จากกรณีสาวผ่อนบ้าน มาดูอัตราดอกเบี้ย ‘เงินฝาก-เงินกู้’ ต่างกันอย่างไร?
5 พฤศจิกายน 2566
มติชนออนไลน์
จากกรณีสาวผ่อนบ้าน มาดูอัตราดอกเบี้ย ‘เงินฝาก-เงินกู้’ ต่างกันอย่างไร?
กรณีลูกค้าสาวผ่อนชำระค่าบ้านงวดล่าสุดเดือนพฤศจิกายน 2566 จำนวน 10,900 บาท ถูกหักเป็นดอกเบี้ย 10,894.5 บาท เงินต้น 5.50 บาท เหลือเงินต้นจำนวน 2,140,425.84 บาท ซึ่งสาเหตุที่โดนหักในส่วนของดอกเบี้ยสูง เนื่องจากเป็นสัญญากู้ที่เข้าสู่ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ยลอยตัว
ทำให้โลกออนไลน์พูดถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กันมากว่าเป็นอัตราที่สูง สวนทางกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำ
ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ อยู่ในอัตราดังนี้
1.กรุงเทพ 7.3000 %
2.กรุงไทย 7.5700 %
3.กสิกรไทย 7.3000 %
4.ไทยพาณิชย์ 7.3000 %
5.กรุงศรีอยุธยา 7.4000 %
6.ทหารไทยธนชาต 7.8300 %
7.ยูโอบี 8.8000 %
8.ซีไอเอ็มบี ไทย 9.2500 %
9.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 6.9000%
10.ธนาคารออมสิน 6.9950 %
สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์
1.กรุงเทพ* 0.45%
2.กรุงไทย 0.3 %
3.กสิกรไทย 0.3 %
4.ไทยพาณิชย์ 0.3 %
5.กรุงศรีอยุธยา 0.3 %
6.ทหารไทยธนชาต 0.125 %
7.ยูโอบี 0.35 %
8.ซีไอเอ็มบี ไทย 0.35 %
9.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 0.45 %
10.ธนาคารออมสิน 0.3 %
หมายเหตุ : ธนาคารกรุงเทพ กรณีเงินฝากสูงกว่า 10 ล้าน ดอกเบี้ย 0.55%
ในส่วนของดอกเบี้ยเงินฝาก ยกตัวอย่าง ฝากเงิน 10,900 บาท เป็นเวลา 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 0.30 ก็จะได้ดอกเบี้ยจำนวน 32.61 บาท
(สูตรคิดดอกเบี้ย = [(เงินต้น x อัตราดอกเบี้ย (%) x จำนวนวันที่ฝากในงวดนั้น) / จำนวนวันทั้งปี])
ดอกเบี้ยเงินฝากเกิน 20,000 บาท ต้องเสียภาษี 15%
อย่างไรก็ตามปัจจุบันถ้าหากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่เราได้รับ เกิน 20,000 บาท ธนาคารจะหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 15% ของดอกเบี้ยที่ได้ทันที แต่ถ้าดอกเบี้ยไม่เกิน 20,000 บาท ธนาคารจะไม่หักภาษี ณ ที่จ่าย
ภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก ขอคืนได้ไหม?
กรณีที่เราถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 15% จากยอดดอกเบี้ยที่เราได้รับนั้น เรามีสิทธิเลือกเอารายได้ดอกเบี้ยมายื่นภาษีประจำปี เพื่อขอคืนภาษีได้ ถ้าหากเรามีฐานภาษีไม่ถึง 15% ก็มีสิทธิได้คืนภาษี หรือถ้าหากเรามีฐานภาษีตั้งแต่ 15% ขึ้นไปก็สามารถปล่อยให้หักไป แล้วไม่ต้องเอามายื่นภาษีก็ได้ (คุ้มค่ากับเรามากกว่า)
ข้อมูล : ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
– อัตราดอกเบี้ยลอยตัวกระทบคนกู้บ้านอย่างไร? เช็กเรตล่าสุด 14 ธนาคาร