วันอาทิตย์, ธันวาคม 03, 2566

คนในแวดวงหนังสือ ระบายอารมณ์ นโยบาย soft power ที่เกี่ยวกับหนังสือ "ทำเป็นรึเปล่า"


Phrae Chittiphalangsri
Yesterday ·

ถ้าคุณอยู่วงการหนังสือแล้วไม่ปรี๊ดตอนเห็นงบ soft power แล้วเราว่าคุณต้องอย่างน้อยเป็นมาโซคิสต์อะ ถึงแม้จะมีคำอธิบายใดๆออกมา แต่การที่เรายังรู้สึกโกรธอยู่ยังสะท้อนว่าเรายังอยากให้วงการนี้มันดีขึ้น ไม่ใช่พรรคที่ชอบอยู่ในอำนาจแล้วจะทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องสะท้อนเสียงอะไร มีอะไรปล่อยให้เค้าทำไป ยิ่งเราออกมาบอกว่าเราไม่พอใจ คนทำงานจะได้เกรงใจเรา ให้รู้ไปว่าปีหน้างบออกมาแค่นี้เจอดีแน่ เพราะเราทนจนไม่รู้จะทนยังไงแล้ว

คนทำหนังสือทนกับภาครัฐที่ปล่อยปละละเลย เห็นเป็นยิ่งกว่าลูกเมียน้อย เป็นทาสในเรือนเบี้ย ไม่ลงทุนส่งเสริมวงการวรรณกรรม ปล่อยไปตามมีตามเกิด อยากให้รักการอ่านก็จัดงานหนังสือลดราคากันไป ในประเทศนี้ไม่มีใครมีความฝันอยากเป็นนักเขียน เพราะเป็นฝันที่ไกลมาก แพงมาก นักเขียนพูดอะไรขัดรัฐบาลมากก็ไม่ได้ ไปหาเรื่องถอดตำแหน่งศิลปินแห่งชาติเขา ทั้งๆที่นักเขียนคือตัวแทนของยุคสมัย เป็นหมุดหมายแห่งความคิดมนุษย์ที่เราต้องกลับไปอ่านเพื่อตามหาว่าในยุคสมัยนั้นๆมีบาดแผลและเสียงหัวเราะอย่างไร ถามตัวเองสิ ว่าประเทศนี้แล้งและร้างนักเขียนแค่ไหน ถ้าถามเด็กๆในห้องเรียนมีกี่คนที่ยกมือบอกว่าอยากเป็นนักเขียน

จะขอพูดแค่ในส่วนการแปลวรรณกรรมซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำมาตลอด ทั้งในแง่แปลเองและพยายามจะส่งเสริมการแปลวรรณกรรมไทยออกไปสู่ภาษาอื่น ปรกติไม่ค่อยเปิดสาธารณะเพราะไม่มีเวลาจัดการคอมเมนต์ต่างๆจริงๆ เป็นคุณแม่ที่งานยุ่งมาก แต่เห็นเรื่องนี้เป็นกระแสพอดีคิดว่าออกมาพูดดีกว่า เผื่อจะมีใครฟังบ้าง (ส่วนใหญ่ภาครัฐที่มาติดต่อคือ ขอจิตอาสาแปลฟรีหน่อยค่าาาาาา) เพราะไม่เคยมีใครมาขอความเห็นเราเลย เราคงไม่ได้อยู่ในวงจรในสายตาของคณะทำงานกระมัง

หนทางรอดของวรรณกรรมไทยในสายตาเรา คือ ส่งออกต่างประเทศค่ะ เพราะองคาพยพภายในประเทศเสื่อมจนไม่รู้ต้องใช้เวลากี่ปีถึงจะชุบชีวิตให้คึกคักได้ ถ้าเทียบเป็นระบบนิเวศ ระบบนิเวศหนังสือของเราคือระบบนิเวศที่เสื่อมและพัง ถามว่าพออยู่ได้ไหม ก็พออยู่ได้แหละ แต่อยู่แบบเงียบๆเหงาๆไร้พลัง คนอ่านวรรณกรรมแปลมากกว่าวรรณกรรมไทย ไม่ก็อ่านนิยายออนไลน์ไปเลย แต่นักเขียนที่เป็นศิลปินจริงจัง ที่กว่าจะคราฟต์พล็อต คราฟต์สำนวน นำเสนอความจริงในสายตาของตัวเอง ประดิษฐ์แนวทางของตนเองนี่หายากยิ่งกว่าช้างเผือก คนที่อยากจะมาทางนี้ก็ยังต้องหางานประจำที่เลี้ยงชีพได้ และเขียนเป็นงานเสริมด้วยใจรัก และวรรณกรรม "ซีเรียส" เหล่านี้มีกี่เล่มกันที่โรงเรียนไทยหยิบไปให้โรงเรียนอ่าน มีครูอาจารย์กี่คนที่สอนให้นักเรียนอ่านวรรณกรรมเป็นบ้าง การสอนอ่านงานวรรณกรรมบ้านเรายังอ่านกันผิวๆ ถามลักษณะนิสัยตัวละคร ดึงประโยคแปลกๆมาสองสามประโยคแล้วถามว่าใช้วรรณศิลป์แบบไหน ไม่เคยสอนให้อ่านเบื้องลึกหรือชี้ให้เห็นโครงสร้างบิดเบี้ยวของสังคมที่นักเขียนใช้ลีลาของตนชี้ให้เห็น วิพากษ์ไม่เป็น วิจารณ์ไม่ได้ ในโลกที่ใช้ภาษาอังกฤษ อย่างน้อยนักเรียนไฮสกูลก็ต้องผ่านตา ดิคเกนส์ ออสเตน เฮมิงเวย์ ฮาร์เปอร์ ลี หรือนักเขียนอินเดียอย่างรุชดี ส่วนนักเรียนของเราก็อ่านภาษาพาที วรรณคดีลำนำกันไปค่ะ

สังคมไทยไม่สร้างนักอ่าน ดังนั้นจึงแทบไม่ต้องไปคิดถึงนักเขียนเลย และการสร้างนักอ่านก็ไม่ใช่แต่จัดงานลดราคาหนังสือ มันต้องสร้าง "ครู" ที่สอนวรรณกรรมได้ และก็เชื่อได้ว่าครูไทยไม่เคยได้รับการฝึกให้เข้าใจการอ่านแบบวิพากษ์ ส่วนใหญ่ก็สอนแค่ให้เด็กหาคติสอนใจจากเรื่อง แต่บางเรื่องไม่ต้องการสอนใจอะไรเราหรอก อาจแค่ต้องการดำดิ่งไปกับความสูญสลายที่มนุษย์ต้องเจอในสักช่วงขณะของชีวิต ให้รู้ว่ายังมีความรู้สึกนี้ในตัวคุณ แล้ววรรณกรรมไทยจะไปรอดได้ยังไงในระบบนิเวศแบบนี้ รางวัลวรรณกรรมที่ให้ก็อิงทุนอิงสถาบัน ไม่ใช่ระบบนิเวศหนังสือในประเทศที่อ่านและเขียนหนังสืออย่างจริงจัง ที่วงการหนังสืออยู่ได้ด้วยตัวเอง อย่างกลุ่มที่ใช้ภาษาอังกฤษ วงการหนังสือในฝรั่งเศส ญี่ปุ่น จีน และเกาหลี

เอาล่ะพอพูดถึงเกาหลีเราก็ต้องยกเป็นกรณีศึกษา ยี่สิบกว่าปีก่อนนักอ่านทั่วโลกแทบไม่รู้จักวรรณกรรมเกาหลี แต่เค้าเริ่มด้วยกันด้วยการตั้ง translation fund ให้ทุนแปลวรรณกรรมเกาหลีเป็นภาษาต่างประเทศ จากนั้นก็ตั้งเป็นสถาบันการแปลวรรณกรรมจริงจังเลย มีงบประมาณสนับสนุนทุกปี ไม่ต้องขอแบ่งจากกระทรวงนั้นนี้ ซึ่งถ้าเราเทียบกับของไทยจะเห็นว่าขอแบ่งได้อย่างมากก็แค่จาก ศธ วธ เท่านั้น แปลว่ามีปัญหาตั้งแต่โครงสร้างที่ต้องไปเป็นกาฝากอาศัยงบจากไม่กี่กระทรวง แทนที่จะมีเงินสนับสนุนเข้าโดยตรงแบบเกาหลี

ตั้งแต่ตั้งกองทุน translation fund จนมาเป็นสถาบันการแปลวรรณกรรม LTI Korea (โปรโมทจริงจังขนาดไหนก็ลองไปส่องเพจ https://www.facebook.com/LTIKorea/?locale=th_TH ได้) จะบอกว่าพลิกกระแสวรรณกรรมเกาหลีติดลมบนไปพร้อมๆกับ KPop และซีรีส์เลย และเค้าไม่ใช่แค่ให้ทุนไปหาคนแปล แต่ตั้งสถาบันอบรมการแปลวรรณกรรมเกาหลีให้ชาวต่างชาติที่สนใจแปลวรรณกรรมเกาหลีด้วย (https://www.ltikorea.or.kr/.../business_trai_1_1/view.do) แล้วก็ไม่ไดแค่สอนแปลวรรณกรรม แต่รวมไปถึงคอนเทนต์อย่างอื่นเช่นหนังและซีรีส์ด้วย

ไม่ใช่แค่นั้นนะคะ เค้าเดินหน้าหาพาร์ทเนอร์ในทุกทาง เช่น หาสำนักพิมพ์ และเป็นสนพ.ระดับบิ๊กๆ ขายหนังสือได้ทั่วโลก อย่างตีพิมพ์ Anthology of Modern Korean Literature กับ Columbia UP จัด book reading event จัด book talk สัมภาษณ์นักเขียนนักแปล แบบไม่ต้องเป็นภาระให้มหาลัยเป็นคนจัด แล้วบินไปจัด workshop ในต่างประเทศให้ด้วยนะ นักแปลไม่ต้องบินมาเกาหลี เห็นเคยไปจัดที่ฝรั่งเศส เป็นต้น ในไทยเองเขาก็ให้ทุนนักแปลแปลวรรณกรรมเกาหลีเช่นเดียวกัน ถ้าผ่านไปร้านหนังสือจะเห็นหลายเล่มทีเดียว

แล้วเค้าก็มองรางวัลระดับโลกด้วย มองไปถึงโนเบล รางวัลใหญ่อย่าง Booker Prize ก็ได้มาแล้ว (จาก The Vegetarian) ซึ่งแปลว่า KLTI ไม่ได้ให้ทุนแปลเฉยๆ แต่โปรโมทให้ด้วย พยายามผลักดันให้มีรีวิวลงคอลัมน์ดังๆใน The New Yorker, London Book Review, Paris Book Review ฯลฯ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าหนังสือพิมพ์เหล่านี้ (โดยเฉพาะชื่อแรก) ยังจำกัดอยู่ที่นักเขียนผิวขาวตะวันตกอยู่มาก จะมีก็ประมาณมุราคามิที่ได้ลง เรียกว่าพยายามทุกช่องทาง

หันมาดูบ้านเรานะคะ คนไทยที่แปลวรรณกรรมไทยเป็นอังกฤษได้นั้น เอาที่มีฝีมือและรสนิยมดี สำนวนดี อ่านแล้วประทับใจ นับแล้วไม่เกินสิบคน ฝรั่งที่แปลวรรณกรรมไทยได้ดีก็พอมี แต่ไม่ได้ทำเป็นงานหลักและมีเวลาทุ่มเทให้มากพอ เพราะรายได้จากการแปลวรรณกรรมมันไม่คุ้มกับเวลาและแรงที่ลงไปอะคุณ จุดนี้แหละที่รัฐบาลต้องเข้ามาช่วย ออกทุนจ้างนักแปลให้ลงแรงสร้างงานแปลดีๆ ด้วยค่าตอบแทนที่เขาอยู่ได้ ไม่ใช่ต้องทำงานหลักและเจียดเวลามาแปล โมเดลที่เราคิดว่า work ที่สุดคือใช้นักแปลไทยแปลเป็นอังกฤษ (L1 to L2 translator) และใช้บรรณาธิการที่เป็น native speaker และเชี่ยวชาญการอีดิทงานแปล L1 to L2 เป็นคนดูแลแก้ไขขัดเกลาอีกที เพราะถ้าหา English native speakers ที่แปลไทยได้มาแปล บางทีก็จะเจอปัญหาแปลรวบรัดเกินไป แต่ถ้าเป็นนักวิชาการก็มักจะแปลครบแปลตรง เรื่องปัญหาการแปลนั้นเป็นเรื่องที่พูดกันได้อีกเยอะและสามารถเป็นหัวข้อวิจัยได้หลายหัวข้อเลย

อ.กรญาณ์ แห่ง RILCA มหิดล เคยทำวิจัยเรื่องปัญหาการแปลวรรณกรรมไทยจากมุมมองสังคมศาสตร์ไว้แล้ว เป็นธีสิสของ SOAS ชื่อ The Sociology of the Representation of National Self through the Translation of Modern Thai Literature into English: a Bourdieusian Approach และเราสามารถสรุปได้สั้นๆว่า ประเทศนี้ปล่อยให้การแปลวรรณกรรมเป็นไปตามยถากรรม นักเขียนดิ้นรนเอง ถ้ารัฐจะช่วยบ้างก็แบบกะปริดกะปรอย ถ้าช่วยให้แปลออกมาได้ก็ยกเอาไปไว้ตามสถานทูตไทยประเทศต่างๆ สถานทูตมีงานทีก็เอาหนังสือที่แปลพวกนี้แหละออกไปแจก

...

คือมันไม่ใช่ไง มันไม่ตอบโจทย์ รัฐควรทำให้หนังสือมันขายได้ด้วยตัวเอง เพียงแค่โปรโมตให้ จัดอีเวนท์ให้ ผลักดันให้ได้รีวิวในที่ที่นักอ่านต่างชาติยอมรับ ไม่ใช่แปลไว้แจก!

เคยโพสต์ไว้ว่าตั้งแต่ตอนนี้เราจะโฟกัสที่การแปลวรรณกรรมไทยเป็นวรรณกรรมโลก ตอนนี้ก็ได้เริ่มไปบ้างแล้วด้วยสปีดคุณแม่ภาระเยอะ ล่าสุดได้ทุน FF หรือ Fundamental Fund มาทำเรื่องการแปลวรรณกรรมไทยเป็นวรรณกรรมโลกในฐานะ soft power แหละ (โครงการนี้ส่งขอทุนไปเกือบสองปีแล้ว ตั้งแต่รัฐบาลนี้ยังไม่เกิด) ในขั้นนี้เราจะจัดข้อมูลวรรณกรรมไทยที่ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศให้อยู่ในรูปแบบที่สาธารณชนสืบค้นได้ (คล้ายแบบนี้ https://www.ltikorea.or.kr/.../archive/translationBook.do) ซึ่งตอนนี้กระจัดกระจายมาก มีฐานของ UNESCO และนักวิชาการรวบรวมกันเองบางส่วน ถ้านักเขียนหรือสนพ.ใดจะช่วยให้ข้อมูลเพิ่มจะยินดีเป็นอย่างมาก เท่าที่คุยกับผู้เชี่ยวชาญ ฐานข้อมูลนี้ต่อไปจะเอาไปผูกกับระบบของห้องสมุดจุฬาฯ เพื่อให้มีคนช่วย maintain และอัปเดตได้ตลอด

ฐานข้อมูลนี้สำคัญนะ เพราะถ้าชาวต่างชาติต้องการข้อมูลเหล่านี้ไปทำวิจัยหรือเขียนสารคดี หรือต่อยอดในโครงการใดๆก็ตามแต่ ส่วนใหญ่จะปวดหัวเพราะไม่รู้จะไปเริ่มหาข้อมูลที่ไหน ต้องบอกว่าพอเกาหลีแปลวรรณกรรมมากขึ้น มันก็ส่งผลต่อ Korean studies ทั่วโลก เพราะช่วยเพิ่ม materials ที่จะนำไปใช้เรียนใช้สอนในต่างประเทศได้ง่ายขึ้น ในขณะที่ Thai studies ในต่างแดนนั้นน่าเป็นห่วงค่ะ SOAS ที่เคยเปิดสอนภาษาไทยระดับป.ตรีนั้นก็ปิดโปรแกรมภาษาไทยไปแล้วเพราะไม่มีคนเรียนมากพอ ทุกวันนี้ส่วนใหญ่ก็ต้องไปเกาะกลุ่มกับ Southeast Asian Studies เมื่อกลางปีเชิญ Professor จากมหาลัยอันดับหนึ่งของอเมริกามาพูดเรื่อง World literature ก็เห็นความพยายามจะโยงเข้าวรรณกรรมไทยนะ แต่ก็มีแค่ The Ugly American (หนังอเมริกาซึ่งไม่ใช่หนังไทยแต่เรื่องเกี่ยวกับดินแดนสมมติซึ่งก็คือไทยนั่นแหละ) กับสี่แผ่นดิน ซึ่งมีคนแปลไว้แล้ว (คุณจันทร์แจ่ม บุนนาค) เห็นได้ว่าเราไม่มีเนื้องานอะไรให้เค้าไปศึกษา มันก็จำกัดอยู่แค่นั้น

ขั้นต่อไปจะเป็นการเขียนวิเคราะห์นโยบายการแปลวรรณกรรมของประเทศที่สถานการณ์ใกล้เคียงกับเรา จะมีไปเก็บข้อมูลที่เกาหลีเพิ่ม แล้วสรุปเป็นรายงานการวิจัย ตรงนี้จะมอบให้หน่วยงานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เอาไปใช้ได้เลย เราไม่แคร์ว่าจะมาจากพรรคไหน เพียงแต่ตอนนี้เป็นห่วงและเกิดคำถามในใจว่า "ทำเป็นรึเปล่า"

ว่าไหม
.....

Theerapat Charoensuk
20h·

ไหนๆ เขียนแล้วก็เขียนต่อให้จบ
งบ Soft power หนังสือ มาสนับสนุนการจัดงานหนังสือทำไม?
ไม่ได้เอาไปจ่ายค่าพื้นที่ให้ใคร เจ้าสัวที่ไหน เพราะระเบียบมันทำไม่ได้ครับ ขาเหยียบคุกข้างหนึ่งครับ
นักอ่านที่เดินงานหนังสือ สนพ.ที่ออกงาน บางท่านอาจจะทราบ บางท่านอาจจะไม่ทราบ
งานหนังสือ จัดโดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เป็นสมาคมการค้าเอกชน ที่รวมตัวกันของสำนักพิมพ์เอกชน มีผู้บริหารจากการเลือกตั้งของสมาชิกสำนักพิมพ์ ใช้เงินจากการทำกิจการต่างๆ ด้วยตัวเอง ไม่ใช่หน่วยงานรัฐครับ
แต่งานหนังสือของเราปีละ 2 ครั้ง เรียกได้ว่าเกือบจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเป็นเม็ดเงินเลยครับ แม้จะมีหน่วยงานรัฐหลายแห่งที่ให้ความช่วยเหลือด้านการประชาสัมพันธ์อย่างดีมาก และจัดแสดงงานได้ดึงดูดความสนใจนักอ่านยอดเยี่ยม อย่างกรมศิลปากร หรือราชบัณฑิต และบางแห่งก็สนับสนุนทุนบ้าง เช่น กองทุนสื่อฯ
นอกจากนี้ ผู้จัด ยังต้องสนับสนุนพื้นที่อภินันทนาการให้หน่วยงานภาครัฐ มาแสดงงานขององค์กรด้วยครับ
งานสเกลคนเดินหลักล้าน พื้นที่นับหมื่น ตร.กม. กับค่าเช่าพื้นที่จำหน่ายสินค้าตรงศูนย์แสดงสินค้ากลางใจเมือง มีรถไฟฟ้าต่อถึง วันละไม่ถึง 5 พันบาท (รวมภาษี) ไปคุยให้สมาคมองค์กรด้านหนังสือที่ไหนในโลกนี้ฟัง เค้าก็ร้องโอ้โหทั้งนั้น ว่าพวกคุณทำไปได้ยังไงไม่มีรัฐบาลมาสนับสนุน
งานไทเป งานแฟรงค์เฟิร์ต งานโบโลญญา รับทุนอุดหนุนหลักจากภาครัฐเป็นส่วนมาก เขาถึงจัดกิจกรรมที่ไม่ใช่การขายหนังสือได้มาก ที่อยากๆ ได้ตอบแบบสอบถามกันมา ประเภทเชิญนักเขียนต่างชาติ เปิดตัวหนังสือดีๆ มีการทำเวิร์คช็อปการอ่านการเขียน ฯลฯ
ขนาดนั้นค่าเช่าพื้นที่งานนานาชาติที่ว่ามา จัด 5-6 วัน ยังแพงกว่าเราเลย
ถ้า PUBAT เอาเงินส่วนกลางมาจัดล่ะก็ โดนตั้งคำถามจากสมาชิกแน่นอนและเคยมีมาแล้วมากมายว่า ทำไปก็ไม่ได้ทำให้คนออกร้านขายดี ทำไปทำไม ใครได้ประโยชน์
งบส่วนนี้ที่รัฐจัดสรรมาขั้นต้น ก็จะเอาไปหนุนเสริมกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน จัดนิทรรศการที่มีคุณภาพมากขึ้น จัดกิจกรรมที่ปัญญาชนนิยมชมชอบ กิจกรรมเพื่อสร้างบรรยากาศการอ่านและหนังสือให้กระจายตัวมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แบบที่มีเสียงสะท้อนมาตลอด
น่าจะดีไหมนะครับ?