วันพุธ, สิงหาคม 21, 2567

มันควรจะยกเลิกนานแล้ว - จับตา #ประชุมสภา พรุ่งนี้ นัดลงมติรับหลักการร่างกฎหมายยกเลิกประกาศ-คำสั่ง คสช.


iLaw
7 hours ago
·
ครม. – สส. เห็นพ้อง เสนอยกเลิกประกาศ-คำสั่ง คสช. หลายฉบับ ที่ขัดต่อสิทธิมนุษยชนหรือหมดความจำเป็น
.
หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 คสช. ก็ออกประกาศหรือคำสั่งจำนวนมากที่มีผลกระทบต่อประชาชน หลายฉบับถูกยกเลิกไปแล้วโดยคำสั่งหัวหน้า คสช. เอง แต่ยังมีประกาศและคำสั่งจำนวนมากที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่ โดยวิธียกเลิกประกาศหรือคำสั่ง คสช. นั้น รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 279 กำหนดหลักเกณฑ์ว่า หากประกาศหรือคำสั่งนั้นมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจบริหาร วิธีการยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมสามารถทำเป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรีหรือมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เลย แต่หากเป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติหรือการใช้อำนาจตุลาการ จะต้องทำเป็นพระราชบัญญัติเสนอให้รัฐสภาพิจารณา
.
ในสมัยของสภาที่มาจากการเลือกตั้ง 2562 ภาคประชาชน รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคอนาคตใหม่ เคยเสนอร่างกฎหมายยกเลิกประกาศ-คำสั่ง คสช. ต่อสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว แต่สภาปัดตก “ไม่รับหลักการ” ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ ในสมัยของสภาที่มาจากการเลือกตั้ง 2566 ครม. รวมถึง สส. ต่างก็เสนอร่างกฎหมายยกเลิกประกาศคำสั่ง คสช. โดย สส. พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเคยพร้อมใจโหวต “ไม่เห็นด้วย” กับร่างกฎหมายยกเลิกประกาศ-คำสั่ง คสช. ในสภาชุดที่แล้ว ก็กลับแนวทาง มาเสนอร่างกฎหมายยกเลิกประกาศ-คำสั่ง คสช. เสียเอง
.
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายยกเลิกกาศ-คำสั่ง คสช. ทั้งห้าฉบับในวาระหนึ่ง ประกอบไปด้วย
.
ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติบางฉบับที่หมดความจำเป็นและไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน พ.ศ. …. เสนอโดย ครม.
ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. …. เสนอโดย สส. พรรคภูมิใจไทย
ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พ.ศ. …. เสนอโดย สส. พรรคก้าวไกล
ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท ลงวันที่ 20 มกราคม พุทธศักราช 2559 พ.ศ. …. เสนอโดย สส. พรรคก้าวไกล
ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 98/2557 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2559 ลงวันที่ 4 เมษายน พุทธศักราช 2559 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 57/2559 ลงวันที่ 15 กันยายน พุทธศักราช 2559 พ.ศ. …. เสนอโดย สส. พรรคประชาชาติ เพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวกับการจัดการปัญหาชายแดนใต้
.
โดยร่างพ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 ที่เสนอโดยสส. พรรคก้าวไกล และร่างพ.ร.บ.ยกเลิกประกาศ-คำสั่ง คสช. ที่เสนอโดยสส. พรรคประชาชน มีลักษณะเป็นการยกเลิกประกาศ-คำสั่ง คสช. รายฉบับ ขณะที่ร่างอีกสามฉบับที่เสนอโดย ครม. สส. พรรคก้าวไกล และสส.พรรคประชาชาติ เสนอยกเลิกประกาศ-คำสั่ง คสช. หลายฉบับ ตามบัญชีแนบท้ายร่างพระราชบัญญัติ โดยร่างที่สส. พรรคภูมิใจไทยเสนอ ยกเลิกประกาศ-คำสั่ง คสช. มากสุดที่ 71 ฉบับ ด้านร่างฉบับที่สส. พรรคก้าวไกลเสนอนั้น มีเนื้อหาเหมือนร่างที่สส. พรรคอนาคตใหม่เคยเสนอไว้ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การยกเลิกประกาศ-คำสั่ง คสช. ที่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน ทำนองเดียวกันกับร่างจากภาคประชาชนที่เคยเข้าสภาเมื่อปี 2564
.
ร่างกฎหมายยกเลิกประกาศ-คำสั่ง คสช. แต่ละฉบับ มีทั้งจุดร่วมและจุดต่างในการเสนอยกเลิกประกาศ-คำสั่ง คสช. โดยร่างทั้งสามฉบับ รวมถึงร่างฉบับที่ภาคประชาชนเคยเสนอเข้าสภาเมื่อปี 2564 เสนอยกเลิกประกาศ คสช. ที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ฉบับเดียวกันจำนวนห้าฉบับ ได้แก่
.
ประกาศ คสช. (เฉพาะ) ฉบับที่ 25/2557 เรื่อง ให้มารายงานตัว หรือแจ้งเหตุขัดข้อง : กำหนดความผิดและโทษสำหรับบุคคลที่ไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ภายในวันและเวลาที่กำหนด
ประกาศ คสช. ฉบับที่ 26/2557 เรื่อง การดูแล และสอดส่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ : ให้อำนาจปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศตั้งคณะทำงาน มีอำนาจตรวจสอบข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ สามารถระงับเผยแพร่เว็บไซต์ โซเชียลมีเดียได้
ประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. : กำหนดความผิดและโทษสำหรับบุคคลที่ไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ภายในวันและเวลาที่กำหนด
ประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด : กำหนดความผิดและโทษสำหรับบุคคลที่ไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ภายในวันและเวลาที่กำหนด
ประกาศ คสช. ฉบับที่ 49/2557 เรื่อง ความผิดสำหรับการสนับสนุนการชุมนุมทางการเมือง : กำหนดความผิดสำรับผู้ที่อำนวยความสะดวกผู้ที่ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หากกระทำการอันเป็นการช่วยเหลือ เช่น ให้ใช้สถานที่ สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ อาจถูกดำเนินคดีในฐานะผู้สนับสนุน ต้องระวางโทษสองในสามของผู้กระทำความผิด
.
นอกจากนี้ ร่างกฎหมายยกเลิกประกาศ-คำสั่ง คสช. ฉบับที่เสนอโดย ครม. เสนอโดยสส. พรรคภูมิใจไทย ฉบับที่เสนอโดย สส. พรรคก้าวไกล รวมถึงฉบับภาคประชาชน ยังกำหนดยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2558 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองประโยชน์สาธารณะและประชาชนโดยส่วนรวม คำสั่งฉบับนี้มีใจความว่า ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในปฏิบัติการ “ทวงคืนผืนป่า” สามารถขอความช่วยเหลือจากกำลังทหาร เพื่อจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบุกรุกพื้นที่สาธารณะ พื้นที่อุทยาน หรือพื้นที่ป่าสงวน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสามารถขอให้หัวหน้า คสช. แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทหารให้มีอำนาจหน้าที่เทียบเท่าเจ้าพนักงานตามกฎหมาย
.
.
.
อ่านทั้งหมดได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/41481