วันอังคาร, มกราคม 09, 2567

เปิดสถิติแบงค์ชาติปรับดอกเบี้ย 8 ครั้ง ใน 2 ปี จากระดับ 0.50% สู่ระดับ 2.50%

(https://www.matichon.co.th/economy/news_4364511)

เปิดสถิติ ธปท. ปรับดอกเบี้ย 8 ครั้ง ใน 2 ปี จากระดับ 0.50% ดีดขึ้น 2.50%

เมื่อวันที่ 8 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเรียกว่าอยู่วงจรขาขึ้น หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 จากระดับ 0.50% สู่ระดับปัจจุบันที่ 2.50% ซึ่ง กนง.ปรับขึ้นติดต่อกัน 8 ครั้ง โดยให้เหตุผลว่าต้องการควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่เคยแตะระดับสูงสุดที่ 8% ในปี 2565 และการขยายตัวของเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น จึงทยอบปรับอัตราดอกเบี้ยสอดคล้องกับเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่าวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นจะยุติลง เนื่องจากการประชุม กนง.วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.50% ระบุว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่เหมาะสมสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่โตใกล้เคียงระดับศักยภาพ สามารถรองรับความเสี่ยงด้านบวกและด้านลบได้ ซึ่งจะเอื้อให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว

นอกจากนี้ หลายศูนย์วิจัยเศรษฐกิจต่างคาดการณ์ทิศทางการปรับอัตราดอกเบี้ยในปี 2567 อาทิ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) Krungthai COMPASS โดยธนาคารกรุงไทยคาดว่า กนง.จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลงอย่างมาก

รวมถึงเศรษฐกิจไทยยังทยอยฟื้นตัวแม้เป็นไปในลักษณะเปราะบางสะท้อนผ่านตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 3/2566 ที่ขยายตัวต่ำกว่าคาด กนง.จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ไปทั้งปี 2567 และเงินเฟ้อทรงตัวในกรอบ 1-3%

ทั้งนี้ โดยปกติ กนง.จะมีการประชุมเพื่อวิเคราะห์เศรษฐกิจและมีการพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยใน 1 ปี จะมีการประชุม 6 ครั้ง สำหรับตารางการประชุม กนง.ปี 2567 ดังนี้ 1.วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2.วันที่ 10 เมษายน 3.วันที่ 12 มิถุนายน 4.วันที่ 21 สิงหาคม 5.วันที่ 16 ตุลาคม และ 6.วันที่ 18 ธันวาคม

สำหรับสถิติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่ปี 2565-2566 ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ วันที่ 8 ธันวาคม 2566

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2565

ม.ค. = 0.50%
ก.พ. = 0.50%
มี.ค. = 0.50%
เม.ย. = 0.50%
พ.ค. = 0.50%
มิ.ย. = 0.50%
ก.ค. = 0.50%
ส.ค. = 0.75%
ก.ย. = 1.00%
ต.ค. = 1.00%
พ.ย. = 1.25%
ธ.ค. = 1.25%

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2566

ม.ค. = 1.50%
ก.พ. = 1.50%
มี.ค. = 1.75%
เม.ย. = 1.75%
พ.ค. = 2.00%
มิ.ย. = 2.00%
ก.ค. = 2.00%
ส.ค. = 2.25%
ก.ย. = 2.50%
ต.ค. = 2.50%
พ.ย. = 2.50%
ธ.ค. = 2.50%
.....
(https://www.youtube.com/watch?v=kQN7aD36LSM)
เปิดสถิติแบงค์ชาติปรับดอกเบี้ย 8 ครั้ง ใน 2 ปี จากระดับ 0.50% สู่ระดับ 2.50%

Jan 8, 2024 

ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในวงจรขาขึ้น หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เริ่มปรับอัตราดอกเบี้ย ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 จากระดับ 0.50 % สู่ระดับปัจจุบันที่ 2.50 % และปรับขึ้นถึง 8 ครั้ง ในช่วง 2 ปี โดยให้เหตุผลว่า ต้องการควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่เคยแตะระดับสูงสุดที่ 8% ในปี 65 ซึ่งก็ได้สร้างผลกระทบหนัก ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ 

โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี โดยนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า ปัจจุบันกำลังซื้อในกลุ่มเอสเอ็มอี. น่าเป็นห่วงมาก เพราะจีดีพี. ไม่ได้ขยายตัวตามเป้า ขณะที่การเข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำมีน้อย แถมมีต้นทุนสูงจากอัตราดอกเบี้ย โดยขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ความเป็นธรรมเรื่องอัตราดอกเบี้ย พร้อมปรับโครงสร้างการอนุมัติสินเชื่อให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี. ในส่วนการพิจารณาค่าความเสี่ยง เพราะทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอี. แบกรับดอกเบี้ยสินเชื่อที่แพงกว่ารายใหญ่ ซึ่งกลไกเหล่านี้ไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน เช่น ธุรกิจเอสเอ็มอีไปขอสินเชื่อ แต่ต้องซื้อประกันควบคู่ เพื่อที่จะได้ดอกเบี้ยที่ลดลง แต่ก็ลดให้น้อยมาก ส่วนสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ก็มีอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 20-30% เปอร์เซนต์