วันพุธ, พฤศจิกายน 15, 2566

เบื้องหลังแนวคิดของเงินดิจิทัล "...ได้สิทธิ์ 10,000 บาท...เอาไปซื้อหมูปิ้ง เกิด GDP… ร้านหมูปิ้งเอาไปซื้อไม้เสียบหมูปิ้ง เกิด GDP… ไปซื้อหมูเกิด GDP… ร้านหมูเก็บเงินได้จำนวนหนึ่งเอาไปซื้อพัดลมเกิด GDP… และอะไรต่าง ๆ เกิดขึ้นเป็น GDP ก่อน ...ถามว่าหนี้เกิดเมื่อไหร่... ทำไมเราถึงเลือกวิธีนี้ - ถ้ายังงงไม่พอ อ่านต่อ...


ทรรศนะบวก
Yesterday·

<<เบื้องหลังแนวคิดของเงินดิจิทัล อาจไม่ใช่เงินบาทตั้งแต่แรก>>
คุณเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ในรายการคมชัดลึก เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2566 เกี่ยวกับเงินดิจิทัล ในตอนหนึ่งว่า…
“…..ในช่วงแรกที่คิด คือเป็นการ backed โดยงบประมาณผูกพัน ผมถามคุณวรวิทย์ (ผู้ดำเนินรายการ) ว่า ณ วันแรกที่จะให้สิทธิ์ประชาชนไปใช้ ห้าแสนหกหมื่นล้าน แล้วมีการกำหนดว่า จะเอามาขึ้นเงินได้ในแต่ละปีประมาณ หนึ่งในสี่หรือ 25% ในแต่ละปี โดยออกเป็นงบประมาณผูกพันในแต่ละปีว่าจะมีเงินมาใช้ตรงนี้...อันนี้ถือว่ามีเงินรองรับไหม…ทำไมไม่รองรับ ในเมื่อคนที่จะนำมาขึ้นเงินได้ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ 25% ในแต่ละปี ….“
และในอีกตอนหนึ่งว่า
“……สิ่งที่เกิดขึ้นก่อน ณ วันแรก นายเผ่าภูมิได้สิทธิ์ 10,000 บาท นายเผ่าภูมิเอาไปซื้อหมูปิ้ง เกิด GDP… ร้านหมูปิ้งเอาไปซื้อไม้เสียบหมูปิ้ง เกิด GDP… ไปซื้อหมูเกิด GDP… ร้านหมูเก็บเงินได้จำนวนหนึ่งเอาไปซื้อพัดลมเกิด GDP… และอะไรต่าง ๆ เกิดขึ้นเป็น GDP ก่อน และถามว่าหนี้เกิดเมื่อไหร่? หนี้เกิดขึ้นเมื่อร้านขายพัดลมซึ่งอยู่ในระบบภาษี เอามาขึ้นเงิน เอามาขึ้นเงินค่อยเกิดเป็นภาระหนี้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก่อนคือ GDP แต่ภาระงบประมาณและภาระหนี้เกิดทีหลัง…นี่จึงเป็นวิธีที่ทำไมถึง เป็นอีกข้อดีหนึ่งแล้วกันว่า ทำไมเราถึงเลือกวิธีนี้ ในการที่จะไม่เป็นการเสียโอกาสทางการเงินนะครับ…..“
จากคำพูดข้างต้นของคุณเผ่าภูมิ สะท้อนให้เห็นว่า
1) เมื่อคุณเผ่าภูมิใช้เงินดิจิทัลซื้อหมูปิ้งในปีนี้ คุณเผ่าภูมิได้ชำระหนี้ให้พ่อค้าหมูปิ้งด้วยเงินดิจิทัล เงินดิจิทัลจึงทำหน้าที่เป็นเงิน (ผู้ซื้อสินค้าใช้ชำระหนี้ให้กับผู้ขาย) แต่หากร้านขายพัดลม (ซึ่งเป็นผู้รับเงินนี้ต่อ ๆ มา) ไม่สามารถนำเงินดิจิทัลนี้ไปแลกเป็นเงินบาทในปีนี้ (เพราะเกินโควต้า 25% ของเงินบาทที่สำรองไว้สำหรับปีนี้) ก็แสดงว่า เงินดิจิทัล ที่คุณเผ่าภูมิใช้ซื้อหมูปิ้ง ไม่ใช่เงินบาท แต่เป็นเงินที่ถูกเสกขึ้นใหม่เพื่อใช้แทนเงินตรานั่นเอง เพราะไม่มีเงินบาทรองรับในปีนี้ แต่มันได้ทำหน้าที่ชำระหนี้ตามกฎหมายให้กับพ่อค้าหมูปิ้งไปแล้วในปีนี้ ดังนั้น เงินดิจิทัลในส่วนที่แลกเป็นเงินบาทไม่ได้ในปีนี้จึงขัดกับ พ.ร.บ. เงินตรา พ.ศ. 2501 มาตรา 6 และมาตรา 9 ดังนี้
มาตรา 6 เงินตราได้แก่ เหรียญกษาปณ์และธนบัตร
มาตรา 9 ห้ามมิให้ผู้ใด ทำ จำหน่าย ใช้ หรือนำออกใช้ซึ่งวัตถุหรือเครื่องหมายใด ๆ แทนเงินตรา ยกเว้นจะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี
2) ดังนั้น เพื่อให้เงินดิจิทัลของคุณเผ่าภูมิที่ใช้ซื้อหมูปิ้งมีค่าเทียบเท่ากับเงินบาท เงินดิจิทัลทั้งหมดจำนวน 5 แสน 6 หมื่นล้านจะต้องมีเงินบาทหนุนหลังในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 เสมออยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะสามารถถูกแลกเป็นเงินบาทได้เสมอ (เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแอบเสกเงินเพิ่มในระบบเศรษฐกิจได้) ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว รัฐบาลจึงไม่จำเป็นต้องแจกเป็นเงินดิจิทัลให้วุ่นวายตั้งแต่ต้น เพราะสามารถแจกเป็นเงินบาทเลย ถ้ามีเงิน !!!(ถ้าจะอ้างว่าใช้เงินดิจิทัลเพราะห้ามไม่ให้ซื้อของบางประเภทได้นั้น ก็ยังมีผู้ตั้งข้อสงสัยอีกมากมายอยู่ดีว่า ระบบ blockchain ที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะทำหน้าที่แบบที่อ้างมานี้ได้ผลอย่างนั้นจริงหรือ??? โดยเฉพาะเมื่อช่องทางหลักในการใช้เงินดิจิทัลจะต้องทำผ่านแอปเป๋าตังด้วย)
(ขอบคุณ ภาพจากรายการคมชัดลึก)
#ดิจิทัลวอลเล็ต #ดิจิทัล10000 #ศิริกัญญา