วันพฤหัสบดี, มกราคม 18, 2567

ย้อนเหตุการณ์ชุมนุมพันธมิตรฯ ปิดสนามบิน ปี 2551 ก่อนศาลตัดสินคดีอาญา 17 ม.ค. 67

การชุมนุมปิดสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ของผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เกิดขึ้นเป็นเวลา 10 วัน ระหว่างวันที่ 24 พ.ย.-3 ธ.ค. 2551

ย้อนเหตุการณ์ชุมนุมพันธมิตรฯ ปิดสนามบิน ปี 2551 ก่อนศาลตัดสินคดีอาญา 17 ม.ค. 67

16 มกราคม 2024
บีบีซีไทย

การดำเนินคดีทางอาญาต่อแกนนำและผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) รวม 98 คน จากคดีปิดสนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ กำลังจะมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในวันที่ 17 ม.ค. 67 นี้ หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว 16 ปี

การชุมนุมปิดสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ของผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เกิดขึ้นเป็นเวลา 10 วัน ระหว่างวันที่ 24 พ.ย.-3 ธ.ค. 2551 เป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุมยืดเยื้อ 7 เดือน เพื่อขับไล่รัฐบาลพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างนายกรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์

บีบีซีไทยพาย้อนไปดูเหตุการณ์นี้ เพื่อทำความเข้าใจเรื่องราวความเป็นมา ก่อนศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาตัดสิน

ปฐมบทชุมนุมยืดเยื้อ 7 เดือน ในปี 2551


กลุ่มพันธมิตรฯ เป็นขบวนการภาคประชาชนที่ออกมาขับไล่รัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2548 และยุติบทบาทไปในปี 2549 หลังจากที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) รัฐประหารยึดอำนาจอดีตนายกฯ ทักษิณ ในวันที่ 19 ก.ย. 2549

หลังการยึดอำนาจ คณะรัฐประหารได้แต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และอดีตผู้บัญชาการทหารบก เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อม ๆ กับการแปลงสภาพของ คปค. เป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ก่อนจะเปิดให้มีการเลือกตั้งในอีก 1 ปีต่อมา ภายใต้กติกาการเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ร่างขึ้นมาใหม่หลังรัฐประหาร

เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ในเดือน ธ.ค. 2550 ปรากฏว่า พรรคพลังประชาชน (พปช.) ซึ่งถูกมองว่าเป็น "นอมินี" ของพรรคไทยรักไทย (ทรท.) ก็ชนะเลือกตั้งได้จัดตั้งเป็นรัฐบาล โดยมีนายกฯ ได้แก่ นายสมัคร สุนทรเวช

แต่จุดเปลี่ยนที่กลายเป็นชนวน ที่ปลุกให้กลุ่ม พธม. ฟื้นขึ้นมาใหม่ เกิดขึ้นไม่นานหลังจากนั้น


ในปี 2551 พันธมิตรฯ นัดชุมนุมใหญ่ครั้งแรกในวันที่ 25 พ.ค. ที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ หลังจากยุติไปก่อนการรัฐประหารปี 2549

หลังเข้ามาบริหารประเทศไม่ถึงครึ่งปี สภาผู้แทนราษฎร (สส.) ซึ่งพรรคพลังประชาชนมีเสียงมากที่สุด พยายามผลักดันให้มีการแก้รัฐธรรมนูญปี 2550 ในมาตรา 237 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ที่กระทำการทุจริตและยุบพรรคการเมือง และมาตรา 309 ซึ่งเกี่ยวกับการล้มล้างผลพวงของการรัฐประหาร ทั้งการนิรโทษกรรมให้กับ คมช. รวมทั้งการตรวจสอบทุจริตของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทําที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)

หลังจาก สส.พรรครัฐบาล ในขณะนั้น ยื่นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร พันธมิตรฯ ได้ประกาศนัดหมายชุมนุมใหญ่ทันทีในวันที่ 25 พ.ค. 2551 โดยออกแถลงการณ์ฉบับที่ 9/2551 ที่บ้านพระอาทิตย์ ระบุว่า การยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติของประชาชน อีกทั้งยังเป็นการแก้ไขเพื่อลบล้างความผิดของนายทักษิณ และพวกพ้องไม่ให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และช่วยเหลือนักการเมืองให้หลบหนีคดียุบพรรคจากการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง


นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี แสดงภาพที่อ้างว่าเป็นภาพของกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ เมื่อเดือน ส.ค. 2551

จาก “ปฏิบัติการไทยคู่ฟ้า ถึง ปฏิบัติการม้วนเดียวจบ”


การชุมนุมของพันธมิตรฯ เริ่มเป็นที่แรกที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ก่อนยกระดับจากการคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ หลังการชุมนุมวันแรกเพียง 4 วัน มาเป็นการขับไล่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น

การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ มีประชาชนเข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง และมีการเคลื่อนขบวนการชุมนุมเป็นระยะ ๆ ไปยังสถานที่สำคัญต่าง ๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ดาวกระจาย” โดยมีจุดประสงค์เพื่อติดตามการตรวจสอบเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับนายทักษิณ

การเคลื่อนขบวนที่เป็นอีกจุดเปลี่ยนหนึ่ง คือการเข้ายึดทำเนียบรัฐบาล ในเดือน ส.ค. 2551 ภายใต้ปฏิบัติการที่ชื่อว่า "ปฏิบัติการไทยคู่ฟ้า"

การออกมากดดันบนท้องถนนเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับ การเดินหน้าใช้เครื่องมือทางตุลาการต่อนายสมัคร สุนทรเวช ในข้อกล่าวหากระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญ กรณีที่นายสมัคร รับเป็นพิธีกรกิตติมศักดิ์ของรายการ “ชิมไปบ่นไป” ซึ่งในเดือน ก.ย. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้นายสมัคร พ้นจากความเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะกระทำต้องห้ามขัดต่อรัฐธรรมนูญเรื่องคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี ทำให้เขานั่งเป็นนายกฯ ได้เพียง 223 วัน


สมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยของ ทักษิณ ขึ้นเป็นนายกฯ แทน ท่ามกลางการประท้วงของกลุ่มพันธมิตรฯ

แต่กระนั้น สภาผู้แทนราษฎรก็ได้เลือกให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยของนายทักษิณ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อมา ซึ่งนั่นก็ทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ ประกาศการชุมนุมใหญ่อย่างต่อเนื่อง มีการเคลื่อนขบวนแบบดาวกระจาย และเข้าไปปิดล้อมรัฐสภาระหว่างที่นายสมชายกำลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในวันที่ 7 ต.ค. 2551 เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุม มีการยิงแก๊สน้ำตาในหลายจุด และการสลายชุมนุมวันนั้นก็เป็นเหตุให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิต 2 คน

การชุมนุมที่เข้มข้นเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นระยะต่อผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ว่าจะเป็นการยิงและปาระเบิดบริเวณที่ชุมนุมและสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี ซึ่งนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ หนึ่งในแกนนำพันธมิตรฯ ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2551 ถึงวันที่ 23 พ.ย. 2551 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นรวม 11 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 4 คน ซึ่งรวมทั้งเหตุสลายชุมนุม และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก



ต่อมา กลุ่มพันธมิตรฯ ได้ประกาศการชุมนุมใหญ่อีกครั้งโดยเรียกว่า "ปฏิบัติการม้วนเดียวจบ" ในวันที่ 24 พ.ย. 2551 โดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำในขณะนั้น ประกาศนัดหมายที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเคลื่อนขบวนไปยังที่ต่าง ๆ โดยยังไม่ประกาศจุดหมายว่าจะไปที่ใด แต่ปรากฏว่ามีผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งเดินทางไปยังสนามบินดอนเมือง ซึ่งขณะนั้นเป็นที่ทำการชั่วคราวของรัฐบาล และเข้ายึดพื้นที่เพื่อไม่ให้คณะรัฐมนตรีของนายสมชาย ใช้เป็นสถานที่ประชุม ครม. ได้

หลังจากนั้น กลุ่มพันธมิตรฯ ก็ยกระดับการชุมนุมยึดพื้นที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ก่อนที่ในวันที่ 25 พ.ย. ผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ได้เคลื่อนขบวนไปชุมนุมที่สนามบินสุวรรณภูมิอีกแห่ง และปักหลักใช้ทั้งสองสนามบินเป็นที่ชุมนุมกดดันให้นายสมชาย ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี



หลังจากผู้ชุมนุมเข้ายึดพื้นที่สนามบิน 2 แห่ง ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย ได้ประกาศปิดการขึ้นลงทุกเที่ยวบินทั้งหมดในเช้ามืดวันที่ 26 พ.ย. ทำให้มีผู้โดยสารตกค้างรวมประมาณ 3,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ


การชุมนุมของพันธมิตรฯ ที่ดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ดำเนินมาจนถึงจุดเปลี่ยน เมื่อในวันที่ 2 ธ.ค. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย จากกรณีทุจริตเลือกตั้ง ส่งผลให้นายสมชาย พ้นจากตำแหน่งนายกฯ

แกนนำพันธมิตรฯ จึงประกาศยุติการชุมนุมในวันถัดมาที่ 3 ธ.ค. รวมระยะเวลาการชุมนุมปิดสนามบินทั้งสิ้น 10 วัน

สำหรับความเสียหายต่อเศรษฐกิจจากการปิดสนามบิน 2 แห่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินในเวลานั้นว่าสูงกว่า 2 แสนล้านบาท ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกรายงานเมื่อปี 2552 วิเคราะห์ผลกระทบทางตรงและทางอ้อมต่อธุรกิจท่องเที่ยว รวมความเสียหาย 2.9 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นภาคบริการ 1.2 แสนล้านบาท ภาคขนส่ง 9 พันล้านบาท และภาคอุตสาหกรรม 6 พันล้านบาท



16 ปี คดีพันธมิตรฯ ปิดสนามบิน


การสอบสวนเพื่อดำเนินคดีชุมนุมปิดสนามบินของกลุ่มพันธมิตรฯ สำนักงานตำรวจแห่งชาติในสมัย พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้แจ้งข้อหาแกนนำและผุ้ชุมนุม รวม 98 คน เมื่อปี 2553 ด้วยข้อหาความผิดฐานเป็นกบฎ ก่อการร้ายฯ และอัยการสั่งฟ้องคดีนี้ในปี 2556 หลังจากเลื่อนมาหลายครั้ง

ในคดีนี้ มีการแบ่งผู้ต้องหาออกเป็น 2 ชุด โดยชุดแรกที่จะศาลจะตัดสินในวันที่ 17 ม.ค. นี้ มีแกนนำคนสำคัญอย่าง นายสนธิ ลิ้มทองกุล, พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายสุริยะใส กตะศิลา, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก รวมถึงสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี ส่วนผู้ต้องหาชุดที่สอง ศาลจะตัดสินคดีในเดือน มี.ค. ปีนี้ เช่นกัน

ทั้งสองคดีนี้มีการสืบพยานทั้งฝ่ายจำเลยและโจทก์นานกว่า 10 ปี ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา และพยานปากสุดท้ายเพิ่งได้รับการสืบพยานในช่วงปลายปี 2566


ผู้โดยสารชาวต่างชาติ ซึ่งตกค้างอยู่ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในวันที่ 26 พ.ย. 2551

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ หนึ่งในแกนนำพันธมิตรฯ จำเลยในคดีชุดที่ 2 เปิดเผยบันทึกการเบิกความต่อศาลเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2566 ว่า การชุมนุมที่สนามบินทั้งสองแห่ง ไม่ได้มีแถลงการณ์ว่าเป็นมติของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแต่อย่างใด

“ผู้ชุมนุมบางกลุ่มตัดสินใจเดินทางไปที่ท่าอากาศยานดอนเมืองโดยปราศจากมติแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยในเวลานั้นท่าอากาศยานดอนเมืองเป็นที่ตั้งที่ทำการชั่วคราวของทำเนียบรัฐบาล ซึ่งพื้นที่จราจรหน้าอาคารชั่วคราวทำเนียบรัฐบาลไม่สามารถเป็นเหตุในการปิดสนามบินได้เลย” นายปานเทพ ระบุ บนเว็บไซต์ผู้จัดการ

ส่วนคดีแพ่งที่มีการฟ้องร้องละเมิดค่าเสียหายแกนนำพันธมิตรฯ สิ้นสุดลงไปแล้วเมื่อปี 2560

21 ก.ย. 2560 ศาลแพ่งอ่านคำสั่งศาลฎีกา พิจารณาตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ยื่นขอขยายระยะเวลาฎีกาในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายสนธิ ลิ้มทองกุล และพวกรวม 13 คน แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เป็นเงินกว่า 522 ล้านบาท

คำพิพากษาในคดีแพ่งครั้งนี้ ทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ เป็นกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองกลุ่มแรกที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายจากการชุมนุมทางการเมือง

เมื่อเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว แกนนำพันธมิตรฯ 11 คน ยังถูกสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหลังจาก ทอท. ยื่นฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลาย จากการฟ้องร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายคดีชุมนุมปิดสนามบินด้วย


ศาลอาญาออกหมายจับแกนนำพันธมิตรฯ 5 คน ฐานความผิดเป็นกบฏ ยุยงปลุกปั่น ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2551 จากกรณีเป็นผู้นำการชุมนุมบุกยึดทำเนียบรัฐบาล

คดีชุมนุมของพันธมิตรฯ ในปี 2551 คดีอื่น ๆ อยู่ตรงไหนในชั้นศาล


สำหรับคดีการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรฯ ในปี 2551 มีหลายคดีที่สิ้นสุดในชั้นฎีกาแล้ว และบางคดีเพิ่งจบในชั้นอุทธรณ์ ได้แก่
  • คดีฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการปิดสนามบิน ศาลสั่งชดใช้ 522 ล้านบาท

21 ก.ย. 2560 ศาลแพ่งอ่านคำสั่งศาลฎีกา ยกคำร้องแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ได้แก่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายสนธิ ลิ้มทองกุล และพวกรวม 13 คน ที่ยื่นขอขยายเวลาฎีกา ในกรณีปิดสนามบิน มีผลให้ทั้งหมดต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เป็นเงินกว่า 522 ล้านบาท
  • คดีชุมนุมยึดทำเนียบรัฐบาล สิ้นสุดแล้ว แกนนำ 6 คน รับโทษจำคุกจริงไม่ถึง 8 เดือน

13 ก.พ. 2562 ศาลฎีกา พิพากษาจำคุกอดีตแกนนำพันธมิตรฯ 6 คน เป็นเวลา 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา คดีบุกยึดทำเนียบรัฐบาล ระหว่างวันที่ 26 ส.ค.- 3 ธ.ค. 2551

ทั้งนี้ แกนนำพันธมิตรฯ ในคดีนี้ได้รับการพระราชทานอภัยโทษทั้งหมด โดย 5 คน ได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 10 พ.ค. 2562 รวมระยะเวลารับโทษราว 3 เดือน ส่วนนายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้รับพระราชทานอภัยโทษภายหลังในเดือน ก.ย. ปีเดียวกัน เนื่องจากยังมีคดีอื่น แต่ได้รับการลดโทษตามเกณฑ์ รวมระยะเวลารับโทษประมาณ 7 เดือน
  • คดีชุมนุมดาวกระจาย สิ้นสุดแล้ว แกนนำ 3 คน รับโทษจำคุกจริงกว่า 4 เดือน

31 ส.ค. 2564 ศาลฎีกา พิพากษาจำคุก แกนนำพันธมิตรฯ 3 คน ได้แก่ นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์, นายอมร อมรรัตนานนท์ หรือ รัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี และนายเทิดภูมิ ใจดี เป็นเวลา 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา คดีชุมนุมดาวกระจาย ขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ในปี 2551 ส่วนแกนนำอีก 6 คน เช่น นายสนธิ และ พล.ต.จำลอง ศาลยกฟ้องเนื่องจากเห็นว่าเป็นความผิดเดียวกับในคดีอื่นที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว จึงนำมาฟ้องซ้ำอีกไม่ได้

ทั้งนี้ แกนนำพันธมิตรฯ ทั้ง 3 คน ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ปล่อยตัวออกจากเรือนจำในเดือน ม.ค. 2565 เนื่องจากเข้าเกณฑ์เพราะเป็นผู้สูงอายุและเจ็บป่วย รวมระยะเวลารับโทษจริงกว่า 4 เดือน
  • คดีชุมนุมปิดล้อมรัฐสภา รอคำพิพากษาชั้นฎีกา

2 พ.ย. 2566 ศาลอาญาชั้นอุทธรณ์ ยกฟ้องแกนนำพันธมิตรฯ 20 คน คดีชุมนุมปิดล้อมรัฐสภาในวันที่ 7 ต.ค. 2551 เพื่อไม่ให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยล่าสุดคดีนี้ยังคงรอคำพิพากษาจากศาลฎีกา


ที่มา (https://www.bbc.com/thai/articles/c802zr2lnx4o)