วันเสาร์, มกราคม 20, 2567

ฝ่ายอนุรักษนิยมพุทธศาสนาไทยยังไม่อาจยอมรับแนวคิดโลกวิสัย พยายามต่อต้าน ขัดขืน และรุกคืบเพื่อเพิ่มอภิสิทธิ์ทางศาสนาและยกให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไทย ทั้งที่ในรัฐโลกวิสัยไม่ใช่การทำให้ศาสนาสิ้นสูญ แต่เพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางศาสนา สุรพศตั้งคำถามว่าพุทธศาสนาที่ขัดต่อแนวทางพุทธะและประชาธิปไตยจะมีไว้เพื่ออะไร



112 โลกวิสัย พุทธไทย และสถาบันกษัตริย์ (จบ) พุทธไทยที่ขัดแนวทางพุทธะและประชาธิปไตยมีไว้ทำไม

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล : สัมภาษณ์/เรียบเรียง
กิตติยา อรอินทร์ : ภาพปก
2024-01-19
ประชาไท

ฝ่ายอนุรักษนิยมพุทธศาสนาไทยยังไม่อาจยอมรับแนวคิดโลกวิสัย พยายามต่อต้าน ขัดขืน และรุกคืบเพื่อเพิ่มอภิสิทธิ์ทางศาสนาและยกให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไทย ทั้งที่ในรัฐโลกวิสัยไม่ใช่การทำให้ศาสนาสิ้นสูญ แต่เพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางศาสนา สุรพศตั้งคำถามว่าพุทธศาสนาที่ขัดต่อแนวทางพุทธะและประชาธิปไตยจะมีไว้เพื่ออะไร
  • การชุมนุมของนักศึกษาในปี 2563 จุดกระแสแนวคิดโลกวิสัยให้ได้รับความสนใจจากสังคมมากกขึ้น
  • พุทธศาสนาไทยไม่ยอมปรับตัวให้สอดคล้องกับโลกวิสัยและประชาธิปไตย แต่กลับขัดขืนต่อต้านผ่านทางความคิดและการเคลื่อนไหวให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย
  • ศาสนาสามารถเข้ามาข้องเกี่ยวกับการเมืองได้ แต่มิใช่เพื่อเพิ่มอภิสิทธิ์ทางศาสนาของตน หากต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะและหลักสิทธิมนุษยชนซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของพุทธะและประชาธิปไตย

แนวคิดโลกวิสัยได้รับการพูดถึงมากขึ้นทุกขณะ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดผลเป็นรูปธรรม เพราะฝ่ายอนุรักษนิยมทางศาสนาและทางการเมืองยังต้องการเก็บรักษา ‘พุทธศาสนาไทย’ แบบเดิมให้คงอยู่ จึงเกิดแรงต้านมากกว่าการปรับตัว อีกทั้งยังมีความเข้าใจผิดว่ารัฐโลกวิสัยคือการทำให้ศาสนาสิ้นสูญ

สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการอิสระ ผู้สนับสนุนแนวคิดโลกวิสัย อธิบายไปในตอนที่แล้ว ว่าพุทธศาสนาไทย สถาบันกษัตริย์ รัฐโลกวิสัย และการแก้ไขมาตรา 112 เชื่องโยงกันทางความคิดและจารีตปฏิบัติจนเป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตยโลกวิสัย

112 โลกวิสัย พุทธไทย และสถาบันกษัตริย์ (1) อำนาจในนามศาสนาของสถาบันกษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ในตอนจบนี้ สุรพศแสดงให้เห็นว่าพุทธศาสนาไทยนอกจากไม่พยายามปรับตัวแล้ว กลับต่อต้านขัดขืนการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มอภิสิทธิ์ทางศาสนาให้แก่ศาสนาพุทธด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งขัดกับแนวทางแห่งพุทธะและประชาธิปไตย

สุรพศไม่ได้ปฏิเสธศาสนากับการเมือง แต่ศาสนา (ที่แยกจากรัฐแล้ว) สามารถข้องเกี่ยวกับการเมืองได้โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและหลักสิทธิมนุษยชน มิใช่เพื่อเพิ่มอภิสิทธิ์ทางศาสนา

คนรุ่นใหม่สนใจแนวคิดโลกวิสัยมากขึ้น

เมื่ออำนาจแบบศาสนาของรัฐสยาม/ไทยถูกท้าทายจากความรู้ทางโลกคือวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ตั้งแต่ยุคอาณานิคม พร้อมกับความคิดทางการเมืองแบบทางโลก จนนำไปสู่การปฏิวัติ 2475 กระแสคนรุ่นใหม่ที่ ‘ทะลุเพนดานความกลัว’ ด้วยข้อเสนอ ‘ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์’ สุรพศแสดงทัศนะว่านี่คือกระแสท้าทายอำนาจแบบศาสนาในยุคปัจจุบันที่โยงไปถึง 2475 ในแง่การสานต่อเจตนารมณ์ประชาธิปไตย

“แม้คนรุ่นใหม่จะไม่ได้ชูประเด็นโลกวิสัยอย่างโดดเด่น แต่ในเวทีชุมนุมที่ผ่านมาบางเวทีก็มีการปราศรัยประเด็นนี้ กระแสคนรุ่นใหม่ที่ต่อต้านวัฒนธรรมอำนาจนิยมในโรงเรียนก็มีการตั้งคำถามเรื่องการบังคับให้เรียนวิชาพระพุทธศาสนาในหลักสูตรการศึกษาของชาติว่าเป็นส่วนหนึ่งที่หล่อหลอมวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่ขัดหลักเสรีภาพ ความเสมอภาคทางศาสนา และความเป็นกลางทางศาสนาของรัฐหรือไม่ เรายังได้เห็นบทความ บทสัมภาษณ์ในเว็บไซต์สื่อสาธารณะต่างๆ และเพจต่างๆ ทางเฟซบุ๊คที่สื่อสารกับคนรุ่นใหม่พูดถึงประเด็นนี้มากขึ้นเรื่อยๆ”

สุรพศชวนให้คิดว่าเมื่อคนรุ่นใหม่เห็นสัปปายะสภาสถานที่เหมือนศาสนสถานซึ่งแสดงสัญญะอำนาจแบบศาสนาทับอำนาจแบบโลกวิสัย และแนวคิดในการสร้างที่เน้นความสำคัญของ ‘การปกครองโดยธรรม’ ภายใต้อุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ที่เชื่อมโยงกับคติความเชื่อแบบไตรภูมิพระร่วง คนรุ่นใหม่จะ ‘อิน’ กับสิ่งที่เห็นและความคิดเช่นนั้นหรือไม่

เป็นเพราะสิ่งนี้ย้อนแย้งกับความเป็นประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่เป็นระบบการปกครองแบบโลกวิสัย (regime of secularism) ดังนั้น กระแสเรียกร้องประชาธิปไตยและการวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาของคนรุ่นใหม่จึงทำให้พวกเขาสนใจประเด็นโลกวิสัยมากขึ้น เป็นความท้าทายอย่างแหลมคมต่อพุทธศาสนาไทยมากกว่าอดีตที่ผ่านมา
 
ไม่ปรับตัว แต่ต่อต้าน

ในความเป็นจริงแล้ว พุทธศาสนาไทยเผชิญความท้าทายจากแนวคิดโลกวิสัยและแสดงการต่อต้านมานานพอสมควรแล้วใน 2 แนวทาง สุรพศอธิบายว่าประการแรกคือในด้านความคิดซึ่งผู้ที่ทำไว้เป็นระบบมากที่สุดคือการเสนอความคิดปกป้องพุทธไทยของ ป.อ. ปยุตฺโต (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) ที่โต้แย้งแนวคิดโลกวิสัยและการแยกศาสนาจากรัฐ พร้อมกับเน้นความสำคัญของพุทธศาสนาในฐานะศาสนาประจำชาติไทย ความจำเป็นที่รัฐต้องอุปถัมภ์พุทธศาสนา และส่งเสริมการนำจริยธรรมพุทธศาสนามาพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน และความจำเป็นที่คนไทยทุกคนต้องเรียนวิชาพระพุทธศาสนาในหลักสูตรการศึกษาของชาติ เป็นต้น

แนวทางที่ 2 เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยองค์กรพุทธที่ประกอบด้วยพระและฆราวาส โดยนำแนวคิดของ ป.อ. ปยุตฺโต มาปรับใช้เพื่อเรียกร้องให้บัญญัติพุทธศาสนาเป็น ‘ศาสนาประจำชาติไทย’ ในรัฐธรรมนูญ มีการรณรงค์รวบรวมรายชื่อชาวพุทธกว่าล้านรายชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องนี้ และมีการเสนอให้ทำประชามติ โดยมีแกนนำสำคัญที่เป็นพระเช่น เจ้าคุณประสารหรือพระราชวัชรสารบัณฑิตที่พยายามบอกว่าการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ ‘ไม่ใช่การเมือง’ แต่เป็น ‘เรื่องบ้านเมือง’

“แต่ประเด็นข้างต้นเป็นเรื่องการเมืองชัดเจนเพราะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจ เป็นการนำเอาประเด็นศาสนาเข้ามาสู่การบัญญัติกฎหมายผ่านระบบอำนาจทางการเมืองเพื่ออภิสิทธิ์ทางศาสนา ยิ่งกว่านั้นแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวเหล่านี้ยังออกมาแสดงความยินดีที่รัฐธรรมนูญฉบับ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) บัญญัติให้รัฐอุปถัมภ์พุทธนิกายเถรวาทเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นการยอมรับความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจเผด็จการโดยปริยาย”

เหล่านี้คือการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสู่โลกวิสัยหรือเพิ่มความเป็นรัฐศาสนาในรัฐธรรมนูญมากขึ้น สอดรับกับการเพิ่มอำนาจนำทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น รวมถึงการเพิ่มพระราชอำนาจตามโบราณราชประเพณีในการปกครองคณะสงฆ์มากขึ้นใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับแก้ไขล่าสุดในยุครัฐบาล คสช.

“ส่วนการรับมือกับความคิดคนรุ่นใหม่ของฝ่ายอนุรักษ์นิยมทางศาสนาก็ไม่ต่างจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมทางการเมืองนัก คือพวกเขาไม่เปิดใจรับฟังและเรียนรู้เพื่อปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยโลกวิสัยเลย แต่จะหาเหตุผลที่ฟังขึ้นมาต่อต้านกระแสความคิดของคนรุ่นใหม่ก็หาไม่ได้ ทำได้แค่โจมตีว่าชังชาติ เนรคุณแผ่นดิน เนรคุณศาสนา และใช้กฎหมายปิดกั้นเสรีภาพกดปราบคนคิดต่างเท่านั้นเอง”

อนุรักษนิยมทางศาสนายังคงรุกคืบ

แต่กระแสโลกวิสัยที่เกิดขึ้นจะไม่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนของพุทธศาสนาไทยให้สอดคล้องกับโลกยุคใหม่เลยหรือ สุรพษเห็นว่าถ้ามองตามความเป็นจริง บริบทโลกปัจจุบันเกิดกระแสตีกลับของอุดมการณ์ทางการเมืองฝ่ายขวา ฝ่ายอนุรักษ์นิยมทางศาสนาก็พยายามเข้ามาชี้นำการตัดสินใจในเรื่องสาธารณะมากขึ้น

เขายกตัวอย่างกรณีศาลสูงสุดหรือศาลฎีกาสหรัฐอเมริกาพิพากษายกเลิกคำตัดสินคดี Roe v Wade ที่เคยพิพากษาเมื่อปี 2516 ว่าการทำแท้งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ส่งผลให้การทำแท้งที่เคยเป็นสิทธิตามกฎหมายตั้งแต่ปี 2516 เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา ซึ่งถูกมองว่าคำตัดสินดังกล่าวล้อยตามข้อเรียกร้องของฝ่ายอนุรักษนิยมทางศาสนา หรือกรณีรัฐบาลสหรัฐฯ สนับสนุนอิสราเอลถล่มปาเลสไตน์ ก็เป็นสัญญาณเลวร้ายด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมซึ่งอาจส่งผลให้กลุ่มประเทศรัฐอิสลามและประเทศที่ไม่แยกศาสนาจากรัฐอื่นๆ มองว่ารัฐโลกวิสัยอย่างอเมริกาไม่เคยจริงใจในการปกป้องสิทธิมนุษยชนในระดับนานาชาติ

ขณะที่ในประเทศไทยฝ่ายอนุรักษนิยมทางศาสนายังคงพยายามรุกคืบผลักดันร่าง พ.ร.บ. อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ผ่านพรรคเพื่อไทย หรือกรณีสำคัญที่รัฐบาล คสช. มองว่าวัดพระธรรมกายสนับสนุนพรรคเพื่อไทยจึงถูกกดปราบด้วยกองกำลังตำรวจและทหารหลายพันนาย แต่ปัจจุบันนี้รัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยเป็นผู้ดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ธรรมกายจึงเริ่มฟื้นกิจกรรมบิณฑบาตพระ 10,000 รูปขึ้นมาได้

“บางคนคิดว่ากิจกรรมเช่นนี้ไม่มีปัญหาอะไร แต่ที่ตลกร้ายคือธรรมกายมีระบบบริหารจัดการแบบเอกชน แต่วัดพระธรรมกายไม่ใช่องค์กรศาสนาเอกชน เป็นวัดภายใต้ศาสนจักรของรัฐ และธรรมกายก็ใช้ความเก่งเรื่องบริหารจัดการแบบเอกชนนำกลไกศาสนจักรของรัฐ รัฐบาล และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมาใช้ในการจัดกิจกรรมทางศาสนา และการเผยแพร่ความเชื่อแบบธรรมกายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดกว่าวัดใดๆ หรือทำได้มีประสิทธิภาพกว่ามหาเถรสมาคมเสียอีก”

เมื่อมองจากจุดยืนแนวคิดโลกวิสัย บทบาทของธรรมกายที่ใช้กลไกศาสนจักรของรัฐ สำนักพุทธ รัฐบาล มหาวิทยาลัยและโรงเรียนของรัฐ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนมาเป็นเครื่องมือจัดกิจกรรมทางศาสนาและการเผยแพร่ศาสนาตามความเชื่อของกลุ่มตน นับว่าขัดแย้งกับแนวคิดโลกวิสัยอย่างน่ากังวล

“ความหมายสำคัญที่ผมต้องการบอกคือเมื่อมองจากจุดยืนแนวคิดโลกวิสัย ธรรมกายจะเชื่อแบบไหน ตีความศาสนาอย่างไร มีพิธีรรมทางศาสนาแบบไหน ไม่ใช่ปัญหา เพราะเป็นเสรีภาพทางศาสนาแต่การที่ธรรมกายใช้กลไกศาสนจักรของรัฐ งบของรัฐ มหาวิทยาลัยรัฐ โรงเรียนรัฐ และหน่วยงานราชการเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ความเชื่อทางศาสนาย่อมขัดกับแนวคิดโลกวิสัยและหลักการแยกศาสนาจากรัฐอย่างสิ้นเชิง ยิ่งธรรมกายเติบโตในแนวทางดังกล่าวมากขึ้น มีอิทธิพลมากขึ้น ยิ่งเป็นปัญหาใหญ่ต่อการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยโลกวิสัย

“ขณะที่ปี 2566 ที่ผ่านมา ผมอยากจะเรียกว่าเป็นปีแห่งการห้ามพูดถึงช้างในห้องเพราะเป็นปีแห่งการตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว ภายใต้กฎเหล็กห้ามแก้ 112 ไม่นิรโทษกรรมคดี 112 และไม่แตะหมวดสถาบันกษัตริย์ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ รัฐบาลเพิกเฉยต่อการใช้ 112 กดปราบประชาชนที่สู้เพื่อประชาธิปไตย เพิกเฉยต่อความอยุติธรรมที่อานนท์ นำภาและเพื่อนๆ ไม่ได้สิทธิ์ประกันตัวสู้คดี ปรากฎการณ์เหล่านี้ล้วนสวนทางกับการเปลี่ยนแปลงเป็นโลกวิสัยทางการเมือง เพิ่มความเป็นรัฐศาสนามากขึ้น ซึ่งแปลกแยกหรือขัดแย้งกับปรากฏการณ์ตาสว่างหรือความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคนรุ่นใหม่ สะท้อนว่าฝ่ายอนุรักษนิยมทางศาสนาและฝ่ายอนุรักษนิยมทางการเมืองไม่เคยรับฟัง เรียนรู้ และปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยโลกวิสัย”

เพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่อภิสิทธิ์ทางศาสนา

อีกปัจจัยหนึ่งที่ให้แนวคิดโลกวิสัยในประเทศไทยเผชิญอุปสรรคเพราะยังมีความเข้าใจผิดๆ ว่าแนวคิดโลกวิสัย การแยกศาสนาจากรัฐเป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนา หรือมุ่งทำให้ศาสนาอ่อนแอและสลายไปจากสังคมในที่สุด สุรพศอธิบายว่าแนวคิดโลกวิสัยมีสองแบบหลักๆ คือแบบที่เป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนา เช่น รัฐโลกวิสัยแบบจีนและรัสเซีย เป็นต้น

ขณะที่แนวคิดโลกวิสัยที่เขาเสนอคือแนวคิดโลกวิสับแบบยอมรับความหลากหลายทางศาสนาและความเชื่อหรือคุณค่าที่ไม่ใช่ศาสนาที่เรียกว่า ‘pluralist secularism’ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ยืนยันว่ารัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา ให้หลักประกันเสรีภาพ ความเสมอภาคทางศาสนา ส่งเสริมขันติธรรม และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน หรือ ‘solidarity’ ระหว่างพลเมืองที่มีหลากหลายศาสนาและความเชื่อที่ไม่ใช่ศาสนาในการมีส่วนร่วมพิทักษ์รักษาคุณค่าพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยโลกวิสัย (secular democracy) เช่น หลักอำนาจอธิปไตยของประชาชน สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หลักความยุติธรรมสาธารณะทางสังคมและการเมือง เป็นต้น

“ถ้าถามว่าศาสนาจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองได้ไหม เกี่ยวได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้หลักการประชาธิปไตยโลกวิสัย คือเราอาจตีความคำสอนศาสนาสนับสนุนประโยชน์สาธารณะหรือความยุติธรรมสาธารณะได้ เช่น ตีความคำสอนศาสนาสนับสนุนสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมทางเพศ ความเข้าใจและเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นคนของคนหลากหลายทางเพศ หรือตีความศาสนาสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางสังคมและทางการเมืองในประเด็นใดๆ ที่มุ่งเพิ่มสิทธิเท่าเทียมด้านต่างๆ โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมต่อพลเมืองทุกคนไม่ว่าจะถือศาสนาใดๆ หรือไม่มีศาสนาก็ตาม

“ไม่ใช่นำศาสนาเข้ามายุ่งการเมืองเพื่ออภิสิทธิ์ทางศาสนา (religious privileges) เช่น เพื่อบัญญัติศาสนาใดเป็นศาสนาประจำชาติ ให้รัฐอุปถัมภ์ศาสนาใดเป็นพิเศษ บังคับเรียนศาสนาในโรงเรียนของรัฐ การออกกฎหมายทางศาสนา หรือสนับสนุนอำนาจทางการเมืองในนามศาสนาใดๆ และการอ้างหลักศาสนาคัดค้านการออกฎหมายรับรองสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิสมรสเท่าเทียม เป็นต้น”

พุทธศาสนาไทยที่ขัดกับพุทธะและประชาธิปไตยมีไว้ทำไม

สุรพศเชื่อว่าเราสามารถตีความคำสอนพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยโลกวิสัยได้อย่างมีเหตุผล เพราะหากศึกษาจะพบว่าในคำสอนพุทธศาสนามีทั้งส่วนที่เป็นศรัทธาที่แปลกแยกจากโลกวิสัย เช่น ความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมและโลกหน้า เป็นต้น ซึ่งต้องปล่อยให้เป็นความเชื่อส่วนบุคคลหรือเป็นเสรีภาพที่ใครจะเลือกเชื่อหรือไม่ก็ได้

แต่มีคำสอนสำคัญๆ ที่สะท้อนเส้นทางของพุทธะว่าเป็นเส้นทางแห่งการแสวงหาความจริง อิสรภาพด้านใน และเสรีภาพทางความคิดเห็น สันติภาพ ความรักเพื่อนมนุษย์ การไม่เดินตามอิทธิพลครอบงำของคนอื่น การเป็นแสงว่างนำทางให้ตนเอง เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องไปกันได้กับการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยโลกวิสัย และหลักสิทธิมนุษยชน

“คำถามสำคัญคือ ถ้าพุทธศาสนาไทยขัดแย้งกับการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยโลกวิสัย เพราะเป็นศาสนาแบบรัฐที่สนับสนุนอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ก็แสดงว่าพุทธศาสนาไทยขัดแย้งกับเส้นทางของพุทธะและการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยโลกวิสัยด้วยใช่หรือไม่ แล้วพุทธศาสนาไทยแบบที่ทั้งขัดแย้งกับเส้นทางของพุทธะและประชาธิปไตยโลกวิสัยจะมีไว้ทำไม นี่เป็นคำถามที่ควรจะถามกันมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม สุรพศเชื่อว่ากระแสความคิดของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปแล้วและคงไม่เปลี่ยนกลับไปยอมรับแนวทางของฝ่ายอนุรักษนิยมทางศาสนาและทางการเมืองอีก เพราะความต้องการเป็นอิสระจากโซ่ตรวน คำถามจึงกลับไปที่ฝ่ายอนุรักษนิยมทางศาสนาและทางการเมืองว่ามองเห็นอานาคตของศาสนาและอำนาจชอบธรรมทางการเมืองของตนเองแบบไหน และแบบที่เป็นอยู่นี้จะเป็นที่ยอมรับของคนรุ่นใหม่ที่เป็นคนส่วนใหญ่ในอนาคตได้อย่างไร

ที่มา https://prachatai.com/journal/2024/01/107694