ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
january 2·
สวัสดีปีใหม่ที่คนถูกขังปีเก่ายังอยู่ในเรือนจำ
.
ส.ค.ส.แด่คนถูกขังข้ามปี ที่ทุกคนตั้งใจส่งต่อความหวัง กำลังใจ ความห่วงใย และความฝันร่วมอุดมการณ์ถึงผู้ต้องขังคดีการเมือง อย่างน้อย 37 คนที่ถูก “ขังข้ามปี” ในคืน 31 ธ.ค. ที่ผ่านมา
.
ทุกภาพถ่าย ทุกคำอวยพรจะถูกรวบรวมส่งต่อไปยังคนในเรือนจำทั้ง 37 คนต่อไป
.
สิ้นสุดเทศกาลสังสรรค์แล้ว ตลอดปีนี้ยังมีอีกหลายหมุดหมายให้เดินหน้าต่อ โดยเฉพาะการผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน และเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ หวังว่าทุกคนจะเดินหน้าต่ออย่างมีพลังและเปี่ยมไปด้วยความหวังในปี 2024 นี้
.
อ่านสรุปสถานการณ์ผู้ต้องขังการเมืองรอบปี 2566 : https://tlhr2014.com/archives/62632
.
#สวัสดีปีใหม่2567
#ขังข้ามปี
#นิรโทษกรรมประชาชน
.....
iLaw
2d·
[ประเด็นต้องจับตาใน 2567 นิรโทษกรรมประชาชน]
.
แม้ประยุทธ์ จันทร์โอชาจะไม่ได้เป็นผู้นำรัฐบาลแล้ว แต่มรดกที่สำคัญของหัวหน้าคณะรัฐประหารก็คือคดีทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ที่มีการนำมาตรา 112 กลับมาใช้ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม เพื่อรวมกับคดีอื่น ๆ เช่น ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดบริหารราชการแผ่นดินฉุกเฉิน คดีทางการเมืองก็มีหลักพันคดี โดยส่วนใหญ่ที่คั่งค้างมาหลายปีก็กำลังจะมีคำพิพากษา ซึ่งอาจส่งผลให้ประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอีกจำนวนมากต้องโทษจำคุก
.
หลังจากที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเข้าสู่อำนาจ คดีเหล่านี้ก็ไม่มีสัญญาณว่าจะลดลงหรือสถานการณ์การบังคับใช้ดีขึ้น ผู้คนที่เคยออกไปใช้สิทธิชุมนุมต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลได้ ยังคงเดินหน้าเข้าสู่เรือนจำ ในระหว่างที่การแก้ไขกฎหมายยังไม่สำเร็จ ทางออกที่พอจะทุเลาปัญหานี้ได้ก็คือการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับนักโทษการเมือง
.
ในปี 2567 การเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมจึงเป็นประเด็นที่ต้องจับตา
.
แคมเปญเข้าชื่อเสนอกฎหมายภาคประชาชน
.
ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนเปิดตัวร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชนเพื่อนำเสนอทางออกต่อปัญหาคดีทางการเมือง โดยอาจจะมีการเปิดรับรายชื่อในต้นปี 2567 ให้ได้อย่างน้อย 10,000 รายชื่อตามกฎหมาย และนำร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาพร้อมกับร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคการเมืองในสภา ประเด็นการนิรโทษกรรมนั้นยังต้องการการสื่อสารกับสาธารณชนอีกมากให้เข้าใจความจำเป็นและเหตุผลของการปล่อยนักโทษทางการเมือง ประชาชนจึงต้องคอยจับตาและเตรียมตัวให้พร้อมกับแคมเปญนิรโทษกรรมประชาชน
.
ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนของภาคประชาชนเสนอให้นิรโทษกรรมคดีที่มีแรงเหตุจูงใจทางการเมือง คดีที่ได้รับการนิรโทษกรรมทันที เช่น มาตรา 112 พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และความผิดตามคำสั่งหรือประกาศ คสช. อีกทั้งยังให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณานิรโทษกรรมในคดีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมืองอีกด้วย
.
อ่านสรุปร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน https://ilaw.or.th/node/6696
.
ท่าทีและร่างกฎหมายของพรรคเพื่อไทย
.
พรรคเพื่อไทยคือตัวละครที่สำคัญที่สุดในการผลักดันการนิรโทษกรรม ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยยังมีท่าทีที่ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นการออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน แต่หากว่าพรรคเพื่อไทยเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม แม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ จะไม่เห็นพ้องด้วย ก็สามารถรวมเสียงกับพรรคก้าวไกลเพื่อให้เกินกึ่งหนึ่งและผ่านกฎหมายได้
.
ทางเลือกของพรรคเพื่อไทยในปัจจุบันมีอยู่สามช่องทาง ทางแรกคือการนิ่งเฉยและปล่อยให้ประเด็นนี้ไม่ถูกพูดถึงในสภา แต่พรรคก็จะเผชิญกับแรงกดดันมากขึ้นเพราะนักโทษทางการเมืองนั้นส่วนหนึ่งก็ออกมาแสดงความคิดเห็นเรียกร้องประชาธิปไตยและเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาลได้ ทางที่สองคือการถ่วงเวลาโดยการตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาการออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อบรรเทาแรงต้านโดยสามารถอ้างได้ว่าอยู่ในกระบวนการ “ศึกษา” ทางเลือกสุดท้ายคือการสนับสนุนการนิรโทษกรรม โดยอาจจะเสนอร่างกฎหมายในนามพรรคหรือรัฐบาล ซึ่งก็จะต้องจับตาเนื้อหาในร่างกฎหมายต่อไป
.
เนื้อหาร่างกฎหมาย - นิรโทษกรรมมาตรา 112 หรือเหมาเข่งให้เจ้าหน้าที่รัฐ
.
หากมีการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมในสภา “ใครจะได้รับนิรโทษกรรมบ้าง” ก็เป็นเรื่องที่ต้องจับตาเช่นกัน พรรคร่วมรัฐบาล เช่น พรรครวมไทยสร้างชาติ รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้าน อ้างว่าหากร่างกฎหมายมีการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 พรรคของตนจะไม่ลงคะแนนสนับสนุน ในขณะที่มีพรรคก้าวไกลที่เป็นพรรคการเมืองใหญ่พรรคเดียวเท่านั้นที่ประกาศตัวจะสนับสนุนการนิรโทษกรรมคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ ส่วนพรรคเพื่อไทยนั้นยังไม่มีจุดยืนชัดเจน
.
เนื้อหาอีกประการหนึ่งคือกฎหมายจะเป็นการ “นิรโทษกรรมประชาชน” หรือ “นิรโทษกรรมเหมาเข่ง” กล่าวคือ จะรวมเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงเข้าไปด้วยหรือไม่ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา การออกกฎหมายนิรโทษกรรมน้อยครั้งที่จะสำเร็จหากไม่มีการนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอำนาจ ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่พรรคเพื่อไทยเคยผลักดันในปี 2556 ได้รับชื่อว่าสุดซอยก็ด้วยเหตุว่ามีการนิรโทษกรรมให้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ดังนั้น เนื้อหาของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่สภาจะพิจารณาเห็นชอบจึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องติดตามในปี 2567