ชูป้าย 'ทหารมีไว้ทำไม' 'หยุดซ้อมทรมาน' หลังศาลนัดสอบ 2 ครูฝึก คดีพลทหารกิตติธรตายระหว่างฝึก
2024-01-22
ประชาไท
ประชาชนชูป้าย "ทหารมีไว้ทำไม ?" "หยุดอุ้มหายหยุดซ้อมทรมาน" ร้องความเป็นธรรมและให้กำลังใจครอบครัวพลทหารกิตติธร ที่ตายระหว่างฝึก ขณะที่ศาลเลื่อนนัดสอบคำให้การไป 5 มี.ค.นี้ หลังทนายฝ่ายจำเลยขอเลื่อน
22 ม.ค.2567 จากที่วันนี้ (22 ม.ค.) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ มีนัดสอบปากคำให้การครูฝึกทหารเกณฑ์ ในความผิด ข้อหาร่วมกันกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตาม ม.6 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 กรณีพลทหารกิตติธร เวียงบรรพต เสียชีวิตหลังเข้ารับการฝึกทหารเกณฑ์ พลัด 1 /66 ที่ค่ายเม็งรายมหาราชเมื่อ 4 ส.ค. 66
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 09.30 น. บริเวณหน้าป้ายศาลอาญาคดีทุจริตฯ ปรากฏมีประชาชนประมาณ 15 คน ร่วมชูป้ายแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยมีข้อความเช่นว่า "ทหารมีไว้ทำไม ?" "หยุดอุ้มหายหยุดซ้อมทรมาน" เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและให้กำลังใจครอบครัวพลทหารกิตติธร โดยมีภรรยาและบิดาของพลทหารกิตติธรเดินทางมาศาลในวันนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งเลื่อนนัดสอบคำให้การครูฝึก 2 นาย ออกไปเป็นวันที่ 5 มี.ค.นี้ เวลา 9.30 น. แทน เนื่องจากทนายฝ่ายจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอเลื่อนนัดศาลออกไปก่อน ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาต
อัยการสั่งฟ้องครูฝึก กรณี 'พลทหารกิตติธร' เสียชีวิต จากการฝึกในค่ายเม็งรายมหาราช
พ่อพลทหารกิตติธร เตรียมเข้าร้อง 'สส.วิโรจน์' 14 ธ.ค.นี้ หวังสอบข้อเท็จริง-ทวงความเป็นธรรมปมลูกชายตาย
คดีนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุด้วยว่า เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 66 บิดาและภริยาของพลทหารกิตติธร ได้เดินทางไปเพื่อรับพลทหารกิตติธรที่ค่ายเม็งรายมหาราช จ.เชียงราย และพบว่า พลทหารกิตติธรมีอาการอิดโรย ตัวซีด ไข้ขึ้น มีอาการร้อนและหนาว มีอาการป่วยมาหลายวัน พลทหารกิตติธรพยายามขอให้ทางผู้บังคับบัญชาส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลแต่ไม่ได้รับการอนุญาต ในวันดังกล่าวภริยาของผู้ตายจึงยืนกรานขอให้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลค่ายเม็งรายมหาราช แต่อาการไม่ดีขึ้น ต่อมาเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 66 พลทหารกิตติธรถูกนำตัวส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์และเสียชีวิตในเวลาต่อมา เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 66 บิดาและภริยาของผู้ตาย จึงได้ร้องเรียนต่อพนักงานอัยการ ศูนย์ป้องกันการทรมาน-อุ้มหาย จ.เชียงรายว่า มีข้อสงสัยต่อการเสียชีวิตของพลทหารกิตติธรเป็นอย่างมาก และได้ส่งร่างของพลทหารกิตติธรฯ ไปผ่าชันสูตรศพเพื่อค้นหาสาเหตุการเสียชีวิตที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
ต่อมา วันที่ 19 ธ.ค. 66 หลังการเสียชีวิต 6 เดือน พนักงานอัยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทรมาน จังหวัดเชียงราย มีความเห็นสั่งฟ้องที่ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ 1 ภาค 5 เป็นคดีหมายเลขคดี ปท 1/ 2566 เจ้าหน้าที่ทหาร 2 ราย (จำเลย) ในข้อหา ร่วมกันกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุด้วยว่า คดีนี้นับเป็นคดีแรกที่พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องในความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 หลังมีการบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 66 ที่ผ่านมา มูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีความคาดหวังว่ากระบวนการตาม พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานฯ และคนในกระบวนการยุติธรรมจะช่วยอำนวยความเป็นธรรมให้เหยื่อหรือประชาชนที่ถูกกระทำละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายเช่นนี้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่อาจเกิดการกระทำที่เข้าข่ายการละเมิดกฎหมายฉบับนี้ในระหว่างการฝึกทหารใหม่ต่อพลทหารจำนวนนับเป็นหมื่นคนในแต่ละปี
(https://prachatai.com/journal/2024/01/107741)