วันพุธ, พฤศจิกายน 22, 2566
รัฐบาลรู้เรื่องนี้มั้ย ?? "น่าจะมากกว่า 20 ปีแล้ว ที่เราทำนาแค่พอไว้กิน เพราะวันหนึ่งเราพบว่า พืชที่ทำเงินมาโดยตลอดไม่ใช่ข้าว แต่เป็นผักสวนครัว แตงโม แตงกวา ถั่วฝักยาว ข้าวโพดขาว ที่ก่อให้เกิดรายได้เป็นกอบเป็นกำ"
Kowit Phothisan
1d·
ผมควรจะเขียนอะไรยาวๆ แต่ผมก็พบว่า เขียนสั้นๆ บ้างก็ได้
น่าจะมากกว่า 20 ปีแล้ว ที่เราทำนาแค่พอไว้กิน เพราะวันหนึ่งเราพบว่า พืชที่ทำเงินมาโดยตลอดไม่ใช่ข้าว แต่เป็นผักสวนครัว แตงโม แตงกวา ถั่วฝักยาว ข้าวโพดขาว ที่ก่อให้เกิดรายได้เป็นกอบเป็นกำ ผืนดินหลายสิบไร่จึงค่อยๆ ถูกทลายคันนาทิ้ง เพราะการทำนาไม่มีทางเทียบกับบรรดาผักประเภทที่ว่ามาแม้แต่น้อย โดยเฉพาะหากเอาต้นทุนของขนาดพื้นที่ เวลา เงินลงทุน กำลังแรงงาน รายรับ รายจ่าย มาบวกลบคูณหารกันเป็นยอดเงินคงเหลือ
เกี่ยวข้าวปีนี้ ชาวนามีเรื่องให้พอตื่นเต้นได้บ้าง เพราะ ครม. มีมติพยุงราคาข้าวตันละ 12,000 บาท พร้อมช่วยค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท แต่มันไม่มีความหมายอะไรนักหรอก เต็มที่ก็ขาดทุนน้อยลงเท่านั้น เพราะราคาสำหรับกระบวนการผลิตตั้งแต่ปลูกถึงเก็บเกี่ยวแพงหูฉี่มานานแล้ว
ค่าใช้จ่ายที่แฝงเอาไว้ก็คือ ชาวนาสะสมการขาดทุนมาแทบทุกฤดูกาล การสะสมการขาดทุนหมายถึงหนี้ และหนี้ชาวนาก็เป็นปัญหาคลาสสิคที่มีไว้พูด แต่ไม่ได้มีไว้แก้ ต่อให้แก้ได้ในปีนี้ ปีหน้าก็กลับมาตกต่ำเหมือนเดิม รอเลือกตั้งคราวหน้าค่อยพุ่งขึ้นมาอีกที
นานมาแล้วเช่นกันที่ชาวนาเต็มขั้น ซึ่งหมายถึงคนที่ทำนาเป็นอาชีพหลักอย่างเดียวแทบไม่มีให้เห็น หากเราลงไปหัวไร่ปลายนา จะพบว่าเกษตรกรยุคหลังทำเกษตรกรรมอย่างอื่นเป็นหลักกันแล้ว แถวบ้านผมทั้งชุมชนถูก drive ด้วยมันสำปะหลัง ซึ่งเพาะปลูกง่ายกว่า ต้องการน้ำน้อยกว่า แต่ขายได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่าทำนาหลายสิบเท่า
เดินไปถามชาวบ้านที่ทำมันสำปะหลัง ขี้หมูขี้หมาก็ได้กำเงินแสนต่อ 1 ฤดูกาลผลิต ต่างจากการทำนาซึ่งดูแลยาก มีความเสี่ยงสารพัด ราคายังตกต่ำแทบทุกปี
กระนั้นปัญหาของพืชเชิงเดี่ยวคือการแขวนชะตากรรมไว้กับพืชพรรณบางชนิดมากเกินไป และเป็นขั้วตรงข้ามกับแนวคิดด้านความมั่นคงทางอาหารที่หนุนวิธีการแบบความหลากหลายทางพืช
แต่ไหนแต่ไรแล้วที่ข้าวเป็นพืชการเมือง ชาวนาเป็นเครื่องประดับการหาเสียง ยอดส่งออกไม่ว่าเป็นอันดับ 1 หรืออันดับรองลงมาแทบไม่มีผลอะไรต่อชาวนาเลยแม้แต่น้อย เพราะเงินมันขาดตอนตั้งแต่ชาวนาเอาข้าวไปถึงโรงสีแล้ว
การทำนาให้ได้ราคาแพงแบบข้าวอินทรีย์ต้องปราณีตในระดับที่สุดเหยียดของความพยายาม เพื่อให้ได้เกรดข้าวถึงมาตรฐานของ Organic Thailand ตั้งแต่การคุมพื้นที่ มีคันล้อม มีร่องน้ำ บ่อพักน้ำ ไม่ใช้สารเคมีทุกชนิด ต้องปลูกแบบนาดำ และที่สำคัญคือต้องประเมินถึง 3 ปีกว่าจะได้ใบรับรองมาตรฐาน
เจอโจทย์แบบนี้ชาวนาก็ใส่เกียร์ถอยแล้ว เพราะนี่ไม่ใช่การทำนา แต่เป็นการปลูกข้าวในแล็ป ซึ่งถ้ามันยากขนาดนั้น มันก็ไม่ใช่กิจกรรมของชาวนาที่จะเอาชีวิตและเวลามาแขวนคอเล่น
1-2 วันที่ผ่านมา ผมทยอยหอบข้าวจากนาขึ้นมากองรวมกันเพื่อรอสี ข้าวถูกเกี่ยวด้วยเคียวและเครื่องตัดหญ้า หอบในพื้นที่ราว 2 ไร่ได้ข้าว 1 กอง ประเมินด้วยสายตาน่าจะได้ข้าวทั้งหมด 20 กระสอบ ซึ่งน่าจะเพียงพอให้กินได้หลายเดือน
ระหว่างที่หอบข้าวทีละฟอนขึ้นไปรุมสุมกองรอรถสีข้าวมาเข้าเทียบ มารดาดูท่าจะพึงพอใจกับผลผลิตปีนี้มาก ได้ข้าวก็ส่วนหนึ่ง แต่การได้กองฟางสำหรับคลุมผักหญ้าที่กำลังปลูกในฤดูหนาวดูจะเป็นสิ่งที่ปรารถนาไม่น้อยไปกว่ากัน คิดดูเถิดว่าเราจัดลำดับความสำคัญของข้าวไว้ตรงไหน
เรื่องที่ผมเล่ามาทั้งหมดมี 2-3 ประเด็นที่อยากย้ำก่อนร่ำลา 1) ราคาข้าวที่อยู่ตันละหมื่นต้นๆ นั้นไม่เพียงพอต่อการชดเชยหนี้เกษตรกรที่เป็นปัญหาเรื้อรัง ถ้าจะเชิดชูอาชีพชาวนา รัฐต้องส่งเสริมทั้งวิธีการผลิต ราคาของผลผลิต ที่สัมพันธ์กับต้นทุนการผลิต ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ 2) รัฐต้องส่งเสริมอาชีพอื่น ทั้งในแง่ของพืชพรรณอื่นที่ควรปลูก และต้องไม่ลืมจัดเตรียมตลาดที่เหมาะสมเอาไว้ให้ 3) โดยพื้นฐานแล้วเกษตรกรรมไม่ได้ทำเงินสูงหากพิจารณาจากต้นทุนของที่ดินและเวลาที่ใช้ไป รัฐต้องมีทางเลือกอื่นของอาชีพที่ไม่ติดล็อกอยู่แค่ระบุเงื่อนไขในใบ สปก.4-01
ผมคิดว่านี่คือข้อเรียกร้องที่จำเป็นต้องพูดต่อรัฐ เพราะสเกลของปัญหามันใหญ่เกินกว่าจะปล่อยให้เกษตรกรไทยลอยคอเข้าฝั่งแบบตามมีตามเกิด
.....
อรรถพล บ.
เมื่อวานในรายการคุณสรยุทธ คุณธนาธรก็พูดเรื่องนี้ด้วยครับ (ชาวนา/เกษตรกร/จน/หนี้/สปก.)