สำรวจความคิดรัฐบาล กังวลอะไรบ้างกับการทำประชามติ!
30 พ.ย. 2566
โดย iLaw
หลังแคมเปญ #conforall สามารถเข้าชื่อประชาชนมากกว่าสองแสนชื่อเพื่อขอจัดทำ #ประชามติ เพื่อ #เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ไปแล้ว การติดตามท่าทีของรัฐบาลในการจัดทำประชามติจึงเป็นเรื่องที่ยังต้องติดตาม
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หรือ “คณะกรรมการประชามติฯ” เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ท่าทีของคณะกรรมการประชามติฯ และผู้มีอำนาจฝ่ายรัฐบาลต่างดู “กังวล” กับการทำประชามติตามนโยบายหาเสียงเดิมในหลายเรื่องเรื่อยมา
iLaw จึงรวบรวมบทสัมภาษณ์ การแถลงข่าว หรือการสื่อสารของฝ่ายรัฐบาลเพื่อหาว่า ประเด็นใดบ้างที่กำลังทำให้รัฐบาลและคณะกรรมการประชามติฯ เป็นกังวล จนอาจจะส่งผลทำให้ระยะเวลาในการเคาะคำถามประชามติ หรือเนื้อหาในคำถามประชามติผิดแผกไปจากที่เคยสื่อสารไว้ก่อนการเลือกตั้ง
ข้อกังวลเกี่ยวกับ การแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทั้งฉบับ
ก่อนการเลือกตั้ง 2566 เว็บไซต์ของพรรคเพื่อไทยระบุถึงนโยบายสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาไว้ว่า “จัดทำ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” โดยคงรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและผ่านขั้นตอนการออกเสียงลงประชามติโดยประชาชน” ซึ่งไม่ได้กำหนดขอบเขตหรือข้อจำกัดใดไว้ในนโยบาย
วันที่ 11 กันยายน 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา ซึ่งยืนยันว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยยึดรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่แก้ไขเนื้อหาใดในหมวดพระมหากษัตริย์
ต่อมาในวันที่ 4 ตุลาคม 2566 หลังการแต่งตั้งคณะกรรมการประชามติฯ ขึ้นมาทำหน้าที่เพียงหนึ่งวัน ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการประชามติ ได้ออกให้สัมภาษณ์สื่อ ณ ทำเนียบรัฐบาล ว่า จะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ “โดยที่ไม่แตะหมวดที่หนึ่ง หมวดที่สอง และพระราชอำนาจในหมวดหรือมาตราอื่นๆ”
แนวทางนี้ถูกภูมิธรรมย้ำอีกครั้งในงานรับฟังความคิดเห็นต่อการทำคำถามประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งยิ่งเน้นย้ำความกังวลของทั้งรัฐบาลและคณะกรรมการประชามติฯ ต่อข้อเสนอของภาคประชาชนและกระแสการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จนทำให้ยังมีแรงเสียดทานจากทุกฝ่ายอยู่ในการออกแบบคำถามประชามติ
ข้อกังวลเกี่ยวกับ ที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
เช่นเดียวกับข้อก่อนหน้า นโยบายของพรรคเพื่อไทยก่อนการเลือกตั้งถูกระบุบนเว็บไซต์ว่า “จัดทำ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” โดยคงรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและผ่านขั้นตอนการออกเสียงลงประชามติโดยประชาชน”
แต่ภายหลังพรรคเพื่อไทยประกาศจับขั้วรัฐบาลกับพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลเดิม ประโยคนี้ได้หายไปและแทนที่ด้วย “จัดตั้ง สสร. ให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” โดยไม่ได้ระบุชัดเจนว่ามาจากการเลือกตั้ง
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ระหว่างงานรับฟังความคิดเห็นต่อการทำคำถามประชามติจากภาคประชาสังคม ภูมิธรรมได้ออกมาแถลงต่อสื่อถึงความคืบหน้าต่างๆ ซึ่งในส่วนของ สสร. ได้ระบุว่า มีกลุ่มที่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง สสร. ทั้งหมด แต่ก็มีเสียงคัดค้านว่ากลุ่มอื่นๆ อย่างกลุ่มเพศสภาพ กลุ่มคนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มอื่นๆ เพราะกังวลว่าจะไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้หากใช้วิธีการเลือกตั้ง จึงเป็นข้อเสนอให้คณะกรรมการประชามติฯ ต้องพิจารณาว่า จะสามารถเลือกตั้งเพียงบางส่วน และสรรหาหรือแต่งตั้ง สสร. ในส่วนที่เหลือได้หรือไม่
ประเด็นเรื่องที่มาของ สสร. จึงยังเป็นหนึ่งในความกังวลของคณะกรรมการประชามติฯ ที่อาจจะส่งผลให้กระบวนการทำคำถามประชามติยังไม่ลงตัว
ข้อกังวลเกี่ยวกับ กฎหมายประชามติ
ข้อกังวลนี้ถูกยกขึ้นมาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 ระหว่างการพิจารณาญัตติเรื่อง “ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบ และแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” โดยมี พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ
ครั้งนั้น จาตุรนท์ ฉายแสง สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า การทำประชามติในปัจจุบันจะต้องเป็นตาม พระราชบัญญัติว่าด้วย การออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 หรือ “พ.ร.บ.ประชามติฯ” มาตรา 13 ที่กำหนดให้การทำประชามติจะต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิทั้งหมด และการที่คำตอบใดคำตอบหนึ่งจะชนะได้ก็ต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิเช่นกัน
เงื่อนไขสองชั้นแบบนี้เรียกว่า “Double Majority” ที่สร้างความกังวลใจให้แก่คณะกรรมการประชามติฯ เป็นอย่างมาก เนื่องจากหากมีผู้ที่ไม่ต้องการให้ประชามติครั้งนี้สำเร็จก็สามารถที่จะอยู่บ้านและไม่ออกไปใช้สิทธิในวันออกเสียง จนส่งผลให้ประชามติไม่ผ่านเงื่อนไขนี้ได้
ข้อเสนอว่า ต้องทำการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 13 เสียก่อน จึงเริ่มถูกพูดมากขึ้นหลังจากนั้น ซึ่งคณะกรรมการประชามติฯ ได้มอบหมายให้ “คณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ” ดำเนินการจัดทำข้อเสนอในการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติฯ ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา
การมุ่งแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติฯ ให้ทันภายในสมัยประชุมสภาที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคมนี้สร้างความลำบากใจให้แก่หลายฝ่าย เนื่องจากบางกลุ่มอาจจะคิดว่าการแก้ไขครั้งนี้จะทำให้ระยะเวลาในการเคาะคำถามประชามติของรัฐบาลยืดยาวออกไป ขณะที่อีกหลายกลุ่มก็คิดว่าสองเรื่องนี้สามารถกระทำไปพร้อมกันได้โดยไม่กระทบซึ่งกันและกัน
ข้อกังวลเกี่ยวกับ จำนวนครั้งของการทำประชามติ
ย้อนกลับไปวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ประชุมรัฐสภามีมติเห็นชอบกับญัตติด่วนของ ไพบูลย์ นิติตะวัน สส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และ สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มี สสร. นั้นทำได้หรือไม่ ซึ่งครั้งนั้นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า รัฐสภามีอำนาจกระทำได้ แต่ต้องจัดทำประชามติเพื่อขอความเห็นชอบจากประชาชนก่อนที่จะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทำให้กลายเป็นที่สับสนอยู่มาก ว่าต้องทำประชามติทั้งสิ้นกี่ครั้ง เนื่องจากการแก้ไขมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญระบุให้มีการทำประชามติเพื่อยอมรับการแก้ไขอยู่แล้ว ขณะเดียวกันหลัง สสร. ยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นก็สามารถทำประชามติทั้งฉบับได้เช่นเดียวกัน
ข้อเสนอของ #conforall จึงเสนอว่า การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องมีประชามติทั้งสิ้นสามครั้ง ครั้งแรกเป็นการเปิดทางก่อนกระบวนการรัฐสภา ถามประชาชนว่าต้องการให้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ ก่อนที่กระบวนการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อตั้ง สสร. ในรัฐสภาจะดำเนินจนเสร็จ ซึ่งประชาชนต้องออกมาทำประชามติรับรองการแก้ไขนี้อีกครั้ง และทำประชามติครั้งสุดท้ายหลัง สสร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสิ้น
สว. สมชาย แสวงการ โต้แย้งว่าการทำประชามติแต่ละครั้งใช้งบประมาณหลายล้านบาท หากสามารถลดจำนวนครั้งของการทำประชามติลงจากสามครั้งได้จึงจะเป็นการดีกับการบริหารงบประมาณประเทศมากขึ้น
ข้อถกเถียงจำนวนมากยังนำมาซึ่งข้อเสนอที่จะไม่ให้มีการแก้ไขมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ หรือการมุ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ไม่เขียนใหม่ทั้งฉบับ เพื่อข้ามการทำประชามติออกไปอีกด้วย
ประเด็นดังกล่าวส่งผลให้ภูมิธรรมออกมาแถลงข่าวในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 ว่า จะสอบถามไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. อีกครั้ง ว่า กกต. จะตีความในประเด็นนี้อย่างไร และหากมีปัญหาเรื่องการตีความในอนาคตก็ได้ตกลงกันในที่ประชุมแล้วว่า จะให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นองค์ประธานในการเสนอเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
ข้อกังวลเกี่ยวกับ ช่วงเวลาในการจัดทำประชามติ
นับตั้งแต่มีการถกเถียงในประเด็นเรื่องการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ การทำประชามติถึงสามครั้งจึงทำให้ประชาชนต้องออกมาเข้าคูหาบ่อยขึ้น แน่นอนว่าหากมีการเลือกตั้ง สสร. ก็ต้องเพิ่มจำนวนวันในการเข้าคูหาขึ้นไปอีกหนึ่งวัน ทำให้หลายฝ่ายพยายามหาช่วงระยะเวลาที่จะจัดทำประชามติให้ได้อย่างสะดวกและประหยัดงบประมาณที่สุด
ด้วยแนวคิดนี้ ทำให้ วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี เคยตอบคำถามผู้สื่อข่าวในวันที่ 9 ตุลาคม 2563 ว่า การทำประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นมีความเป็นไปได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณเป็นหลัก ซึ่งในรัฐบาลปัจจุบันความกังวลลักษณะนี้ได้กลับมาอีกครั้ง โดยเฉพาะความกังวลในส่วนของข้อจำกัดทางกฎหมาย ทำให้วันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 ภูมิธรรมแถลงว่า จะมีการส่งหนังสือไปยัง กกต. เพื่อสอบถามความเป็นไปได้ในการจัดทำประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ เลือกตั้ง อบจ. ที่กำลังจะมีขึ้นได้หรือไม่
ข้อกังวลเกี่ยวกับ การใช้แอปพลิเคชันในการทำประชามติ
การเลือกตั้งปี 2566 ได้มีความพยายามของ กกต. ในการจัดทำแอปพลิเคชันสำหรับการตรวจสอบสิทธิเลือกตั้งชื่อ “Smart Vote” มาใช้ และจากการแถลงข่าวของภูมิธรรมเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 ก็ดูมีเหมือนว่ารัฐบาลมีแนวคิดที่จะให้การทำประชามติสามารถลงคะแนนเสียงผ่านแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือได้ แต่ยังไม่แน่ใจว่าสามารถกระทำได้จริงตามกรอบกฎหมายหรือไม่
“เราจะทำให้กฎหมายประชามติสามารถที่จะเกิดประโยชน์ในการทำให้รัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น… ประชามติเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญใหม่โดยคำนึงถึงการทำให้ทันสมัยมากขึ้น ครอบคลุมถึงการใช้เทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ออกเสียงได้“
ด้วยแนวคิดนี้ ภูมิธรรมจึงส่งหนังสือไปสอบถามยัง กกต. เพื่อขอทราบความเป็นไปได้ในการใช้แอปพลิเคชันในการลงทะเบียนหรือในขั้นตอนการทำประชามติอื่นๆ ซึ่งหากสามารถทำได้ภูมิธรรมเชื่อว่าจะเป็นการประหยัดเวลาและงบประมาณได้มากขึ้น
.....
Apichat Boonto
กังวลว่าจะกระทบกับการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างไร กลัวจะไม่ได้เป็นรัฐบาล
Punglom Boom Phot
ทำอะไรมาก ไม่ได้ กลัวโดนรัฐประหาร
หลังแคมเปญ #conforall สามารถเข้าชื่อประชาชนมากกว่าสองแสนชื่อเพื่อขอจัดทำ #ประชามติ เพื่อ #เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ไปแล้ว การติดตามท่าทีของรัฐบาลในการจัดทำประชามติจึงเป็นเรื่องที่ยังต้องติดตาม
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หรือ “คณะกรรมการประชามติฯ” เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ท่าทีของคณะกรรมการประชามติฯ และผู้มีอำนาจฝ่ายรัฐบาลต่างดู “กังวล” กับการทำประชามติตามนโยบายหาเสียงเดิมในหลายเรื่องเรื่อยมา
iLaw จึงรวบรวมบทสัมภาษณ์ การแถลงข่าว หรือการสื่อสารของฝ่ายรัฐบาลเพื่อหาว่า ประเด็นใดบ้างที่กำลังทำให้รัฐบาลและคณะกรรมการประชามติฯ เป็นกังวล จนอาจจะส่งผลทำให้ระยะเวลาในการเคาะคำถามประชามติ หรือเนื้อหาในคำถามประชามติผิดแผกไปจากที่เคยสื่อสารไว้ก่อนการเลือกตั้ง
ข้อกังวลเกี่ยวกับ การแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทั้งฉบับ
ก่อนการเลือกตั้ง 2566 เว็บไซต์ของพรรคเพื่อไทยระบุถึงนโยบายสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาไว้ว่า “จัดทำ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” โดยคงรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและผ่านขั้นตอนการออกเสียงลงประชามติโดยประชาชน” ซึ่งไม่ได้กำหนดขอบเขตหรือข้อจำกัดใดไว้ในนโยบาย
วันที่ 11 กันยายน 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา ซึ่งยืนยันว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยยึดรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่แก้ไขเนื้อหาใดในหมวดพระมหากษัตริย์
ต่อมาในวันที่ 4 ตุลาคม 2566 หลังการแต่งตั้งคณะกรรมการประชามติฯ ขึ้นมาทำหน้าที่เพียงหนึ่งวัน ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการประชามติ ได้ออกให้สัมภาษณ์สื่อ ณ ทำเนียบรัฐบาล ว่า จะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ “โดยที่ไม่แตะหมวดที่หนึ่ง หมวดที่สอง และพระราชอำนาจในหมวดหรือมาตราอื่นๆ”
แนวทางนี้ถูกภูมิธรรมย้ำอีกครั้งในงานรับฟังความคิดเห็นต่อการทำคำถามประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งยิ่งเน้นย้ำความกังวลของทั้งรัฐบาลและคณะกรรมการประชามติฯ ต่อข้อเสนอของภาคประชาชนและกระแสการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จนทำให้ยังมีแรงเสียดทานจากทุกฝ่ายอยู่ในการออกแบบคำถามประชามติ
ข้อกังวลเกี่ยวกับ ที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
เช่นเดียวกับข้อก่อนหน้า นโยบายของพรรคเพื่อไทยก่อนการเลือกตั้งถูกระบุบนเว็บไซต์ว่า “จัดทำ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” โดยคงรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและผ่านขั้นตอนการออกเสียงลงประชามติโดยประชาชน”
แต่ภายหลังพรรคเพื่อไทยประกาศจับขั้วรัฐบาลกับพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลเดิม ประโยคนี้ได้หายไปและแทนที่ด้วย “จัดตั้ง สสร. ให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” โดยไม่ได้ระบุชัดเจนว่ามาจากการเลือกตั้ง
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ระหว่างงานรับฟังความคิดเห็นต่อการทำคำถามประชามติจากภาคประชาสังคม ภูมิธรรมได้ออกมาแถลงต่อสื่อถึงความคืบหน้าต่างๆ ซึ่งในส่วนของ สสร. ได้ระบุว่า มีกลุ่มที่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง สสร. ทั้งหมด แต่ก็มีเสียงคัดค้านว่ากลุ่มอื่นๆ อย่างกลุ่มเพศสภาพ กลุ่มคนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มอื่นๆ เพราะกังวลว่าจะไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้หากใช้วิธีการเลือกตั้ง จึงเป็นข้อเสนอให้คณะกรรมการประชามติฯ ต้องพิจารณาว่า จะสามารถเลือกตั้งเพียงบางส่วน และสรรหาหรือแต่งตั้ง สสร. ในส่วนที่เหลือได้หรือไม่
ประเด็นเรื่องที่มาของ สสร. จึงยังเป็นหนึ่งในความกังวลของคณะกรรมการประชามติฯ ที่อาจจะส่งผลให้กระบวนการทำคำถามประชามติยังไม่ลงตัว
ข้อกังวลเกี่ยวกับ กฎหมายประชามติ
ข้อกังวลนี้ถูกยกขึ้นมาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 ระหว่างการพิจารณาญัตติเรื่อง “ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบ และแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” โดยมี พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ
ครั้งนั้น จาตุรนท์ ฉายแสง สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า การทำประชามติในปัจจุบันจะต้องเป็นตาม พระราชบัญญัติว่าด้วย การออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 หรือ “พ.ร.บ.ประชามติฯ” มาตรา 13 ที่กำหนดให้การทำประชามติจะต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิทั้งหมด และการที่คำตอบใดคำตอบหนึ่งจะชนะได้ก็ต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิเช่นกัน
เงื่อนไขสองชั้นแบบนี้เรียกว่า “Double Majority” ที่สร้างความกังวลใจให้แก่คณะกรรมการประชามติฯ เป็นอย่างมาก เนื่องจากหากมีผู้ที่ไม่ต้องการให้ประชามติครั้งนี้สำเร็จก็สามารถที่จะอยู่บ้านและไม่ออกไปใช้สิทธิในวันออกเสียง จนส่งผลให้ประชามติไม่ผ่านเงื่อนไขนี้ได้
ข้อเสนอว่า ต้องทำการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 13 เสียก่อน จึงเริ่มถูกพูดมากขึ้นหลังจากนั้น ซึ่งคณะกรรมการประชามติฯ ได้มอบหมายให้ “คณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ” ดำเนินการจัดทำข้อเสนอในการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติฯ ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา
การมุ่งแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติฯ ให้ทันภายในสมัยประชุมสภาที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคมนี้สร้างความลำบากใจให้แก่หลายฝ่าย เนื่องจากบางกลุ่มอาจจะคิดว่าการแก้ไขครั้งนี้จะทำให้ระยะเวลาในการเคาะคำถามประชามติของรัฐบาลยืดยาวออกไป ขณะที่อีกหลายกลุ่มก็คิดว่าสองเรื่องนี้สามารถกระทำไปพร้อมกันได้โดยไม่กระทบซึ่งกันและกัน
ข้อกังวลเกี่ยวกับ จำนวนครั้งของการทำประชามติ
ย้อนกลับไปวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ประชุมรัฐสภามีมติเห็นชอบกับญัตติด่วนของ ไพบูลย์ นิติตะวัน สส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และ สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มี สสร. นั้นทำได้หรือไม่ ซึ่งครั้งนั้นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า รัฐสภามีอำนาจกระทำได้ แต่ต้องจัดทำประชามติเพื่อขอความเห็นชอบจากประชาชนก่อนที่จะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทำให้กลายเป็นที่สับสนอยู่มาก ว่าต้องทำประชามติทั้งสิ้นกี่ครั้ง เนื่องจากการแก้ไขมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญระบุให้มีการทำประชามติเพื่อยอมรับการแก้ไขอยู่แล้ว ขณะเดียวกันหลัง สสร. ยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นก็สามารถทำประชามติทั้งฉบับได้เช่นเดียวกัน
ข้อเสนอของ #conforall จึงเสนอว่า การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องมีประชามติทั้งสิ้นสามครั้ง ครั้งแรกเป็นการเปิดทางก่อนกระบวนการรัฐสภา ถามประชาชนว่าต้องการให้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ ก่อนที่กระบวนการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อตั้ง สสร. ในรัฐสภาจะดำเนินจนเสร็จ ซึ่งประชาชนต้องออกมาทำประชามติรับรองการแก้ไขนี้อีกครั้ง และทำประชามติครั้งสุดท้ายหลัง สสร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสิ้น
สว. สมชาย แสวงการ โต้แย้งว่าการทำประชามติแต่ละครั้งใช้งบประมาณหลายล้านบาท หากสามารถลดจำนวนครั้งของการทำประชามติลงจากสามครั้งได้จึงจะเป็นการดีกับการบริหารงบประมาณประเทศมากขึ้น
ข้อถกเถียงจำนวนมากยังนำมาซึ่งข้อเสนอที่จะไม่ให้มีการแก้ไขมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ หรือการมุ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ไม่เขียนใหม่ทั้งฉบับ เพื่อข้ามการทำประชามติออกไปอีกด้วย
ประเด็นดังกล่าวส่งผลให้ภูมิธรรมออกมาแถลงข่าวในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 ว่า จะสอบถามไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. อีกครั้ง ว่า กกต. จะตีความในประเด็นนี้อย่างไร และหากมีปัญหาเรื่องการตีความในอนาคตก็ได้ตกลงกันในที่ประชุมแล้วว่า จะให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นองค์ประธานในการเสนอเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
ข้อกังวลเกี่ยวกับ ช่วงเวลาในการจัดทำประชามติ
นับตั้งแต่มีการถกเถียงในประเด็นเรื่องการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ การทำประชามติถึงสามครั้งจึงทำให้ประชาชนต้องออกมาเข้าคูหาบ่อยขึ้น แน่นอนว่าหากมีการเลือกตั้ง สสร. ก็ต้องเพิ่มจำนวนวันในการเข้าคูหาขึ้นไปอีกหนึ่งวัน ทำให้หลายฝ่ายพยายามหาช่วงระยะเวลาที่จะจัดทำประชามติให้ได้อย่างสะดวกและประหยัดงบประมาณที่สุด
ด้วยแนวคิดนี้ ทำให้ วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี เคยตอบคำถามผู้สื่อข่าวในวันที่ 9 ตุลาคม 2563 ว่า การทำประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นมีความเป็นไปได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณเป็นหลัก ซึ่งในรัฐบาลปัจจุบันความกังวลลักษณะนี้ได้กลับมาอีกครั้ง โดยเฉพาะความกังวลในส่วนของข้อจำกัดทางกฎหมาย ทำให้วันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 ภูมิธรรมแถลงว่า จะมีการส่งหนังสือไปยัง กกต. เพื่อสอบถามความเป็นไปได้ในการจัดทำประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ เลือกตั้ง อบจ. ที่กำลังจะมีขึ้นได้หรือไม่
ข้อกังวลเกี่ยวกับ การใช้แอปพลิเคชันในการทำประชามติ
การเลือกตั้งปี 2566 ได้มีความพยายามของ กกต. ในการจัดทำแอปพลิเคชันสำหรับการตรวจสอบสิทธิเลือกตั้งชื่อ “Smart Vote” มาใช้ และจากการแถลงข่าวของภูมิธรรมเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 ก็ดูมีเหมือนว่ารัฐบาลมีแนวคิดที่จะให้การทำประชามติสามารถลงคะแนนเสียงผ่านแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือได้ แต่ยังไม่แน่ใจว่าสามารถกระทำได้จริงตามกรอบกฎหมายหรือไม่
“เราจะทำให้กฎหมายประชามติสามารถที่จะเกิดประโยชน์ในการทำให้รัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น… ประชามติเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญใหม่โดยคำนึงถึงการทำให้ทันสมัยมากขึ้น ครอบคลุมถึงการใช้เทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ออกเสียงได้“
ด้วยแนวคิดนี้ ภูมิธรรมจึงส่งหนังสือไปสอบถามยัง กกต. เพื่อขอทราบความเป็นไปได้ในการใช้แอปพลิเคชันในการลงทะเบียนหรือในขั้นตอนการทำประชามติอื่นๆ ซึ่งหากสามารถทำได้ภูมิธรรมเชื่อว่าจะเป็นการประหยัดเวลาและงบประมาณได้มากขึ้น
.....
Apichat Boonto
กังวลว่าจะกระทบกับการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างไร กลัวจะไม่ได้เป็นรัฐบาล
Punglom Boom Phot
ทำอะไรมาก ไม่ได้ กลัวโดนรัฐประหาร