iLaw
1d
·
เข้าสู่เดือนพฤศจิกายน เป็นเดือนที่เป็นหมุดหมายสำหรับการพูดถึงการบังคับใช้มาตรา 112
รู้หรือไม่ว่า เดือนพฤศจิกายนมีความหมายอย่างไร ??
เราอยากรู้ว่า คำตอบนี้เป็นเพียงข้อมูลที่เรารู้กันเองไม่กี่คน หรือว่าทุกคนก็รู้กันอยู่ทั่วไป จึงลองมาถามทุกคน ให้ช่วยตอบกันหน่อย
มีช้อยส์ให้เลือกด้วย
พิมพ์ 1 ถ้าคิดว่า เดือนนี้ เป็นเดือนที่มีนัดหมายฟังพิพากษามากที่สุด
พิมพ์ 2 ถ้าคิดว่า เดือนนี้ เป็นเดือนที่เคยมีคำพิพากษาให้จำคุกหนักที่สุด
พิมพ์ 3 ถ้าคิดว่า เดือนนี้ เป็นเดือนที่เริ่มบังคับใช้ ม.112 ครั้งแรก
พิมพ์ 4 ถ้าคิดว่า เดือนนี้ เป็นเดือนที่นำม.112 กลับมาใช้ หลังหยุดไปช่วงหนึ่ง
หากใครรู้คำตอบอยู่แล้ว ช่วยตอบโดยกดพิมพ์มาในคอมเม้นต์เลย หรือถ้าไม่แน่ใจแต่พอจะเดาๆ ได้ ก็ลองช่วยกันเดามาหน่อย
ไม่ต้องกลัวผิดนะ เราจะได้เข้าใจว่า แต่ละคนรู้หรือคิดเห็นกันอย่างไรบ้าง
หรือถ้ารู้คำตอบแน่ๆ ชัดอยู่แล้ว ก็ช่วยกันเขียนอธิบายมาเลย แบ่งปันให้คนอื่นๆ ได้รู้ด้วย
.
ประมวลกฎหมายอาญา #มาตรา112 หรือข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ที่กำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนไว้ที่จำคุก 3-15 ปี ไม่มีโทษปรับ คือ ศาลจะลงโทษจำคุกน้อยกว่าสามปีไม่ได้ และจะลงโทษเป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้ กำลังเป็นข้อหาที่นำมาซึ่งความหวาดกลัวในการวิพากษ์วิจารณ์สังคมการเมืองไทย หลังมีคนถูกดำเนินคดีไปแล้ว 259 คน ใน 281 คดี ในช่วงเวลาสามปี โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประท้วงและผู้ที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล และช่วงเวลาปี 2563-2566 เป็นช่วงเวลาที่มีการดำเนินคดีมาตรา 112 สูงที่สุดในประวัติศาสตร์
แม้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับพรรคพวกที่ร่วมกันทำรัฐประหารจะไม่ได้อยู่ในอำนาจแล้ว และพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ แต่ก็ยังจับมือร่วมทางกันกับพรรคการเมืองที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้นำทางการเมืองคนสำคัญที่ในยุคสมัยของพวกเขามีการบังคับใช้มาตรา 112 อย่าหนักหน่วงและรุนแรง จนเกิดสถิติใหม่ๆ ขึ้นมากมาย และคดีความเหล่านั้นยังอยู่ระหว่างการพิจารณามาจนวันนี้
.
ในเดือนพฤศจิกายนนี้ เราจะมีกิจกรรมที่จะสอบถามความเข้าใจ และความคิดเห็นของทุกคนเกี่ยวกับประเด็นมาตรา 112 อีกมาก
และจะมีการจัดกิจกรรมที่ชวนทุกคนมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ติดตามอัพเดทสถานการณ์ และรณรงค์สร้างความเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน
รอติดตามกันนะ
.....
iLaw
12h
·
เฉลยยยยย ข้อ 4 คือคำตอบที่ถูกต้อง!!
เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 ระหว่างที่มีการชุมนุมของขบวนการคนรุ่นใหม่อย่างกว้างขวางพร้อมข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกแถลงการณ์นายกรัฐมนตรีหนึ่งฉบับ โดยใจความสำคัญ คือ จะบังคับใช้กฎหมาย "ทุกฉบับทุกมาตรา" กับผู้ชุมนุม https://www.bbc.com/thai/thailand-55019486
ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปี 2561 จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อยู่ในสภาวะ "ถูกแขวนไว้" กล่าวคือ ไม่มีการบังคับใช้เลย แม้จะมีการจับกุม ดำเนินคดี กับประชาชนที่แสดงออกเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่บ้าง แต่ก็จะถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายอื่น เช่น มาตรา 116, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สำหรับคดีที่อยู่ในชั้นศาลแล้ว ศาลก็จะยกฟ้องให้ หรือพิพากษาไปตามกฎหมายอื่น แต่ไม่กล่าวถึงมาตรา 112 เลย https://freedom.ilaw.or.th/blog/thechange112 แต่หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ ออกแถลงการณ์ฉบับสำคัญได้ไม่กี่วัน ตำรวจก็เริ่มออกหมายเรียกผู้ชุมนุมไปรับทราบข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 และจำนวนคดีก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากนั้นมา
ดังนั้น เดือนพฤศจิกายน จึงมีความหมายเป็นเดือนที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกแถลงการณ์และนำมาตรา 112 กลับมาใช้หลังมีความพยายามไม่บังคับใช้กฎหมายมาตรานี้อยู่นานเกือบสามปีเต็ม และก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของคลื่นลูกใหม่ในการบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้ อันนำมาสู่ช่วงเวลาที่มาตรานี้แสดงพลังอำนาจของมันอย่างกว้างขวางที่สุดในประวัติศาสตร์
สำหรับตัวเลือกข้อ 1 เดือนที่มีการนัดฟังคำพิพากษามาตรา 112 มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา คือ เดือนตุลาคม 2566 มีนัดหมายถึง 15 คดี https://ilaw.or.th/node/6663 ส่วนเดือนพฤศจิกายน 2566 มีนัดหมายฟังคำพิพากษาอยู่ที่ 7 คดี จึงยังไม่สูงที่สุด https://tlhr2014.com/archives/60931 แต่ในอนาคตอาจมีเดือนที่มีนัดหมายมากกว่านี้ก็ได้
สำหรับตัวเลือกข้อ 2 คนที่เคยถูกศาลตัดสินให้จำคุกหนักที่สุด คือ อัญชัญ จากเหตุอัพโหลดคลิปเสียงถึง 29 คลิป ซึ่งศาลอาญาพิพากษาเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 ให้ลงโทษจำคุกการกระทำกรรมละ 3 ปี รวม 29 กรรม จำคุก 87 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งลงโทษจำคุกกรรมละ 1 ปี 6 เดือน คงจำคุก 29 ปี 174 เดือน https://freedom.ilaw.or.th/th/case/653 ดังนั้น เดือนที่เคยมีคำพิพากษาให้จำคุกหนักที่สุด คือ เดือนมกราคม
สำหรับตัวเลือกข้อ 3 มาตรา 112 ถูกเขียนอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499 ประกาศใช้ในเดือนพฤศจิกายน 2499 แต่ให้เริ่มบังคับใช้ครั้งแรกในเดือนมกราคม 2500 ดังนั้น เดือนที่มาตรา 112 เริ่มบังคับใช้ครั้งแรก จึงเป็นเดือนมกราคม ซึ่งต่อมามาตรา 112 ถูกแก้ไขเพิ่มโทษในปี 2519 โดยคำสั่งคณะปฏิวัติ มาตรา 112 ที่แก้ไขแล้วก็เริ่มบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2519 ไม่ใช่เดือนพฤศจิกายน https://ilaw.or.th/node/5994
ชวนดูในคอมเม้นต์กันว่าใครตอบถูกบ้าง
.....
.....
iLaw
10h ·
เข้าสู่ปลายปี 2566 คดีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 ทยอยพิจารณาเสร็จในชั้นศาลและมีผลคำพิพากษาออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวคำพิพากษาที่หลากหลายทั้ง ยกฟ้อง ลงโทษ และรอลงอาญา ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2566 มีคดี 112 ที่กำลังจะพิพากษาอย่างน้อย 7 คดี ดังนี้
.
6 พฤศจิกายน เวลา 9.00 น. ธนกร ณ ศาลเยาวชนกลาง (หมายเลขคดี ยชอ.109/2564)
ธนกร หรือ เพชร ถูกฟ้องจากกรณีเข้าร่วมการชุมนุมวันที่ 6 ธันวาคม 2563 ที่ลานพระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ ซึ่งเพชรได้ร่วมกล่าวปราศรัยในการชุมนุมครั้งนั้นด้วย คดีนี้ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้อ่านคำพิพากษา ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา แต่ศาลได้ใช้เงื่อนไขของคดีเยาวชรสั่งให้เปลี่ยนจากโทษจำคุกเป็นคุมประพฤติแทน และให้ประกันตัวระหว่างการอุทธรณ์ โดยวางหลักทรัพย์ประกันตัวไว้ 30,000 บาท จนกระทั่งมีวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566
.
อ่านเรื่องราวคดีของธนกร ในศาลชั้นต้นได้ที่ : https://tlhr2014.com/archives/50825 หรือ https://freedom.ilaw.or.th/th/case/964
.
.
7 พฤศจิกายน เวลา 9.00 น. “พอล” ศาลจังหวัดกำแพงเพชร (หมายเลขคดี อ.1605/2566)
“พอล” (นามสมมติ) ชายหนุ่มวัย 31 ปี จากจังหวัดลพบุรี ถูกกล่าวหาจากกรณีแชร์โพสต์บนเฟสบุ๊กเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ 3 ข้อความในปี 2564 ด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยคดีนี้มีนายฤทธิชัย คชฤทธิ์ ซึ่งไม่รู้จักกันมาก่อน เป็นผู้ริเริ่มคดีโดยกล่าวโทษไว้ที่ สภ.ขาณุวรลักษณ์บุรี จังหวัดกำแพงเพชร ทำให้ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 เขาต้องเดินทางไปฟังคำพิพากษาตามนัดที่ ศาลจังหวัดกำแพงเพชร
.
อ่านเรื่องราวของ “พอล” ได้ที่เพิ่มเติม : https://tlhr2014.com/archives/58637
.
.
8 พฤศจิกายน เวลา 10.00 น. ณัฐชนน ไพโรจน์ ศาลจังหวัดธัญบุรี (หมายเลขคดี อ.212/2565)
ณัฐชนน ไพโรจน์ สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ จากกรณีที่ตำรวจตรวจค้นรถขนของและยึดหนังสือ "ปกแดง" ซึ่งมีเนื้อหาถอดจากการปราศรัยในการชุมนุมเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในเช้าวันที่ 19 กันยายน 2563 โดยเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าณัฐชนนเป็นผู้ครอบครองหนังสือปกแดง ซึ่งมีเนื้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เขาต้องเดินทางเข้าฟังคำพิพากษาในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ที่ศาลจังหวัดธัญบุรี
.
อ่านเรื่องราวของ ณัฐชนน เพิ่มเติมได้ที่ : https://freedom.ilaw.or.th/th/case/920 หรือ https://tlhr2014.com/archives/39760
.
.
20 พฤศจิกายน เวลา 9.00 น. กิติวงค์ ศาลอาญารัชดา (หมายเลขคดีที่ อ.1853/2565)
กิติวงค์ เป็นอีกหนึ่งกรณีที่ถูกดำเนินคดีด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คคดีของเขากำลังจะมีคำพิพากษาในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 ที่ศาลอาญารัชดา
.
.
21 พฤศจิกายน เวลา 9.00 น. “ปุญญพัฒน์” ศาลจังหวัดสมุทรปราการ (หมายเลขคดีที่ อ.803/2564)
“ปุญญพัฒน์” (นามสมมติ) ถูกกล่าวหาด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จากกรณีโพสต์ข้อความลงเฟสบุ๊คลงกลุ่ม “รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส - ตลาดหลวง” จำนวน 4 ข้อความ ศาลชั้นต้นมีคำตัดสินให้ลงโทษจำคุกเป็นเวลา 12 ปี (จาก 4 กรรม กรรมละ 3 ปี) แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ จึงมีเหตุให้บรรเทาโทษเหลือโทษจำคุก 4 ปี 24 เดือน ศาลให้ประกันตัวเพื่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ด้วยหลักทรัพย์รวม 225,000 บาท โดยศาลจังหวัดสมุทรปราการนัดอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566
.
อ่านเรื่องราวของ “ปุญญพัฒน์” เพิ่มเติมได้ที่ : https://tlhr2014.com/archives/44974
.
.
28 พฤศจิกายน เวลา 9.00 น. “นคร” ศาลจังหวัดสมุทรปราการ (คดีหมายเลขดำ อ.1114/2564)
“นคร” (นามสมมติ) ถูกกล่าวหาด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีแชร์ข้อความทางเฟสบุ๊กจากเพจ “KonthaiUk” ขณะเป็นนักศึกษาอยู่ที่เชียงราย ซึ่งเขาต้องเดินทางมาที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการเพื่อเข้าร่วมการพิจารณาคดี
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ยกฟ้อง ในกรณีของ “นคร” ในวันที่ 25 มกราคม 2566 และในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 เขาต้องเดินทางไปศาลจังหวัดสมุทรปราการอีกครั้งเพื่อฟังคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์
.
อ่านเรื่องราวของ “นคร” เพิ่มเติมได้ที่ : https://database.tlhr2014.com/public/case/1821/lawsuit/605/ หรือ https://freedom.ilaw.or.th/node/997
.
.
30 พฤศจิกายน เวลา 9.00 น. “โชติช่วง” ศาลจังหวัดนนทบุรี (หมายเลขคดีดำ อ.144/2565)
“โชติช่วง” (นามสมมติ) ชาวนนทบุรีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ ตามมาตรา 217 และข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358 จากกรณีที่เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้เผาพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 คดีของเขามีนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ที่ศาลจังหวัดนนทบุรี
.
อ่านเรื่องราวของ “โชติช่วง” เพิ่มเติมได้ที่ : https://tlhr2014.com/archives/40557
.
.
คดีมาตรา 112 จำนวนกว่า 200 คดีที่ถูกริเริ่มขึ้นจากกระแสข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงปี 2563-2564 กำลังทยอยเดินทางมาถึงวันที่ศาลมีคำพิพากษา ทุกคนสามารถร่วมกันแสดงออกถึงความเป็นส่วนหนึ่งกับจำเลยทุกคดีได้ด้วยการผูกโบว์ขาวเป็นสัญลักษณ์ในวันที่มีนัดอ่านคำพิพากษา และสามารถเข้าร่วมรับฟังการอ่านคำพิพากษาได้ที่ศาลต่างๆ ตามวันและเวลาที่มีการนัดหมาย เพื่อให้คนที่กำลังเผชิญหน้ากับคำตัดสินอยู่ได้รู้ว่าในหนทางที่ยาวไกลของการต่อสู้ เขาไม่ได้เดินอยู่ลำพัง
.
อ่านจากเว็บ : https://freedom.ilaw.or.th/node/1233/