วันเสาร์, ธันวาคม 23, 2566

สัญญาณหลุดบ่อย - ซ่อน 'โปรลับ' ซ้ำยังถูกบังคับเปลี่ยนโปร เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ยื่นหนังสือ กสทช.เร่งสอบ 'ทรู-ดีแทค'


The Momentum
18h ·

สัญญาณหลุดบ่อย - ซ่อน 'โปรลับ'
ซ้ำยังถูกบังคับเปลี่ยนโปร
2,924 รายชื่อ ยื่น กสทช.เร่งสอบ 'ทรู-ดีแทค'
.
วันนี้ (22 ธันวาคม 2566) เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเข้ายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อเสนอผลสำรวจปัญหาของผู้ใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ต หลังมีการควบรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ให้ กสทช.ตรวจสอบว่า ภายหลังการควบรวม ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทำตามเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะครบถ้วนจริงหรือไม่
.
สำหรับหนังสือที่ยื่นต่อ กสทช.ในวันนี้ คือแบบสำรวจที่รวบรวมความคิดเห็นของประชาชนกว่า 2,924 รายชื่อ ต่อปัญหาที่เกิดขึ้นหลังการควบรวมธุรกิจ ซึ่งมี 5 เรื่องสำคัญคือ สัญญาณอินเทอร์เน็ตล่าช้า, สัญญาณหลุดบ่อย, มีการเปลี่ยนแพ็กเกจ เนื่องจากเครือข่ายแจ้งว่าแพ็กเกจหมด, เมื่อควบรวมแล้วอัตราค่าบริการของทั้งสองเครือข่ายเท่ากัน ไม่มีตัวเลือกอื่นให้ผู้ใช้บริการ และติดต่อเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการเครือข่ายได้ยาก ดำเนินการล่าช้า
.
นอกจากนี้ ยังมีความเห็นอื่นๆ เพิ่มเติมจากประชาชน ได้แก่ อยากให้ลดราคาแพ็กเกจให้ถูกลง และควรให้บริการอย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะในประเด็นโปรโมชันลับ ที่จะเสนอให้หลังลูกค้ามีความประสงค์จะเลิกใช้บริการหรือย้ายค่าย ในเรื่องนี้ก็ควรจะมีการเปิดเผยแพ็กเกจราคาถูกให้ประชาชนได้เห็น ไม่ใช่เกิดขึ้นจากการต่อรองระหว่างประชาชนกับค่าย
.
อีกทั้งในหนังสือยังมีข้อเรียกร้องให้ กสทช.ต้องตรวจสอบการให้ควบรวมอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะเรื่องการประชาสัมพันธ์ตามมาตรการเฉพาะของ กสทช.ที่ประชาชนเข้าถึงได้ยาก อีกทั้งหากพบเจอว่ามีการกระทำผิด ไม่เป็นมาตรการเฉพาะ หรือสร้างภาระให้กับประชาชน ก็อยากเสนอให้ใช้มาตรการทางกฎหมายดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจ
.
ชลดา บุญเกษม ตัวแทนผู้บริโภคกลาง หนึ่งในเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงเหตุผลในการเข้ายื่นหนังสือในครั้งนี้ว่า เกิดขึ้นจากการที่ไม่รู้ว่าจะหันไปพึ่งและขอความช่วยเหลือจากใคร จึงคิดว่า กสทช.ที่เป็นผู้กำกับดูแลมาตรการหลังจากการควบรวมธุรกิจจะรับฟังปัญหาของผู้บริโภคในวันนี้ และหวังว่าจะมีความเคร่งครัดและเข้มงวดมากยิ่งขึ้น รวมถึงจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับข้อมูลอย่างทั่วถึงเพิ่มเติมหลังจากนี้
.
นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภครายหนึ่งเล่าว่า ถูกบังคับให้เปลี่ยนแพ็คเกจอินเทอร์เน็ตอัตโนมัติจากค่าย โดยไม่มีการขอความยินยอมจากผู้ใช้บริการ มีเพียงแค่การส่งข้อความมาทาง SMS ของเบอร์โทรศัพท์ และเมื่อโทรศัพท์ติดต่อเจ้าหน้าที่ของค่ายเพื่อสอบถามว่า “หากไม่มีการยินยอมหรือปฏิเสธ ก็จะบังคับให้เปลี่ยนการเปลี่ยนแพ็กเก็จอินเทอร์เน็ตเลยใช่หรือไม่” ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการก็ตอบกลับมาเพียงสั้นๆ ว่า “ใช่”
.
ส่วนด้านตัวแทนจาก กสทช. ผู้รับยื่นหนังสือให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนระบุว่า หลังมีประเด็นและปัญหาหลังการควบรวมธุรกิจ ได้ตั้งอนุกรรมการติดตามและตรวจสอบการควบรวมไปแล้ว โดยหลังจากนี้ ปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนจะนำไปประชุมในอนุกรรมการต่อ และถ้ามีสาเหตุมาจากการควบรวมธุรกิจจริง ก็จะมีการดำเนินไปตามกฎหมาย โดยการประชุมเรื่องนี้จะเกิดขึ้นในวันที่ 27 ธันวาคม 2566
.
สำหรับเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะที่กำหนดขึ้นโดย กสทช. เพื่อลดผลกระทบต่อผู้บริโภค การแข่งขัน และอุตสาหกรรมโทรคมนาคม สำหรับการควบรวมธุรกิจของทรู-ดีแทค แบ่งออกเป็นหัวข้อต่างๆ ดังนี้
.
1. การกำหนดเพดานราคาของอัตราค่าบริการเฉลี่ยลดลง 12%
2. การกำหนดราคาค่าบริการ โดยใช้ราคาเฉลี่ยทางเศรษฐศาสตร์
3. การคงทางเลือกของผู้บริโภค ด้วยการให้ทรูและดีแทคเป็นแบรนด์ที่แยกจากกันเป็นระยะเวลา 3 ปี
4. ต้องคงไว้ซึ่งเงื่อนไขของสัญญาและข้อตกลงระหว่างบริษัทกับผู้ใช้บริการ
5. ต้องมีการประชาสัมพันธ์การให้บริการ ภายหลังการควบรวมธุรกิจ
.
#TheMomentum #StayCuriousBeOpen #กสทช #ควบรวมทรูดีแทค #กสทชมีไว้ทำไม #ทรู #ดีแทค #ควบรวม