กล่าวหาว่ามีการทุจริตอย่างรวดเร็วแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ดูเหมือนว่าในหลายปีที่ผ่านมา ป.ป.ช.จะละเลยคดีคอรัปชั่นร้ายแรงอื่น ๆ ที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นสูงของไทยนั้นตกเป็นจำเลย ภาพความมีอคตินี้ลดทอนความน่าเชื่อถือของ ป.ป.ช. และทำให้ ป.ป.ช.ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิมากเท่าที่ควร

องค์กรที่ทำงานต่อต้านคอรัปชั่นอื่น ๆ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลทหารให้จับตามองการให้สินบนในการออกใบอนุญาตต่าง ๆ และการอนุมัติสำหรับธุรกิจ รวมถึงการรับรองตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม เป้าหมายก็คือเพื่อป้องกันการจ่ายสินบนเพื่อให้ได้รับอนุญาตสำหรับกรณีที่เข้าข่ายจะถูกปฏิเสธ

ในการติดตามคอรัปชั่นและอาชญากรรมทางเศรษฐกิจโดยบุคคลที่มีสถานะทางสังคมระดับสูง (white collar crime) อื่น ๆ หน่วยงานของไทยมีอุปสรรคคือมีไม่ค่อยมีทักษะในการพิสูจน์หลักฐานและขาดความชำนาญเกี่ยวกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ (cyber crime) และอาชญากรรมทางเศรษฐกิจแบบอื่น ๆ จะมีก็แต่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่ได้รับการสนับสนุนจากศาลและสังคม เจ้าหน้าที่ของ ปปง.ได้รับการยอมรับนับถือจากสังคมและสามารถทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศได้ดี การตัดสินใจอย่างปุบปับของรัฐบาลทหารที่จะดึง ปปง.ไปจากกระทรวงยุติธรรมแล้วไปดูแลเองทำลายขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่จำนวนมากที่ทำงานต่อต้านคอรัปชั่น มีความกังวลว่ากองทัพตั้งใจจะกันภาคพลเรือนออกไปจาก ปปง.และทำให้ยิ่งขาดความน่าเชื่อถือมากขึ้นไปอีก

เป็นเวลานานมาแล้วที่ทหารใช้ข้ออ้างว่ามีคอรัปชั่นในวงการการเมืองอย่างมากมายมารับรองการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หลาย ๆ ครั้งที่ผู้ก่อรัฐประหารเองได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับคอรัปชั่นในระดับสูงอย่างร้ายแรงและในมูลค่าที่มากยิ่งกว่านายกรัฐมนตรีและรัฐบาลพลเรือนซึ่งถูกขับออกไปเสียอีก อย่างไรก็ตาม ผู้นำทางการทหารชุดปัจจุบันรับทราบถึงการทุจริตในหมู่ทหาร และสั่งกวาดล้างคอรัปชั่น มีคำสั่งให้ตรวจตราโครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์อย่างสม่ำเสมอ

จากการสำรวจพบว่า ประชาชนมองว่าทหารและตำรวจเป็นกลุ่มสถาบันที่มีการทุจริตมากที่สุด

พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ได้ออกมาเตือนว่าแม้แต่ทหารอย่างตัวเขาเองก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายต่อต้านคอรัปชั่น หน่วยงานของรัฐทั้งหมด รัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องถูกตรวจสอบโดยคณะกรรมการตรวจสอบทุจริตภาครัฐ

คงจะโชคดีหากรัฐบาลใหม่จะสามารถเอาชนะแรงต้านที่รุนแรงต่อมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตหลังจากเริ่มบังคับใช้

เบื้องหลังการรณรงค์เหล่านี้ก็คือการที่ทหารต้องการจะพิสูจน์ความถูกต้องของการยึดอำนาจโดยการระบุตัวและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในรัฐบาลชุดที่แล้ว

โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ความจริงแล้ว คณะผู้นำทหารและกลุ่มผู้สนับสนุนต่างก็คิดว่า ยิ่งเปิดโปงการทุจริตของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งแสดงถึงความจำเป็นที่ทหารจะเข้ามายึดอำนาจจากประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งมากขึ้นเท่านั้น

---------

ส่วนข้อเท็จจริงว่า รายงานฉบับนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่มา "ข้อมูล" ว่ามีน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด

เป็นเรื่องที่ ป.ป.ช. และกลุ่มบุคคล รวมถึงหน่วยงานอื่นที่ถูกอ้างอิงถึง จะต้องเป็นผู้ตอบคำถามชี้แจงความจริงให้ปรากฎต่อสาธารณชนโดยเร็วที่สุด
ooo