Pipat Luengnaruemitchai
9h ·
ถึงเวลา “ลูกศรดอกที่สาม” ของเศรษฐกิจไทย
ตอนนี้มีสัญญาณชัดขึ้นเรื่อยๆว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ของปัญหาเชิงโครงสร้างที่รุมเร้า น่ากังวลว่าถ้าเราปล่อยไว้แบบนี้ เราจะเข้าสู่เส้นทางที่ย้อนกลับไม่ได้
การกระตุ้นอุปสงค์ระยะสั้นคงไม่เพียงพอจะแก้ไขปัญหาที่เรากำลังเจออยู่ได้ เราจำเป็นต้องหาทางออกกันอย่างจริงจังว่า เราจะมีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ (structural reforms) เพื่อยก “ระดับศักยภาพ” ของเศรษฐกิจ เพิ่ม “ประสิทธิภาพ” และเสริมสร้าง “ความสามารถในการแข่งขัน” ของเศรษฐกิจไทยได้อย่างไร
หลายเรื่องเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก เพราะการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างกระทบต่อผลประโยชน์ของคนมหาศาลทั้งบวกและลบ และคงต้องเริ่มคิดกันแล้วว่า เราจะมีแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจ หรือ reform agenda ที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนได้อย่างไร และเราจะสร้างฉันทามติทางการเมืองให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร
#เศรษฐกิจโตช้าลงเรื่อยๆ
ถ้ามองย้อนกลับไปยาวๆ จะสังเกตได้ว่าแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยมีแต่สาละวันเตี้ยลง และปัญหาไม่ได้เพิ่งเริ่มเกิดขึ้น จากเศรษฐกิจที่เคยเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของเอเชียโตได้ปีละ 8-10% ต่อปีในช่วงปี 1990s พอวิกฤตต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจไทยก็เปลี่ยนตัวเองขนานใหญ่ จนกลายเป็นเครื่องจักรในการส่งออก โตได้ปีละ 5% โดยเฉลี่ยจนกระทั่งวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2008 หลังจากนั้นเราก็โตได้ปีละแค่ 3.2% โดยมีเครื่องจักรสำคัญคือการท่องเที่ยว
จนกระทั่งเราเจอวิกฤต Covid-19 ทุกคนก็คาดว่า เพราะท่องเที่ยวเราหายไป เดี๋ยวท่องเที่ยวกลับมา เศรษฐกิจไทยก็คงกลับไปโตได้ 3-4% เหมือนเดิม
แต่เราเริ่มเห็นสัญญาณว่า เศรษฐกิจไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป การฟื้นตัวของเศรษฐกิจช้ากว่าที่หลายคนคาดไว้มาก ทั้งๆที่การท่องเที่ยวก็กลับมาได้ในระดับหนึ่งแล้ว แต่ก็ชี้ให้เห็นว่า ถ้าไม่มีการท่องเที่ยว เศรษฐกิจไทยส่วนอื่นๆไม่โตขึ้นเลย และเป็นตัวฉุดรั้งเสียด้วยซ้ำ
ช่วงที่ผ่านมาหลายปี การท่องเที่ยว ปัญหาเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด และการฟื้นตัว ซ่อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่กัดกร่อนพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยจนเริ่มมีอาการที่น่ากังวลว่า เรากำลังอยู่ในภาวะ “กบต้ม” แบบไม่รู้ตัวหรือไม่
ต้องยอมรับว่าปัญหาสำคัญอันหนึ่งคือ เกิดจากปัญหาจากแนวโน้มโครงสร้างประชากร จำนวนประชากรโดยรวมที่กำลังโตช้าลง และจำนวนประชากรวัยทำงานที่ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และกำลังค่อยๆลดลง
ถ้าเศรษฐกิจไทยเป็นเครื่องจักร ก็คงเป็นเครื่องจักรที่มีวัตถุดิบคือ “แรงงาน” ใส่ลงไปน้อยลงเรื่อยๆ ถ้าเครื่องจักรไม่มีการปรับปรุงอะไรเลย ไม่มีทางที่ผลผลิตของเครื่องจักรจะเพิ่มขึ้นได้เลย
จำนวนแรงงานที่ลดลงทำให้เกิดปัญหาทั้งในแง่ของขนาดของตลาด ที่โตช้าลง ไม่น่าสนใจเหมือนอย่างเคย การขาดแคลนแรงงานทำให้ค่าแรงเริ่มสูงขึ้น ในขณะที่คุณภาพของแรงงานไม่ได้ดีขึ้น สังเกตจากตัวชี้วัดด้านการศึกษาที่ตกต่ำถดถอย และภาวะการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ จนทำให้เราไม่ได้เป็นเป้าหมายของการลงทุนจากต่างประเทศอีกต่อไป
การลงทุนที่น้อยลงทั้งจากต่างประเทศ และการลงทุนในประเทศเอง ยิ่งทำให้ศักยภาพของเศรษฐกิจถูกกัดกร่อนลงไปอีก เหมือนเรากำลังกินบุญเก่าที่สะสมมาในอดีต โดยไม่ได้ลงทุนเสริมสร้างบุญใหม่ ถ้าเป็นบ้าน ก็คงเป็นบ้านที่ไม่ได้ซ่อมสร้าง
#ความสามารถในการแข่งขัน
อาการโตช้า ไม่มีการลงทุนใหม่ ก้าวไม่เท่าทันเทคโนโลยี ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า เราจะยังรักษาความสามารถในการแข่งขัน ในโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และเราไม่อยู่ในสถานที่จะไปแข่งกับอุตสาหกรรมรูปแบบเดิมๆได้หรือไม่ แม้ตัวเลขจะยังไม่ได้แย่มากนัก แต่ก็มีสัญญาณหลายอย่างว่าน่ากังวลจริงๆ
จริงๆแล้วในด้านการส่งออก หลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมาไกลมากจากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์และอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง มาสู่อุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนสูง และมีการกระจายในหลายอุตสาหกรรม แต่ปัญหาคือเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไป สินค้าส่งออกของเราหลายอย่างกำลังเจอแรงกดดันอย่างหนัก เราเริ่มเห็นโรงงานหลายแห่งเริ่มปิดกิจกรรมและเริ่มย้ายไปต่างประเทศ
ในหลายอุตสาหกรรม อาจเรียกได้ว่าเป็น Kodak’s moment ได้เลย นึกภาพอย่างรถยนต์สันดาปภายใน และฮาร์ดดิสก์ ที่เราเป็นแหล่งผลิตสำคัญของโลก แม้ยอดส่งออกยังไม่ลดลงมาก แต่ทั่วโลกกำลังจะเปลี่ยนผ่านไปใช้เทคโนโลยีอื่น ที่ยังไม่แน่ใจว่าเราจะยังมีความสามารถในการดึงดูดเทคโนโลยีใหม่ๆ และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศได้เหมือนเดิมหรือไม่
นอกจากนี้ เรากำลังเจอกระแสภูมิรัฐศาสตร์กดดัน พอสหรัฐทะเลาะกับจีน สินค้าหลายชนิดจากจีน ที่มี scale และต้นทุนต่ำกว่ามหาศาล ก็ถูกเปลี่ยนมาขายให้ Asean มากขึ้น กระทบต่อผู้ผลิตในประเทศมากขึ้น ในขณะที่รูปแบบของการค้าและการลงทุนก็เปลี่ยนไป และมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นในประเทศก็อาจจะมีน้อยลง
นึกภาพว่า ถ้าเราต้องเปลี่ยนมานำเข้าสินค้าที่เราเคยส่งออกได้เยอะๆ อย่างรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การจ้างงาน และดุลการค้า จะเป็นอย่างไร
#แก่ก่อนรวยและการเคลื่อนย้ายทางสังคมและเศรษฐกิจ
อาการโตช้าลง และภาวะสังคมผู้สูงอายุคงไม่เป็นปัญหา ถ้าคนไทยโดยเฉลี่ยมีระดับรายได้เพียงพอและอยู่ในภาวะที่พออยู่ได้ แต่ปัญหาคือคนจำนวนมากยังขาดการวางแผนทางการเงิน สะสมความมั่งคั่งไม่พอภาวะเกษียณ มีรายได้ไม่พอรายจ่าย
นอกจากนี้ ภาวะโตช้าจะจำกัด “โอกาส” ของคนในการเลื่อนชั้นทางสังคมและเศรษฐกิจ สมัยก่อนตอนเศรษฐกิจดีๆ อาจจะไม่แปลกที่เราจะเห็นคนที่เกิดในครอบครัวที่ยากจนกลายเป็นคนชั้นกลาง คนชั้นกลางกลายเป็นเศรษฐี แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจโตช้า โอกาสทางเศรษฐกิจก็มีน้อยลง ซ้ำร้ายความเหลื่อมล้ำทางการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและบริการภาครัฐยังมากอีก โอกาสที่คนจนที่เกิดในต่างจังหวัด จะเลื่อนชั้นทางสังคมและเศรษฐกิจจะยากขึ้น
#ความเหลื่อมล้ำและปัญหาหนี้
อีกอาการหนึ่งที่เราเห็นจากเศรษฐกิจซบเซาคือปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และความมั่งคั่ง ในวันที่เศรษฐกิจโตดี ความเหลื่อมล้ำไม่ใช่ปัญหาใหญ่นัก เพราะขณะที่พายทั้งชิ้นโตอยู่ถึงเราจะได้ชิ้นพายเป็นสัดส่วนเล็กลงบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะชิ้นพายที่เราได้รับยังใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แต่วันที่พายหยุดโต แต่สัดส่วนที่คนทั่วไปได้รับจะเล็กลง เพราะคนที่มีโอกาสมากกว่ายังคงแย่งชิงสัดส่วนของพายไปเรื่อยๆ และชิ้นพายที่คนทั่วไปได้รับจะเล็กลง
เราสังเกตว่า แม้เศรษฐกิจโตมาเรื่อยๆ แต่อัตราค่าจ้างที่จริงโดยเฉลี่ยแทบไม่โตขึ้นเลยในหลายปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าผลตอบแทนของแรงงานมีสัดส่วนลดลง และเมื่อรายได้ไม่โตในขณะที่รายจ่ายเพิ่มไม่หยุด ปัญหาหนี้ก็ตามมา และปัญหานี้จะทวีความรุนแรงขึ้นตราบเท่าที่รายได้ที่แท้จริงไม่เพิ่มขึ้น และมาตรการแก้หนี้ที่ได้ผลดีที่สุดคือการยกระดับรายได้ของคนในประเทศไปพร้อมๆกับการควบคุมการก่อหนี้ไม่ให้มากเกินตัว แต่ถ้ารายได้ยังไม่เพิ่มปัญหาหนี้คงแก้ไม่ได้อย่างยั่งยืน
#ลูกศรสามดอกของAbe
ถ้าใครจำคุณ Shinzo Abe นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นผู้ล่วงลับ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 10 ปีในช่วงปี 2006-2007 และ 2012-2020 ช่วงนั้นญี่ปุ่นกำลังเจอภาวะ เศรษฐกิจตกต่ำซ้ำซากเป็นเวลานาน นโยบายที่เป็นที่จดจำที่สุดของ Abe คือนโยบาย “ลูกศรสามดอก” เพื่อยกเศรษฐกิจญี่ปุ่นขึ้นจากหล่มที่ติดมาเป็นเวลาหลายสิบปี หรือที่หลายคนเรียกกันว่า Abenomics ซึ่งประกอบไปด้วย
หนึ่ง การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินที่ประกาศคำมั่นสัญญามุ่งเป้าหมายเงินเฟ้อที่ชัดเจน
สอง การใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นการลงทุนภาครัฐ และการใช้จ่ายเชิงโครงสร้าง พร้อมๆไปกับการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ ด้วยการให้คำมั่นในการขึ้นค่อยๆขึ้นภาษีบริโภคจาก 5% เป็น 10% เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือทางการคลัง
และที่สำคัญคือลูกศรดอกที่สาม คือนโยบายปฏิรูปเชิงโครงสร้าง (structural reforms) เพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบไปด้วยมาตรการหลายด้าน เช่น การปฏิรูปตลาดแรงงาน เช่น การส่งเสริมผู้หญิงให้กลับสู่ตลาดแรงงาน และเพิ่มความยืดหยุ่นของตลาดแรงงาน การปฏิรูปภาคเกษตร เช่น การลดข้อจำกัดในการรวบรวมพื้นที่การเกษตร การปฏิรูปด้านการดูแลกิจการ (corporate governance) ที่มุ่งเป้าหมายให้ผู้บริหารบริษัทดูแลผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นมากขึ้น การปฏิรูปเรื่องกฎระเบียบและส่งเสริมการแข่งขัน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนใหม่ ส่งเสริมการแข่งขัน และนวัตกรรมใหม่ๆ ลดการผูกขาดกินรวบ การปฏิรูปด้านนโยบายการค้า ที่สำคัญคือการเข้าร่วม Trans-Pacific Partnership (TPP) เพื่อขยายตลาดการส่งออก และเร่งให้อุตสาหกรรมในประเทศปรับตัวเพื่อการแข่งขันมากขึ้น และการส่งเสริมการลงทุนและการท่องเที่ยว
แม้นโยบายเหล่านี้ จะมีคำวิจารณ์ถึงความสำเร็จ และหลายเรื่องเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายในด้านการเมือง เพราะแต่ละนโยบายมีผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบต่อคนกลุ่มต่างๆ นายก Abe ต้องยุบสภาถึงสามครั้งเพื่อขอฉันทามติทางการเมืองในหลายเรื่องที่อ่อนไหว เช่น การขึ้นภาษี แต่ก็เป็นจุดเริ่มที่สำคัญที่สร้างความตระหนักรู้ถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้าง เพื่อยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจ และสร้างให้เกิดการพูดคุยทางการเมืองในประเด็นเหล่านี้ และมีส่วนทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นดีขึ้นในช่วงหลังๆ
#นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจไทย
ผมคิดว่าเศรษฐกิจไทยวันนี้ ก็ไม่น่าต่างจากญี่ปุ่นในวันนั้น และอีกหลายประเทศที่เราเห็นตัวอย่างมาแล้ว ผมว่าถึงเวลาที่เราต้องตระหนักกันว่า #บุญเก่าเรากำลังจะหมด และ #เราทำแบบเดิมไม่ได้แล้ว และเราต้องมาคุยกันอย่างจริงจังว่า #เราจะไปอย่างไรกันต่อ เราคุยกันมาเยอะมาถึงความท้าทาย และเราไม่สามารถจะยกสูตรสำเร็จของนโยบายปฏิรูปที่ต่างประเทศใช้ได้ทั้งหมด แต่ด้วยความท้าทายที่เราตามหลังหลายๆประเทศ ตัวอย่างเหล่านั้นก็น่าจะเป็นตัวอย่างและจุดเริ่มต้นที่ดีได้ แต่สุดท้ายแล้ว เราควรจะคุยกันภายใต้กรอบประชาธิปไตยถึงการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่เศรษฐกิจไทยต้องการ เพราะการปฏิรูปย่อมมีผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่ถ้าเราไม่เริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจกันอย่างจริงจัง เราจะกลายเป็นเศรษฐกิจที่ถดถอยไปเรื่อยๆ เป็นประเทศที่โลกลืม และปัญหาความเหลื่อมล้ำก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
มาช่วยคิดช่วยกันทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเป็นเศรษฐกิจแห่งโอกาสกันอีกครั้งกันเถอะครับ