วันเสาร์, มกราคม 13, 2567

12 มกราคม วันเกิด วัฒน์ วรรยางกูร ชวนย้อนอ่านจดหมายที่เขาเคยเขียนส่งถึง nan dialogue ในเดือนตุลาคม 2021 เมื่อครั้งเป็นผู้ลี้ภัยอยู่ในฝรั่งเศส


Worapoj Panpong
15h
·
วันเกิดนักเขียน วัฒน์ วรรลยางกูร
ชวนย้อนอ่านจดหมายที่เขาเคยเขียนส่งถึง nan dialogue
ในเดือนตุลาคม 2021 เมื่อครั้งเป็นผู้ลี้ภัยอยู่ในฝรั่งเศส
https://www.nandialogue.com/theletterfromwat/
.
ภาพ : ธวัชชัย พัฒนาภรณ์
.....

‘กะลาลอยวน’ จดหมายจาก วัฒน์ วรรลยางกูร Made in France


by nandialogue
updated on 17/06/2023

หมูเพื่อนรัก

ท้องฟ้าเมืองชายแดนฝรั่งเศสยามเย็นสดสีสวยงามเช่นเดียวกับฟ้าเมืองไทย เป็นท้องฟ้าที่กูจำต้องดูทุกเย็นย่ำมาเป็นเวลาราวสองเดือนแล้ว..หงอยสิ

มองจากห้องคนป่วยในโรงพยาบาลบนเนินเขา ซึ่งมีบรรยากาศโอ่โถง มีลาดเขาโค้งเป็นทุ่งหญ้าสลับดงไม้ เปรียบไปก็คล้ายบรรยากาศเขาใหญ่ ต่างกันตรงในที่ราบด้านล่าง มีทางรถไฟทั้งรถไฟประจำถิ่น และรถไฟระหว่างประเทศ TGV (ออกเสียงแบบฝรั่งเศส ว่า เต-เฌ-เว) รถไฟความเร็วสูง 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

วันนี้กูนั่งนับตู้รถไฟว่ะในแต่ละวัน รับรองมีรถผ่านมาให้นับจำนวนเที่ยวจำนวนตู้ทั้งวัน มองขอบฟ้าแล้วก็คิดถึงมึง ทั้งที่กูยังไม่แน่ใจว่า บ้านมึงอยู่ทางขอบฟ้าทิศไหน

ถ้าส่งไปผิดทิศ ขออภัยให้ความคิดถึงช่วยย้อนวนไปทางกะลาด้วย บ้านเมืองแห่งนั้นสังเกตได้ไม่ยากหรอก ความคิดถึงเอ๋ย เพียงเห็นบ้านเรือนมีรูปทรงหลังโค้งกลมเหมือนกะลามะพร้าว แถวนั้นละ ถูกที่แล้ว

จะให้แน่ใจก็ดูให้ดีว่ามีควันไฟลอยขึ้นมาหรือเปล่า แล้วควันไฟม้วนตัวเป็นรูปอะไร จำให้ดีนะความคิดถึง ควันไฟของที่นั่นจะต้องลอยขึ้นมาเหนือหลังคาบ้าน ดูเป็นรูปพระรามแผลงศร อันเป็นรามาวตารภาคปราบสุริวงศ์พงศ์ยักษ์ ใช่เลย ควันไฟอัจฉริยะ ใช่แล้ว เบื้องล่างภาคพื้นดินจะเห็นผู้คนล้อมวง ทุกคนพร้อมใจกันถอดเสื้อตามพิธีการ แถมด้วยการเอาดินหม้อมาทาหน้า จนเห็นแต่ฟันขาว ในมือถือหอกไม้ ผู้คนยืนรายเรียงรอบกระทะน้ำร้อนขนาดยักษ์ มันเป็นวาระพิเศษของเมืองกะลาแห่งนั้น ผู้คนจะมาชุมนุมกันทำพิธีต้มปิ้งย่างบวงสรวงรามาวตาร

สิ่งที่พวกเขานำมาฆ่าและต้มปิ้งย่างก็คือ มนุษย์ คือคนเป็นๆ เพียงแต่เป็นผู้ที่ถูกกาศีรษะว่า หมอนี่เป็นพวกไม่เคารพรามาวตาร อวตารที่ชาวเมืองกะลาพร้อมใจเรียกกันว่า “พ่อ”

“ใครไม่รักพ่อ ให้ออกไปจากกะลา”

ไม่อยากเอามะพร้าวมาขายสวนกัญชา มึงเองก็รู้ดี แถมมีความช่ำชองในการอยู่ใต้กะลาให้มีความสุข กูว่าว่างๆ มึงใช้เวลาวัยเกษียณให้เป็นประโยชน์ แทนที่จะไปเขียนกะวงกะวีลงตามหน้าเพจเฟซบุ๊ก กูว่าให้สมกับวัยประสบการณ์ มึงนั่งลงนิ่งๆ ซอยกัญชายัดลงตรงรูระบายไอน้ำของกระบอกไม้ไผ่ จุดไม้ขีด คร่อกกก จนอารมณ์กวีหลุดลอยไป เหลือแต่อารมณ์ฮาวทู ลงมือเขียน

“คู่มืออยู่ใต้กะลาแบบอัจฉริยะ”

หนังสือจะเขียนไปแนวไหน ที่แน่ๆ มีคำว่า “อัจริยะ” รับรองว่าผู้คนสนใจ

หมูเพื่อนรัก กูว่ามึงทำได้สบายเลยงานแบบนี้ เพราะขนาดกลอนแปดยาวๆ มึงยังเขียนได้เป็นหลายปี ทั้งที่มีกูตามอ่านอยู่คนเดียว..ล้อเล่น

ชั่วชีวิตนายหมู หลังจากจบ ม.ปลายแล้วเอ็นท์ไม่ติด เนื่องจากอุทิศเวลาทดสอบและพิสูจน์ทางชีววิทยา ว่าใบไม้ชนิดใด ต้มดื่มได้ ใบไม้ชนิดใดเผาเอาควันมาสูบได้ ไม่ใช่ได้ธรรมดา ต้องได้เป็นพิเศษแตกต่างพืชสามัญทั่วไป จากนั้นนายหมูใช้เวลาอีกเพียงแปดปี ก็สามารถจบปริญญาตรี สาขารัฐศาสตร์ เอาใบปริญญามาฝากแม่ให้ชื่นใจ

จากนั้นก็ยังมุ่งศึกษาชีววิทยา สาขาพืชพันธุ์ที่สูบได้ต่อไปอีก 2–3 ปี จึงได้กลับมาทดลองวิจัยพืชพันธุ์ที่สูบได้และต้มดื่มได้ ทำที่บ้าน อีกระยะหนึ่ง จนกระทั่งโดนตำรวจบุกรวบตัว เพราะระยะนั้น เรื่องกัญชา ใบกระท่อมยังผิดกฎหมาย จนกระทั่งพรรคก้าวไกลแล้วเมื่อยมาปรับเปลี่ยนนโยบายให้เรื่องพวกนี้ถูกกฎหมาย ส่งผลให้พรรคการเมืองน้องใหม่มาแรง จากเคยถูกล้อว่า ยิ่งก้าวไกลยิ่งเมื่อย มาเป็น ก้าวไกลไม่เมื่อย ไม่เมื่อยเพราะมียาโด๊ปพิเศษ อันแสนโด่งดัง

สรุปว่าชีวิตนายหมูเริ่มต้นวิถีอัจฉริยะ เมื่ออายุสามสิบปีต้นๆ ก่อนจะมาเขียนหนังสือเล่มนี้เมื่ออายุ 65 ปี ดังนั้นสามสิบกว่าปีจึงสะสมอัจริยภาพในสายงานธุมศาสตร์ (ศาสตร์แห่งควัน) ไม่ต้องห่วงว่า เขาจะอัจริยะขนาดไหน
หรือบางทีกูว่านะ ผู้คนในเมืองกะลานี่เขาสุดแสนโหยหายอดคนอัจฉริยะ มึงว่ามั้ย

จริงๆ แล้วอัจฉริยะกะลายังมีคุณสมบัติน่าทึ่งอีกหลายประการ อันสมควรเอาไว้ขยายความเมื่อเวลาเหมาะสม
เช่นว่า อัจฉริยะชอบเมกเลิฟกันบนเครื่องบินกลางอากาศ

จริงหรือ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ต้นเหตุมาจากอะไร

อาจถึงขั้นวิเคราะห์กันด้วยหลักปฏิจจสมุปบาท อิทัปปัจจยตา หรือหากตรวจดีเอ็นเอวิเคราะห์เข้าไป อาจถึงขั้นรู้เทือกเถาเหล่ากอของผู้ชอบเมกเลิฟบนที่สูง เช่นมีสายเลือดเจนกับทาร์ซาน การจะนอนแอ้งแม้งกับพื้นดินตามธรรมดา เป็นเรื่องอันตราย อาจเจอทั้งงูเงี้ยวเขี้ยวขอ เพราะฉะนั้น ต้องบนที่สูง..ที่สูงเท่านั้น โหนเถาวัลย์คนละเส้น แล้วโยนตัวเข้าหากัน เพื่อความสมบูรณ์ ควรส่งเสียงคราง—อ้า เขียนผิด เพื่อความบันเทิงส่วนตัว ควรส่งเสียง โห่-ฮี้-โห่-ฮี้-โห ฉฉฉฉฉฉฉฉฉฉ….

ในทริปที่จะถึง เราน่าจะมานั่งพักแข้งขาที่เทอเรซของร้านกาแฟไม่ไกลจากไอเฟล หอสูงสัญญลักษณ์ที่เคยถูกชาวเมืองต่อต้านอย่างหนักเมื่อราวร้อยปีที่แล้ว เดิมทีหอไอเฟลถูกสร้างขึ้นเป็นแลนด์มาร์กในการจัดแสดงสินค้าระดับโลก การมาท่องเที่ยวในย่านนี้ไม่จำเป็นต้องเช่ารถบริการ เดิน – เดิน – ดีที่สุด บรรยากาศใต้แสงแดดอ่อนยามเช้า
แม่น้ำแซน ประตูชัย ชองส์เอลิเซ่ อยู่ในระยะห่างไกลกันเดินได้เพลินๆ

ปกตินายหมูเป็นหนุ่มโสดวัยเกษียณ กินง่ายอยู่ง่าย เย็นลงขี่จักรยานไปตลาดประจำหมู่บ้าน ซื้อแกงถุงๆ ละ 20 บาท สองถุงกินได้สองมื้อเย็นและเช้า สำหรับที่นี่ ก่อนเข้าสู่ช่วงเที่ยวปารีส ผมจะพาเขาไปร้านอาหารไทย สั่งเมนูสุดแสนสูงส่งและหากินได้ยากในฝรั่งเศส คือ เส้นใหญ่ตะหลิวเทวดาผัดซี้อิ๊วหมู

เที่ยวมิวเซียมในฝรั่งเศส ต้องเตรียมเสบียงอาหารให้พร้อม เนื่องจากมีคนมาเที่ยวมาก

Musee d’Art Moderne de Paris (MAM) ก่อตั้งเมื่อปี 2504 เป็นที่รวมงานจิตรกรรมและประติมากรรมราว 15,000 ชิ้น เป็นผลงานของศิลปินเอกทั่วโลก มิวเซียมแห่งนี้เป็นที่สนใจในท่ามกลางอีกหลายมิวเซียม ที่ต่างก็มีความดีเด่นเช่นกัน มิวเซียมโมเดิร์นอาร์ตแห่งกรุงลอนดอน, นิวยอร์ก, อีสตันบูล, อัมสเตอร์ดัม, สต็อกโฮม และอื่นๆ

เวลาแค่วันเดียวจะหวังดูงานจิตรกรรมเป็นหมื่นกว่าชิ้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง แค่เข้าไปอยู่ในห้องผลงานยุคอิมเพรสชั่นนิสม์ เราก็จะโดนดูดให้วนเวียนอยู่ในห้องนี้ ตั้งแต่เช้ายันค่ำ

ลาก่อนโว้ยเพื่อน เพื่อนผู้จะประสบความสำเร็จในเมืองอัจฉริยะในระยะเวลาอันใกล้ คนโง่ทึ่มอย่างกูก็ขออยู่ไปอย่างนี้ อย่าถือสาอารมณ์คนหงอยยามป่วยไข้นานวัน

รักมึง อัจฉริยะใต้กะลา
กูเอง โง่ทึ่ม ณ นอกกะลา

ตุลาคม 2021

หมายเหตุบรรณาธิการ : วัฒน์ วรรลยางกูร ฝากจดหมายฉบับนี้ผ่าน nan dialogue ถึงเพื่อนรักในแดนกะลา โอกาสหน้าหวังว่าเขาจะมีเวลาและ ‘โปร่งใจ’ เขียนส่งมาอีก–บ่อยๆ

เกี่ยวกับนักเขียน : วัฒน์ วรรลยางกูร บนถนนวรรณกรรมอันยาวนานกว่า 40 ปี เขามีผลงานเขียนเป็นที่ประจักษ์ครบทุกสาขา ไม่ว่า เรื่องสั้น นวนิยาย บทกวี สารคดี ได้รับรางวัลศรีบูรพาเมื่อปี 2007 หลบหนีออกจากประเทศด้วยเหตุรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2014 ปัจจุบันใช้ชีวิตในสถานะผู้ลี้ภัยอยู่ที่ฝรั่งเศส

(https://www.nandialogue.com/theletterfromwat/)