วันอาทิตย์, ธันวาคม 17, 2566

นิกายเซน มีการพูดถึง "จากจิตส่งต่อถึงจิต" ที่อธิบายด้วยตรรกะของปุถุชนไม่ได้ นิกายเซนส่งต่อจากจิตถึงจิตอย่างไร?


Kornkit Disthan
5h
·
"เชื่อมจิต" คืออะไรผมไม่รู้ แต่ในนิกายเซนมีคำว่า "จากจิตส่งต่อถึงจิต" วันนี้จะขอคุยเรื่องนี้แก้เบื่อในวันหยุด
"จากจิตส่งต่อถึงจิต" คือการส่งมอบธรรมะจากคนรุ่นหนึ่ง (ซึ่งรู้แจ้งแล้ว) ไปยังอีกรุ่นหนึ่ง (ซึ่งกำลังจะรู้แจ้ง)
นิกายเซนไม่เหมือนนิกายอื่นตรงที่สอนธรรมะด้วยปริศนาธรรม กรรมฐานพิจารณาข้อธรรมที่ดูไม่สมเหตุสมผล เมื่อเวลาสุกงอมอาจารย์อาจใช้วิธีที่เหนือความคาดหมายในการกระทุ้งจิตของศิษย์ให้สว่างขึ้นมา
ทั้งหมดนี้อยู่เหนือเหตุและผลทางโลก อธิบายด้วยตรรกะของปุถุชนไม่ได้ แต่อาจารย์กับศิษย์ต่าง "รู้ใจกัน"
นี่เองถึงเรียกว่า "จากจิตส่งต่อถึงจิต" (以心傳心) หรือสั้นๆ ว่า "จากจิตถึงจิต" คำๆ นี้เริ่มใช้ในสมัยพระโพธิธรรม หรือท่านตั๊กม๊อ บูรพาจารย์เซนจากอินเดียผู้เริ่มนิกายเซนในจีน
เมื่อธรรมะถูกส่งต่อจากจิตอาจารย์สู่จิตของศิษย์ จิตของอีกฝ่ายก็สว่างโพลง ดังนั้นนิกายเซนจึงมีคำคล้ายๆ กันอีกคำว่า "ส่งต่อดวงประทีป" (傳燈) หรือความโชติช่วง
ดวงประทีป (燈) เป็นสัญลักษณ์แห่งการไขให้แจ้ง ดังในปกรณ์ฝ่ายบาลีมักตั้งชื่อว่า "โชติกา"บ้าง "ทีปนี" บ้าง ซึ่งมีรากศัพท์หมายถึงการให้แสงสว่าง โดยนัยหมายถึงหนังสืออธิบายข้อธรรมต่างๆ
นิกายเซนส่งต่อจากจิตถึงจิตอย่างไร?
ผมไม่รู้ธรรมะ ดังนั้นอธิบายไม่ได้ จะขอยกคำอธิบายของบูรพาจารย์มาชี้แจง
เรื่องนี้เกิดขึ้นสมัยราชวงศ์ถัง
พระภิกษุซุ่นเต๋อแห่งวัดหลงเช่อในเมืองหังโจว ถามพระเถระเสวี่ยเฟิงว่า "ดังเช่นบูรพาจารย์แต่ก่อนเก่า เช่นไรคือการส่งต่อจากจิตถึงจิต?"
พระเถระเสวี่ยเฟิงตอบว่า "ไม่ยึดมั่นทั้งข้อเขียนและคำพูด"
พระภิกษุซุ่นเต๋อถามต่อว่า "ไม่ยึดมั่นทั้งข้อเขียนและคำพูด แล้วจะสอนกันอย่างไร?"
พระเถระเสวี่ยเฟิงนิ่งไม่พูดไม่จาเป็นเวลานาน
ครั้นแล้วพระภิกษุซุ่นเต๋อก็แสดงความขอบคุณท่าน
จบปริศนาธรรมเรื่อง "จิตส่งต่อถึงจิต" คืออะไร?
ในเรื่องนี้ พระเถระเสวี่ยเฟิงท่านนิ่งไม่ยอมตอบก็คือการแสดงให้เห็นว่าเซนเขาสอนกันแบบนี้ เพิ่งจะบอกไปหยกๆ ว่าไม่ใช้หนังสือไม่ใช้คำพูด แต่ท่านซุ่นเต๋อก็ยังซักไซ้ ท่านจึงเข้าสู่ภาวพของการส่งต่อจากจิตถึงจิตให้ประจักษ์
พระภิกษุซุ่นเต๋อก็แสดงความขอบคุณท่าน นั่นแสดงว่า จิตที่สอนธรรมะได้ถูกส่งต่อไปถึงอีกฝ่ายแล้ว และอีกฝ่าย "แจ้ง" แล้ว
แจ้งอะไร? เราไม่รู้ว่าท่านแจ้งอะไร เพราะคำพูดอธิบายการรู้แจ้งของแต่ละคนไม่ได้ แต่นิกายเซนมีคำว่า "แจ้งในความว่าง" (悟空)
"แจ้งในความว่าง" (悟空) คำจีนนี้อ่านว่า "อู้คง" สำเนียงฮกเกี้ยนว่า "หงอคง" ชื่อตัวละครในไซอิ๋ว คือซุนหงอคงก็มาจากคำๆ นี้
ญี่ปุ่นออกเสียงคำนี้ว่า "ซาโตริ" (悟り) เป็นคำๆ เดียวกัน หมายถึงแจ้งและเข้าใจ แต่นิกายเซนนั้นไม่ได้เข้าใจแบบปุถุชน แต่เป็นเข้าใจแบบ "ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ " (วิญญูชนรู้ได้เฉพาะตัว)
ช่างบังเอิญที่อักษรจีนคำว่ารู้แจ้ง (悟) ประกอบด้วยคำว่า ใจ (忄) และคำว่า ฉัน (吾) เพราะใครมันจะรู้ว่าเรารู้แจ้งได้เท่ากับตัวเอง?
ดังนั้น เมื่อนิกายเซนได้ส่งต่อจิตถึงจิตแล้ว ฝ่ายที่รับการ "เชื่อมต่อ" ก็จะไม่พูดอะไรมาก เหมือนเช่นท่านซุ่นเต๋อ ได้แต่ขอบคุณพระเถระเสวี่ยเฟิงเงียบๆ หรือบางท่านอาจจะอุทานคาถา (คือบทกวี) ที่สละสลวยแต่คนทั่วไปอ่านแล้วไม่เข้าใจเลย เพราะนั่นเป็นอุทานธรรมของท่านเอง
นิกายเซนต่อจิตกับจิตแบบนี้ มาตั้งแต่สมัยพระพุทธองค์ทรงประทับที่เขาคิชฌกูฎท่ามกลางหมู่สงฆ์ ครั้นแล้วทรงหยิบดอกไม้ขึ้นมาดอกหนึ่ง แล้วชูขึ้นมา
มีแต่พระมหากัสสปที่ยืนขึ้นแล้วแย้มยิ้ม
พระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่า "เรามีสมบัติคือจักษุธรรม มีจิตอันเป็นสัทธรรมแห่งพระนิพพาน ภาวะแห่งพุทธะไม่มีรูปลักษณ์ ประตูแห่งธรรมอันคัมภีรภาพนี้ มิได้สถาปนาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร อยู่นอกเหนือธรรมเทศนา ได้ส่งมอบไปยังมหากัสสป"
เมื่อเป็นการแสดงว่ามหากัสสปได้รับการต่อจิตถึงจิต พระพุทธองค์ทรงมอบจีรวรขลิบทองให้พระมหากัสสปเป็นเครื่องหมายของการสืบทอดวิถีธรรมะนี้
เรื่องนี้จึงเป็นตำนานเล่าขานกันมาว่า บูรพาจารย์ผู้สืบทอดวิถีจากจิตส่งต่อถึงจิตเมื่อได้รับการรับรองจากบูรพาจารย์รุ่นก่อนแล้วว่าจิตแจ้ง ก็จะได้รับจีวรของพระพุทธองค์สืบทอดต่อๆ กันไป (บางตำราว่ามีบาตรด้วย) จากพระมหากัสสปก็มาถึงพระอานนท์ จากพระอานนท์ต่อจิตกันมาเรื่อยๆ ท่านถึงพระปรัชญาตระ รุ่นที่ 27 แล้วต่อจิตรู้แจ้งให้พระโพธิธรรมรุ่นที่ 28 ผู้เดินทางมายังจีน ท่านโพธิธรรมหรือตั๊กม๊อถือเป็นบูรพาจารย์เซนจากอินเดียรุ่นที่ 28 แต่เป็นรุ่นที่ 1 ของจีน
ครั้นวิถีจากจิตส่งต่อถึงจิตสืบทอดมาถึงประเทศจีน การส่งต่อจีวรนี้ก็ดำเนินมาถึงบูรพาจารย์สายจีนรุ่นที่ 6 คือพระเถระฮุ่ยเหนิง ท่านตัดสินใจไม่ส่งมอบจีวรให้รุ่นต่อไป เพราะสมัยของท่านบูรพาจารย์รุ่นที่ 5 นั้นถึงกับไล่ล่าฆ่าฟันกันแทบตายเพื่อแย่งชิงผู้สืบที่แท้จริง
อันที่จริงแล้ว ในสมัยบูรพาจารย์รุ่นที่ 4 และรุ่นที่ 5 คือพระเถระต้าวซิ่นและพระเถระหงเริ่น จีวรผู้นำนิกายถูกขโมยไปถึง 3 ครั้ง ถึงยุคบูรพาจารย์ลำดับที่ 6 คือท่านฮุ่ยเหนิง จีวรถูกขโมยไปถึง 6 ครั้ง
จะเห็นได้ว่าแม้แต่ในยุคนั้น (คือสมัยราชวงศ์ถัง) คนที่มัวเมานั้นก็มีเหมือนสมัยนี้ พวกนี้ไม่สนใจการสืบทอดพระธรรม เอาแต่หลงกับกับการเป็นประมุขแห่งนิกายมากกว่า
พระเถระฮุ่ยเหนิงท่านจึงเห็นว่าจีวรจะนำเภทภัยมาสู่ผู้คน ท่านจึงเลิกเสีย ดังท่านว่า "ผู้ที่ได้รับธรรมะจากเราแล้ว ถือว่าได้รับพระศาสนาจากเราแล้ว ไม่ควรมีการสืบทอดจีวรของเราต่อไปอีก" แต่นั้นมาก็มีแต่การจากจิตส่งต่อถึงจิตอย่างเดียว
ในภายหลังมีการรับรองการสืบทอดด้วยการเขียนหนังสือรับรอง แต่ก่อนจะได้มานั้นต้องทดสอบกันก่อนว่าได้รับธรรมะจากจิตส่งต่อถึงจิตจริง หนังสือรับรองนี้ต่อมาเป็นเครื่องหมายบอกว่าคนผู้นั้นเป็นอาจารย์สอนธรรมะผู้คนได้
แต่อย่างที่บอกไป การรู้แจ้งนั้นตนเองต้องรู้ตนเองด้วยว่าแจ้งจริง ไม่ใช่ได้กระดาษรับรองมาใบเดียวแล้วตั้งตัวเป็นอาจารย์ได้
มีตัวอย่างคือ
เรื่องนี้น่าจะเกิดช่วงปลายยุคเอโดะหรือรัชกาลเมจิ มีพระอาจารย์เซนชาวญี่ปุ่น ชื่อ คาซัน เซ็นเรียว ได้รับเชิญไปประกอบพิธีศพเจ้าแคว้น
แต่ท่านไม่เคยพบกับพวกเจ้าแคว้นและขุนนางมาก่อน ดังนั้นท่านจึงรู้สึกกังวล เมื่อพิธีเริ่ม ท่านก็เริ่มเหงื่อตกเพราะใจลุกลน
เมื่อกลับมาวัด ท่านเรียกลูกศิษย์มารวมกัน แล้วสารภาพว่าท่านยังไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นอาจารย์ได้ จิตของท่านยังสั่นไหว คนเป็นอาจารย์คนได้นั้น จิตต้องเสมอเหมือนกันไม่ว่าจะอยู่ท่ามกลางชื่อเสียงทางโลกหรืออารามอันอ้างว้าง
แล้วท่านคาซันก็ลาออกไป ถวายตัวเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์เซนอีกท่านหนึ่ง อีก 8 ปีต่อมา ท่านก็กลับไปหาลูกศิษย์กลุ่มเดิมของท่าน เพราะท่านมั่นใจว่ารู้แจ้งแล้ว
นี่คือจิตต่อจิตของพุทธศาสนาแบบเซน
ป.ล.
ขอเสริมเรื่องจีวรพระพุทธองค์ที่ส่งมอบมาถึงพระมหากัสสป บางตำราว่าไม่มีการส่งมอบจีวรขลิบทองนี้ให้บูรพาจารย์รุ่นต่อๆ มา จีวรที่พระเถระฮุ่ยเหนิงรับมา (และไม่ส่งต่อไป) ก็ไม่ใช่ของพระพุทธองค์ เพราะหลังจากพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปได้ครองจีวรขลิบทอง เหาะไปยังเขากุกกุฏบาท (แปลว่าตีนไก่) แล้วเข้าสมาบัติรอศาสนาของพระศรีอาริย์ เพราะมีกรรมผูกพันกันมา ท่านได้ครองจีรวรนั้นรออยู่จนถึงทุกวันนี้ จนกว่าจะถึงพุทธกาลครั้งใหม่
เขาตีนไก่นั้นบ้างว่าอยู่ที่แคว้นมคธ ประเทศอินเดีย บ้างก็ว่าอยู่ที่ภูเขาจีจู๋ (雞足山 แปลว่าเขาตีนไก่) อำเภอปินชวน มณฑลยูนนาน ประเทศจีน เป็นสถานที่แสวงบุญสำคัญแห่งหนึ่งของจีน
-----------------------------
ภาพ - เศษผ้ากาสายะ หรือจีวรของพระเถระฮุ่ยเหนิง เก็บรักษาไว้ที่วัดหนานหัว มณฑลกวางตุ้ง สถานที่สถิตของท่าน ถ่ายไว้ในปี ค.ศ. 1919 สมัยสาธารณรัฐจีน ปัจจุบันไม่ทราบว่ายังอยู่หรือไม่ แต่จีวรนี้ควรจะเป็นคนละผืนกับที่ปรากฏในตำนาน