.....
วัตรมหาอวตังสกะแห่งประเทศไทย 泰國大華嚴寺
1d·
การปฏิเสธมหายานของพุทธศาสนาไทย เป็นสิ่งที่จะวนกลับมาเป็นภัยต่อตัวเอง ? By วิจักขณ์ พานิช
มหายานไม่ใช่เรื่องของการแตกนิกาย การบิดเบือนคำสอน หรือพระมีเมีย อย่างที่อ้างกัน แต่จริงๆ แล้ว มหายาน คือ ทัศนคติ, จินตนาการ, โลกทัศน์ ความใจกว้าง และความรัก การปฏิเสธมหายานของพุทธไทย คือการปิดกั้นต่อคุณค่าเหล่านั้นทั้งหมด
ยุคที่พุทธศาสนารุ่งเรืองที่สุดในอินเดีย ไม่ใช่ยุคพุทธกาล แต่เป็นยุคที่พุทธศาสนากลายเป็นส่วนนึงของจินตนาการ ความฝัน และความหวังของผู้คนธรรมดาๆ พูดง่ายๆ คือ พุทธศาสนาพัฒนาจาก พุทธศาสนาของพระ (สาวก) ไปสู่พุทธศาสนาของคนทุกคน คนทุกคนมีส่วนร่วมในจินตนาการ การนำพุทธธรรมไปสู่บริบทชีวิตในแบบของเขา การตีความคำสอนที่มากกว่าตามตัวอักษร และที่ขาดไม่ได้คือ ศิลปะที่สะท้อนจินตนาการและความรัก
เวลาคนไทยไปเที่ยวอินเดีย และเดินทางไปจาริกสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา นอกจากสังเวชนียสถาน ที่มักพ่วงมาด้วยก็คือสถานที่สำคัญที่แสดงถึงความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในอินเดียหลังพุทธกาล อย่างมหาวิทยาลัยนาลันทา ถ้ำอชันต้า ถ้ำเอลโลร่า เป็นต้น
แต่น้อยคนที่เดินทางไปยังสถานที่เหล่านี้ จะตระหนักว่า นี่คือสถานที่ที่แสดงถึงความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในจินตนาการและความเปิดกว้างตามคติแบบมหายานทั้งสิ้น รูปปั้น ประติมากรรม ภาพวาดฝาผนัง ที่ล้วนแล้วแต่สะท้อนจินตนาการที่เปิดกว้างออกไปจากสมัยพุทธกาล คือพัฒนาการของความเข้าใจและความรักในพุทธธรรมที่รุ่งเรืองมากๆ ในอินเดียยุคนั้น จากพุทธศาสนาที่จำกัดการเรียนรู้จากพุทธวจนะ มหายานได้เปิดพื้นที่ให้กับการต่อยอดตีความคำสอน จนการเรียนรู้แบบพุทธ สามารถเปิดรับความแตกต่างของประสบการณ์และความรู้ต่างศรัทธาความเชื่อได้มากขึ้น จนพัฒนาไปสู่ความเป็นมหาวิทยาลัย นาลันทาคือตัวอย่างของความเปิดกว้างของพุทธศาสนาแบบ "สากลนิยม" เพื่อรับใช้เพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ตามอุดมคติแบบมหายาน
ดังนั้นการปฏิเสธมหายานของพุทธไทย จึงเป็นการปฏิเสธพัฒนาการของพุทธศาสนาในทางสังคมโดยตัวมันเอง คำว่า "เพื่อประโยชน์สุขของเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์" ที่ถูกตัดออกไปจากธรรมนูญและปณิธาน จะกลับมาเป็นภัยต่อตัวพุทธไทยเอง ที่สุดท้ายหากไม่ปรับตัว ก็อาจมาถึงยุคเสื่อมของพุทธศาสนา เพราะมัวยุ่งอยู่กับการรักษาอำนาจนิยมและสถานะความศักดิ์สิทธิ์ที่ลบหลู่ดูหมิ่นและแตะต้องไม่ได้เอาไว้
เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Vichak Panich
Cr.ประชาไท
https://prachatai.com/journal/2019/09/84349