วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 09, 2566

“พวกเค้ามีธงอยู่แล้ว” ตัวแทนนักศึกษาคนหนึ่งกล่าวถึงการประชุมร่วมกับอนุกรรมการประชามติ

“พวกเค้าไม่ได้มาเอาความคิดเห็นพวกเราเท่าไร พวกเค้ามีธงอยู่แล้ว แค่ต้องการพูดว่าได้คุยกับตัวแทนนักศึกษา” ตัวแทนนักศึกษาที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุม กับอนุกรรมการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับแนวทางจัดทำประชามติ กล่าวอย่างระอา

เมื่อกรรมการที่มารับฟังนั้น “จะวนๆ อยู่ในเรื่องว่า สว.ไม่ต้องการจะแก้ไขหมวด ๑ และหมวด ๒ ไม่ต้องการให้เลือกตั้ง สสร. ๑๐๐% หากรัฐบาลจะเดินแนวทางนี้ก็กลัวว่าจะไม่สำเร็จ และจะไม่ได้ทำรัฐธรรมนูญใหม่” กลายเป็น “ผิดสัญญากับประชาชน”

กลุ่มนิสิตนักศึกษาเหล่านั้นประกอบด้วย ตัวแทนจาก แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม องค์การนักศึกษา มธ. สภานักศึกษา มธ. สภาเด็กและเยาวชน ตัวแทนนิสิตจุฬาฯ สภานักศึกษามหิดล  ตัวแทนจากรามคำแหง และจากเครือราชภัฏ

โดย นิกร จำนง พรรคชาติไทยพัฒนา โฆษกของคณะกรรมการฯ เป็นประธานการประชุม มีการแจกกระดาษคำถามให้พวกตัวแทนเขียนตอบ เสร็จแล้วเก็บคำตอบไป จากนั้นจึงเริ่มประชุมตามแนวคำถามที่ให้ตอบเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนหน้า

ไอลอว์ รายงานว่า คำถามข้อแรก “ท่านเห็นว่าสมควรจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่” มีคำตอบให้เลือก ๓ ข้อ ๑.จัดทำใหม่เกือบหมด ยกเว้นหมวด ๑ บททั่วไป และหมวด ๒ เกี่ยวกับกษัตริย์ ข้อนี้ทั้งแนวร่วมฯ องค์การ นศ. สภานักศึกษาธรรมศาสตร์

พร้อมด้วยสภาเยาวชนและตัวแทนนิสิตจุฬาฯ เห็นควรให้จัดทำใหม่ทั้งหมด ไม่มีข้อยกเว้น แต่ประธานการประชุมกลับแย้งว่า “ทางรัฐบาลต้องการที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 ซึ่งสอดคล้องกับการแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้”

ข้ออ้างก็คือ “หากให้แก้ไขได้ทุกประเด็นอาจจะไม่ผ่านความเห็นชอบของบางกลุ่ม เช่น สมาชิกวุฒิสภา” เช่นกันกับคำถามข้อ ๔ “สมควรจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด” หรือให้มีแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญผสมไปด้วย (๒๕ คน)

ข้อนี้นิกรก็แสดงความเห็นแย้งว่าเลือกตั้งทั้งหมด จะได้ตัวแทนไม่ครอบครัวทั้งหมด และอาจทำให้ “บางกลุ่มการเมืองได้รับที่นั่งมากจนเกินไป” เกิดเสียงค้านมากในสภา ตรงๆ ก็คือแบบพรรคก้าวไกลได้เสียงมากที่สุด แต่ สว.ตั้งด่านห้ามไปต่อ

ถึงอย่างนั้นพวกตัวแทนนักศึกษา มธ.ตอบว่า “ต่อให้เลือกตั้ง ๑๐๐% เราก็ยังสามารถออกเเบบให้มีความครอบคลุมในทุกกลุ่มคนได้ ที่สำคัญคือ ต้องรักษาหลักการว่า สสร.ต้องมาจากการเลือกตั้ง” ทั้งหมด จึงจะถูกต้อง

ทว่าสุดเศร้า รัฐบาลนี้ไม่ได้ใส่ใจกับการต้องตรงกับหลักการ แม้คำมั่นสัญญายังตระบัดสัตย์ได้ จึงเชื่อแน่เหมือนแช่แป้ง ว่าแม้คำถามประชามติ ก็จะมีทั้งบิดพริ้วและหมกเม็ด ให้ผลออกมาตามธงที่ตั้งไว้แล้ว นึกถึงประชามติครั้งก่อนเป็นอุทธาหรณ์

(https://ilaw.or.th/node/6684)