วันอาทิตย์, กันยายน 24, 2566

ร่วมเรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรมทางการเมือง แต่ไม่เอานิรโทษกรรมแบบไทยๆ แค่ลืมๆกันไป ที่ผู้ทำร้ายสังหารประชาชน พ้นผิด-ลอยนวล



'นิรโทษกรรม' ไม่ใช่การล้มกระดาน ผู้ทำร้ายสังหารประชาชนต้องไม่พ้นผิดและลอยนวล

22 ก.ย. 66
รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
ไทยรัฐพลัส

Summary
  • ‘นิรโทษกรรม’ (amnesty) มาจากภาษากรีก amnēstía แปลว่า ลืมหรือปล่อยให้ผ่านไป ในทางกฎหมาย คือการลบล้างการกระทำความผิดที่กระทำไปแล้ว ยกเว้นความผิด โดยมีกฎหมายรับรองการลบล้างว่าการกระทำนั้นไม่ถือเป็นความผิด หรือผู้ได้รับนิรโทษกรรมคือไม่ถือว่าเป็นผู้กระทำผิดอีกต่อไป
  • นิรโทษกรรมมักถูกใช้เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เริ่มต้นใหม่ แต่ในประเทศไทย การนิรโทษกรรมถูกใช้กับการรัฐประหาร เพื่อให้ผู้ยึดอำนาจการปกครองพ้นผิด
  • การนิรโทษกรรมในบางกรณี กลับกลายเป็นสร้างวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด เช่น การนิรโทษกรรมเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่นิรโทษกรรมทุกคน จนผู้ก่อเหตุความรุนแรง ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ลงมืออย่างโหดเหี้ยมฝ่ายอื่นๆ ไม่มีความผิดใดๆ
  • เพื่อไม่ให้การใช้อำนาจและความรุนแรงของรัฐกลายเป็นการลอยนวลพ้นผิด วิธีการลงโทษผู้กระทำความผิดจึงถูกนำเสนอขึ้นมา นั่นคือการใช้เขตอำนาจของ ศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC

คำว่า ‘นิรโทษกรรม’ ถูกกล่าวถึงในหลายวาระ เมื่อต้องหาหลักการบางอย่างเพื่อคลี่คลาย ก้าวข้าม หรือสลายความขัดแย้งทางการเมือง และคนที่หยิบหลักการนี้มาใช้ในสถานการณ์ปัจจุบันคนล่าสุดคือ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

อดีตเลขาธิการ นปช. คนเสื้อแดง ที่หันหลังให้ตำแหน่งผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดียเมื่อวันที่ 18 กันยายน ว่า การนิรโทษกรรม สร้างความเชื่อมั่นให้กระบวนการยุติธรรม คือเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างเร่งด่วนไม่ต่างจากปัญหาปากท้องและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

"ผมขอเสนอประเด็นสำคัญ และควรพิจารณาเร่งด่วนอีกเรื่อง คือการปลดพันธนาการเรื่องคดีความ ให้คนทุกฝ่ายที่เห็นต่าง และเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเยาวชน คนหนุ่มสาวนับพันราย ซึ่งในจำนวนนี้หลายคนมีคดีติดตัวเกินกว่า 20 คดี"

นิรโทษกรรมในความหมายของณัฐวุฒิ วางเป้าหมายไว้ที่การสร้างสังคมที่คนเห็นต่างอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ โดยเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 เพื่อไม่ให้กฎหมายอาญามาตรานี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือใส่ร้ายกันเพื่อหวังผลทางการเมือง โดยให้ทุกคน ทุกขั้ว พ้นสถานะผู้ต้องหา กลับมายืนในฐานะประชาชน สร้างสังคมประชาธิปไตย


การเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ น้ำ - วารุณี ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112

ที่ผ่านมา มีผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 และคดีชุมนุมทางการเมืองหลายคนยังถูกคุมขัง โดยไม่ได้สิทธิประกันตัว หลายคนต้องอดอาหารเรียกร้องสิทธิเพื่อต่อสู้คดีเหมือนข้อหาอื่นๆ ซึ่งณัฐวุฒิเห็นว่า ทุกคนควรได้รับอิสรภาพ เพื่อนำไปสู่การสมานฉันท์และปรองดอง

"ลูกหลานที่ยังติดคุกจะได้ออกมา ที่อดอาหารอยู่ในคุกจะได้คืนสู่อิสระ ที่ลี้ภัยต่างแดนจะได้กลับบ้าน อย่าปล่อยให้คนหนุ่มสาวรุ่นนี้ อยู่กับคดีความ และการจำขัง ต่อเนื่องไป ทั้งที่เราส่งมอบสิ่งที่ดีกว่าให้พวกเขาได้"

ณัฐวุฒิได้อ้างอิงถึงมาตรฐานการนิรโทษกรรมที่ผ่านมา ที่มักใช้กับคณะรัฐประหาร ที่ได้รับสิทธิพ้นผิด ทั้งที่ฉีกรัฐธรรมนูญ ยึดอำนาจรัฐ เปิดทางให้ตนเองเข้าสู่อำนาจทางการเมือง เมื่อทำเช่นนั้นได้ ก็ควรจะนิรโทษกรรมให้คนหนุ่มสาว คืนอิสรภาพให้อนาคตของประเทศ

ทั้งนี้ การนิรโทษกรรมจะต้องไม่ครอบคลุมถึงความผิดฐานคอร์รัปชัน และความผิดถึงแก่ชีวิต

สมลักษณ์ จัดกระบวนพล นักกฎหมายอาวุโส อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา และอดีตกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ล่วงลับไปเมื่อต้นเดือนกันยายน เคยเขียนถึงความสำคัญของการนิรโทษกรรมคล้ายคลึงกับที่ณัฐวุฒิเรียกร้องไว้ในบทความ ‘มาพิจารณาเรื่องนิรโทษกรรมกันเถิด’ เมื่อครั้งพรรคเพื่อไทยพยายามผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย โดยเทียบเคียงกับการแก้ปัญหาปากท้องว่า

ข้อควรพิจารณาเรื่องปากท้องเป็นเรื่องสำคัญมากของประชาชน แต่เรื่องอิสรภาพของผู้ถูกคุมขัง ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ไม่มีบุคคลใดในโลกที่ประสงค์จะถูกจำคุกแม้เพียงหนึ่งวัน


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยข้อมูลว่า นับถึงวันที่ 15 กันยายน มีผู้ถูกคุมขังจากการแสดงออกทางการเมือง โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี อย่างน้อย 22 คน เป็นคดีตามมาตรา 112 จำนวน 8 คน และมีผู้ต้องขังที่คดีถึงที่สุดแล้วอย่างน้อย 10 คน

ความหมายของ ‘นิรโทษกรรม’ แค่ลืมๆ กันไป?

หากดูตามรากศัพท์ ‘นิรโทษกรรม’ (amnesty) มาจากภาษากรีก amnēstía แปลว่าลืมหรือปล่อยให้ผ่านไป มีรากเดียวกับ amnesia ที่แปลว่าความจำเสื่อม เมื่อใช้ในบริบทของกฎหมาย หมายถึง การลบล้างการกระทำความผิดที่กระทำไปแล้ว ยกเว้นความผิด โดยมีกฎหมายรับรองการลบล้างว่าการกระทำนั้นไม่ถือเป็นความผิด หรือผู้ได้รับนิรโทษกรรมคือไม่ถือว่าเป็นผู้กระทำผิดอีกต่อไป

นิรโทษกรรม มักถูกใช้กับเหตุการณ์ทางการเมือง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสมานฉันท์ ความปรองดอง ก้าวข้ามความขัดแย้ง ให้ทุกฝ่ายได้เริ่มต้นกันใหม่โดยไม่มีโทษทัณฑ์ติดตัว ด้วยการลบล้างผลทางกฎหมาย หรือยกเว้นความผิดให้กับผู้ที่ถูกตัดสินหรือถูกดำเนินคดีจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แต่ไม่ใช่การยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายนั้นๆ

ทว่าในทางปฏิบัติ การนิรโทษกรรมมักถูกใช้ในกรณีรัฐประหาร ที่ผู้ล้มล้างการปกครองไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย ซ้ำยังได้เป็นผู้ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ในเวลาต่อมา

นิรโทษกรรมมีคำอธิบายอย่างง่ายตามข้างต้น แต่ยังมีคำคล้ายๆ กันอย่าง อภัยโทษ และล้างมลทิน ที่โดยนิยามไม่เหมือนกันเสียทีเดียว คือ อภัยโทษ และล้างมลทิน

การอภัยโทษ (pardon) คือการให้ความเมตตากรุณาแก่ผู้กระทำผิดเป็นการเฉพาะราย โดยการให้ละเว้นไม่ต้องรับโทษ หรือลดโทษลงกว่าที่ถูกตัดสินความผิดไว้ แต่ความผิดนั้นคงอยู่กับตัว ในกรณีของไทยมักอยู่ในขอบข่ายของการพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 179 ระบุว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ”

การล้างมลทิน (rehabilitation) คือการคืนสิทธิให้แก่ผู้กระทำความผิดที่รับโทษแล้วพ้นโทษ ทำให้ไม่มีประวัติทางคดี บุคคลนั้นจึงเหมือนไม่เคยทำความผิดหรือไม่เคยรับโทษมาก่อน ทำให้มีโอกาสได้รับสถานะทางสังคมและการใช้ชีวิตกลับคืน

ดังนั้น การนิรโทษกรรมจึงมีความแตกต่าง คือทำให้ความผิดกลายเป็นไม่ผิด โดยมีกฎหมายรับรอง หรือพูดง่ายๆ ว่าให้ลืมเหตุการณ์นั้นๆ ไป แล้วเริ่มต้นกันใหม่ ก็อาจจะได้

นิรโทษกรรมของก้าวไกล ข้ามความขัดแย้งด้วยกฎหมาย

สมานฉันท์ ปรองดอง ความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน หาทางออกให้ประเทศจากความขัดแย้ง คือหลากหลายถ้อยคำที่ถูกหยิบยกมาเพื่อหากระบวนการหรือกลไกเพื่อยุติวิกฤติความขัดแย้งทางการเมือง การนิรโทษกรรม เพื่อล้างไพ่ เริ่มต้นใหม่ ก็เป็นวิธีหนึ่งที่หลายๆ ประเทศใช้กัน

หลังการรัฐประหารคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปี 2557 เกิดการการปราบปรามประชาชนหลายครั้ง ทั้งการต่อต้านรัฐประหาร รณรงค์ประชามติรัฐธรรมนูญ และคลื่นการชุมนุมของเยาวชนระหว่างปี 2563-2564 เพื่อขับไล่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันฯ ทำให้พลเอกประยุทธ์ประกาศใช้กฎหมายทุกฉบับอย่างเข้มงวด ผลคือมีผู้ต้องหาจากคดีการเมือง ทั้งฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอย่างมาก

จากการใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและตีความอย่างกว้างขวาง ทำให้ผู้ต้องขังจำนวนมากไม่ได้รับสิทธิประกันตัวออกมาสู้คดี เช่น มาตรา 112 หลายคนต้องอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิ รวมไปถึงคดีจากการชุมนุมทางการเมืองอื่นๆ ที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดียาวนาน ทั้งที่ยังไม่มีการตัดสินความผิด หลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จึงถูกโยนเป็นคำถามใส่กระบวนการยุติธรรมไทยอยู่บ่อยครั้ง

ก่อนการเลือกตั้ง ปี 2566 พรรคก้าวไกลเป็นหนึ่งในพรรคที่บรรจุเรื่อง ‘นิรโทษกรรม’ ไว้ในนโยบายเสาหลักของพรรค คือ
  • นิรโทษกรรมประชาชนทุกคนที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองด้วยการบิดเบือนกฎหมายของผู้มีอำนาจ นับตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร
  • การนิรโทษกรรมจะไม่มีผลรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐผู้ใช้อำนาจภายใต้บังคับบัญชาของคณะผู้ก่อการ
  • เกณฑ์การพิจารณาผู้ที่จะได้รับการนิรโทษกรรม ต้องกระทำโดยคณะกรรมการที่ประกอบด้วยตัวแทนภาคประชาชนและนักวิชาการด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน
  • ผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับนิรโทษกรรม มีสิทธิที่จะเลือกไม่รับการนิรโทษกรรมได้
  • คณะกรรมการสามารถพิจารณาขยายการคืนความยุติธรรมไปก่อนหน้าปี 2557 และกำหนดเกณฑ์สำหรับการกลั่นกรองคดีดังกล่าวได้ เพื่อสะสางความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมก่อนหน้าปี 2557 และเพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้โดยไม่ละเลยการคืนความยุติธรรมในอดีต
หลังชนะเลือกตั้ง ในการจับมือพันธมิตร 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล พรรคก้าวไกลก็ยังพยายามผลักดันการนิรโทษกรรมเข้าไปใน MOU ของ 8 พรรค แต่เมื่อ MOU ฉบับจริงออกมา เรื่องนี้กลับถูกลบออกไป

นิรโทษกรรมสไตล์ไทยๆ
นิรโทษกรรมรัฐประหาร

การนิรโทษกรรมของประเทศไทยถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองทั้งหมด 23 ครั้ง เป็นการนิรโทษกรรมให้การรัฐประหารถึง 12 ครั้ง เพื่อทำให้ผู้ล้มล้างอำนาจรัฐไม่มีความผิด แม้ผู้พยายามทำรัฐประหารแต่ไม่สำเร็จ กลายเป็นกบฏ ก็ได้รับนิรโทษกรรมเช่นกัน

มุมมองของประเทศไทยต่อการรัฐประหาร อาจจะดูไม่ปกตินัก เพราะเป็นประเทศที่มีรัฐประหารเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และทุกครั้งผู้ยึดอำนาจสำเร็จก็จะออกกฎหมายล้างผิดให้ตนเอง โดยอ้างเหตุผลในการนิรโทษกรรมว่า ผู้ก่อรัฐประหารมีความปรารถนาดีต่อบ้านเมือง ไม่ใช่ทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว รวมไปถึงการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ก่อกบฏ ก็จะอ้างเหตุผลเพื่อความสามัคคีของคนในชาติ ให้โอกาสบุคคลผู้กระทำความผิดได้มีโอกาสทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติต่อไป

ดังนั้น การล้างความผิดให้กับผู้ก่อรัฐประหารและกบฏจึงสร้างวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดให้กับการยึดอำนาจการปกครองมายาวนาน

ตัวอย่างในประวัติศาสตร์อันใกล้ คือการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในนาม คสช. ที่เขียนเรื่องนิรโทษกรรมไว้ใน รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 48 ว่า

“บรรดาการกระทําทั้งหลายซึ่งได้กระทําเนื่องในการยึดและควบคุมอํานาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ของหัวหน้าและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้งการกระทําของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําดังกล่าวหรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือของผู้ซึ่งได้รับคําสั่งจากผู้ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันได้กระทําไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทําดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทําเพื่อให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษและการกระทําอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทําในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทํา หรือผู้ถูกใช้ให้กระทํา และไม่ว่ากระทําในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทํานั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทําพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง”


สส.ประชาธิปัตย์ เดินออกจากสภา ในวันพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย

นิรโทษกรรมสุดซอย

การเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมในตำนาน ที่พลิกโฉมหน้าประเทศไทยไปตลอดกาลคือ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ที่เรียกกันว่า ‘พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย’ หรือ ‘พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง’ ของพรรคเพื่อไทย ในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปลายปี 2556 เข้าสู่สภา โดยมีสาระสำคัญคือ การยกเว้นความผิดให้กับกลุ่มผู้ชุมนุม ทั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือกลุ่มคนเสื้อเหลือง และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง

ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนี้ เสนอโดย วรชัย เหมะ สส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาในวาระที่ 2 นั้น เดิมทีมีวัตถุประสงค์เพื่อนิรโทษกรรมผู้ต้องขังจากคดีเผาศาลากลางจังหวัด ช่วงการชุมนุมเสื้อแดง ปี 2553

ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ประกอบด้วย 7 มาตรา โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 คือปัญหาใหญ่ เพราะจะทำให้การนิรโทษกรรมครอบคลุมถึงหลายฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 2549 ทั้งฝ่ายพันธมิตร นปช. ซึ่งตัวละครสำคัญในการล้อมปราบคนเสื้อแดง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ สุเทพ เทือกสุบรรณ และผู้มีส่วนร่วมในการสังหารคนเสื้อแดง ก็จะพ้นผิดไปด้วย ทำให้เกิดการต่อต้านจากองค์กรสิทธิมนุษยชน แกนนำ นปช. และคนเสื้อแดงอย่างมาก

แต่ชนวนที่นำไปสู่ความขัดแย้งที่ใหญ่กว่านั้น คือการนิรโทษกรรมนั้นครอบคลุมไปถึง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ให้พ้นจากความผิดทั้งหมด รวมถึงข้อกล่าวหาคอร์รัปชัน เป็นการเปิดทางให้อดีตนายกฯ ได้กลับบ้านอย่างไม่ต้องกลัวโทษจำคุก ซึ่งการนิรโทษกรรมครั้งนั้นถูกวิจารณ์ว่า พรรคเพื่อไทยพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้เจ้าของพรรคตัวจริงพ้นผิดและได้กลับบ้าน

แม้ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย จะผ่านการพิจารณาช่วงตีสี่ ของเช้าวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 ด้วยคะแนนเห็นชอบ 310 เสียงต่อ 0 มี สส.เพื่อไทย งดออกเสียง 4 คน ส่วน สส.ประชาธิปัตย์วอล์กเอาต์ แต่ต่อมา สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นแกนนำการชุมนุมต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในนาม กปปส. การชุมนุมที่ยืดเยื้อนำมาสู่การยึดอำนาจของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557



นิรโทษกรรมสลายการชุมนุม

นิรโทษกรรมที่นำไปสู่การลอยนวลพ้นผิดครั้งสำคัญคือ การนิรโทษกรรมให้กับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่รัฐบาล พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แก่ผู้กระทำความผิดจากการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 โดยมีสาระสำคัญว่า ให้การกระทำใดๆ ที่เกิดขึ้นในหรือเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4-6 ตุลาคม 2519 หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

แต่การนิรโทษกรรมครั้งนั้นก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการนิรโทษกรรมให้กับผู้ก่อเหตุความรุนแรงกับกลุ่มนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา ด้วยเช่นกัน ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ลงมืออย่างโหดเหี้ยมฝ่ายอื่นๆ จึงไม่มีใครมีความผิดและถูกนำตัวมาลงโทษ
 

พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ให้สัมภาษณ์กรณี 6 ตุลา 2519

6 ตุลา นอกจุดรวมแสง
6 ตุลา ความจริง และประวัติศาสตร์สีเทาที่ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในหลายกรณี รัฐมีความชอบในการใช้อาวุธ ในการสลายการชุมนุม รัฐจึงเป็นเสมือนผู้ผูกขาดความรุนแรง และหากเกิดการนิรโทษให้ทุกฝ่าย ผลพลอยได้ก็จะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ลงมือเกินกว่าเหตุปราศจากความผิดไปด้วย และมักไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐต้องรับผิดชอบใดๆ กับการบาดเจ็บล้มตายหรือพิการของประชาชน

การสลายการชุมนุมครั้งหลังสุดเมื่อปลายปี 2565 จากความพยายามเคลื่อนขบวนของ ‘ราษฎรหยุด APEC 2022’ ตำรวจ คฝ. ใช้กระบองตอบโต้ประชาชนที่ขว้างปาสิ่งของ ใช้ไม้ตี และผลักดันโล่ พยายามเคลื่อนย้ายรถตำรวจ และยังใช้ยิงกระสุนยางหลายนัดในระยะประชิด และยิงแนวราบ ไม่ได้ยิงไปที่ร่างกายส่วนล่าง จนมีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 2 คน และมีสื่อมวลชนที่สวมปลอกแขนสัญลักษณ์ของสื่อมวลชนชัดเจน ได้รับบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 2 คน และมีผู้ถูกจับกุมจากพื้นที่ชุมนุมรวมกันประมาณ 25 คน

ผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บหนักคือ พายุ ดาวดิน นักกิจกรรมทางการเมืองภาคอีสาน ที่ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยาง และสูญเสียการมองเห็น นอกจากนี้ยังมีช่างภาพและผู้สื่อข่าวได้รับบาดเจ็บบริเวณดวงตา

และที่ปรากฏเป็นกระแสในโลกออนไลน์คือ ผู้สื่อข่าวของ The Matter ที่ถูกตำรวจชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) ใช้กระบองฟาดและเตะศีรษะ พร้อมพูดว่า “พวกกูเนี่ย ของจริง” แม้จะสวมปลอกแขนผู้สื่อข่าวก็ตาม
 

การชุมนุม ‘ราษฎรหยุด APEC 2022’

ไม่กี่วันถัดมา กลุ่มทะลุฟ้าทำกิจกรรม 'ยื่นหนังสือทะลุโลก #BLOODYAPEC2022' ถึงสถานทูตหลายประเทศที่เข้าร่วมประชุม APEC คือ เวียดนาม สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เม็กซิโก เยอรมนี สิงคโปร์ และที่ทำการสหประชาชาติ ให้รับทราบการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ คฝ.

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ไผ่-จตุภัทร์ และกลุ่มทะลุฟ้า เดินทางไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อยื่นหนังสือทวงถามความรับผิดชอบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้กำลังสลายการชุมนุม โดยมีข้อเรียกร้อง คือ

1. สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องรับผิดชอบและขอโทษกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น

2. สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องชดใช้ค่าเสียหายและเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหาย

3. ต้องเปิดเผยชื่อเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานและก่อให้เกิดความรุนแรง

ทางตำรวจชี้แจงว่า ไม่ได้มีใครอยากให้เกิดความสูญเสีย และทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็มีผู้บาดเจ็บเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทางตำรวจได้รับข้อร้องเรียนไป แต่ก็ย้ำว่า อาจต้องใช้ระยะเวลานานในการพิจารณา เพราะต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบ แต่จนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ และไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนรับผิดชอบ

และไม่ใช่แค่การสลายการชุมนุมครั้งล่าสุดที่ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐต้องรับผิดชอบ ตลอดยุคสมัยความขัดแย้งทางการเมือง ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐมักถูกทำให้เงียบหาย ภายใต้ ‘วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด’ (Impunity) นอกจากเจ้าหน้าที่จะได้รับนิรโทษกรรม เช่น 6 ตุลา กระบวนการค้นหาความจริงก็ยังไม่ทำงาน ไม่มีตัวแทนทุกฝ่ายเข้าร่วม และกระบวนการมักถูกแทรกแซง


ดังนั้น การสลายการชุมนุม ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ ทำให้ผู้คนบาดเจ็บล้มตายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นความผิดต่อชีวิต จึงไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม ที่สำคัญ รัฐธรรมนูญไทยยังมีบทบัญญัติรับรองสิทธิในชีวิตร่างกายไว้ เช่น ส่วนหนึ่งของมาตรา 28 ระบุว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การจับและการคุมขังบุคคลจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ” การใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุจึงขัดกับรัฐธรรมนูญชัดเจน



ลงนาม ICC เพื่อดึงคนผิดออกจากการนิรโทษกรรม

เพื่อไม่ให้การใช้อำนาจและความรุนแรงของรัฐกลายเป็นการลอยนวลพ้นผิด วิธีการลงโทษผู้กระทำความผิดจึงถูกนำเสนอขึ้นมา นั่นคือการใช้เขตอำนาจของ ศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC (International Criminal Court) ซึ่งตั้งขึ้นตาม ธรรมนูญกรุงโรม (Rome Statute) ว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ มีรัฐร่วมลงนาม 139 รัฐ โดยศาลอาญาระหว่างประเทศมีเขตอำนาจใน 4 ด้านได้แก่

1. การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

2. อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

3. อาชญากรรมสงคราม

4. อาชญากรรมอันเป็นการรุกราน

เช่น การกระทำภายใต้ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ อาจเข้าข่าย ‘อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ’ ซึ่งนิยามว่า เป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นส่วนหนึ่งของการโจมตีอย่างเป็นระบบ หรือเป็นวงกว้าง หรือการโจมตีแบบเอกเทศ ต่อบุคคลพลเรือนคนใดๆ หรือต่อกลุ่มคนที่ระบุตัวได้ในหมู่ประชากรพลเรือน"

แต่ประเทศไทยไม่มีการให้สัตยาบัน (ratification) ต่อธรรมนูญกรุงโรม จึงส่งผลให้ศาลอาญาระหว่างประเทศไม่สามารถดำเนินการใดๆ ในประเทศไทยได้
 

การสลายการชุมนุมปี 2553

ความไม่ชัดเจนเรื่องการลงนาม ICC อาจเกิดจากการลอยนวลพ้นผิด ได้ฝังรากลึกในสังคมไทยจนกลายเป็น ‘วัฒนธรรม’ และยังมีการขยายการตีความว่า การลงนาม ICC อาจทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ถูกคุ้มครอง

เช่น ในวันโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งแรก 13 กรกฎาคม 2566 ชาดา ไทยเศรษฐ์ สส.พรรคภูมิใจไทย อภิปราย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่านโยบายลงนาม ICC ของพรรคก้าวไกลสามารถโยงไปถึงประเด็นสถาบัน เพราะการลงสัตยาบันในธรรมนูญกรุงโรม จะทำให้สามารถฟ้องประมุขของรัฐได้

สิ่งที่ชาดาหยิบมาวิพากษ์นั้น อยู่ในธรรมนูญกรุงโรมข้อที่ 27 ที่กำหนดให้ใช้กับบุคคลทุกคนอย่างเสมอภาค ไม่สามารถใช้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามกฎหมายภายในได้ นั่นอาจทำให้เป็นการเปิดช่องให้พระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะไม่ถูกคุ้มครองตามกฎหมาย

แต่ในความเป็นจริง ประเทศไทยปกครองด้วยระบบรัฐสภา และระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ภายใต้หลักการ ‘The king can do no wrong’ หรือ ‘The king can do nothing’ หมายความว่า พระมหากษัตริย์จะไม่ทรงกระทำผิด เพราะพระองค์ไม่สามารถดำเนินการใดๆ (ในทางบริหาร) ได้ จึงต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งผู้ลงนามนี่เองที่จะเป็นผู้ที่รับผิดชอบการกระทำต่างๆ โดยพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ของการใช้อำนาจในรูปแบบราชอาณาจักร เพระองค์ทรงอยู่นอกการเมือง

ดังนั้น การลงนาม ICC จึงไม่ได้กระทบกระเทือนต่อสถาบัน เพราะประมุขของรัฐที่จะต้องรับผิดนั้นจะต้องเป็นประมุขของรัฐที่มีอำนาจบริหาร เช่น ระบบประธานาธิบดี เป็นต้น

อ้างอิง: วิทยานิพนธ์ ‘ข้อจำกัดอำนาจในการตรากฎหมายนิรโทษกรรม’ โดย จุฑามาศ ตั้งวงค์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์