วันอาทิตย์, สิงหาคม 04, 2567

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับ “กับดักรายได้ปานกลาง” สูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก บีบีซีไทยพูดคุยกับ ฮาจุน ชาง นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนาจาก University of London เพื่อหาคำตอบว่าประเทศไทยจะหลุดพ้นจากภาวะดังกล่าวนี้ได้อย่างไร


ปัจจุบัน ฮาจุน ชาง เป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และการพัฒนาที่ SOAS University of Londo

จาก "ซัมซุง" ถึง "เค-ป็อป": ถอดบทเรียนการพัฒนาประเทศเกาหลีใต้กับ ฮาจุน ชาง

พสพล เจริญพร และ ไอลดา พิศสุวรรณ
รายงานจากกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร
บีบีซีไทย

2 สิงหาคม 2024

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับ “กับดักรายได้ปานกลาง” สูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ต้นทุนแรงงานและวัตถุดิบสูงขึ้น โรงงานทยอยปิดตัวและย้ายฐานการผลิต ดึงดูดการลงทุนลดลง ในขณะที่ใช้ศักยภาพพัฒนาสินค้ามูลค่าสูงได้ไม่เต็มที่

ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามผลักดันซอฟต์พาวเวอร์และพัฒนาทุนมนุษย์และเทคโนโลยี เพื่อหวังให้ประเทศไทยก้าวพ้นปัญหาเหล่านี้ และยกสถานะเป็นประเทศพัฒนาแล้วและมีรายได้สูง คำถามสำคัญคือ โอกาสสำเร็จเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ในบริบทเศรษฐกิจการเมืองโลกที่ผันผวน สินค้านำเข้าจากจีนล้นทะลัก และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้น

ปัจจัยใดจะเป็นตัวชี้ขาดความสำเร็จในการเร่งเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ?

เพื่อตอบคำถามดังกล่าว บีบีซีไทยมีโอกาสได้พูดคุยกับ ฮาจุน ชาง (Ha-Joon Chang) นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนาจาก SOAS University of London

แม้ฮาจุนไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเศรษฐกิจไทยโดยตรง แต่ในฐานะนักวิชาการผู้ใช้เวลาทั้งชีวิตศึกษาค้นหาคำตอบเกี่ยวกับปัจจัยที่นำไปสู่การพัฒนาของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ฮาจุนเห็นเค้าลางเส้นทางร่วมที่ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกมักเผชิญ


ในปี 2023 เกาหลีใต้มีจีดีพีต่อหัวประชากรประมาณ 33,000 ดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าไทยเกือบ 5 เท่า

ฮาจุนเป็นชาวเกาหลีใต้ ประเทศที่นับเป็นอีกตัวอย่างความสำเร็จของการพัฒนาแบบก้าวกระโดด บทสนทนาจึงเริ่มต้นจากเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจอันยาวไกลของเกาหลีใต้ ที่เปลี่ยนผ่านจากประเทศยากจนสู่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและเป็นผู้นำด้านซอฟต์พาวเวอร์ ก่อนถอดบทเรียนเพื่อเป็นข้อคิดสำหรับการพัฒนาในบริบทไทย ทั้งเรื่องความสำคัญของการออกแบบนโยบายและสถาบัน ตลอดจนข้อคำนึงเรื่องความยุติธรรมที่ต้องไม่ถูกเมินเฉยบนเส้นทางการพัฒนา

เค-ป็อป และ ซัมซุง จากสิ่งที่ (เคย) ไม่มีใครรู้จัก สู่เวทีโลก

หลายคนอาจคุ้นเคยกับภาพลักษณ์ของเกาหลีใต้ในฐานะประเทศที่มีซอฟต์พาวเวอร์อันทรงพลัง ผ่านเค-ป็อป ภาพยนตร์ ซีรีส์ และเทคโนโลยีล้ำสมัยจากแบรนด์ดังอย่างซัมซุง แต่น้อยคนที่รู้ว่ากว่าจะมีภาพลักษณ์ที่โดดเด่นเช่นนี้ เกาหลีใต้ต้องผ่านเส้นทางการพัฒนาอันยาวไกล และเต็มไปด้วยความท้าทายมาก่อน

ฮาจุนเล่าว่า ถ้าย้อนไปในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ถึงช่วงต้นของทศวรรษ 2000 แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกคือแบรนด์จากญี่ปุ่น ทีวีโซนี่แพงกว่าทีวีแบรนด์เกาหลีสองถึงสามเท่า แม้คุณภาพจะพอกัน มากกว่านั้นคือคนไม่รู้จักสินค้าจากเกาหลีใต้

“ลูกชายผมเกิดปี 2000 ตอนเขาอยู่ประถม 10-12 ปีก่อนได้ เขากลับบ้านมาถึงก็หงุดหงิดมาก ผมถามเขาว่าเป็นอะไร ลูกชายตอบผมว่าเพื่อนที่โรงเรียนเถียงว่าซัมซุงเป็นแบรนด์ญี่ปุ่น ทั้งที่นั่นเป็นแบรนด์เกาหลีชัด ๆ ลูกชายผมบอกว่าพูดอย่างไรเพื่อนก็ไม่เชื่อ แต่มาวันนี้ทุกคนรู้ว่าซัมซุงคือแบรนด์เกาหลี นี่คือผลพวงของซอฟต์พาวเวอร์”

ฮาจุนสรุปให้เห็นภาพซอฟต์พาวเวอร์ของเกาหลีใต้ผ่านเค-ป็อปด้วยว่า “ช่วงราวปี 1980 เกาหลีมีทีวีแค่ 4 ช่อง” แต่มาถึงตอนนี้แทบไม่มีใครไม่รู้จักซีรีส์และเพลงจากเกาหลีใต้ จนกระทั่งเกิดศัพท์ว่า “ฮัลยู” (Hallyu) เพื่อใช้อธิบายกระแสความนิยมของวัฒนธรรมเกาหลีใต้ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก และไม่เพียงแต่ดัง “กระแสความนิยมของเคเวฟ (K-Wave) ยังสะท้อนถึงการพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์และวิพากษ์สังคมของชาวเกาหลีได้เป็นอย่างดี

เขายกตัวอย่างงานของบง จุนโฮ (Bong Joon-ho) ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังเรื่อง ชนชั้นปรสิต (Parasite) ภาพยนตร์เสียดสีสังคมเกาหลีใต้ที่สามารถกวาด 4 รางวัลออสการ์ในปี 2020 ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวสะท้อนประเด็นความขัดแย้งและปัญหาที่ฝังรากอยู่ในสังคมของเกาหลีใต้


Parasite กวาด 4 รางวัลออสการ์ รวมถึงรางวัลใหญ่อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และผู้กำกับยอดเยี่ยม

ฮาจุนเผยว่าเขาไม่ใช่แฟนเพลงเค-ป็อป แต่ในฐานะคนเกาหลี เขาเองก็ยินดีกับกระแสที่เกิดขึ้นนี้ ซึ่งนับเป็นข้อพิสูจน์ว่าเกาหลีใต้สามารถสร้างมาตรฐานความบันเทิงเทียบเท่ากับสากลได้ในที่สุด

ฮาจุนเสริมว่าหากมองผ่านมุมมองเศรษฐศาสตร์การพัฒนา กระแสดังกล่าวสะท้อนถึงการยกระดับทรัพยากรและการศึกษาในเกาหลีใต้จนดีเพียงพอและเอื้อให้คนเกาหลีใต้มีโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (creative economy) ที่จำต้องใช้ความสามารถในการคิด วิเคราะห์ และไอเดียใหม่

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ฮาจุนกล่าวถึง คือเศรษฐกิจที่ต้องอาศัยทั้งทรัพยากรทางการเงินและทุนมนุษย์ การที่ผู้กำกับชาวเกาหลีใต้หลายคนมีโอกาสร่ำเรียนการสร้างภาพยนตร์ทั้งในฝรั่งเศสหรือในสหรัฐฯ เปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเข้าใจวิธีคิดในระดับสากล ในขณะเดียวกันหากไม่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ควบคู่ไปด้วย สิ่งเหล่านี้ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้

ย้อนดูประเทศไทย ณ จุดกึ่งกลางบนเส้นทางการพัฒนาใต้ร่มเงาจีน

ในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์ชาวเกาหลีใต้ที่เคยทางมาประเทศไทยสองครั้งเล่าว่า ความทรงจำของเขาเมื่อมาถึงประเทศไทยในช่วงราว ๆ ปี 2010 สิ่งที่ประทับใจแรกคืออาหาร “ถ้านึกถึงประเทศไทย ผมจะนึกถึงประเทศที่มีอาหารอร่อยที่สุดในโลก”

แต่อีกความทรงจำคือ ตอนที่เขานั่งรถผ่านอาคารสาธร ยูนีค ตึกร้างสูงใจกลางกรุงเทพฯ ที่เป็นเสมือนบาดแผลจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง วิกฤตการเงินครั้งใหญ่นี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเอเชียในวงกว้าง และทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตช้าลง

อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวพ้นสถานะประเทศยากจนหรือด้อยพัฒนา แต่ก็กำลังประสบปัญหาใหญ่ที่เรียกว่า “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง” ซึ่งหมายถึงประเทศกำลังพัฒนาที่พยายามก้าวไปอยู่กลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว แต่ติดอยู่ระหว่างกลาง ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน

จวบจนปัจจุบัน ไทยเป็นประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลางมาแล้วราว 37 ปี โดยไทยหลุดจากสถานะประเทศรายได้ต่ำเข้าสู่การเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำมาตั้งแต่ปี 1987 และยกระดับเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงในปี 2011

แม้โดยส่วนตัวฮาจุนไม่ชอบใช้คำว่า “กับดับรายได้ปานกลาง” เพราะคำว่า “กับดัก” ฟังดูเหมือนเป็นสิ่งที่ออกมาไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงตามนิยามแล้ว ก่อนที่ทุกประเทศจะกลายเป็นประเทศรายได้สูง ต่างก็เคยผ่านการเป็นประเทศรายได้ปานกลางมาก่อนทั้งสิ้น


อาคารสาธร ยูนีค อาคารร้างอันเป็นผลจากวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540

บีบีซีไทยชวนฮาจุนมองสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนทั้งเรื่องของสงครามการค้า ภูมิรัฐศาสตร์ และภัยคุกคามจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ถึงผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายอุตสาหกรรม

ฮาจุนยืนยันว่า นโยบายอุตสาหกรรมยังคงอยู่ไม่ว่าเราจะพูดถึงมันตรง ๆ หรือไม่ก็ตาม แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาที่ลัทธิเสรีนิยมใหม่และแนวคิดเรื่องตลาดเสรีได้รับความนิยม แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ยังให้การสนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง การเกิดขึ้นของคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต ระบบจีพีเอส หรือหน้าจอแบบสัมผัส ล้วนเกิดจากการให้เงินสนับสนุนโดยกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการผลิตชิปเพื่อใช้สำหรับการป้องกันประเทศที่อยู่ภายใต้มาตรฐานด้านความมั่นคงที่เข้มงวดของสหรัฐฯ

บีบีซีไทยยังถามฮาจุนเกี่ยวกับบทบาทของมหาอำนาจอย่างจีนต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศกำลังพัฒนาด้วย สำหรับฮาจุนแล้ว ดูเหมือนว่าสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล และบทบาทของจีนอาจเป็นประโยชน์กับประเทศกำลังพัฒนาด้วยซ้ำในสองประเด็น

หนึ่งคือเรื่องการลงทุนและการสร้างอำนาจต่อรองของประเทศกำลังพัฒนา “ผมไม่ได้เป็นพวกนิยมจีน และก็ไม่ได้นิยมใครเป็นพิเศษ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการขึ้นมาของจีนก็ส่งผลดีต่อประเทศกำลังพัฒนา เช่นเรื่องการให้เงินกู้ยืม ที่แม้ดอกเบี้ยจะสูงกว่าธนาคารโลก (World Bank) หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund - IMF) แต่ก็ไม่ได้ใส่เงื่อนไขและข้อจำกัดต่าง ๆ มากมายเท่า ประเทศที่กู้ยืมเงินจากจีนจึงมีอิสระในการดำเนินนโยบายมากกว่า

ประเด็นที่สองคือการสร้างอำนาจต่อรอง (bargaining power) ของประเทศกำลังพัฒนา ฮาจุนระบุว่าในช่วงทศวรรษ 1980-1990 ธนาคารเดียวที่มีบทบาทสำคัญมากที่สุดก็คือ ธนาคารโลก หากประเทศต่าง ๆ ไม่เห็นด้วยกับกฎกติกาที่ธนาคารโลกกำหนด ก็ไม่สามารถกู้ยืมเงินได้ แต่ปัจจุบันประเทศกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินจากจีนหรือธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB) แทนได้ ซึ่งสร้างอำนาจการต่อรองให้กับประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น

รุ่ง หรือ ร่วง: การออกแบบสถาบันและนโยบายในฐานะปัจจัยชี้ขาด

สำหรับฮาจุนแล้ว ปัจจัยชี้ขาดการพัฒนาในประเทศใดก็ตามไม่ใช่เรื่องของเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศหรือปัจจัยอื่นใดนอกเหนือการควบคุม แต่คือการวางยุทธศาสตร์เชิงสถาบันและนโยบายเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลง

ฮาจุนยอมรับตามตรงว่าเขาไม่สามารถตอบบริบทเฉพาะของไทยได้ แต่โดยทั่วไปแล้ว เขามองว่าการออกจากกับดักรายได้ปานกลางนั้นเกิดขึ้นได้ แต่ภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ (stagnation) เกิดขึ้นเพราะประเทศเหล่านี้ไม่สามารถยกระดับ (upgrade) เศรษฐกิจในภาพรวมได้ ซึ่งเกิดจากการขาดนโยบายอุตสาหกรรมที่ดีพอเหมาะสม ทั้งนี้ ฮาจุนไม่ได้หมายถึงเพียงแค่อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้า ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายอุตสาหกรรมที่เข้มข้นนัก แต่เขาหมายถึงการใช้นโยบายเพื่อยกระดับไปสู่ภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง (high-tech industry)

ฮาจุนชี้ว่านโยบายอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมรถยนต์ ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1970 ฮุนได (Hyundai) บริษัทผลิตรถยนต์สัญชาติเกาหลีใต้ เพิ่งเริ่มผลิตและจำหน่ายรถยนต์ที่ออกแบบเอง ในตอนนั้นบริษัทสามารถผลิตรถได้เพียง 10,000 คันต่อปี ขณะที่ ฟอร์ด ผลิตได้ 1.9 ล้านคัน/ปี และ เจนเนอรัล มอเตอร์ส ผลิตได้มากถึง 4.8 ล้านคัน/ปี

ฮาจุนชี้ว่า หากเกาหลีใต้เปิดเสรีทางการค้าในช่วงเวลานั้น ฮุนไดคงอยู่ไม่รอดอย่างแน่นอน เพราะสินค้าจากบริษัทยักษ์ใหญ่จะเข้ามาตีตลาด และชี้ว่าบริษัทฮุนไดสามารถอยู่รอดได้เพราะรัฐบาลเกาหลีใต้มีนโยบายห้ามนำเข้ารถยนต์ต่างประเทศอย่างเด็ดขาดจนถึงปี 1998

นอกจากนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ยังสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ โดยการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านธนาคารรัฐ ซึ่งระหว่างปี 1961-1983 ธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดในเกาหลีใต้เป็นของรัฐบาล แม้กระทั่งหลังปี 1983 ที่มีการแปรรูปธนาคารบางส่วน รัฐบาลก็ยังคงกำกับควบคุมภาคการธนาคารอย่างเข้มงวด ธนาคารเหล่านี้จึงแทบไม่ต่างจากธนาคารรัฐวิสาหกิจ ซึ่งกระทรวงการคลังของเกาหลีมีอำนาจในการแต่งตั้งประธานกรรมการบริหารของธนาคาร และควบคุมการใช้อัตราแลกเปลี่ยน รัฐบาลเป็นผู้บริหารเงินตราต่างประเทศทั้งหมด และจัดสรรเงินเหล่านั้นไปยังภาคส่วนต่าง ๆ ตามแผนพัฒนา

ยกตัวอย่างเช่น แม้ว่าจะมีการอนุญาตให้นำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยบางอย่าง เช่น สก็อตช์วิสกี้ ด้วยภาษีศุลกากร 100% แต่เมื่อประชาชนพยายามขอแลกเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อนำไปซื้อวิสกี้ ธนาคารมักจะปฏิเสธ เนื่องจากเงินตราต่างประเทศมีจำกัด และรัฐบาลให้ความสำคัญกับภาคส่วนอื่น ๆ มากกว่า

ฮาจุนชี้ว่า หากเกาหลีใต้เปิดเสรีทางการค้าในช่วงทศวรรษ 1970 บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของเกาหลีใต้อย่าง ฮุนได คงอยู่ไม่รอดอย่างแน่นอน

จากประสบการณ์ของเกาหลีใต้ แม้ว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมจะมีผลดี แต่ก็มีผลกระทบเชิงลบด้วยเช่นกัน นักเศรษฐศาสตร์จาก University of London เล่าว่า ในช่วงแรกของการพัฒนา รัฐบาลเกาหลีใต้มุ่งเน้นการผลิตและการส่งออกมากเกินไป ส่งผลให้เกิดการบริโภคภายในประเทศที่ต่ำกว่าศักยภาพ นอกจากนี้ การมุ่งเน้นการผลิตและการส่งออก ยังส่งผลกระทบต่อสิทธิแรงงาน โดยรัฐบาลเกาหลีใต้จำเป็นต้องควบคุมสิทธิแรงงานอย่างเข้มงวด เพื่อลดต้นทุนการผลิต ต่อมาในช่วงกลางทศวรรษที่ 1970 สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนแปลง โดยเกาหลีใต้เริ่มส่งออกสินค้าที่ไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานราคาถูกได้ ดังนั้นการกดขี่สิทธิแรงงานจึงไม่จำเป็นอีกต่อไป

ผลกระทบเชิงลบอีกประการหนึ่งคือ การให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ มากกว่าความเท่าเทียมกัน เนื่องจากทางการเกาหลีใต้มีแนวคิดว่า ให้ประเทศเติบโตก่อน แล้วค่อยกระจายความมั่งคั่งในภายหลัง

สำหรับความท้าทายในระบบเศรษฐกิจการเมืองโลก ฮาจุนเห็นว่าเรื่องดังกล่าวมาพร้อมกับโอกาส เช่น เรื่องเทคโนโลยีรักษ์โลก ที่ยังไม่ชนะกันขาดและมีพื้นที่ให้ประเทศกำลังพัฒนาเข้าไปมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมเหล่านี้ เช่น การผลิตแผงพลังงานแสงอาทิตย์หรือรถยนต์ไฟฟ้าที่จีนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำการผลิต หรือบราซิลที่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการแข่งขันอุตสาหกรรมพลังงานลมระดับโลกได้

ฮาจุนระบุว่า อย่างน้อยประเทศกำลังพัฒนาก็ควรมองหาประโยชน์จากนโยบายอุตสาหกรรม โดยเริ่มจากความต้องการภายในประเทศและเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมนี้

เมื่อกล่าวถึงความน่ากังวลของการที่จีนจะกลายเป็นโรงงานของโลก ด้วยความได้เปรียบด้านการประหยัดต่อขนาด (Economies of scale) ซึ่งหมายถึงภาวะที่ยิ่งผลิตได้มาก ต้นทุนก็ยิ่งต่ำลงจนสามารถผลิตทุกอย่างได้ในราคาถูกและส่งออกไปทั่วโลก ฮาจุนบอกว่าตนไม่ค่อยเห็นด้วยกับความคิดดังกล่าว เขามองว่า ถ้าคิดตามนี้ว่าจะมีประเทศใดประเทศหนึ่งในโลกที่เป็นเจ้าการผลิตระดับโลกเพียงเจ้าเดียว ทุกวันนี้เราคงไม่ต้องมานั่งพูดถึงนโยบายอุตสาหกรรมกันอีก เพราะในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 อังกฤษครอบครองสัดส่วนการผลิตราว 20% ของโลก ไม่ต่างอะไรกับที่จีนเป็นอยู่ในทุกวันนี้ ถ้าคิดแบบนี้ตั้งแต่ตอนนั้น ตอนนี้ประเทศอื่น ๆ คงไม่สามารถคิดผลิตอะไรกันแล้ว

บีบีซีไทยชวนฮาจุนหาคำตอบด้วยว่า ยุทธศาสตร์การไล่กวด (catching up) ระหว่างประเทศกำลังพัฒนากับประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ คืออะไร ฮาจุนเห็นว่า “ประเทศรายได้ปานกลางโดยทั่วไปล้วนไม่สามารถก้าวข้ามการพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่การผลิตภาคอุตสาหกรรมไฮเทคได้ การก้าวไม่ถึงนี้เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องความไม่มั่นคงทางการเมือง หรือความล้มเหลวในการย้ายแรงงานจากชนบทเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม”

เขาระบุว่า แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือ ปัจจัยทางการเมืองและการดำเนินนโยบายแม้จะเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกันเสมอไป เพราะแม้แต่ประเทศที่มีความวุ่นวายทางการเมือง แต่หากมีความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายอุตสาหกรรม การพัฒนาทางเศรษฐกิจก็ยังคงดำเนินต่อไปได้

ฮาจุนยกอิตาลีว่าคือตัวอย่างของประเทศที่มีปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง โดยเฉพาะในช่วงปี 1950-1970 ที่มีการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยครั้ง แต่ยังสามารถคงความต่อเนื่องในเรื่องนโยบายอุตสาหกรรมได้ เขาย้ำว่าสิ่งสำคัญคือความต่อเนื่องในเรื่องการดำเนินนโยบายอุตสาหกรรมระยะยาวพอที่จะทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศ



ฮาจุนปิดท้ายด้วยเรื่องความสำคัญและบทบาทของสถาบัน (institution) ซึ่งหมายถึงข้อกำหนด กฎเกณฑ์หรือกติกาในสังคม ฮาจุนเล่าว่าเขาเคยตั้งคำถามกับตนเองเมื่อมาถึงอังกฤษช่วงแรกว่าทำไมรายได้ต่อหัวของอังกฤษจึงมากกว่าเกาหลีใต้ 4-5 เท่าตัว เขาไม่เข้าใจเลยว่าทำไมประเทศนี้รวยขนาดนั้นได้ ทั้ง ๆ ที่คนดูไม่ฉลาดเอาเสียเลย เขาเล่าว่าเวลาซื้อของ จ่ายแบงก์ 10 ปอนด์ พนักงานกลับต้องใช้เครื่องคิดเลขคำนวณเงินทอน แต่พอผ่านไปไม่กี่ปีเขาก็เริ่มเข้าใจว่าจริง ๆ แล้ว คนอังกฤษไม่ได้โง่ แต่พวกเขาไม่จำเป็นต้องฉลาด เนื่องจากมีกฎระเบียบที่ดีในสังคม และแม้ปัจจุบันกฎระเบียบเหล่านั้นอาจจะเสื่อมโทรมลงไปบ้าง แต่ในสมัยก่อนมีกฎชัดเจน ใคร ๆ ก็แค่ทำตามกฎ สังคมก็เดินไปได้อย่างราบรื่น ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนา ผู้คนต้องฉลาดแกมโกงเพื่อเอาตัวรอด และต้องคอยระวังตลอดเวลา

ฮาจุนยกตัวอย่างเรื่องการเข้าแถว “ในเกาหลีสมัยนั้นไม่มีใครต่อแถวเลย เพราะคิดว่ามีแค่คนโง่เท่านั้นที่เข้าแถว คุณต้องแย่งขึ้นรถเมล์ ต้องคอยสังเกตตลอดเวลาว่ารถเมล์จะหยุดตรงไหน เพราะถ้าอยู่ไกลประตูรถเมล์เกิน 5 เมตร คุณจะไม่มีทางได้ขึ้นเพราะรถจะเต็มแน่นอน” ฉะนั้น ฮาจุนจึงสรุปว่า คนในประเทศกำลังพัฒนาอาจจะฉลาดกว่าคนในประเทศร่ำรวยเป็นรายบุคคล แต่ผลลัพธ์ร่วมของคนฉลาดเหล่านั้นกลับต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับสิ่งที่ประเทศเจริญแล้วทำได้

“ต้นทุนความยุติธรรม” ที่อาจถูกลืมเลือน

ฮาจุนแนะนำให้เรารู้จักกับซีรีส์โปรดของเขา 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ “Stranger” ซีรีส์แนวสืบสวนปริศนาฆาตกรรมกับเรื่องราวการเปิดโปงกระบวนการยุติธรรมของเกาหลีใต้ และอีกเรื่องคือ “My Mister” ที่เนื้อหาสะท้อนกฎกติกา โครงสร้างสังคม ชนชั้น และภาระอันหนักอึ้งที่คนเกาหลีใต้ต้องเผชิญ

นอกเหนือจากเรื่องราวรักโรแมนติกแบบที่คนไทยคุ้นเคย ซีรีส์เกาหลียังพัฒนาความเข้มข้นในประเด็นทางสังคมที่ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วที่ต้องแลกมากับความเหลื่อมล้ำและความยุติธรรม ยกตัวอย่างเช่น กรณีของการอภัยโทษนายลี แจ-ยอง ทายาทซัมซุงในคดีติดสินบนและยักยอกทรัพย์ในปี 2017 ที่ได้สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน แต่รัฐบาลเกาหลีใต้อธิบายว่าการอภัยโทษเป็นกรณีพิเศษดังกล่าวถือว่ามีความชอบธรรม เพราะนายลี ผู้นำบริษัทซัมซุงในทางพฤตินัย จำเป็นต้องกลับมาบริหารบริษัทอีกครั้ง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงหลังการระบาดของโควิด-19 ฮาจุนระบุว่านี่สะท้อนแนวคิดว่าผู้นำทางธุรกิจ เป็นคนที่แตะต้องไม่ได้และอยู่เหนือกฎหมาย โดยเฉพาะในเกาหลีใต้ที่บริษัทยักษ์ใหญ่ถือว่ากุมบังเหียนทางเศรษฐกิจ

“ถ้าคนยังจนอยู่ สิ่งที่คนเราต้องทำก็คือการทำงานเพื่อความอยู่รอด จนกระทั่งเมื่อเกิดมูลค่าส่วนเกิน (ในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า surplus) จึงเริ่มมองหาความรุ่มรวยอื่นในทางอื่น แต่ผมย้ำอีกครั้งว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองสิ่งนี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่แปรผกผันตามกันเสมอไป แต่ในเชิงการพัฒนาแล้ว การที่คนสามารถมีเวลาเพียงพอนอกเหนือจากการทำงานดิ้นรนเพื่อเลี้ยงชีพมีส่วนที่ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์” ฮาจุนกล่าวกับบีบีซีไทย

สิ่งเหล่านี้คืออีกปัญหาที่มักถูกมองข้ามบนเส้นทางการพัฒนา และการให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมยุติธรรมไปควบคู่กับการเติบโตทางเศรษฐกิจนี้ ต้องอาศัยบทบาทรัฐและการวางแผนจัดการอย่างเป็นระบบ

(https://www.bbc.com/thai/articles/c4ngn34n43xo)