ฝ่ายคุ้ยเขาว่า “งานเข้าอีกแล้ว” นายกฯ เศรษฐีชื่อ ‘เศรษฐา’ เมื่อกฤษฎีกาตอบกลับ “พ.ร.บ.กู้เงินดิจิทัลวอลเลต ๕ แสนล้านบาท” แต่ไม่บอก “ทำได้หรือไม่” นายกฯ ให้ข่าว “ไม่ได้มีข้อติดขัดอะไร ที่จะทำให้...เดินหน้าต่อไม่ได้”
ซึ่ง ‘สำนักข่าวอิศรา’ อ้างแหล่งข่าวจากภายในสำนักงานกฤษฎีกา เพิ่มเติมว่า “ไม่ได้ฟังธงว่าการกู้เงินทำได้หรือไม่ เพียงแต่เป็นการอธิบายในข้อกฎหมายต่างๆ เท่านั้น” แต่นายกฯ พูดแตกต่าง ว่า “ได้มีข้อเสนอแนะ และขั้นตอนที่จะทำต่อ”
ระหว่างรอ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ให้ความชัดเจนว่ารัฐบาลจะไปต่ออย่างไร ดังที่ เศรษฐา ทวีสิน “คาดว่าอีก ๔๘ ชั่วโมง หรือ ๒ วัน จะมีการแถลงออกมา” แต่ ภูมิธรรม เวชยชัย เอาพาดหัวข่าว นสพ.วันนี้ไปคุยแล้วว่า “กฤษฎีกา..ผ่านฉลุย”
ขณะที่ chamnan chanruang @chamnanxyz ปูดออกมาอีกอย่าง “แว่วว่าแนะนำให้ออกเป็นพระราชกำหนด” (พรก.) ถ้าอย่างนั้นจะงานเข้าอย่างไร ต้องไปดูที่ ‘ไอลอว์’ เขียนไว้ เรื่องความแตกต่างของ พรบ. กับ พรก. ว่า
พรก.เป็นกฎหมายที่ฝ่ายบริหารจัดทำขึ้นให้พระมหากษัตริย์ทรงตรา แต่จะต้อง “เป็นกรณี ‘ฉุกเฉิน’ ที่มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้...หมายถึง ต้องทำทันที ถ้าไม่ทำจะเกิดผลร้ายแรงตามมา” โดยเฉพาะ “ที่เกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตรา”
โดยนัยนี้ “เมื่อประกาศใช้ พ.ร.ก.แล้ว ในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไป ให้ ครม.เสนอ พ.ร.ก.นั้นต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาโดยไม่ชักช้า” และหากอยู่นอกสมัยประชุมก็ให้คณะรัฐมนตรีเรียกประชุมรัฐสภา ‘สมัยวิสามัญ’ เพื่อพิจารณาโดยเร็ว
“ในการลงเสียงอนุมัติ พ.ร.ก.เป็นกฎหมายนั้น กำหนดไว้ในมาตรา ๑๗๒ ว่าหาก ส.ส.ไม่อนุมัติ โดยการลงคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ ให้ พ.ร.ก.ฉบับนั้นตกไป” และถ้า วุฒิสภาคัดค้าน ถ้าเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งก็ให้ปล่อยผ่าน
อีกทั้งระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา ส.ส. หรือ ส.ว. จำนวน ๑ ใน ๕ ของแต่ละสภา สามารถยื่นทักท้วงว่า ร่าง พรก.ไม่เหมาะสม ให้ส่งร่างฯ ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา โดยในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้ถือเสียง ๒ ใน ๓ เป็นมติ
(https://ilaw.or.th/node/5435 และ https://www.isranews.org/article//125293-gov-OCS-krisdika-loan-law-Digital-Wallet.html)