วันอาทิตย์, กันยายน 10, 2566

ข้อเสนอจากผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ถึงรัฐบาลใหม่ ทำอย่างไรจะยุติฟ้องปิดปากประชาชน


ข้อเสนอจากผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ถึงรัฐบาลใหม่ ทำอย่างไรจะยุติฟ้องปิดปากประชาชน

Prachatai

Streamed live 17 hours ago

งานแถลงข่าว “ข้อเสนอจากผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ถึงรัฐบาลใหม่ ทำอย่างไรจะยุติฟ้องปิดปากประชาชน” วันเสาร์ที่ 9 กันยายน 2566 เวลา10.30 – 12.30 น. ณ ห้องประชุม Trophy room ชั้น 1 โรงแรม ไอบิส รัชดา
พบกับ:::
 
• การกล่าวเปิดงานและปาฐถาโดย ดร. พิชามญชุ์ เอี่ยวพานทอง คณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนกับบรรษัทข้ามชาติ และองค์กรธุรกิจอื่น ๆ ของสหประชาชาติ

• การเปิดรายงานตัวเลขและสถิติของผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากคดีฟ้องปิดปากภายใต้ชื่อรายงาน “ปิดปากความยุติธรรม การต่อสู้กับการฟ้องคดีปิดปาก และการโจมตีอย่างเป็นระบบต่อผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย” โดย ปรานม สมวงศ์ และสุธีรา เปงอิน จากโพรเทคชั่นอินเตอร์เนชั่นแนล

• การเสวนาในหัวข้อ “ข้อเสนอจากผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ถึงรัฐบาลใหม่ ทำอย่างไรจะยุติฟ้องปิดปากประชาชน” วิทยากรโดย
 
- อังคณา นีละไพจิตร ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อดีตกสม.และผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติ สมาชิกคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ
- ภรณ์ทิพย์ สยมชัย ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย
- สรารัตน์ เรืองศรี ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากสหพันธ์เกษตรภาคใต้
- ธีรรัตน์ สำเร็จวานิชย์ จากพรรคเพื่อไทย
- ชลธิชา แจ้งเร็ว จากพรรคก้าวไกล
• ดำเนินรายการโดย ปรานม สมวงศ์ จาก Protection International
งานจัดโดย Protection International (Pi)


The Reporters
14h
·
SEMINAR: ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ เสนอรัฐบาลใหม่ยุติการฟ้องปิดปากประชาชน เรียกร้องกระทรวงยุติธรรม ยกระดับแผน NAP 2 ให้มีสถานะทางกฎหมาย
วันนี้ (9 ก.ย. 66) Protection International จัดเสวนา “ข้อเสนอจากผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ถึงรัฐบาลใหม่ ทำอย่างไรจะยุติฟ้องปิดปากประชาชน” ณ โรงแรม ไอบิส รัชดา พร้อมกับเปิดสถิติคดีฟ้องปิดปากและใช้กระบวนการยุติธรรมคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนรากหญ้า หลังจากรัฐประหาร ปี 2557-2565 โดยพบว่ามีผู้หญิงต้องคดีฟ้องปิดปากประมาณ 570 คดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการฟ้องโดยบริษัทเหมืองแร่ ปาล์มน้ำมัน และหน่วยงานของรัฐ ซึ่งปรานม สมวงศ์ จาก Protection International ต้องการเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมทำแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights: NAP) ระยะที่ 2 ให้มีสถานะเป็นกฎหมาย
อังคณา นีละไพจิตร อดีต กสม.และผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติ สมาชิกคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ เปิดเผยว่าคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนถูกฟ้องร้องมานาน ยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่ตนเองถูกบริษัทฟาร์มไก่ฟ้องหมิ่นประมาทเรื่องฟาร์มไก่ ส่วนตัวมองว่าเป็น "คดีทิพย์" ผู้ฟ้องไม่ได้หวังผลให้ได้รับความยุติธรรม เพียงแต่ต้องการกล่าวโทษและแสดงอารมณ์ โดยคดีนี้ใช้เวลา 4 ปีในการไต่สวน เสียเวลาและเสียค่าใช้จ่าย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกลับมาทบทวน ส่วนแผน NAP 2 ขอเรียกว่าเป็นแผนทิพย์ เพราะยังไม่มีกลไกในการคุ้มครอง
ภรณ์ทิพย์ สยมชัย ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย กล่าวว่าในหมู่บ้านมีชาวบ้านถูกฟ้องร้องกว่า 30 คน 30 คดี ซึ่งได้รับผลกระทบในการทำธุรกิจ ถูกรังเกียจเดียจฉัน จึบขอเสนอให้รัฐบาลใหม่เร่งผลักดันยุติการฟ้องคดีเพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ (SLAPP) และลดขั้นตอนในการเข้าถึงกองทุนยุติธรรมในแต่ละจังหวัดด้วย ส่ววนตัวห่วงเพราะในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลไม่มีเรื่องสิทธิมนุษยชน และสิทธิชุมชน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่พิจารณาให้ทางการไทยต้องยุติการใช้ความรุนแรง การข่มขู่การคุกคาม การจับกุมผู้หญิง และสนับสนุนสิทธิชุมชน รายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) ส่วนศาลต้องทบทวนคดีที่ตัดสินแล้วอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะคดีของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด พร้อมลดความผิดฐานหมิ่นประมาท ให้สอดคล้องกับมาตรฐานในระดับสากล
สรารัตน์ เรืองศรี ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากสหพันธ์เกษตรภาคใต้ กล่าวว่า ตนเองถูกฟ้องปิดปากมากกว่า 30 คดี จึงขอให้รัฐบาลใหม่จริงใจและจริงจังในการแก้ปัญหาโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และสิทธชุมชน พร้อมเสนอให้รัฐบาลไทยยุติการใช้ความรุนแรง จับกุมผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในชุมชนโดยทันที สนับสนุนสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินของตนเอง รับผิดชอบนักปกป้องสิทธิที่ถูกฟ้องปิดปาก ทั้งด้านการเงิน และกระบวนการยุติธรรม
ธีรรัตน์ สำเร็จวานิชย์ สส.กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย ระบุว่าเราต้องเคารพสิทธิของผู้อื่น เพื่อให้สังคมอยู่ได้โดยสงบสุข ต่อต้านข่าวปลอมที่ไม่ได้มาจากพื้นฐานของข้อเท็จจริง โดยพรรคเพื่อไทยจะปัญหาเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร โดยเสนอกฎหมายคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ทำกองทุนยุติธรรมให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และใช้คณะกรรมาธิการเป็นเครื่องมือในการสอบสวนหาข้อเท็จจริง
" เราจะต้องเริ่มจากรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน เป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทยที่เห็นตรงกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหาต้องแก้ไข ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีประกาศเจตนารมณ์ว่าการแก้ปัญหาต่าง ๆ ต้องมีกฎหมายที่มาจากประชาชน เพื่อประชาชน"
ชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล เล่าว่าถูกดำเนินคดีทางการเมืองมากกว่า 28 คดี โดยส่วนใหญ่ถูกยกฟ้อง บางคดีที่เกิดขึ้นในปี 2558 แต่เพิ่งถูกรื้อฟื้น หรือเพิ่งจะมีคำพิพากษา สะท้อนถึงความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม เขาไม่ได้ต้องการแสวงหาข้อเท็จจริง เพียงแต่ให้เกิดความเหนื่อยล้าในการลุกขึ้นมาต่อสู้ ผลกระทบจากเป็นผู้ต้องหาถูกฟ้องร้องปิดปากคือ เสียเวลา เสียโอกาสในการทำงานและเรียน ซึ่งไม่ได้รับการเยียวยาใด ๆ จากรัฐ ยิ่งไปกว่านั้นคือผลกระทบต่อสภาพจิตใจ จนเกิดภาวะเครียดและกดดัน
พรรคก้าวไกลเห็นความสำคัญของการถูกฟ้องร้องปิดปาก เตรียมยื่นกฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปาก เพิ่มนิยามว่าด้วยคดี SLAPP ผู้ที่ถูกฟ้องร้องสามารถยื่นคำร้องต่อศาลได้ เมื่อศาลเห็นว่าเป็นการถูกฟ้องร้องเพื่อปิดปากจะต้องยกคำร้องทันทีและมีมาตรการเยียวยา ทั้งนี้ยังจะเสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ในฐานความผิดการบิดเบือนกฎหมาย การใช้อำนาจโดยมิชอบในกระบวนการยุติธรรมของเจ้าพนักงานและคณะตุลาการ เสนอให้แก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 108 และ 108/1 ให้สิทธิในการประกันตัว ปล่อยตัวชั่วคราว และเงื่อนไขในการประกันตัว
ชลธิชา ยืนยันว่าพรรคก้าวไกลยังมีแนวคิดที่จะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 เพราะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งและฟ้องปิดปาก
เรื่อง: ณัฐพร สร้อยจำปา
ภาพ: ธนาภรณ์ วุฒิสนธิ์
#TheReporters #เดอะรีพอร์ตเตอร์