วันศุกร์, พฤศจิกายน 03, 2566

พรรคก้าวไกลแก้ปัญหาเรื่องการคุกคามทางเพศของ สส. เพียงพอไหม


นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา สส.ปราจีนบุรี เขต 2 และ นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส.กทม. เขตจอมทอง-บางขุนเทียน-ท่าข้าม

พรรคก้าวไกลแก้ปัญหาเรื่องการคุกคามทางเพศของ สส. เพียงพอไหม

เมื่อ 9 ชั่วโมงที่แล้ว
บีบีซีไทย

การลงมติภายในของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กรณี 2 สส. ของพรรคมีพฤติกรรมคุกคามทางเพศ หลังผลสอบสวนของคณะกรรมการวินัยชุดพิเศษออกมาชี้ว่า มีพฤติกรรมคุกคามทางเพศจริง และผิดวินัยพรรคร้ายแรง ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมที่ตามมาทั้งจากภายในพรรคเองและกระแสสังคม

นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค ก.ก. แถลงข่าวภายหลังการประชุมร่วมระหว่างกรรมการบริหารพรรคและ สส. พรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 1 พ.ย. โดยมติที่ประชุมออกมาว่า กรณีนายวุฒิพงศ์ ทองเหลา สส.ปราจีนบุรี เขต 2 ให้ขับออกจากการเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล

ส่วนกรณีนายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ "สส.ปูอัด" เสียงส่วนใหญ่ 106 จาก 128 เสียง เห็นควรให้ขับออกจากสมาชิกพรรค แต่เสียงไม่ถึง 3 ใน 4 ของ สส. และกรรมการบริหารพรรคที่มีทั้งหมด จึงไม่สามารถมีมติขับออกจากพรรคได้ โดยกรณีของนายไชยามพวาน ที่ประชุมเห็นว่าควรตัดสิทธิพึงมีและคาดโทษตลอดสมัยประชุม

ภายหลังผลการลงมติกรณีคุกคามทางเพศออกมา สส.หญิงของพรรคก้าวไกล ต่างออกมาแสดงความผิดหวังและไม่เห็นด้วย เช่น ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ และ รัชนก ศรีนอก สส. ก้าวไกล กทม. ที่แสดงความผิดหวังต่อ สส. ที่กำลังมีประเด็นคุกคามทางเพศ

นี่ไม่ใช่กรณีแรก ๆ ของปมปัญหาการคุกคามทางเพศที่กระทำโดยนักการเมือง และประเด็นที่เกิดกับสมาชิก และ สส. พรรคก้าวไกลทั้ง 2 กรณีนี้ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเช่นกัน ซึ่งทำให้เกิดการตั้งคำถามเชิงจริยธรรมเปรียบเทียบกับกรณีอื่น ๆ ที่ผ่านมาภายในพรรค ทั้งในแง่ความรับผิดชอบระดับบุคคล รวมทั้งท่าทีและการแก้วิกฤตการณ์ของพรรค

ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับบีบีซีไทยว่า "มติที่ออกมาของพรรคก้าวไกลน่าผิดหวัง" เพราะผลการสอบสวนของคณะกรรมการวินัยของพรรค ออกมาว่ามีการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นจริง พร้อมตั้งคำถามว่า เหตุใดพรรคที่ชูธงอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใหม่ที่มีคนรุ่นใหม่สนับสนุนเป็นจำนวนมาก และพยายามเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเรื่องเพศในมุมมองแบบใหม่ จึงกลับไปอยู่ในวังวนการเมืองแบบเก่า

"การคุกคามทางเพศ มันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการเมืองแบบเก่าที่เราไม่ต้องการแล้ว เราจะพบข่าวนักการเมืองทุกระดับตั้งแต่ท้องถิ่น ถึงระดับชาติ มีปัญหามาทุกยุคทุกสมัยในประวัติศาสตร์มันไม่เคยขาดหายไปเลย..." ดร.ชเนตตีกล่าว

การลงมติพรรค กับกรณีการคุกคามทางเพศ

การลงมติของกรรมการบริหารพรรคและ สส. พรรคก้าวไกล เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับพรรค ที่กำหนดว่าการจะขับสมาชิกพรรคที่เป็น สส. ให้พ้นจากความเป็นสมาชิกพรรค ต้องมีการเรียกประชุม สส. ร่วมกับ กรรมการบริหารพรรค และต้องใช้เสียง 3 ใน 4 ของจำนวน กรรมการบริหารและ สส. ที่มีอยู่ทั้งหมด มิใช่จำนวนที่มาประชุม

วันที่พรรคก้าวไกลมีการลงมติเรื่องของ นายวุฒิพงศ์ และ นายไชยามพวาน มี สส. และกรรมการบริหารร่วมประชุมทั้งสิ้น 128 คน ที่ ก.ก. ระบุว่า เป็นจำนวนที่เพียงพอ เนื่องจากบางส่วนติดภารกิจที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ผลการลงมติที่ต่างกันของทั้งสองกรณี ทำให้มีข้อเรียกร้องบางส่วนตั้งคำถามถึงเสียงของสมาชิกพรรค ก.ก. ที่ไม่ลงมติให้ขับหนึ่งใน สส. พ้นจากความเป็นสมาชิกพรรค

อย่างไรก็ตาม ดร.ชเนตตี ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของระบบการลงมติที่ไม่ควรใช้กับประเด็นการคุกคามทางเพศ เพราะสำนึกและความเข้าใจของแต่ละคนที่มีต่อเรื่องนี้ไม่เท่ากัน


การประชุมกรรมการบริหารพรรคและ สส. พรรคก้าวไกล กรณี สส. ถูกกล่าวหาคุกคามทางเพศ ที่อาคารรัฐสภา เมื่อ 1 พ.ย. 2566

นักวิชาการรายนี้อธิบายว่า สำนึกในเรื่องเพศถูกฝังหัวด้วยวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ที่ครอบงำความคิดของคนในสังคมมาเป็นเวลาช้านาน และถูกม่านหมอกของอคติเรื่องชายเป็นใหญ่บดบัง จนทำให้รู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่สำคัญ และกลับไปโทษเหยื่อและผู้เสียหายแทน ผู้ที่มีส่วนตัดสินใจหรือออกเสียงจึงมองไม่เห็นว่า เรื่องนี้เป็นปัญหา และไม่เห็นว่าผู้ที่กระทำต้องถูกลงโทษในทางจริยธรรมอย่างไร แม้ว่าข้อมูลหลักฐานจะประจักษ์ชัดเจนว่ามีการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นจริง ๆ

"ความคิดโทษเหยื่อ โทษผู้เสียหาย หรือโทษผู้หญิง ว่าผู้หญิงอาจจะมีผลประโยชน์แอบแฝง อยากจะแบล็คเมล์ อ่อย หรือ สมยอมเอง มาชอบเค้าเอง ผู้หญิงไม่พยายามจะหยุดการคุกคามทางเพศด้วยตัวเอง ทำไมไม่ป้องกันตัวเองล่ะ ทำไมไม่ดูแลตัวเอง อันนี้คือวิธีการโทษเหยื่อ ฉะนั้น บางคนมีวิธีคิดโทษเหยื่อ ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ถูกอิทธิพลของชายเป็นใหญ่" ดร.ชเนตตีระบุ

"ถ้าสิทธิการโหวตไปอยู่มือของคนมีอคติเรื่องเพศ และไม่ได้คิดว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องใหญ่โต ถ้ามีสำนึกแบบนี้แล้วอยู่มือของคนที่ออกเสียงแบบนี้ แน่นอนเลยว่าความยุติธรรมของผู้เสียหายจะไม่มีวันเกิดขึ้นเลย"


การประชุมของพรรคก้าวไกล มิให้มีการนำอุปกรณ์สื่อสารเข้าไปในที่ประชุม

เสียงจากพรรคที่นำโดย สส.หญิง

ตั้งแต่เกิดข้อกล่าวหาเรื่องนี้ บุคคลระดับแกนนำของพรรคก้าวไกลออกมากล่าวถึงเรื่องนี้ไม่มากครั้งนัก กระทั่งตัวนายไชยามพวาน สส.ฝั่งธนบุรี ที่ถูกกล่าวหาเอง ก็เพิ่งจะออกมากล่าวเรื่องนี้เป็นครั้งแรกในวันเดียวกับที่พรรคมีมติในกรณีดังกล่าว

หลังผลการลงมติตัดสินโทษดังกล่าว บัญชีโซเชียลมีเดียของ สส.หญิง ในพรรคก้าวไกลหลายคนก็เคลื่อนไหว ในเชิงผิดหวังและไม่เห็นด้วยกับมติของพรรค

ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ หรือ ทนายแจม สส. กทม เขต 11 เขตสายไหม เปลี่ยนรูปโปรไฟล์บนบัญชีโซเชียลมีเดียเป็นสีดำ และยังโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "เมาไม่ใช่ consent” ด้าน ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตบางซื่อ จากพรรคก้าวไกล ออกมาโพสต์บนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (หรือทวิตเตอร์เดิม) ต่อว่านายไชยามพวาน

ขณะที่ รักชนก ศรีนอก สส. กทม. เขตจอมทอง-บางบอน โพสต์บนเฟซบุ๊กระบุว่า ตนโหวตให้ขับออกทั้ง 2 กรณี พร้อมแสดงความผิดหวังต่อมติของพรรค รวมทั้งความรับผิดชอบของเพื่อน สส. ที่กำลังเป็นประเด็นว่า เทียบไม่ได้กับกรณีของ น.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อ ที่เมาแล้วขับ และประกาศลาออกจาก สส. ทันทีหลังจากถูกจับเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม

"ระหว่างที่รอผู้กระทำผิดแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและเหยื่อ ไอซ์ (รักชนก) จะขอหยุดร่วมกิจกรรมกับพรรค หยุดร่วมกิจกรรมกับเพื่อนสมาชิกในพรรค กิจการในโควตาและขอลาป่วย เพื่อรักษาอาการบาดเจ็บในหลักการ จนกว่าจะมีการแถลงรับผิดและขอโทษเหยื่อ อย่างจริงใจของผู้กระทำ"



"มาตรฐานใหม่ทางการเมือง"

อดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) หลายคนออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับมติในการลงโทษ 2 สส. ของพรรคก้าวไกลเช่นกัน

พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า โพสต์บนแพลตฟอร์มเอ็กซ์เรียกร้องให้นายไชยามพวาน แสดงความรับผิดชอบลาออกจากตำแหน่ง สส. เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชน เพราะ คณะกรรมการวินัย คณะกรรมการบริหารพรรค มีมติว่าทำผิดวินัยร้ายแรง คุกคามทางเพศ อีกทั้งที่ประชุมร่วม สส. และ กก.บห. ก็โหวตขับออกถึง 106 เสียง จาก 128 เสียง ขาดเพียง 10 เสียงก็จะขับออกได้ตามกฎหมาย

ปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้าและอดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์บนเฟซบุ๊กว่า ผลมติที่ออกมา นับว่าน่าผิดหวัง พร้อมกับบอกว่า "การใช้อำนาจที่ได้จากตำแหน่งของตนไปจูงใจล่อลวงบุคคลอื่นให้กระทำการตามที่ตนต้องการเพื่อแลกเปลี่ยนกัน โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวพันกับเรื่องทางเพศ เป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ในยุคสมัยนี้” และเรียกร้องการแสดงความรับผิดชอบจาก สส. ผู้ถูกร้อง

"เรื่องแบบนี้ เมื่อทั้งคณะกรรมการวินัยของพรรค และทั้งคณะกรรมการบริหารพรรค มีมติว่ามีการกระทำความผิดร้ายแรงแล้ว หาก สส. ผู้ถูกร้องรู้จักมาตรฐานใหม่ในทางการเมืองอยู่บ้าง รู้จักความรับผิดชอบต่อผู้เสียหาย พรรค เพื่อน สส. คนอื่น ผู้สนับสนุนพรรค และสังคมอยู่บ้าง คิดถึงตำแหน่งหัวโขนที่พึ่งได้มาอย่าง สส. ให้น้อยลงบ้าง สส. ผู้ถูกร้องก็ควรแสดงความรับผิดชอบ โดยไม่ต้องมาถึงวันนี้ที่พรรคต้องใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ที่ประชุม สส. ต้องมาลงมติ"






ด้าน ดร.ชเนตตี ให้ทัศนะว่า ยิ่งนักการเมืองที่อยู่ในบทบาทที่เอื้อต่อผลประโยชน์ ที่ทับซ้อนมากมาย จริยธรรมของคนกลุ่มนี้จำเป็นที่จะต้องสูงกว่าวิญญูชน เพราะเป็นผู้อาสาเข้ามาทำงานแทนประชาชน แต่ไม่ได้หมายความว่าคนทั่วไปปล่อยปละละเลยเรื่องเพศได้

"เรื่องแบบนี้เราจะยอมรับให้มันเกิดขึ้นในแวดวงทางการเมืองไม่ได้เลย เราจะไว้วางใจให้คนเหล่านี้ไปตัดสินใจในเชิงนโยบายที่มันอาจจะกระทบ และมีความเปราะบางอ่อนไหว แทนคนนับล้าน ๆ คน ได้อย่างไร ในเมื่อจริยธรรมขั้นพื้นฐานที่สุด คือเรื่องเพศที่มันอยู่บนเนื้อตัวร่างกาย คุณยังไม่สามารถควบคุมตัวเองในจริยธรรมเรื่องนี้ได้"

ดร.ชเนตตี เรียกร้องให้พรรคก้าวไกล ทบทวนมตินี้ เพราะเห็นว่าเป็นมติที่ไม่สามารถยอมรับได้และไม่ยุติธรรมต่อตัวผู้เสียหาย และการพิจารณาจะต้องใช้หลักฐาน ผลกระทบที่มีต่อผู้เสียหาย เป็นหลัก และผลกระทบในระยะยาวที่จะต้องเกิดขึ้นต่อผู้เสียหาย

ปัญหานักการเมืองคุกคามทางเพศ สถานะทางอำนาจระหว่างผู้กระทำกับผู้เสียหาย

เมื่อถามว่าคดีที่นักการเมืองเป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้กระทำแตกต่างอย่างไรกับการล่วงละเมิดทางเพศกรณีอื่นในสังคม ดร.ชเนตตี กล่าวว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในแวดวงการเมืองนั้นมากกว่า เพราะมีเรื่องของอำนาจและสถานภาพของการเป็นนักการเมือง ที่สามารถใช้อำนาจปิดปากเหยื่อ หรือทำให้เหยื่อไม่กล้าต่อสู้ขัดขืนเนื่องจากอำนาจของตัวผู้กระทำได้

นักวิชาการนิเทศศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิสตรี อธิบายว่า หลายครั้งเราจะได้ยินคำว่า เหยื่อยินยอม แต่การยินยอมไม่ได้แปลว่า ผู้หญิงต้องการที่จะมีเพศสัมพันธ์ในครั้งนั้น แต่ยินยอมเพราะเขากลัวอำนาจ กลัวอิทธิพลของ สส. ที่อาจส่งผลต่อชีวิต ครอบครัว อาชีพ การงานของผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อ ดังนั้น การล่วงละเมิดทางเพศ บางครั้งผู้หญิงไม่สามารถจะลุกขึ้นมาบอกว่าหยุด หรือต่อสู้กับผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าอย่างเช่นสถานภาพของคนที่เป็นนักการเมืองได้อย่างง่ายดายนัก


ดร.ชเนตตี ทินนาม

"เหยื่อหลายคนไม่กล้าเรียกร้องหาความยุติธรรม เพราะระบบอำนาจที่ตัวนักการเมืองมีอยู่ มันส่งผลต่อการตัดสินใจว่าผู้หญิงจะออกมาบอกกับสังคมว่าโดนกระทำอะไรบ้าง จริง ๆ เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะฉะนั้น ผู้หญิงทุกคนที่ออกมาพูดเรื่องนี้ ต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมาก เพราะเมื่อประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในทุก ๆ มิติ แล้ว มันทำให้เหยื่อทั้งหลายเลือกจะเงียบเสียงลง เช่น เคสที่เกิดขึ้นกับนักการเมือง จึงมีความซับซ้อนและต่อสู้ได้ยากมาก เมื่อเทียบกับเคสที่เกิดขึ้นกับคนทั่ว ๆ ไป"

ดร.ชเนตตี เห็นว่า ทุกพรรคการเมืองต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้สมาชิกพรรค และเจ้าหน้าที่พรรค ปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ ปรับเปลี่ยนสำนึกเรื่องเพศ ด้วยการทำกระบวนการต่าง ๆ และให้เป็นนโยบายที่เป็นตัวชี้วัดสำคัญของพรรคการเมือง รวมไปถึงต้องมีช่องทางรับเรื่องร้องเรียน และกระบวนการเยียวยาผู้เสียหาย

"เรื่องเหล่านี้ต้องเป็นดีเอ็นเอ เป็นวัฒนธรรมของพรรค เราจะไม่พูดถึงแค่ว่านักการเมืองต้องซื่อสัตย์ สุจริต แต่เพียงอย่างเดียว ซื่อสัตย์แต่คุกคามทางเพศ ก็ไม่ควรจะเรียกว่าคนนั้นซื่อสัตย์ สุจริต อีกต่อไป"


นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ถูกดำเนินคดีอนาจาร ข่มขืน คุกคามทางเพศต่อหญิงหลายราย เมื่อปี 2565

ย้อนกรณีคุกคามทางเพศ-ใช้ความรุนแรง ของก้าวไกล

นอกจาก 2 กรณีที่เป็นข่าวเบื้องต้นแล้ว การคุกคามทางเพศหรือการใช้ความรุนแรงในครอบครัวของสมาชิกพรรคก้าวไกล ยังเคยเกิดขึ้นอีกอย่างน้อย 3 กรณี ในช่วงปี 2565-2566
  • นายอานุภาพ ธารทอง สก. เขตสาทร ถูกกล่าวหาล่วงละเมิดทางเพศเยาวชน ในภายหลังนายอานุภาพ ประกาศลาออกจากพรรค
  • นายสิริน สงวนสิน ส.ส. กทม. ถูกแฟนสาวแจ้งความข้อหาทำร้ายร่างกาย พรรคก้าวไกลมีมติคาดโทษ ไม่ให้ได้รับการเสนอชื่อดำรงตำแหน่งในพรรคและประธานกรรมาธิการ
  • นายเกรียงไกร จันกกผึ้ง อดีตผู้สมัคร สส. ชัยภูมิ ถูกกล่าวหาล่วงละเมิดทางเพศหญิง พรรคก้าวไกลมีมติขับออกจากสมาชิกพรรค