วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 16, 2566

Planet of the Apes ในสังคมไทย


โจ กอร์ดอน
12h·
ระบบความยุติธรรมที่ลำเอียง มันก็เหมือนจับเอาลิงมานั่งแป้น
.
Planet of the Apes ในสังคมไทย
.....
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
15h ·

กลไกพิเศษของสหประชาชาติระบุรัฐไทย “ควบคุมตัวโดยพลการ-ลิดรอนเสรีภาพ-ละเมิดสิทธิฯ” กรณี “ตะวัน” ถูกดำเนินคดี ม.112 จากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างสันติ
.
.
คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (UN Working Group on Arbitrary Detention:; UN WGAD) ซึ่งเป็นกลไกพิเศษภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ได้เผยแพร่ความคิดเห็นในกรณีของ “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักศึกษาและนักกิจกรรมวัย 21 ปี ผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ (A/HRC/WGAD/2023/49) ลงวันที่ 23 ต.ค. 2566 ในการประชุมครั้งที่ 97 ระหว่างวันที่ 28 ส.ค. – 1 ก.ย. 2566
.
คณะทำงานฯ ลงมติเห็นว่า การจับกุมตะวันเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2565 ขณะยืนไลฟ์สดก่อนมีขบวนเสด็จ และการคุมขังตะวัน เข้าข่ายเป็นการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ, การที่ตะวันไม่ได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีโดยเร็วและไม่ล่าช้าเกินสมควร เป็นการละเมิดสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม และการดำเนินคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญาของไทย กับตะวันเป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก
.
ย้อนไปเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนโดยความยินยอมของลูกความ ยื่นคำร้องเร่งด่วน (an urgent appeal) ต่อคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ เพื่อรายงานกรณีของตะวันและ “แบม” อรวรรณ ซึ่งยื่นถอนประกันตัวเอง เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2566
.
เอกสารเผยแพร่ของคณะทำงานฯ ระบุว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2566 คณะทำงานฯ ได้ส่งจดหมายระบุข้อกล่าวหาตามคำร้องไปยังรัฐบาล และขอให้รัฐบาลชี้แจงข้อมูลโดยละเอียดภายในวันที่ 10 ก.ค. 2566 เกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันและบทบัญญัติทางกฎหมายที่สมเหตุสมผลในการกักขังตะวัน ตลอดจนความสอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่รัฐไทยเป็นภาคี นอกจากนี้ คณะทำงานฯ ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลดูแลตะวันทั้งทางร่างกายและจิตใจอีกด้วย แต่รัฐบาลไทยก็ไม่ได้ตอบกลับจดหมายดังกล่าวแต่อย่างใด
.
คณะทำงานจึงได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากคำร้องและให้ความเห็นซึ่งสามารถสรุปได้เป็น 3 ประเด็น ดังนี้
.
ประเด็นที่ 1 การจับกุมตะวันโดยไม่มีหมายจับเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2565 และการคุมขังโดยไม่มีฐานทางกฎหมายรองรับ เป็นการควบคุมตัวโดยพลการ (Arbitrary Detention)
.
ในกรณีการจับกุมตัวตะวันโดยไม่มีหมายจับ เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2565 ขณะไลฟ์สดก่อนมีขบวนเสด็จ หน้าอาคารสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ (UN) ในประเทศไทย คณะทำงานฯ ได้ย้ำเตือนว่าการจับกุม คุมขัง โดยไม่มีฐานทางกฎหมายรองรับอย่างเพียงพอถือเป็นการควบคุมตัวตามอำเภอใจ การลิดรอนสิทธิและเสรีภาพจะต้องมีกฎหมายอนุญาตให้ทำได้ ซึ่งโดยทั่วไปการจับกุมจะต้องมีหมายจับ คำสั่งจับกุม หรือเอกสารอื่นที่เทียบเท่า
.
นอกจากนี้ การคุมขังหรือการจำคุกในรูปแบบใดๆ ควรได้รับคำสั่งหรืออยู่ภายใต้การควบคุมที่มีประสิทธิภาพของฝ่ายตุลาการหรือหน่วยงานอื่นภายใต้กฎหมาย ซึ่งคณะทำงานฯ พบว่าตะวันถูกปฏิเสธไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามหลักการในข้างต้น เป็นการละเมิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 3 และข้อ 9 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 9 (1)
.
แม้ตะวันจะได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2565 แต่เงื่อนไขในการประกันตัวของตะวันในขณะนั้นคล้ายกับการคุมขังในบ้าน โดยตะวันไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากเคหสถาน ยกเว้นยื่นคำร้องต่อศาลและได้รับการอนุมัติ, ต้องสวมอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) และถูกห้ามไม่ให้ออกนอกประเทศ ซึ่งคณะทำงานฯ พบว่าในสถานการณ์ดังกล่าว การคุมขังตะวันในบ้านเป็นการลิดรอนเสรีภาพตามอำเภอใจ
.
สุดท้ายนี้ ในการพิจารณาว่าการจับกุมและควบคุมตัวตะวันโดยที่ยังไม่ได้มีการพิจารณาคดี ภายใต้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นไปตามมาตรฐานสากลหรือไม่นั้น คณะทำงานฯ ระบุว่า มาตรา 112 มีความคลุมเครือและกว้างเกินไป โดยไม่ได้กำหนดว่าการแสดงออกประเภทใดที่เข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายสถาบันกษัตริย์ และปล่อยให้การตัดสินว่าการกระทำเป็นความผิดหรือไม่เป็นดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงไม่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ขัดกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 11 (2) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 15 (1)
.
คณะทำงานฯ จึงเชื่อว่าตะวันถูกควบคุมตัวตามกฎหมายที่ละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างชัดแจ้ง เป็นผลให้ไม่มีฐานทางกฎหมายในการกักขัง และการลิดรอนเสรีภาพของตะวันเป็นไปตามอำเภอใจ
.
ประเด็นที่ 2 การดำเนินคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามมาตรา 112 กับตะวันเป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก
.
คณะทำงานฯ พิจารณาว่า การถ่ายทอดสดและการโพสต์ของตะวันอยู่ภายในขอบเขตของการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งได้รับการคุ้มครองโดยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 19 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19 ซึ่งสิทธิดังกล่าวรวมถึงการแสดงออกทางความคิดและความคิดเห็นทุกรูปแบบที่สามารถถ่ายทอดไปยังผู้อื่นได้ รวมถึงวาทกรรมทางการเมือง ความเห็นเกี่ยวกับกิจการสาธารณะ และการแสดงออกทางวัฒนธรรมและศิลปะ
.
คณะทำงานฯ เห็นว่ารูปแบบในการแสดงออกในลักษณะที่ถูกพิจารณาว่าเป็นการดูหมิ่นบุคคลสาธารณะ ยังไม่เป็นเหตุผลที่ชอบธรรมมากเพียงพอให้ต้องกำหนดบทลงโทษทางอาญา บุคคลสาธารณะทุกคน ซึ่งรวมถึงบุคคลที่ใช้อำนาจทางการเมืองสูงสุด เช่น ประมุขแห่งรัฐและรัฐบาล ถือว่าอยู่ในตำแหน่งที่จำต้องรับคำวิพากษ์วิจารณ์ และการมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง หลักกฎหมายไม่ควรบัญญัติให้มีการลงโทษที่รุนแรงขึ้นเพียงเพราะสถานะหรือตัวตนของบุคคลซึ่งไม่อาจกล่าวหาได้
.
ภายใต้ข้อ 19 (3) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนด 3 ประการ คือ ข้อจำกัดต้องบัญญัติไว้ในกฎหมายซึ่งได้รับการออกแบบเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน ตามความจำเป็นและได้สัดส่วน ซึ่งรัฐบาลไทยไม่ได้แสดงให้เห็นว่าการจับกุม กักขัง และดำเนินคดีเป็นการตอบสนองที่จำเป็นและได้สัดส่วนต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบของตะวัน
.
การกระทำของตะวันถือเป็นการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์สาธารณะโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ว่ามาตรา 112 จะกำหนดให้การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์เป็นความผิดทางอาญา แต่กฎหมายไม่ได้ให้แนวทางว่าการกระทำเช่นใดบ้างที่ถูกจำกัด และส่วนสำคัญ คือ ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าพฤติกรรมของตะวันเป็นการยุยงให้เกิดความรุนแรงอย่างไร
.
คณะทำงานฯ ไม่คิดว่ามีความเป็นไปได้ที่การกระทำของตะวันอาจคุกคามสิทธิหรือชื่อเสียงของผู้อื่น, ความมั่นคงของชาติ, ความสงบเรียบร้อย, การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน และคณะทำงานฯ ตั้งข้อสังเกตด้วยความกังวลอย่างยิ่งถึงโทษจำคุกที่ไม่ได้สัดส่วนกับการใช้สิทธิขั้นพื้นฐาน
.
คณะทำงานฯ เห็นว่า การตั้งข้อกล่าวหาและการพิพากษาลงโทษตามมาตรา 112 สำหรับการใช้สิทธิโดยสันติไม่สอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
.
จากเหตุผลข้างต้น คณะทำงานฯ พบว่า การลิดรอนเสรีภาพของตะวันเกิดขึ้นโดยพลการ ขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 19 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19 ซึ่งคณะทำงานฯ จะส่งกรณีของตะวันไปยังผู้รายงานพิเศษด้านการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น (Special Rapporteur on the promotion and protection of the right to freedom of opinion and expression) เพื่อดำเนินการอย่างเหมาะสมต่อไป
.
ประเด็นที่ 3 การที่ตะวันไม่ได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีโดยเร็วและไม่ล่าช้าเกินสมควร เป็นการละเมิดสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (Right to a Fair Trial)
.
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 9 (3) และ 14 (3) (ค) ระบุว่า บุคคลที่ถูกจับกุมหรือคุมขังในข้อหาทางอาญาจะต้องมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีภายในเวลาอันสมควรและไม่ชักช้าเกินความจำเป็น ความสมเหตุสมผลของความล่าช้าในการนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาจะต้องได้รับการประเมินตามพฤติการณ์ของแต่ละคดี โดยคำนึงถึงความซับซ้อน ความประพฤติของผู้ถูกกล่าวหา และวิธีการจัดการของเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อคณะทำงานฯ พบว่าการกักขังตะวันเป็นไปตามอำเภอใจเนื่องจากเป็นผลมาจากการใช้สิทธิโดยสันติ ความล่าช้าในการดำเนินคดีของตะวันจึงไม่สมเหตุสมผล
.
แม้ตะวันจะได้รับการปล่อยตัวระหว่างการพิจารณาคดีแล้ว แต่รัฐบาลก็มีพันธกรณีที่จะต้องจัดให้มีการพิจารณาคดีโดยเร็ว ในการนี้ คณะทำงานฯ ตั้งข้อสังเกตว่า โจทก์ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่ทำให้การดำเนินคดีล่าช้าโดยไม่จำเป็น รวมทั้งไม่ตอบสนองต่อคำร้องของทนายฝ่ายจำเลย ทำให้เกิดความล่าช้า เมื่อพิจารณาปัจจัยดังกล่าวแล้ว คณะทำงานฯ พบว่ากำหนดการพิจารณาคดีในเดือนสิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นเวลามากกว่าหนึ่งปีครึ่งหลังจากการถูกจับกุมของตะวันนั้น ยาวนานจนไม่อาจยอมรับได้และเป็นการละเมิดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 9 (3) และข้อ 14 (3) (ค)
.
จากเหตุผลข้างต้น คณะทำงานฯ จึงสรุปว่า การที่ตะวันถูกละเมิดสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมนั้น เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การถูกลิดรอนเสรีภาพของตะวันมีลักษณะเป็นไปโดยอำเภอใจ
.
กรณีของตะวันเป็นหนึ่งในหลายกรณีที่ถูกเสนอต่อคณะทำงานฯ ในเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาซึ่งเกี่ยวกับการลิดรอนเสรีภาพของบุคคลโดยพลการในไทย คณะทำงานฯ ตั้งข้อสังเกตว่าหลายกรณีในไทย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 เป็นการตั้งข้อหาและดำเนินคดีภายใต้ความผิดอาญาที่ใช้ถ้อยคำคลุมเครือ ซึ่งโดยทั่วไปมีบทลงโทษที่หนัก ขาดฐานทางกฎหมาย และละเมิดกระบวนการทางกฎหมาย
.
ในตอนท้ายของเอกสารความคิดเห็น คณะทำงานฯ ยังได้ร้องขอให้รัฐบาลไทยดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ของตะวันโดยไม่ชักช้า และให้สอดคล้องกับบรรทัดฐานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และจะติดตามผลการดำเนินการของรัฐบาลไทยต่อไป
.
กลไกสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแสดงความห่วงใยถึงรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่องต่อการดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์
.
เป็นเวลากว่าทศวรรษที่กลไกติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติต่างแสดงความกังวลเกี่ยวกับการฟ้องร้องและการบังคับใช้ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์หรือมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญาในไทย และยังเรียกร้องให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ซ้ำแล้วซ้ำอีก
.
ความเห็นของคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการในกรณีของตะวันนี้ (A/HRC/WGAD/2023/49) เป็นกรณีล่าสุดรายที่ 10 ของไทย ซึ่งนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2555 คณะทำงานฯ พบว่าการลิดรอนเสรีภาพของบุคคล 10 รายที่ถูกควบคุมตัวภายใต้มาตรา 112 ถือเป็นการ “กระทำโดยพลการ” เนื่องจากฝ่าฝืนบทบัญญัติหลายบทของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) และ ICCPR ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี ผู้ต้องขัง 8 รายได้รับการปล่อยตัวหลังรับโทษจำคุก ขณะที่รายที่ 9 อัญชัน ปรีเลิศ ยังคงถูกคุมขัง หลังจากถูกตัดสินจำคุก 87 ปีในเดือนมกราคม 2564
.
.
อ่านความเห็นของคณะทำงานฯ:
https://www.ohchr.org/.../opinions-adopted-working-group...
.
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
https://tlhr2014.com/archives/61123
.
.
อ่านข่าวบนเว็บไซต์ : https://tlhr2014.com/archives/61479

.....
อานนท์ นำภา
10h
·
”การรับโทษไม่ใช่การรับผิด“
.
15 พฤศจิกายน 2566 ถึงปราณอิสรานนท์ลูกรัก
.
วันนี้ศาลฎีกามีคำสั่งยืนยันไม่ให้ประกันตัวพ่อถึงแม้ทนายความของเราจะยื่นถึงเหตุจำเป็นในหลายหลายเรื่องซึ่งที่จริงก็ไม่จำเป็นต้องมีเหตุอะไรเหล่านั้นก็ได้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด การให้ประกันตัว ควรเป็นสิทธิโดยทั่วไปการไม่ให้ประกันตัวพ่อไม่ได้เกินความคาดหมายอะไรสำหรับคดีการเมืองและนักโทษทางความคิดอย่างพ่อ พ่อให้ทนายความยื่นถอนประกันในคดีที่เหลือกว่า 20 คดีแล้วด้วยเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการต่อสู้
.
สิ่งที่กระทำต่อพ่อตอนนี้คือขั้นตอนการลงโทษและรับโทษหากแต่ไม่ใช่การรับผิด ไม่มีการสารภาพหรือยอมรับว่าการต่อสู้ของพ่อและเพื่อนเพื่อนเป็นความผิดอย่างเด็ดขาดการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่เมื่อปี 2563 มันเกิดจากการตื่นตัวและสำนึกทางการเมืองเกิดการตาสว่างของคนรุ่นใหม่ทั้งเจนเนอเรชั่น พวกเราเห็นปัญหาของบ้านเมืองและออกมาต่อสู้เพื่อให้ เกิดการเปลี่ยนแปลง ให้ได้มาซึ่งเสรีภาพและความเท่าเทียมมันไม่ใช่ความผิด ไม่จำเป็นต้องรับผิดและไม่ใช่การรับผิดแม้จะต้องรับโทษก็ตาม
กว่า 20 คดีของพ่ออาจต้องรับโทษมากกว่า 80 ปีแต่ไม่มีแม้แต่วันเดียวที่เป็นการรับผิด การติดคุกของพ่อเป็นการยืนยันว่าบ้านเมืองเรามีปัญหาและมีคนสู้อยู่ เราไม่ได้สู้เพียงลำพังตอนนี้มีผู้ต้องขังทางการเมืองกว่า 40 คนผู้ลี้ภัยและพี่น้องประชาชนยังสนับสนุนการต่อสู้อยู่
กว่าลูกทั้งสองจะเข้าใจคำพ่อว่าการรับโทษไม่ใช่การรับผิดจนกว่าพ่อจะได้รับอิสรภาพจากโทษซึ่งไม่มีความผิดลูกทั้งสองคงเติบโตและบ้านเมืองนี้คงเปลี่ยนแปลงไปไม่อาจเหมือนเดิมแล้ว
.
รักและคิดถึงลูกทั้งสอง
อานนท์ นำภา แดน 4