วันจันทร์, พฤศจิกายน 06, 2566

โปรดฟังเสียงของพวกเรา!! ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญจากเยาวชน “Young Dream Constitution Camp: ค่ายเยาวชนร่างฝันรัฐธรรมนูญ” ต่อพรรคการเมือง


คบเพลิง
5d·

โปรดฟังเสียงของพวกเรา!!
 
ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญจากเยาวชน “Young Dream Constitution Camp: ค่ายเยาวชนร่างฝันรัฐธรรมนูญ” ต่อพรรคการเมือง

เมื่อวันที่ 26-27 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา กลุ่มคบเพลิง (The Torch) ได้จัดกิจกรรม “Young Dream Constitution Camp: ค่ายเยาวชนร่างฝันรัฐธรรมนูญ” โดยกิจกรรมนี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนก้าวหน้า โดย Common School มูลนิธิคณะก้าวหน้า เพื่อระดมเยาวชนจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเข้าร่วมกิจกรรม โดยมีวัตถุประสงค์คือการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญ สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญ และที่สำคัญคือนำมาสู่การจัดทำข้อเสนอต่อพรรคการเมืองเพื่อไปผลักดันในสภา

โดยโครงการนี้ได้รับความอนุเคราะห์การให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ กระบวนการแก้ไข และปัญหาของกระบวนการ โดยทีมวิทยากรจากโครงการอินเทอร์เน็ตกฎหมายเพื่อประชาชน (iLaw) และความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ วิธีการรณรงค์ เครื่องมือการรณรงค์ พร้อมกับการลงมือออกแบบการรณรงค์ และการระดมข้อเสนอจากทีมกลุ่มคบเพลิง

เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว ถึงแม้พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งเป็นลำดับที่ 1 และสามารถรวบรวมเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (2560) ที่ให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ลากตั้งมีอำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีทำให้ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ทำให้พรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลและโดยการรวบรวมเสียงจากพรรคการเมืองต่างๆ จนตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม คำมั่นสัญญาของพรรคเพื่อไทยคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราจึงขอเสนอจากการรวบรวมความเห็นของเยาวชน ดังนี้

1. ผู้เข้าร่วมอยากให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน 100% เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความยึดโยงกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยสูงสุดของประเทศ

2. ผู้เข้าร่วมอยากให้การร่างรัฐธรรมนูญต้องคำนึงถึงความหลากหลายทางเพศเป็นสำคัญ ไม่ใช่ให้ความสำคัญเพียงสองเพศเท่านั้น

3. ผู้เข้าร่วมอยากให้รัฐธรรมนูญมีการกำหนดเรื่องการกระจายอำนาจอย่างชัดเจน เพิ่มอำนาจในการบริหารจัดการมากขึ้น ให้อำนาจในการจัดเก็บภาษีของตนเอง มีสภาของท้องถิ่นที่เข้มแข็งเพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุล และเมื่อท้องถิ่นมีความเข้มแข็งจึงจะสามารถตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
4. ผู้เข้าร่วมอยากให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง เพื่อให้เกิดการแข่งขันในการพัฒนาพื้นที่

5. ผู้เข้าร่วมอยากให้การร่างรัฐธรรมนูญคำนึงถึงการรับบริการจากรัฐต้องมีพื้นฐานเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียม
 
6. ผู้เข้าร่วมอยากให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง เพื่อให้เกิดความยึดโยงกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยสูงสุดของประเทศ และมีวาระในการดำรงตำแหน่งเพียง 4 ปี เหมือนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และจำกัดอำนาจไม่ให้มีสิทธิในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

7. ผู้เข้าร่วมต้องการให้รัฐธรรมนูญระบุให้ชัดเจนเรื่องการเกณฑ์ทหารที่เป็นแบบบังคับ ให้เปลี่ยนไปใช้ระบบสมัครใจและมีสวัสดิการที่ดี

8. ผู้เข้าร่วมอยากให้การแก้รัฐธรรมนูญโดยตัวแทนประชาชนสามารถแก้ไขได้ทุกหมวดไม่มีการยกเว้น รวมหมวด 1 และหมวด 2 ที่มีคนบางกลุ่มไม่ต้องการให้สภาร่างรัฐธรรมนูญไปยุ่งเกี่ยว

ที่กล่าวมาทั้งหมดคือข้อเสนอจากผู้เข้าร่วมโครงการ Young Dream Constitution Camp: ค่ายเยาวชนร่างฝันรัฐธรรมนูญ จากเยาวชนมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ขอให้พรรคการเมืองทุกพรรคที่เห็นปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่เกิดจากความต้องการสืบทอดอำนาจ ช่วยกันผลักดันให้เสียงของประชาชนเป็นจริง โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่ให้คำมั่นสัญญากับประชาชนไว้