วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 15, 2567

ขั้นตอนเลือกนายกฯ คนใหม่ หลังศาลรัฐธรรมนูญฟันเศรษฐาพ้นตำแหน่ง สภาฯนัดด่วน #เลือกนายก ใหม่ศุกร์ 16 นี้


iLaw
6 hours ago
·
ขั้นตอนเลือกนายกฯ คนใหม่ หลังศาลรัฐธรรมนูญฟันเศรษฐาพ้นตำแหน่ง
ขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 159 มีดังนี้
1) พรรคการเมืองที่มี สส. ในสภา ไม่น้อยกว่า 5% (25 คน) สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเคยแจ้งไว้ในการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 88 กำหนดให้พรรคการเมืองส่งบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกินสามชื่อ
โดยการเสนอชื่อผู้สมควรได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องเสนอชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160
๐ พรรคเพื่อไทย มี สส. 141 คน บัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีสองคน คือ 1) แพทองธาร ชินวัตร และ 2) ชัยเกษม นิติสิริ
๐ พรรคภูมิใจไทย มี สส. 70 คน (ไม่นับรวมผู้ที่ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่) บัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีหนึ่งคน คือ อนุทิน ชาญวีรกูล
๐ พรรคพลังประชารัฐ มี สส. 40 คน บัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีหนึ่งคน คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
๐ พรรครวมไทยสร้างชาติ มี สส. 36 คน บัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีสองคน คือ 1) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี โดยปัจจุบันประยุทธ์ดำรงตำแหน่งเป็นองคมนตรี และ 2) พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
๐ พรรคประชาธิปัตย์ มี สส. 25 คน เป็นขั้นต่ำของพรรคที่จะเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้พอดี บัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีหนึ่งคน คือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
2) สภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี จากผู้ได้รับการเสนอชื่อ โดยขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรีจะทำโดยเปิดเผย กล่าวคือ ใช้วิธีการเรียกชื่อ สส. แต่ละคนและให้ สส. ลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี ผู้ที่ได้รับเลือก จะต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน สส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อมี สส. ทั้งหมด 493 คน เท่ากับว่าต้องได้คะแนนเสียงตั้งแต่ 248 เสียงขึ้นไปจึงจะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/41095