วันจันทร์, พฤศจิกายน 06, 2566

ฝันที่ไม่เป็นจริง ย้อนดูนโยบายด้านกองทัพของเพื่อไทย กับภารกิจสากกะเบือยันเรือรบของกลาโหม และ กอ.รมน.


สุทิน พลเรือนสุด ‘บิ๊ก’ กับภารกิจสากกะเบือยันเรือรบของกลาโหม และ กอ.รมน.

4 พ.ย. 66
ไทยรัฐพลัส

Summary
  • ย้อนดูนโยบายด้านกองทัพของเพื่อไทย เช่น ปฏิรูปกองทัพให้เป็นทหารอาชีพ ป้องกันการแทรกแซงการเมือง ลดงบประมาณกลาโหม และยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ถ้าบางนโยบายในจำนวนนี้เกิดขึ้นจริงได้ในทางปฏิบัติ คงเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของเพื่อไทย
  • สัญญาณที่ดีในรัฐบาลเพื่อไทยคือการให้พลเรือนที่ไม่ใช่นายกฯ คุมกระทรวงกลาโหม ซึ่งหากมองว่าการเมืองต้องนำการทหาร สุทิน คลังแสง พลเรือนที่ถูกนำหน้าด้วยคำว่า ‘บิ๊ก’ คือผู้มีอำนาจเหนือกองทัพ และทำให้เกิดการ ‘ปฏิรูป’ ในบางด้านได้
  • แต่สิ่งนั้นอาจเป็นฝันที่ไม่เป็นจริง จากสองเหตุการณ์ หนึ่ง - กรณียืนยันไม่ยุบ กอ.รมน. หน่วยงานกลไกทหารอำนาจครอบจักรวาล และสอง - เรือดำน้ำ มลทินแห่งความสิ้นเปลืองจากยุครัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้ของไม่มาตามสัญญา แต่ยังเดินหน้าต่อตามข้อเสนอเปลี่ยนเป็นเรือฟริเกตของกองทัพเรือ
หากย้อนไปช่วงหาเสียงเลือกตั้ง หนึ่งเหตุผลที่ทำให้ก้าวไกลได้คะแนนมหาศาล คือความชัดเจนว่า ‘มีเรา ไม่มีลุง’ รวมทั้งมีปฏิรูปด้านต่างๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า พรรคเพื่อไทยเอง หากมองย้อนไปถึงการทำหน้าที่ฝ่ายค้านในรัฐบาลชุดที่แล้ว จนถึงช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ก็ถือว่ามีจุดยืนหลายอย่างไม่ต่างกับก้าวไกล คือต้องการล้างมรดก คสช. ที่ทิ้งไว้ตั้งแต่การรัฐประหาร ทั้งอำนาจของกองทัพที่แฝงอยู่ในองคาพยพต่างๆ รวมทั้งรัฐธรรมนูญ 2560

หลังเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นอกจาก ‘ปัญหาปากท้อง’ ที่ท่องเป็นคาถาว่าต้องมาก่อนภาระอื่นใด ประชาชนก็ยังมีความหวังเล็กๆ ว่า เพื่อไทยคงไม่บอกว่า สิ่งที่หาเสียงไว้ทุกอย่างเป็นเพียงคำโฆษณา หรือเทคนิคที่ให้ได้มาซึ่งผลคะแนนไปเสียทั้งหมด โดยเฉพาะนโยบายเกี่ยวกับทหารและกองทัพ

หากเพื่อไทยยืนยันว่า เป็น ‘ผู้ถูกกระทำ’ ตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทยและพลังประชาชน โดยเฉพาะการถูกรัฐประหารสองครั้ง และ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่ ก็ย้อนย้ำถึงอดีตว่า “พรรคไทยผ่านอะไรมามาก และเป็นพรรคการเมืองที่ถูกกระทำมากที่สุดในประเทศไทย” ประชาชนก็ยิ่งมีความหวังว่า การปฏิรูปกองทัพจะต้องเป็นหนึ่งในธงสำคัญของเพื่อไทย ไม่ให้เป็นหอกข้างแคร่มาทิ่มแทงอีกครั้ง

ย้อนดูนโยบายด้านกองทัพของเพื่อไทย เช่น ปฏิรูปกองทัพให้เป็นทหารอาชีพ ป้องกันการแทรกแซงการเมือง ลดงบประมาณกลาโหม และยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ถ้าบางนโยบายในจำนวนนี้เกิดขึ้นจริงได้ในทางปฏิบัติ คงเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของเพื่อไทย
 

สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ก้าวแรกที่น่าสนใจของเพื่อไทย คือการให้พลเรือนอย่าง สุทิน คลังแสง ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ไม่ธรรมดา กับการให้พลเรือนที่ไม่ใช่ระดับนายกรัฐมนตรีขึ้นมามีอำนาจเหนือกองทัพ

ในอดีต พลเรือนที่เป็นรัฐมนตรีกลาโหม มักจะมีตำแหน่งนายกฯ พ่วงติดมา นัยหนึ่งก็คือป้องกันการยึดอำนาจ ด้วยการเอาผู้มีอำนาจมากที่สุดในรัฐบาลมาคุมด้วยตนเอง ทั้ง ชวน หลีกภัย, สมัคร สุนทรเวช และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

แต่แล้วนายกฯ ยิ่งลักษณ์ก็โดนรัฐประหาร จากการกดดันของ กปปส. จนยิ่งลักษณ์ไม่รู้จะถอยยังไง สุดท้าย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยึดอำนาจ ทำให้ยุคทหารเป็นใหญ่กลับมาอีกครั้ง

ดังนั้น การให้สุทินมานั่งรัฐมนตรีกลาโหม จึงเป็นสัญญาณว่า กองทัพในยุครัฐบาลพลเรือนจะต้องไม่เหมือนยุคที่ผู้นำมียศทหาร ยุคสมัยแห่งการปฏิรูปอาจกำลังเกิดขึ้นก็ได้

แต่เอาเข้าจริง กองทัพก็ดูเหมือนจะยังเป็นสิ่งแตะต้องมิได้ - หรืออาจจะได้บ้าง แต่ก็ยากเหลือทน - คำว่าปฏิรูปที่เคยพูดๆ กัน ถูกตอกย้ำด้วยถ้อยคำของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ว่า “ไม่อยากใช้คำว่าปฏิรูป แต่เป็นการพัฒนาร่วมกัน” ซึ่งโดยความหมายแล้ว สองคำนี้อาจมีความหมายไม่ไกลกันมาก แต่นัยของการประนีประนอม คำว่า ‘พัฒนาร่วมกัน’ ย่อมมีมากกว่า เพราะเป็นไปได้ว่า รัฐบาลพลเรือนจะไม่ไปก้าวก่ายปรับโครงสร้างภายในของกองทัพให้เปลี่ยนไปจากเดิม

ทั้งนี้ การพึ่งพิง สว. จากสายพลเอกประยุทธ์ในการโหวตนายกฯ เศรษฐา ก็เป็นเพียงสมมติฐานหนึ่งประกอบการวิเคราะห์เท่านั้น

ส่วน สุทิน คลังแสง กล่าวถึงแนวทางการทำงานของกองทัพในยุคใหม่ว่า “กองทัพจะต้องออกมามีบทบาทในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาสังคมพัฒนาชุมชน การพัฒนาจะต้องนำการรบ ท่านจะเห็นทหารออกมาช่วยพวกเราทำถนนหนทาง บ่อน้ำ เหมืองฝาย มาช่วยแก้ภัยพิบัติภารกิจที่ทำกับประชาชน”

ภารกิจสากกะเบือ กอ.รมน. อยู่ยั้งยืนยง

บทบาทของทหารจากคำพูดของรัฐมนตรีกลาโหม ฟังแล้วมีจุดน่าสนใจไม่น้อย เพราะทั้งหมดนั้นแทบไม่ใช่งานของทหารอาชีพ แต่เป็นภารกิจที่มีหน่วยงานพลเรือนรองรับ ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนของการทำงาน ว่าทำไมทหารต้อง ‘เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว’ ทั้งๆ ที่หน่วยงานพลเรือนก็ทำอะไรๆ เองได้ จนหลายคนอดเติมสร้อยห้อยท้ายคำโฆษณากองทัพว่า ทหารไทยเป็นได้ทุกอย่าง…ยกเว้นทหารอาชีพ

ภารกิจหลากหลายคือสิ่งที่อยู่ในแผนปฏิบัติการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติของ กอ.รมน. หรือกองอำนวยรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หน่วยงานที่กำลังถูกตั้งคำถามอยู่ว่า ควรมีอยู่ หรือยุบทิ้ง

ในเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ระบุถึงภารกิจของ กอ.รมน. ไว้ว่า มีทั้งการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ การหลบหนีเข้าเมือง การบรรเทาสาธารณภัย การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การพัฒนาประเทศ การรักษาความมั่นคง

นอกจากนี้ กอ.รมน. ยังถูกเรียกว่าเป็น ‘รัฐซ้อนรัฐ’ ที่นอกจากมีภารกิจซ้ำซ้อน โครงสร้างของ กอ.รมน. ยังเกี่ยวกับทั้งรัฐบาลและกองทัพ เพราะ นายกฯ เป็น ผอ.รมน. โดยตำแหน่ง ส่วน ผบ.ทบ. เป็น รอง ผอ.รมน.

โครงสร้างของ กอ.รมน. ไม่ได้มีแค่ส่วนกลาง แต่ยังขยายไปทุกจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น ผอ.รมน. จังหวัด ซึ่งมีภารกิจปลีกย่อยมากมาย

ย้อนไปเมื่อการอภิปรายงบประมาณปี 2565 จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล กล่าวในการอภิปรายว่า ควรยุบ กอ.รมน. เพราะเป็นสุดยอดหน่วยงานอัจฉริยะ “ทำได้ทุกอย่าง สากกะเบือยันเรือดำน้ำ”

คำเปรียบนี้ดูเหมือนประชดประชัน แต่ก็ไม่เหนือจริงไปนัก เพราะ กอ.รมน. อาจไม่ได้แจกสากกะเบือโดยตรง แต่ กอ.รมน. ก็เคยมอบเครื่องโม่น้ำพริกให้ชาวบ้านจังหวัดหนึ่ง พร้อมให้ความรู้หลักเศรษฐกิจพอเพียง

กอ.รมน. ถูกวิจารณ์ว่า มีที่มาจากโจทก์เก่าโบร่ำโบราณเรื่องคอมมิวนิสต์ เมื่อไม่มีคอมมิวนิสต์ กอ.รมน. ควรยุบทิ้งมากกว่าหาภารกิจเสริม แปะคำว่า ‘เพื่อความมั่นคง’ เข้าไป แล้วใช้งบประมาณปีละหลักพันล้าน เช่น งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ของ กอ.รมน. อยู่ที่ 7,772,273,500 บาท ซึ่งเมื่อรวม 10 ปี หลายคนเห็นตัวเลข 100,274,700,800 บาท ที่แชร์กันบนโลกออนไลน์ก็ได้แต่เอามือทาบอก
 
กอ.รมน. จักรกลกองทัพ องค์กร ‘รัฐซ้อนรัฐ’ ทั้งซ้ำซ้อน และเปลืองงบ

แม้จะมีการยื่นร่างกฎหมายเพื่อยุบ กอ.รมน. แต่ กอ.รมน. ก็เบาใจได้ เศรษฐา ทวีสิน ในฐานะผู้บังคับบัญชา ยืนยันแล้วว่า ไม่มีความคิดยุบ กอ.รมน. ด้วยเหตุผลว่า

1. พรรคเพื่อไทยไม่มีนโยบายยุบ กอ.รมน.ในการหาเสียง และการยุบ กอ.รมน.ก็ไม่อยู่ในนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา

2. แต่พรรคเพื่อไทย และรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยมีความประสงค์และความปรารถนาที่จะทำกองทัพให้ทันสมัย สอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และในส่วนของ กอ.รมน. นั้น เราตระหนักดีว่าบทบาทการปราบปรามศัตรูของรัฐในยุคสงครามเย็นได้จบลงแล้ว

บัดนี้ ในยุคของรัฐบาลพลเรือน จะทำให้ กอ.รมน. มีบทบาทในการเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงทางประชาธิปไตย ปกป้องสิทธิ เสรีภาพของประชาชน และในยามวิกฤติก็พร้อมช่วยเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประชาชนด้วย

3. พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลนี้เชื่อในเรื่องการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ท่ามกลางความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาเกือบ 20 ปี ยืนยันไม่เลือกหนทางที่จะหักโค่นทำลายกันและกัน แต่จะเลือกวิธีประสานแนวคิด วิธีการทำงานให้เป็นคุณต่อประชาชน เพราะตระหนักดีว่าความต่อเนื่องของการเมืองในระบอบการเลือกตั้งคือหัวใจของประชาธิปไตยที่ยั่งยืนและสันติที่สุด

4. ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่เป็นแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย หาเสียงและขอฉันทามติจากเสียงของประชาชนและรัฐสภา ไม่ใช่หุ่นเชิดของใคร โปรดอย่าดูหมิ่นประชาชน


เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.รมน.

ส่วน สุทิน คลังแสง ก็ให้ยืนยันหลักการเดียวกับเศรษฐา คือไม่ยุบ เพราะ กอ.รมน. เป็นหน่วยงานสำคัญที่ทำงานบูรณาการกับส่วนราชการต่างๆ และการขับเคลื่อนนโยบายหลายๆ อย่างก็ทำได้ดีเมื่อผ่านกลไก กอ.รมน. ส่วนการทำงานจะซ้ำซ้อนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับผู้บริหารจะเลือกใช้งานมากกว่า

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีกลาโหมจากพรรคเพื่อไทยบอกว่า อาจมีการปรับบางภารกิจ ลดสิ่งที่ซ้ำซ้อนลง เน้นสนับสนุนความมั่นคงต่างๆ ของประเทศ เช่น เศรษฐกิจ วัฒนธรรม คุณภาพชีวิต

ที่สำคัญคือ "ไอโอสามารถทำได้ แต่ต้องสร้างสรรค์ เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศและกองทัพ แต่ถ้าเป็นไอโอที่ไปทำร้ายกันหรือด้อยค่า ขยายความขัดแย้ง ได้กำชับว่าอย่าทำ”

และสุทินยังฝากไปถึงพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นผู้ยื่นร่างกฎหมายยุบ กอ.รมน. ว่า หากก้าวไกลเป็นรัฐบาลจะกล้ายุบหรือไม่ คนยังไม่เป็นรัฐบาลก็พูดได้ เพราะมีปัจจัยหลายเรื่อง บางเรื่องพูดได้ บางเรื่องก็พูดไม่ได้

เมื่อฟังความเห็นจากรัฐมนตรีสุทิน พลเรือนผู้ถูกใส่คำว่า ‘บิ๊ก’ นำหน้า อาจสรุปภาพอนาคตให้เห็นได้คร่าวๆ คือ หนึ่ง - ความหวังปฏิรูปกองทัพคงไม่เกิดขึ้น และรายละเอียดเรื่องการลดกำลังพลก็ยังไม่ชัดเจน สอง - กอ.รมน. ‘ยังมีความจำเป็น’ ในภารกิจต่างๆ ของรัฐบาล

ดังนั้น ความหวังที่พลเรือนจะรื้อโครงสร้างกองทัพให้ ‘ทหารเป็นทหาร’ - ไม่ต้องเป็นทุกอย่างให้เราก็ได้ น่าจะยังไม่เกิดในรัฐบาลชุดนี้

ภารกิจเรือรบ - ที่หมายถึงเรือรบจริงๆ

แรกเริ่มเดิมที โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำของไทยเกิดขึ้นในสมัย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยรัฐบาลขณะนั้นให้เหตุผลถึงความจำเป็น ว่าเป็นเรื่องของความมั่นคงทางทะเล และเพื่อให้เพื่อนบ้านเกรงใจ

ประโยคต้นทางที่แสดงความสัมพันธ์ของการมีเรือดำน้ำและความเกรงอกเกรงใจ เกิดขึ้น เมื่อ 7 กรกฎาคม 2558 ในประโยคคำตอบของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงความจำเป็นในการจัดซื้อเรือดำน้ำ S26T แบบ 039 B หรือ 041 ชั้นหยวน (Yuan-class) จำนวน 3 ลำ ด้วยงบประมาณ 36,000 ล้านบาท

ขณะนั้นไทยเป็นลูกค้ารายแรกของจีน ซึ่งเพิ่งผลิตเรือดำน้ำส่งออกไม่นาน โดยลำแรกจีนจะส่งมอบให้ไทยปี 2566

"ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอน ถ้ามันซื้อได้ พิจารณาความจำเป็นที่ต้องซื้อไหม มีไว้เพื่ออะไร จะมีไว้เพื่อรบ หรือมีเพื่อไม่รบ มีเพื่อรบกับใคร หรือไม่รบกับใคร จะเอาไว้ที่ไหน ทะเลอ่าวไทยทะเลเดียวหรือไง ทะเลอันดามันมีไหม จำเป็นต้องไปพิทักษ์ปกป้องทรัพยากรทางทะเลไหม” ก่อนจะสรุปรวบยอดถึงความจำเป็นของเรือดำน้ำว่า

"ไม่ได้มีเพื่อไปรบไปยิงใคร มีไว้ให้เกรงใจ วันหน้าจะรักษาการเดินเรืออย่างไร รักษาเส้นทางการประมงอย่างไร ก็เห็นอยู่ว่าทะเลอื่นเขาก็มีปัญหากันอยู่ วันหน้าเราจะไม่มีปัญหาหรือไง มันเป็นการแสดงศักยภาพแค่นั้นเอง แล้วมีไม่ใช่ว่าจะใช้วันนี้ ผ่อนกันไม่รู้อีกกี่ปี กว่าจะผ่อนเสร็จ เรือผุไปหมดแล้ว"

คีย์เวิร์ดสำคัญของเรือดำน้ำ Yuan-class จากจีน คือ มีไว้ให้เกรงใจ และแสดงศักยภาพเท่านั้น

เรือดำน้ำอาเซียน ของมันต้องมี…จะได้เกรงใจกันบ้าง

ย้อนไปปี 2563 พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นฝ่ายค้าน ก็ค้านการซื้อเรือดำน้ำสุดฤทธิ์ เพราะเป็นการใช้เงินฟุ่มเฟือย เช่น ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ กล่าวว่า นายกฯ มองแต่เรื่องความมั่นคง ไม่เข้าใจบริบทเศรษฐกิจ ใครจะเป็นจะตายไม่สนใจ มองข้ามความอดอยากชาวบ้าน รักเรือดำน้ำมากกว่าประชาชน การบริหารประเทศคิดแต่จะแจกเงิน แต่หาเงินไม่เป็น เอาภาษีประชาชนมาแจก แล้วมาทวงบุญคุณ หากบริหารประเทศแบบนี้ใครก็บริหารได้

ผ่านไปหลายปี แม้มีการลงนามจัดจ้างให้รัฐวิสาหกิจของจีนดำเนินการต่อเรือให้แล้ว ก็ยังมาพบกับอุปสรรคสำคัญคือ ของที่สั่งมีแต่เรือ ไม่มีเครื่อง เพราะเยอรมนีไม่ยอมขายเครื่องยนต์ให้บริษัทผู้ผลิตของจีน จึงมีความเป็นไปได้ว่า การมีเรือดำน้ำไว้ให้เกรงใจของไทยจะจบที่การใช้ของ made in China ทั้งเรือและเครื่องยนต์


มหากาพย์เรือดำน้ำดำผุดดำว่ายมาถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน เมื่อเรือที่สั่งไว้ไม่ได้ตามกำหนด แถมถ้ามา คือมีแต่เรือ ไม่มีเครื่อง เพราะเรือดำน้ำที่ไทยสั่งจะใช้เครื่องยนต์ดีเซล MTU 396 จากบริษัท Motor and Turbine Union ของเยอรมนี เป็นตัวเดินเครื่องจ่ายไฟของเรือ แต่เยอรมนีไม่สามารถส่งเครื่องยนต์ไปยังจีนได้ เพราะว่าเครื่องยนต์จะถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศและประโยชน์ทางทหาร ซึ่งเป็นข้อห้ามที่สหภาพยุโรปประกาศใช้ตั้งแต่ปี 1989 หลังเกิดเหตุสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน และมีรายงานว่า จีนก็ไม่ได้ขอหรือประสานงานกับเยอรมนี ก่อนที่จะลงนามในสัญญากับประเทศไทย

หลายคนจึงตั้งคำถามกันว่า ตอนที่จีนรับประกอบเรือตามสเปก จีนไม่รู้ล่วงหน้าหรือว่าต้องใช้เครื่องจากเยอรมนี ซึ่งมีข้อจำกัดด้านการส่งออกมาจีน รวมถึงทางการไทยเอง ทั้งกองทัพเรือและรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จะยอมต้องเสียเงินหลักหมื่นล้านโดยไม่มองเห็นจุดบอดนี้จริงๆ หรือ

เรื่องเรือดำน้ำเป็นเหมือนรอยมลทินใหญ่ในยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ กับข้อกล่าวหาใช้งบฟุ่มเฟือย และล่าสุดกลายเป็นข่าวครึกโครมในรัฐบาลเศรษฐา และรัฐมนตรีกลาโหมสุทิน หลังมีความแน่นอนแล้วว่า เรือดำน้ำสเปกที่ไทยอยากได้มาสร้างบารมีให้เพื่อนบ้านเกรงใจนั้น คงไม่มีทางมาเทียบท่าไทยแล้ว โดยสุทินยืนยันว่า "ทางที่จะได้เครื่องยนต์ใหม่ของเยอรมันน่าจะปิดสนิทแล้ว"
 
เรือดำน้ำเมดอินไชน่า ทำไมไทยต้องเป็นหนูทดลองใช้เครื่องยนต์ที่จีนเองก็ยังไม่ใช้
ไทยซื้อเรือดำน้ำจีน เจรจากันอย่างไร ถึงตกเป็นเบี้ยล่างขนาดนั้น

มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลไม่ควรแบกรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในยุคพลเอกประยุทธ์มาเป็นภาระบนไหล่บ่า เพราะหากมองว่าจีนไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลง เราก็น่าจะมีสิทธิยกเลิก เรียกเงินมัดจำ 7,000 ล้านคืน แล้ว กลับมาทบทวนเรื่องความจำเป็นของการใช้เงิน ว่ายังต้องสร้างความเกรงใจด้วยเรือดำน้ำหรือเปล่า รวมทั้งงบประมาณที่ตั้งไว้สนับสนุนภารกิจเรือดำน้ำ 8,732 ล้านบาท เช่น ท่าจอดเรือพี่เลี้ยง โรงเก็บทุ่นระเบิด โรงเก็บตอร์ปิโด ระบบสื่อสาร ค่าฝึกอบรมบุคลากร ว่าควรจัดการอย่างไร

ประเด็นที่น่าสนใจคือ จีนเสนอเครื่องยนต์ CHD 620 ที่จีนพัฒนาและผลิตเอง ให้กองทัพเรือไทยแทน แต่เครื่องยนต์ CHD 620 เป็นเครื่องที่แม้แต่เรือจีนยังไม่ใช้ การนำมาดัดแปลงอาจเกิดปัญหา ทางออกคือ ไทยอาจต้องเปลี่ยนเป็นเรือชนิดอื่น ซึ่งรัฐมนตรีกลาโหม สุทิน คลังแสง ยังคงเดินหน้าตามหลังพี่ใหญ่จีน เพราะนอกจากจะไม่ยกเลิกสัญญาและข้อตกลง พลเรือนสุด ‘บิ๊ก’ ยังบอกว่า

“ไม่ได้มองว่าจีนผิดสัญญา แต่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงมากกว่า เพราะเป็นเรื่องของจีทูจี”


เรือฟริเกต เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช

การกำขี้อาจดีกว่ากำตด หากไม่เปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์เรือดำน้ำเป็น made in China กองทัพเรือมีข้อเสนอมายังกระทรวงกลาโหมสองแนวทาง คือขอเปลี่ยนเป็นเรือฟริเกต หรือไม่ก็เรือตรวจการณ์ชายฝั่ง โดยความเป็นไปได้คือเรือฟริเกต เพราะสามารถทดแทนเรือดำน้ำได้ ต่อสู้ได้ 3 มิติ ทั้งทางอากาศ ผิวน้ำ และใต้น้ำ สุทินอธิบายสรุปแบบไม่ยากว่า “พูดง่ายๆ ว่าเอาฟริเกตมาปราบเรือดำน้ำ"

แต่การจะเปลี่ยนจากเรือดำน้ำลำแรกเป็นเรือฟริเกต ไม่ใช่แค่พูดคุย แก้ไขตัวหนังสือ เซ็นชื่อ จบ เพราะเรือฟริเกตนั้นราคาประมาณลำละ 14,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเรือดำน้ำลำแรกที่ตกลงกันไว้ราว 13,000 บาท เท่ากับ ไทยต้องจ่ายส่วนต่างเพิ่มอีกราว 1,000 ล้านบาท

สุทินยอมรับว่า ที่ไม่ยกเลิกสัญญา เพราะจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หากผิดใจกับจีนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อาจเสียผลประโยชน์ด้านอื่นๆ และยืนยันไทยไม่เสียเปรียบแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามถึงกลาโหมและกองทัพเรือว่า ความจำเป็นของไทยที่ต้องมีเรือฟริเกตเพิ่มอีกนั้นมีมากน้อยแค่ไหน เพราะขณะนี้ กองทัพเรือไทยมีเรือฟริเกต ซึ่งเป็นเรือรบหลัก ประจำการอยู่แล้ว 5 ลำ คือ เรือตากสิน เรือนเรศวร เรือกระบุรี เรือสายบุรี และเรือภูมิพลอดุลยเดช โดย 4 ลำแรกต่อที่จีน ส่วนเรือหลวงภูมิพลต่อที่ปูซาน เกาหลีใต้ ดังนั้น ซึ่งหากไทยจะมีคำสั่งซื้อเรือฟริเกตจากจีนจริง ก็อาจไม่ใช่ของแปลกปลอมสำหรับกองทัพเรือ

ส่วนความคืบหน้าว่าข้อสรุปสุดท้าย ว่าความฝันถึงเรือดำน้ำจะกลายเป็นเรือฟริเกตจริงหรือไม่ ต้องรอทางการจีนพร้อม และไทยจะตั้งคณะเจรจาพูดคุย โดยอาจได้พบปะกันเบื้องต้นก่อนในงานแสดงยุทโธปกรณ์ Defense & Security 2023 ที่อิมแพค เมืองทองธานี ช่วงวันที่ 6-9 พฤศจิกายน ซึ่งมีบริษัทต่อเรือจีนมาร่วมงานด้วย รวมทั้งอาจมีการพูดคุยนอกรอบในการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ที่อินโดนีเซียวันที่ 15-16 พฤศจิกายน