วันอังคาร, มกราคม 16, 2567

ทำไมประชาชนต้องติดตามโครงการแลนด์บริดจ์ อะไรอยู่ในความขัดแย้งรัฐบาล vs. ฝ่ายค้าน

https://www.facebook.com/watch/?v=407135981670004&t=0
.....

THE STANDARD
6h·

KEY MESSAGES: ทำไมต้องแลนด์บริดจ์? อะไรอยู่ในความขัดแย้งรัฐบาล vs. ฝ่ายค้าน
.
‘แลนด์บริดจ์’ กลายเป็นประเด็นถกเถียงขึ้นมาทันที เมื่อ 4 สส. พรรคก้าวไกล ลาออกจากกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ กมธ.แลนด์บริดจ์
.
เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับรายงานการศึกษาที่พบว่ายังมีจุดบกพร่อง มีลักษณะตัดแปะ เนื้อหาไม่สมบูรณ์ในหลายจุด และมองว่าควรมีการศึกษาเพิ่มเติมก่อนจะให้ความเห็นชอบรายงานดังกล่าว
.
ฝ่ายค้านบอกข้อมูลไม่ครบถ้วน
.
ศิริกัญญา ตันสกุล สส. บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ยืนยันว่า ตนเห็นด้วยกับการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ แต่รัฐบาลจำเป็นต้องศึกษาให้รอบคอบก่อนจะเดินหน้าทำโรดโชว์ต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการตั้งคำถามไป 7 คำถาม เพื่อจะนำไปสู่ผลการลงทุนว่าเกิดความคุ้มค่าหรือไม่ ปรากฏว่าสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ตอบมาเพียงข้อเดียว และเป็นคำตอบที่ไม่ชัดเจน จึงมองว่ามีการทำไปโดยไม่รู้ว่าผู้ประกอบการหรือสายการเดินเรือจะมาใช้บริการหรือไม่
.
ที่ผ่านมา กมธ. ไม่เคยมีการพิจารณาเรื่องเหล่านี้เลย ขณะที่นายกรัฐมนตรีเองก็เอาข้อมูลไปพูดทั่วโลก หากสุดท้ายแล้วโครงการไม่เกิด เพราะไม่มีใครมาลงทุนแล้วจะทำอย่างไรกับความเสียหายที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ทางผู้บริหาร สนข. ยังให้ตัวเลขไม่ตรงกัน โดยบอกว่าโครงการไม่รวมท่อส่งน้ำมัน ขณะที่นายกรัฐมนตรีไปพูดกับต่างประเทศไปแล้วว่ามีโครงการท่อส่งน้ำมัน
.
ฝ่ายรัฐบาลมอง เล่นเกมการเมือง
.
ขณะที่อีกฝ่ายก็มองว่านี่คือเกมการเมือง แม้การลาออกของ 4 สส. พรรคก้าวไกลจะไม่ทำให้ กมธ. ล่ม แต่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย บอกว่าขอให้พิจารณา ‘แลนด์บริดจ์’ ให้มากกว่าการเชื่อมการขนส่ง 2 ฝั่ง อันดามัน-อ่าวไทย เพราะสิ่งนี้คือการเชื่อมไทยกับเพื่อนบ้าน ไทยกับภูมิภาค และไทยกับทั่วโลก ทำให้เกิดการจ้างงาน ไทยจะพัฒนาเป็นศูนย์กลางอาเซียน
.
ด้าน ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส. พรรคเพื่อไทย กล่าวในรายการ กรรมกรข่าว คุยนอกจอ ว่า การเดินเรือ หากเขาไม่มาตรงนี้ก็หยุดแค่นั้น แต่ถ้ามีสินค้าอื่นมาด้วย เขาแวะรับและคุ้มค่าสำหรับเขาด้วย เพราะเราก็จะสร้างเป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกด้วย นี่คือภาพรวมว่ามาจากตรงไหน สูงกว่าที่เราจะจินตนาการได้ โมเดลเราคือรองรับธุรกิจในอนาคต เราอยากให้มองภาพการค้าการลงทุนมากขึ้น
.
ธีรรัตน์กล่าวอีกว่า ความคิดเห็นสำคัญต้องฟังจากทุกภาคส่วน คุณศิริกัญญาอาจได้คำตอบที่ไม่พอใจ ส่วนเรามองว่าชัดเจนแล้วไปต่อได้ และเข้าใจว่าฝ่ายค้านจะสนับสนุนรัฐบาลทุกเรื่องไม่ได้
.
แล้วข้อสงสัยที่ยังหาคำตอบไม่ได้คืออะไรกันแน่?
.
‘แลนด์บริดจ์’ คือโครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ใช้งบประมาณสูงถึง 1 ล้านล้านบาท ที่จะใช้งบลงทุนจากต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ โดยจะให้สัมปทานเป็นระยะเวลา 50 ปี
.
หากพูดถึงขั้นตอน ครม. รับทราบโครงการเมื่อเดือนตุลาคม 2566 เริ่มโรดโชว์รับฟังความคิดเห็นนักลงทุนต่างประเทศ ทั้งในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน จากนั้นจะจัดทำกฎหมาย พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ซึ่งมีรูปแบบคล้ายกับ EEC กว่าจะมีการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน เวนคืนที่ดิน เริ่มการก่อสร้าง จนถึงขั้นเปิดให้บริการก็ใช้เวลานานถึงเดือนตุลาคม 2573
.
ขณะที่การรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2567 กมธ.แลนด์บริดจ์ลงพื้นที่จังหวัดชุมพรและระนอง รับฟังความเห็นจากประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้นำท้องถิ่น ตัวแทนส่วนราชการกว่า 300 คน มีทั้งเห็นด้วยและเห็นค้าน
.
ประธาน กมธ.แลนด์บริดจ์ออกมาย้ำด้วยว่าเป็นแค่ขั้นตอนการศึกษา ขึ้นอยู่กับสภาว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าเห็นด้วยก็ส่งเรื่องให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป ถ้าสภาไม่เห็นด้วยเรื่องก็จบไป รวมถึงต้องดูผลการศึกษาและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมประกอบด้วย ยังมีอีกหลายขั้นตอน
.
นี่อาจยังไม่ใช่คำตอบที่ชัดเจนพอสำหรับฝ่ายค้าน
.
หลากหลายประเด็นยังไม่มีคำตอบที่ดีพอ
.
THE STANDARD รวบรวมหลายคำถามที่เกี่ยวข้องกับแลนด์บริดจ์ และยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากรัฐบาล เช่น
.
การทำ ‘แลนด์บริดจ์’ เพื่อแชร์ตลาดท่าเรือจากสิงคโปร์ 20-30% เรามีศักยภาพพอหรือไม่?
.
ข้อมูล ‘แลนด์บริดจ์’ ที่ออกมาจากฟากรัฐบาล ละเอียดครบถ้วนมากพอหรือยัง?
.
มีข้อมูลด้านอื่นอีกหรือไม่? ที่ยังไม่ถูกนำเข้ามาชี้แจง เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงาน/ปิโตรเคมี ซึ่งเคยเป็นโครงการหลักของภาคใต้
.
หากนักลงทุนไม่มาลงทุน จะทำอย่างไร?
.
หากโครงการเกิดขึ้นจะใช้เวลา 24 ปีในการถึงจุดคุ้มทุนหรือไม่?
.
ความคุ้มค่าที่เกิดขึ้น เมื่อเทียบกับผลกระทบของชุมชน สิ่งแวดล้อม เพียงพอแค่ไหน?
.
และหากไม่มีเมกะโปรเจกต์ ‘แลนด์บริดจ์’ รัฐบาลมีโครงการอื่นอีกหรือไม่? ที่จะใช้กระตุ้น GDP ให้โตเกิน 5% ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้
.
ไม่มีข้อมูล 100% สำหรับการลงทุน
.
ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวกับ THE STANDARD ว่า รัฐบาลที่เดินสายโรดโชว์ก็ต้องเชื่อว่ามีข้อมูลมากพอแล้วที่จะให้ต่างชาติสนใจมาศึกษาต่อด้วยตนเอง เราไม่เคยมองว่านักลงทุนต้องรอข้อมูลสมบูรณ์แบบจากรัฐบาล แล้วจึงจะพิจารณา คนไม่เคยมีประสบการณ์ด้านธุรกิจถึงบอกว่าข้อมูลไม่สมบูรณ์ คนลงทุนอย่างไรก็ต้องศึกษาเพิ่ม เป็นแบบนี้ทั่วโลก ทุกโครงการ ทำไมต้องทำการบ้านเพิ่มอีก 1-2 ปีเพื่อรอการเสนอ
.
“เมืองไทยไปตกหลุมวิธีคิดเนกาทีฟของคนกลุ่มหนึ่ง ถามว่าเราศึกษาเท่านี้แล้วเราไม่เสนอ เขาสนใจมา ประเทศไทยเสียอะไร เราไม่ได้เสียอะไรเลย ในทางตรงกันข้ามต่อให้เขาไม่มาลงทุน ประเทศไทยจะอยู่ในโฟกัสความสนใจของโลก” ชัยกล่าว
.
นาทีนี้ ‘แลนด์บริดจ์’ มีเสน่ห์ที่สุด
.
ชัยยังระบุด้วยว่า “เมกะโปรเจกต์อะไรบ้างที่คุณมองว่าเหนือกว่าแลนด์บริดจ์ สำหรับรัฐบาลมองว่านาทีนี้ ด้วยโลเคชันของประเทศไทย ด้วยสภาพการค้าการขนส่งทางเรือ ด้วยภูมิรัฐศาสตร์ปัจจุบัน แลนด์บริดจ์เป็นเมกะโปรเจกต์ที่น่าสนใจที่สุด และจะสร้างประโยชน์ให้ประเทศมากที่สุด ส่วนใครที่ไม่เห็นด้วย คุณก็มาเสนอบอกกับประชาชนสิครับ”
.
ส่วนการรับฟังความคิดเห็น ชัยกล่าวว่า รัฐบาลนี้ฟังทุกคน แต่คนวิจารณ์เมื่อไม่พอใจรัฐบาลจะวิจารณ์อย่างไรก็ได้ เราฟังความเห็น 5,000 คนก็จะบอกว่าน้อยไป ทำไมไม่ฟังเป็น 10,000 คน เราต้องมีแนวทางการตัดสินใจของตัวเอง ในโลกนี้น้อยมากที่จะตัดสินใจบนพื้นฐาน 100% เป็นเรื่องปกติที่มีคนค้าน แต่เมื่อตัดสินใจจะถูกจะผิดเราจะบอกเหตุผล และรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบทางการเมือง ขอให้พูดคุยด้วยเหตุผล แนะนำ แต่อย่าโจมตีคนเห็นต่างให้เสียหาย
.
“ต้องถามประชาชนชาวระนองทั้งจังหวัดเลยหรือไม่ เขามีวิธีการในการที่จะศึกษา ไม่จำเป็นต้องถามทุกคน เหมือนการทำโพลก็ไม่จำเป็นต้องถามทุกคน คำว่าไม่ฟังเสียงประชาชนเต็มที่ ต้องฟังเสียงประชาชนระดับไหนถึงจะเต็มที่” ชัยกล่าว
.
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังบอกเล่าถึงการโรดโชว์แลนด์บริดจ์ในประเทศต่างๆ ของนายกรัฐมนตรีด้วยว่า นาทีนี้ ‘แลนด์บริดจ์’ มีเสน่ห์ที่สุด นายกรัฐมนตรีไปประชุม World Economic Forum ที่สมาพันธรัฐสวิส เจ้าภาพบรรจุโครงการ ‘แลนด์บริดจ์’ เป็นหนึ่งเรื่องที่จะพูดคุย เราไม่ได้ขอ ที่ญี่ปุ่นบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกก็มาร่วมฟัง 30 กว่าบริษัท ไปสหรัฐอเมริกาคนก็สนใจ ถ้าเป็นโครงการที่ไม่น่าสนใจจะได้รับการตอบสนองในเวทีโรดโชว์ขนาดนี้หรือไม่
.
ทำไมต้องเป็น ‘แลนด์บริดจ์’
.
ชัยกล่าวอีกว่า เพราะรัฐบาลนี้มองเห็นว่าการค้าจากตะวันออกกลางไปยังตะวันออกไกล คือ ญี่ปุ่น เกาหลี สหรัฐอเมริกา เส้นทางการขนส่งใหญ่ของโลกต้องผ่านภูมิภาคนี้ เวลานี้มีคอขวดอยู่ที่ช่องแคบมะละกา และอนาคตการค้าของโลกมีแต่เพิ่มขึ้น เรามองเห็นโอกาสในจุดยุทธศาสตร์ของประเทศไทย แต่คนก็ลืมนึกไปว่าในอ่าวเบงกอลมีประชากร 1,700 ล้านคน นี่คือประตูบานใหม่ที่เราจะเปิดไปตีส่วนแบ่งตรงนี้
.
ชัยย้อนถามกลับด้วยว่า ทำไมจะเป็นแลนด์บริดจ์ไม่ได้ ตอนนี้รัฐบาลพยายามคิดทางอื่น แต่ก็ยังไม่เห็นหนทางที่ดีกว่าแลนด์บริดจ์ คนเสนอก็พยายามจินตนาการว่า โครงการนี้จะทำให้เกิดความยิ่งใหญ่ในทางเศรษฐกิจและทำเพื่อประเทศชาติ
.
“เหมือนบ้านเราทำของไปขายข้างนอก พอเดินออกไปขาย คนในบ้านแท้ๆ ตะโกนว่า อย่าเพิ่งไปซื้อมัน มันยังทำไม่เรียบร้อย มันใช่เรื่องไหมครับ หรือบริษัทเราผลิตสินค้าออกไปขายในตลาด พนักงานจำนวนหนึ่งตะโกนออกไปในตลาดว่า อย่าเพิ่งไปซื้อมัน ของมันยังไม่ดีพอ มีอย่างนี้ด้วยเหรอในโลกนี้” ชัยกล่าว
.
ชัยกล่าวปิดท้ายด้วยว่า ค้านได้ แต่ควรค้านเชิงแนะนำ เป็นการตั้งคำถามเชิงบวก มากกว่าการแสดงความคิดเห็นเชิงลบ เรื่องเดียวกันสามารถสื่อสารให้เป็นบวกได้
.
เทียบคลองต่างประเทศ
.
คลองปานามา ยาว 82 กิโลเมตร ย่นระยะทางของเรือที่แล่นระหว่างชายฝั่งตะวันออกและตะวันตกของสหรัฐอเมริกา สามารถย่นระยะการเดินเรือได้ถึง 22,500 กิโลเมตร
.
คลองสุเอซ ยาว 193 กิโลเมตร ช่วยย่นระยะทางระหว่างทวีปยุโรปกับเอเชียที่ต้องอ้อมแหลมกู๊ดโฮป ช่วยให้ลดระยะทางในการเดินเรือไปกว่า 8,900 กิโลเมตร
.
แลนด์บริดจ์ เส้นทาง ถนน-สะพาน-ราง พาดผ่านจังหวัดชุมพรและระนอง ยาว 120-135 กิโลเมตร จะช่วยย่นระยะทางระหว่างประเทศฝั่งมหาสมุทรอินเดียไปประเทศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกผ่านช่องแคบมะละกาประมาณ 3-5 วัน
.
คงต้องรอดูต่อไปว่า ท่ามกลางเสียงจากหลายฝ่าย รัฐบาลจะดันโครงการนี้ไปจนสำเร็จได้หรือไม่ เพราะสุดท้ายแล้ว ความเร็ว ความปลอดภัย ระยะทาง ความปั่นป่วนทางทะเล สุ่มเสี่ยงโจรสลัด ปัญหาขาดแคลนเสบียง น้ำดื่มเมื่อเรือวิ่งนานๆ และความคุ้มค่า คือคำตอบของการขนส่งสินค้าทางเรือ ว่าจะปักหมุด ‘แลนด์บริดจ์’ เป็นเป้าหมายใหม่ที่จะขนส่งสินค้าหรือไม่
.
อ้างอิง:
(https://www.thaipbs.or.th/news/content/333408)
(https://www.thaipost.net/columnist-people/517553/)
(https://mgronline.com/politics/detail/9670000003905)
(https://prachatai.com/journal/2023/10/106533)
.
#TheStandardNews #แลนด์บริดจ์

(https://www.facebook.com/thestandardth/posts/712095967716416?ref=embed_post)