การโจมตีของยูเครนในภูมิภาคเคิร์สก์ของรัสเซียจะส่งผลกระทบต่อสงครามครั้งนี้
5 คำถามไขปมทัพยูเครนบุกภูมิภาคเคิร์สก์ของรัสเซีย
คาเทอรีนา คินคูโลวา
บีบีซี เวิลด์ เซอร์วิส
13 สิงหาคม 2024
เหตุการณ์ที่กองทัพยูเครนบุกเข้าไปในภูมิภาคเคิร์สก์ของรัสเซีย เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นเรื่องน่าประหลาดใจและพลิกความคาดหมายอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่กับรัฐบาลรัสเซียเท่านั้น แต่กับคนจำนวนไม่น้อยในยูเครนเอง รวมทั้งผู้สังเกตการณ์ทั่วโลกที่จับตาดูสถานการณ์สงครามนี้จากภายนอก ล้วนคาดไม่ถึงว่ายูเครนจะตัดสินใจกระทำเช่นนั้น
อะไรคือสาเหตุเบื้องหลังที่ผลักดันให้ยูเครนกล้าเปิดฉากโจมตีโดยรุกเข้าไปในดินแดนศัตรู ทั้งที่กองกำลังของตนเองยังคงต้องแบกภาระหนักอึ้งในการป้องกันแนวหน้า ตลอดแนวพรมแดนที่ติดกับรัสเซียซึ่งยาวกว่า 1,000 กิโลเมตร จนแทบจะรับไม่ไหวอยู่แล้ว ? แต่ในขณะเดียวกัน ดูเหมือนว่าหลังเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นมาได้นานราวหนึ่งสัปดาห์ กองทัพรัสเซียก็ยังคงไม่อาจจะต้านทานหรือหยุดยั้งการรุกรานของยูเครนได้เช่นกัน
แม้ในตอนนี้ฝ่ายยูเครนได้เริ่มเปิดเผยถึงแนวคิดที่เป็นแรงจูงใจในการยกทัพบุกรัสเซียบ้างแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้สื่อข่าวของบีบีซีได้ตั้งคำถามสำคัญในประเด็นดังกล่าวขึ้นมา 5 คำถาม เพื่อค้นหาคำตอบที่จะเผยถึงแนวโน้มของสถานการณ์สงครามในอนาคตอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการโจมตีภูมิภาคเคิร์สก์ในครั้งนี้นั่นเอง
เกิดอะไรขึ้นที่ภูมิภาคเคิร์สก์ ?
เมื่อวันที่ 6 ส.ค. กองทัพยูเครนบุกโจมตีแบบสายฟ้าแลบ โดยรุกรบเข้าไปในภูมิภาคเคิร์สก์ (Kursk Region) ซึ่งเป็นดินแดนของรัสเซียที่ตั้งอยู่ติดกับชายแดนยูเครน โดยทางการของทั้งสองฝ่ายเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับการรบครั้งนี้น้อยมาก
ในตอนแรกนั้นดูเหมือนว่า การบุกโจมตีของยูเครนนั้นคล้ายกับปฏิบัติการที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ของกองกำลังบ่อนทำลายที่มีสมาชิกเป็นชนกลุ่มน้อยในรัสเซียผู้ต่อต้านประธานาธิบดีปูติน เนื่องจากเป็นปฏิบัติการโจมตีในระดับเดียวกัน ซึ่งก่อนหน้านี้กลุ่มบ่อนทำลายดังกล่าวพยายามข้ามพรมแดนมาจากฝั่งยูเครน เพื่อเข้าโจมตีรัสเซียด้วยกองกำลังชนกลุ่มน้อยจำนวนหลายร้อยคน
อย่างไรก็ตาม กองกำลังที่ทำการโจมตีครั้งนี้ได้รุกรบลึกเข้าไปในเขตแดนของรัสเซียมากยิ่งกว่าเดิม โดยบล็อกเกอร์ทางการทหารของรัสเซียรายงานว่า มีการสู้รบอย่างหนักในบริเวณที่อยู่ห่างจากแนวพรมแดนเข้ามาถึง 30 กิโลเมตร ผู้ว่าการภูมิภาคเคิร์สก์ยังรายงานต่อประธานาธิบดีปูตินว่า หมู่บ้านของชาวรัสเซีย 28 แห่ง ได้ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของกองทัพยูเครนแล้ว ซึ่งชัดเจนว่าความสำเร็จระดับนี้จะต้องมีกองกำลังหลักดั้งเดิมของยูเครนเข้าร่วมด้วยอย่างแน่นอน
ทางการท้องถิ่นระบุว่า อาคารที่พักแห่งนี้ในภูมิภาคเคิร์สก์ของรัสเซียถูกทำลายจากเศษชิ้นส่วนของขีปนาวุธที่ยิงจากกองทัพยูเครน
ดูเหมือนว่าในขณะที่รัสเซียมุ่งให้ความสนใจต่อการรบตามจุดยุทธศาสตร์สำคัญหลายแห่งในแนวหน้า ซึ่งบัดนี้ทั้งสองฝ่ายยังคงปะทะกันอย่างดุเดือด ยูเครนได้ตัดสินใจฉกฉวยโอกาสที่แนวพรมแดนบางจุดแทบไม่มีกองกำลังเฝ้าประจำการอยู่เลย ยกทัพข้ามพรมแดนเข้ามาในรัสเซีย
เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายความมั่นคงของยูเครนที่ไม่ประสงค์ออกนามผู้หนึ่ง เผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า “เรากำลังเป็นฝ่ายรุกราน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายแนวการป้องกันของศัตรูให้ยืดยาวออกมา และจะมุ่งสร้างความเสียหายให้มากที่สุด เพื่อสั่นคลอนเสถียรภาพทางการเมืองภายในรัสเซีย โดยทำให้คนทั่วไปเห็นว่า รัฐบาลไม่อาจจะป้องกันแนวพรมแดนของตนเองเอาไว้ได้”
แผนที่แสดงพื้นที่ที่กองทัพรัสเซียควบคุมและพื้นที่ที่ยูเครนครองได้หรือยึดคืนมาได้
เหตุใดยูเครนเลือกโจมตีภูมิภาคเคิร์สก์ ?
ในตอนแรกทางการยูเครนปิดปากสนิท โดยไม่ยอมเผยถึงรายละเอียดของการโจมตีครั้งนี้เลย แต่ต่อมาประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ได้กล่าวเป็นนัยอ้อม ซึ่งสื่อถึงการยอมรับปฏิบัติการโจมตีนี้เป็นครั้งแรกในวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยกล่าวอ้างว่ายูเครนยังคง “ผลักดันให้สงครามขยายขอบเขตเข้าไปในดินแดนของผู้รุกราน” แต่ผู้นำยูเครนไม่ได้อธิบายถึงเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการดังกล่าวอย่างชัดเจน ต่อมาในวันที่ 12 ส.ค. เขายังได้ประกาศว่าดินแดนของรัสเซียราว 1,000 ตารางกิโลเมตร ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของยูเครนแล้ว
นักวิเคราะห์การเมืองและการทหารหลายคนพยายามจะตอบคำถามที่ว่า ยูเครนตัดสินใจทำเช่นนี้เพื่ออะไรกันแน่ แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การเบี่ยงเบนความสนใจทางยุทธศาสตร์ น่าจะเป็นเป้าประสงค์หลักของการยกทัพรุกรานรัสเซียครั้งนี้
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ยูเครนต้องพยายามอย่างหนักในการต้านทานกองกำลังรัสเซีย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ทางตะวันออกของประเทศและกำลังรุกคืบใกล้เข้ามาทุกขณะ โดยเมื่อเดือนที่แล้วสามารถเข้ายึดครองเมืองชาซีฟยาร์ (Chasiv Yar) ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญเอาไว้ได้ ส่วนสถานการณ์ในทางใต้และตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครนก็ยากลำบากไม่ต่างกัน
แม้ยูเครนจะมีกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์น้อยกว่ารัสเซียมาก ในการปะทะกันตลอดแนวพรมแดนยาว 1,100 กิโลเมตร แต่รัฐบาลยูเครนก็ตัดสินใจลองเสี่ยงดวง ด้วยการสร้างจุดปะทะใหม่ที่อยู่ห่างออกไปจากเดิมหลายร้อยไมล์ เพื่อให้ศัตรูต้องขยายวงการแจกจ่ายแบ่งปันทรัพยากรออกมา รวมทั้งหันเหทิศทางของแรงกดดันจากกองทัพรัสเซีย ให้ถ่ายเทจากทางตะวันออกของยูเครนมาสู่ภูมิภาคเคิร์สก์ของรัสเซียเอง
ภาพจากกระทรวงกลาโหมของรัสเซีย อ้างว่า กองทัพยูเครนยิงโจมตีเข้าไปในเขตแดนของภูมิภาคเคิร์สก์
ศาสตราจารย์มาร์ก กาเลออตติ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงกล่าวกับบีบีซีว่า ยูเครนนั้นติดหล่มอยู่ในสงครามที่ค่อย ๆ บ่อนเซาะทำลายความแข็งแกร่งของฝ่ายตนเองมานานหลายเดือน โดยแทบจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในสนามรบ ทำให้มีความจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ความเสี่ยงสูง เพื่อพลิกให้ตนเองกลับมาอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบอีกครั้ง
ผู้บัญชาการของกองกำลังยูเครนผู้หนึ่ง ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารดิอีโคโนมิสต์ในแบบเดียวกันว่า นี่คือการเดิมพันครั้งสำคัญของยูเครน “เราส่งหน่วยรบที่มีความพร้อมในการต่อสู้มากที่สุด ไปยังแนวพรมแดนตรงจุดที่การป้องกันของรัสเซียอ่อนแอที่สุด”
อย่างไรก็ตามผู้บัญชาการคนนี้บอกด้วยว่า การวางเดิมพันของยูเครนให้ผลตอบแทนกลับคืนมาช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ “เหล่าผู้บัญชาการของทหารรัสเซียไม่ได้โง่ แม้พวกเขาจะโยกย้ายกองกำลังในจุดต่าง ๆ แต่ก็ทำอย่างเชื่องช้ามากจนไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ พวกเขารู้ว่าเราไม่อาจจะส่งกำลังบำรุงไปในระยะที่ห่างไกลขึ้น 80-100 กิโลเมตร”
รถถังของยูเครนถูกพบในเขตแดนของรัสเซีย ถูกทำสัญลักษณ์สามเหลี่ยมสีขาว ซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อนบนรถถังลักษณะคล้ายกัน
รัสเซียมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างไร ?
หน่วยโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซียรีบระบุอย่างรวดเร็วว่า ความพยายามขับไล่ผลักดันกองกำลังยูเครนให้ออกพ้นดินแดนของตนนั้นคือ “ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย” ทางการรัสเซียยังแจ้งให้ผู้คนจำนวนสูงสุดถึง 121,000 คน อพยพออกจากภูมิภาคเคิร์สก์ และอีก 11,000 คน ให้อพยพออกจากภูมิภาคเบลโกรอดที่อยู่ติดกัน ทางการรัสเซียประกาศภาวะฉุกเฉินระดับสหพันธรัฐในพื้นที่ดังกล่าว และจ่ายเงินชดเชยแก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบคนละ 115 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 4,000 บาท
พลเอกวาเลอรี เกราซิมอฟ ผู้บัญชาการทหารบกของรัสเซีย ได้กล่าวอ้างหลายครั้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า สามารถยับยั้งการรุกรานของกองทัพยูเครนได้แล้ว แต่หลักฐานที่ปรากฏในสนามรบดูจะตรงกันข้ามกับสิ่งที่เขาพูด
นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าสังเกตว่า พล.อ. เกราซิมอฟไม่ได้เข้าร่วมในการประชุมสภาความมั่นคงของรัสเซียครั้งล่าสุด ซึ่งมีประธานาธิบดีปูตินเป็นประธานและจัดขึ้นเพื่อแก้ไขวิกฤติทางการทหารครั้งนี้โดยเฉพาะ แต่กลับมีพันธมิตรผู้ใกล้ชิดที่สุดของผู้นำรัสเซียมาเข้าร่วมแทน ซึ่งก็คือพล.อ. อเล็กซานเดอร์ บอร์ตนิคอฟ หัวหน้าหน่วยข่าวกรองและกิจการลับ FSB ของรัสเซียคนปัจจุบัน
ในแถลงการณ์ครั้งล่าสุด ประธานาธิบดีปูตินได้กล่าวหายูเครนว่า ลงมือโจมตีพลเรือนที่อยู่กันอย่างสงบและสันติ และสาบานว่าเขาจะ “ตอบโต้อย่างสาสม”
ศ. กาเลออตติมองเช่นกันว่า ยูเครนเสี่ยงที่จะถูกรัสเซียโจมตีตอบโต้อย่างรุนแรง “ปูตินอาจเรียกระดมกำลังพลอีกระลอก เพื่อเพิ่มกำลังทหารอีกหลายแสนคนเข้ามาในกองทัพ” เขายังมองว่ารัสเซียอาจใช้วิธีอื่น ๆ ในการยกระดับความขัดแย้งให้ตึงเครียดยิ่งขึ้นด้วย เนื่องจากในช่วงไม่กี่เดือนที่มา รัสเซียได้ทิ้งระเบิดโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของยูเครน ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างหนักจนหลายแห่งถูกทำลายไปทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งการโจมตีในลักษณะนี้อาจรุนแรงขึ้นได้อีกในอนาคต
สำหรับประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครนมองว่า การรุกรานรัสเซียครั้งนี้อาจกลายเป็นเรื่องยุ่งยาก
การรบในภูมิภาคเคิร์สก์ช่วยพลิกสถานการณ์ให้ยูเครนได้จริงหรือ ?
การรุกรบเข้าไปในเขตแดนศัตรูได้อย่างง่ายดายของยูเครน จำเป็นจะต้องได้รับการวิเคราะห์ในเชิงลึก เพราะมันอาจไม่ได้ช่วยยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ให้สิ้นสุดลงในเร็ววันนี้
ศ. กาเลออตติ อธิบายว่า “มันเป็นพื้นที่ขนาดแค่ 50 X 20 ตารางไมล์ เมื่อเทียบกับพื้นที่ทั้งหมดของรัสเซียและยูเครนแล้ว มันแทบจะไม่ส่งผลกระทบอะไรต่อการรบเลย อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางการเมืองที่เกิดขึ้นกลับมีความสำคัญเหนือกว่านั้นมาก”
นักวิเคราะห์บางรายมองว่า ยูเครนต้องการแสดงให้ชาติตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ เห็นว่า กองกำลังของตนยังคงสามารถยืนหยัดสู้รบต่อไป นอกจากนี้ การรุกรานรัสเซียยังทำให้พลังต่อรองของยูเครนแข็งแกร่งขึ้น แม้จะเป็นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวก็ตาม แต่การที่มีกองทัพยูเครนล่วงล้ำเข้ามาในดินแดนส่วนลึกของตนถึง 30 กิโลเมตรนั้น จะทำให้รัสเซียยอมรับข้อเสนอเรื่องคงตำแหน่งของแนวปะทะไว้ตรงจุดเดิมในปัจจุบันได้ยากขึ้น
การยกทัพบุกรัสเซียของยูเครน ยังเปลี่ยนแปลงเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับสงครามในหมู่ชาวรัสเซียไปด้วย เพราะนี่ไม่ใช่ “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ในดินแดนที่ห่างไกลอีกแล้ว แต่เป็นการรบที่สมรภูมิย้ายเข้ามาในดินแดนของตนเอง และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของพวกเขาโดยตรง
ซารา เรนส์ฟอร์ด ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำภูมิภาคยุโรปตะวันออกบอกว่า “เมื่อพิจารณารายงานข่าวบางชิ้นที่ออกมาจากภูมิภาคเคิร์สก์ดูแล้ว แม้แต่สื่อรัสเซียที่อยู่ภายใต้การควบคุมบังคับอย่างเข้มงวดจากรัฐ ก็ยังอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามกับประเด็นนี้”
การรบในภูมิภาคเคิร์สก์ช่วยพลิกสถานการณ์ให้ยูเครนได้จริงหรือ ?
การรุกรบเข้าไปในเขตแดนศัตรูได้อย่างง่ายดายของยูเครน จำเป็นจะต้องได้รับการวิเคราะห์ในเชิงลึก เพราะมันอาจไม่ได้ช่วยยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ให้สิ้นสุดลงในเร็ววันนี้
ศ. กาเลออตติ อธิบายว่า “มันเป็นพื้นที่ขนาดแค่ 50 X 20 ตารางไมล์ เมื่อเทียบกับพื้นที่ทั้งหมดของรัสเซียและยูเครนแล้ว มันแทบจะไม่ส่งผลกระทบอะไรต่อการรบเลย อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางการเมืองที่เกิดขึ้นกลับมีความสำคัญเหนือกว่านั้นมาก”
นักวิเคราะห์บางรายมองว่า ยูเครนต้องการแสดงให้ชาติตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ เห็นว่า กองกำลังของตนยังคงสามารถยืนหยัดสู้รบต่อไป นอกจากนี้ การรุกรานรัสเซียยังทำให้พลังต่อรองของยูเครนแข็งแกร่งขึ้น แม้จะเป็นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวก็ตาม แต่การที่มีกองทัพยูเครนล่วงล้ำเข้ามาในดินแดนส่วนลึกของตนถึง 30 กิโลเมตรนั้น จะทำให้รัสเซียยอมรับข้อเสนอเรื่องคงตำแหน่งของแนวปะทะไว้ตรงจุดเดิมในปัจจุบันได้ยากขึ้น
การยกทัพบุกรัสเซียของยูเครน ยังเปลี่ยนแปลงเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับสงครามในหมู่ชาวรัสเซียไปด้วย เพราะนี่ไม่ใช่ “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ในดินแดนที่ห่างไกลอีกแล้ว แต่เป็นการรบที่สมรภูมิย้ายเข้ามาในดินแดนของตนเอง และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของพวกเขาโดยตรง
ซารา เรนส์ฟอร์ด ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำภูมิภาคยุโรปตะวันออกบอกว่า “เมื่อพิจารณารายงานข่าวบางชิ้นที่ออกมาจากภูมิภาคเคิร์สก์ดูแล้ว แม้แต่สื่อรัสเซียที่อยู่ภายใต้การควบคุมบังคับอย่างเข้มงวดจากรัฐ ก็ยังอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามกับประเด็นนี้”
คาดว่าแรงกดดันกำลังก่อตัวขึ้นในรัฐบาลของประธานาธิบดีปูตินของรัสเซีย
การรุกรานนี้ส่งผลต่ออนาคตของผู้นำรัสเซีย-ยูเครน อย่างไร ?
ขณะนี้ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของการดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ ทั้งกับประธานาธิบดีปูตินและประธานาธิบดีเซเลนสกี โดยผู้นำรัสเซียที่เป็นเผด็จการและมีอุปนิสัยเด็ดขาดไม่ยอมอะลุ้มอล่วย ทั้งยังพึ่งพิงบุคคลวงในและหน่วยกิจการลับเป็นหลัก การบุกโจมตีของยูเครนถือเป็นความท้าทายใหญ่หลวงสำหรับเขา ในขณะที่การปิดบังยอดผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในกองทัพรัสเซียทำได้ยากขึ้นทุกที การที่ชาวรัสเซียนับแสนต้องพลัดถิ่นที่อยู่อาศัยเพราะสงคราม ยังทำให้การรักษาภาพลักษณ์ของรัฐบาลและวาทกรรมที่ว่านี่ไม่ใช่สงครามเต็มรูปแบบ ใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป
ศ. กาเลออตติ กล่าวเสริมว่า “แต่ละครั้งที่ยูเครนบุกโจมตี ยิ่งเพิ่มอุปสรรคขวากหนามเข้าไปในกลไกการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐเพิ่มขึ้นทุกที”
“เราเคยเห็นสิ่งนี้กันมาแล้วกับสงครามในอดีต ไม่ว่าจะเป็นตอนที่สหภาพโซเวียตรุกรานอัฟกานิสถาน หรือสงครามที่รัสเซียรุกรานเชชเนีย แม้ว่าตอนแรกรัฐบาลจะสามารถสร้างและคงวาทกรรมบางอย่างเอาไว้ให้น่าเชื่อถือได้ แต่ไม่นานโลกแห่งความเป็นจริงจะคืบคลานเข้ามาทำลายมันในที่สุด”
สำหรับประธานาธิบดีเซเลนสกีแล้ว การรุกรานรัสเซียอาจส่งผลลบที่ร้ายแรงได้เช่นกัน ซึ่งเอมิล คาสเทเฮลมี นักวิเคราะห์รายหนึ่งมองว่า ผลลัพธ์ดีที่สุดที่เป็นไปได้สำหรับยูเครน คือการที่รัสเซีย “ผองถ่ายทรัพยากรสำคัญจากจุดยุทธศาสตร์ส่วนใหญ่ เพื่อนำมายึดคืนดินแดนที่เสียไปทั้งหมดกลับมา แม้ว่าจะต้องประสบกับความสูญเสียจำนวนไม่น้อยก็ตาม”
สิ่งนี้จะช่วยให้ฝ่ายยูเครนมีขวัญและกำลังใจดีขึ้นชั่วคราว แต่ก็อาจจะทำให้ต้องเสียดินแดนทางตะวันออกเพิ่มขึ้นในภายหลังได้ เพราะตอนนี้บริเวณดังกล่าวยังคงเป็นแนวหน้าที่มีการสู้รบปะทะกันอย่างหนัก โดยบล็อกเกอร์ทางการทหารของรัสเซียบางรายแจ้งข่าวว่า กองทัพของตนกำลังรุกคืบหน้าไปทุกขณะ แม้จะยังไม่มีการยืนยันถึงข่าวนี้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม
ศ. กาเลออตติ กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า สถานการณ์สงครามที่หยุดนิ่งชะงักงันมานาน จำเป็นจะต้องมีบางสิ่งมาเขย่าเพื่อสร้างความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงขึ้นบ้าง ซึ่งแม้ตอนนี้กระบวนการดังกล่าวจะกำลังดำเนินอยู่ แต่ผลลัพธ์ที่จะออกมานั้น ยังคงไม่อาจจะรู้ได้อย่างชัดเจนว่าจะเป็นเช่นไรต่อไป