วันจันทร์, ธันวาคม 11, 2566

เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ สภาร่าง ต้องยึดโยงกับประชาชน รับชมคลิปย้อนหลัง งานเสวนา PRIDI Talks #23 x PBIC : รื้อ ร่าง สร้าง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อประชาชน


iLaw
11h·

10 ธันวาคม 2566 วันรัฐธรรมนูญ เวลา 14.00 - 17.00 น. สถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ จัดงานเสวนา PRIDI Talks #23 x PBIC : รื้อ ร่าง สร้าง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อประชาชน ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนมองไปข้างหน้าถึงการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงการออกแบบสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่จะมาเขียนรัฐธรรมนูญ
.
ร่วมพูดคุยโดย
๐ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล
๐ นิกร จำนง : โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการทำประชามติ
๐ รศ. นันทนา นันทวโรภาส : คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก
๐ รศ. มุนินทร์ พงศาปาน : อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๐ ผศ. พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย : อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
.
รศ.มุนินทร์ พงศาปาน กล่าวว่า หากดูแนวคิดในการออกแบบผู้ร่างรัฐธรรมนูญของไทย จะมีมุมองที่มองประชาชนเสมือนเป็นผู้เยาว์ ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ยังไม่มีวุฒิภาวะ ต้องมีผู้แทนโดยชอบธรรมมาทำการแทนหรือสามารถยกเลิกเพิกถอนการกระทำได้ องค์กรรวมถึงกลไกต่างๆ ก็เปรียบเสมือนผู้แทนโดยชอบธรรม นี่คือแนวคิดที่พอเห็นได้จากเบื้องหลังรัฐธรรมนูญ 2560
.
ด้านผศ. พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย กล่าวถึงการรัฐประหารผ่านรัฐธรรมนูญ (Constitutional Coup) ที่รัฐธรรมนูญถูกใช้เป็นเครื่องมือขยายอำนาจหลังมีการรัฐประหาร รัฐธรรมนูญ 2560 ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างของกรณีนี้
.
ตัวอย่างของการใช้กลไกเหล่านี้ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ 2560 เช่น การออกแบบระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม การกำหนดมาตรฐานจริยธรรมของนักการเมือง ซ้ำยังดึงเอาองค์กรตุลาการอย่างศาลฎีกาเข้ามาของเกี่ยวกับการเมืองผ่านการพิจารณาคดีจริยธรรมนักการเมือง การกำหนดให้มี 250 สว. ชุดพิเศษ ที่มีอำนาจมาก รวมถึงการกำหนดกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่สร้างเงื่อนไขให้แก้ไขได้ยาก
.
ชัยธวัช ตุลาธน ระบุว่าเราควรใช้โอกาสในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่นี้ สร้างฉันทามติใหม่ของสังคมไทย ที่ประชาชนที่มีความแตกต่าง มีความหลากหลาย ดังนั้น การออกแบบคำถามประชามติรัฐธรรมนูญใหม่เอง ก็ไม่ควรมีข้อจำกัดหรือเงื่อนไข หากเรามองว่าประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ การออกแบบสสร. ก็ควรจะมีความยึดโยงกับประชาชน พรรคก้าวไกลเห็นว่าควรมี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง ควรเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทั้งฉบับ
.
รศ. นันทนา นันทวโรภาส กล่าวถึงการออกแบบการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
.
1. สสร. ต้องยึดโยงกับประชาชน คนที่ไปเขียนรัฐธรรมนูญจะต้องสามารถสะท้อนปัญหาประชาชนได้
2. สสร. ต้องเป็นอิสระ ปราศจากการครอบงำจากอำนาจใดๆ
3. สสร. ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ให้มากที่สุด
4. จะต้องมีประสิทธิภาพ-ประสิทธิผล เช่น ตรงตามกรอบเวลาไม่ยืดเยื้อยาวนาน
.
นิกร จำนง เล่าถึงภาพรวมจากการไปรับฟังความคิดเห็นประชาชนมาว่า เท่าที่สอบถามประชาชนส่วนใหญ่ประชาชนเห็นด้วยให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ตอนนี้กำลังเดินหน้าฟังเสียงสมาชิกรัฐสภา ทั้ง สส. และ สว. ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี วันที่ 22 ธันวาคม 2566 จะสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น และวันที่ 25 จะประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่
.
รับชมไลฟ์ย้อนหลัง https://www.facebook.com/pridibanomyonginstitute/videos/1510264486484212
.
อ่านสรุปเสวนาเต็มๆ ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/6717

https://www.facebook.com/pridibanomyonginstitute/videos/1510264486484212/