วันเสาร์, ธันวาคม 23, 2566

กว่าจะพบ..สันติสุข การสลายตัวของ พคท. ฐานที่มั่นน่านใต้ บทเรียนจากอดีต

https://www.facebook.com/40Tula/posts/939365411242121?ref=embed_post
พายุฝนบนภูผาจิ ผาช้าง
December 2
·
กว่าจะพบ..สันติสุข (จบ)
การสลายตัวของฐานที่มั่นน่านใต้
เส้นทางสู่ สันติสุข
จันทนา ฟองทะเล
ปลายปี 2525 ฝ่ายนำ พคท.จังหวัดน่าน ประเมินว่าสถานการณ์สงครามเข้าสู่ภาวะ “ถอย” หรือ “สลายกำลัง” อย่างสมบูรณ์แล้ว
หน่วยงานทั้งหมดถอยร่นเข้าใจกลางฐานที่มั่น รวมทั้งหน่วยงานมวลชน
มาตรการรับมือที่นำมาใช้มี 3 ด้าน คือ
1 การอพยพ
2 การเจรจามอบตัว
3 การรักษากำลังบางส่วน
เบื้องต้นคือการอพยพประชาชนและทหาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวลัวะจากหมู่บ้านจุ 1 จุ 2 จุ 3 ซึ่งตั้งอยู่ใกล้พื้นที่สู้รบ ให้ย้ายเข้าไปทางฝั่งตะวันออก ชิดน้ำว้าและชายแดนลาวแขวงไซยบุรี
โดยบ้าน จุ 1 ย้ายไปที่สบน้ำหมาว
บ้านจุ 2 จากขุนห้วยลอย ลงไปที่บ้านห้วยลอยปัจจุบัน
บ้านจุ 3 ขยับลงใต้ ไปอยู่ริมน้ำว้า
หลังจากนั้นจึงมีการเจรจา มอบตัว วางอาวุธกับฝ่ายรัฐบาล โดยทหารและประชาชนชุดแรกเจรจามอบตัวเมื่อกลางปี พ.ศ. 2526
การยุติการรบและวางอาวุธ เกิดขึ้นทั่วทุกเขตของฐานที่มั่นจังหวัดน่าน (6 เขต) ซึ่งก็ถือว่า ปี พ.ศ.2526 เป็นช่วงเวลาการสลายตัวของฐานที่มั่นจังหวัดน่านทั้งหมด
ส่วนทหารและชาวบ้านชุดที่สองเจรจา วางอาวุธ ช่วงปี พ.ศ.2530 - 2531
ผลการเจรจา ชาวบ้านส่วนใหญ่ได้รับอนุญาตให้ตั้งหมู่บ้านและทำกินอยู่ในเขตฐานที่มั่นเดิม เช่นบ้านแม่สะนาน (ชาวบ้านจุ 1 เดิม)
บ้านดอนไพรวัลย์ (ชาวบ้านปฏิวัติ บ้านปางกบ เดิม) ในอำเภอสันติสุข
บ้านห้วยลอย (ชาวบ้านจุ 2 จุ 3 เดิม)
บ้านห้วยหมี (ชาวบ้าน 01 เดิม)
บ้านนาบง (ชาวบ้าน 02 เดิม)
บ้านผาสุข (ชาวบ้าน 03 เดิม)
บ้านห้วยล้อม (ชาวบ้าน 04 เดิม) อำเภอบ่อเกลือ
บ้านน้ำตวง บ้านกิ่วน้ำ (ชาวบ้านปฏิวัติเดิม) อำเภอแม่จริม
รวมทั้งบ้านมณีพฤกษ์ 1 2 3 ในอำเภอทุ่งช้าง
ส่วนทหารที่ไม่มอบตัวจากกองร้อย 302 303 304 ได้รวมกันเป็น “กองร้อยผสม” ติดอาวุธสงคราม ไปตั้งทัพอยู่ที่ชายแดนลาว โดยยังปฏิบัติตามคำชี้แนะให้คงกองกำลังติดอาวุธเพื่อป้องกันตนเองและเพื่อรักษาอำนาจต่อรองทางการเมือง
“กองร้อยผสม” ยังเคลื่อนไหวมวลชนอยู่บ้างแถบภูคา ผาแง่ม รอยต่ออำเภอปัว – บ่อเกลือ หรือระหว่างเขต 2 กับเขต 3 เดิมของฐานที่มั่นน่านเหนือ – น่านใต้ และยังมีการปะทะกับฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐบาลเป็นครั้งคราว
พ.ศ. 2535-2536 กองร้อยผสมสลายตัว โดยเจรจาต่อรองให้ตั้งหมู่บ้านในเขตฐานที่มั่นเดิมของเขต 6 (น้ำว้าตอนใต้) คือ บ้านสว่าง ตำบลหนองแดง อำเภอแม่จริมปัจจุบัน
เป็นกองกำลังชาวลัวะชุดสุดท้ายที่วางอาวุธ
การเคลื่อนไหวปฏิวัติในพื้นที่จังหวัดน่าน ก็เป็นอันยุติโดยเด็ดขาด
.......................
มีสิ่งที่ควรบันทึกไว้เพิ่มเติมดังนี้
การเคลื่อนย้ายคนออกจากน่าน กระทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2522 นอกจากทหารคนเมือง(ชาวเหนือ) ที่ย้ายไปเขตงานที่ราบเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง หรือย้ายจากน่านใต้ไปฐานที่มั่นเขต 7 (ผาจิ) บางส่วนยังเดินทางออกจากจังหวัดน่าน ซึ่งการเดินทางออกจากฐานที่มั่นน่านใต้ มี 2 ทางหลัก คือ ลงจากน่านผ่านอำเภอสันติสุข มาขึ้นรถที่ถนนสายน่าน-ท่าวังผา เข้าเมืองน่าน
อีกทาง คือทางอำเภอปัว แล้วเดินทางผ่านอำเภอเชียงคำ เข้าจังหวัดพะเยา
ผู้เดินทางออกจากจังหวัดน่าน ผ่านอำเภอเมืองน่าน จะต้องผ่าน “ด่านห้วยน้ำอุ่น” เขตอำเภอเวียงสา รอยต่อน่าน-แพร่ ซึ่งเป็นด่านขนาดใหญ่ มีการตรวจตราเข้มข้น
แต่ไม่เคยมีการจับกุมสหายที่ด่านห้วยน้ำอุ่นได้แม้แต่รายเดียว
กระทั่งเมื่อคืนวันที่ 25 มิถุนายน 2526
รถหน่วยเมล์จากน่านถูกตรวจค้น มีผู้ถูกจับทั้งหมด 8 คน
เป็นเจ้าหน้าที่หน่วยเมล์ของเขตงานน่าน 2 คน (ส.สิงขร และ ส.เล็ก อดีตนักศึกษา) และผู้ร่วมทางอีก 6 คน
ทราบชื่อ 3 คน คือ ส.ช้อย ชาวอีสานทหารกองร้อย 244 และ ส.นิด (ภรรยาชาวม้ง) ส.สิทธิ์(ชาวประจวบคีรีขันธ์) ทหารกองร้อย 309 หรือเขต 5 (สปัน ห้วยหมี ห้วยล้อม นาบง)
เป็นที่ทราบกันภายหลังว่า สาเหตุที่ถูกจับเพราะมี “ทหารป่าแปรพักตร์” รายหนึ่ง ร่วมตรวจตรากับเจ้าหน้าที่และชี้เป้า
ผู้ถูกจับทั้ง 8 คนทุกคนสาบสูญ คือไม่พบศพและไม่พบว่าถูกนำตัวไปกักขังไว้ที่ใด
แต่เมื่อปลายปี 2524 มีอดีตนักศึกษา 3 คน ถูกจับบนรถประจำทาง เส้นทางท่าวังผา-น่าน นายทหาร กอ.รมน.น่านระดับนายพัน รับตัวไปควบคุม ซึ่งผู้ถูกควบคุม ได้รับการปฏิบัติที่ดีมาก กระทั่งได้รับการปล่อยตัว
หลังจากนั้น คนต่างฝ่าย ต่างอุดมการ ได้พัฒนามิตรภาพที่ลึกซึ้งนั้นไปอีกยาวนาน มีการไปเยี่ยมยามหากันและช่วยเหลือกันราวกับเป็นสหายเก่า ตราบจนสิ้นชีวิต
จึงขออนุญาตเอ่ยนามนายทหารเหล่านั้นด้วยความคารวะและระลึกถึงไว้ ณ ที่นี้
พันเอก(พิเศษ) ผาสุก มานะวุฑฒ์
พันเอก(พิเศษ) สมมาตร สุคนธ์ปฏิภาค และ
พันตรีสมพร (ไม่ทราบนามสกุล)
ปัจจุบัน นายทหารทั้งสามและอดีตนักศึกษาที่ถูกจับอีก 2 คน เสียชีวิตหมดแล้ว
ที่สุดแล้ว
จึงควรกล่าวได้ว่า
“สันติสุข” สร้างขึ้นจากคนทุกฝ่าย
เพราะเงื่อนไขของ “สันติสุข”
คือการเคารพต่อความคิดและประวัติศาสตร์ของคนทุกฝ่าย
เพราะ “สันติสุข” จะสร้างขึ้นได้ก็จากความร่วมมือและด้วยความเข้าใจจากคนทุกฝ่าย
มิใช่ด้วยการบีบบังคับหรือเอาชนะโดยผู้คนฝายหนึ่งฝ่ายเดียว
.....................................
*ส.โค่น ส.สง่า ที่บ้านห้วยลอย ต.ภูฟ้า อ.บ่อเกลือ น่าน 2 ตุลาคม 2564
*ส.เอฟ แม่มาด ที่บ้านห้วยล้อม ต.ภูฟ้า อ.บ่อเกลือ น่าน 3 ตุลาคม 2564 (ส.เอฟ เสียชีวิตแล้ว)
*ส.ก้าว และ ส.สมพร (ภรรยา) ทหารลัวะ 303 ที่วางอาวุธชุดสุดท้ายเมื่อ พ.ศ.2535 ที่บ้านสว่าง ต.หนองแดง อ.แม่จริม น่าน 2 มกราคม 2564
*ส.เพียร ภรรยา ส.บ่เตื่อง ทหารลัวะ 303 ทำงานมวลชนที่ท่าวังผาปี 2523
* แตง สู้ หม่า ทหารบ้านและหมอบ้านชาวม้ง บ้านปฏิวัติ เขต 6 (เดิม) ที่บ้านน้ำตวง ต.หนองแดง อ.แม่จริม น่าน 2 มกราคม 2564
* ส.ชัย ทหารม้ง 315 สำนักครองชัย น่านใต้ สู้รบในยุทธการห้วยหลักลาย ได้รับบาดเจ็บสาหัส หลังสงครามได้กลับไปภูมิลำเนาเดิม ที่บ้านขุนกำลัง ต.ขุนควร อ.ปง พะเยา ได้พบปะกันเมื่อ 31 ธันวาคม 2559
บันทึกชิ้นนี้ ประมวลจากข้อมูลเอกสาร หนังสือ คำบอกเล่าของมิตรสหายหลายท่าน รวมทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐบางท่าน และชาวบ้านในพื้นที่
หากมีข้อมูลใดผิดพลาดคลาดเคลื่อน
ผู้บันทึกยินดีรับฟัง เพื่อปรับแก้ให้ถูกต้องต่อไป
......................................