วันศุกร์, กันยายน 29, 2566

คลิปไม่เห็นหน้า ตำรวจ 3 คนชี้ว่าใช่ ศาลก็เชื่อว่าใช่ บอกว่า “ไม่มีเหตุโกรธเคืองมาก่อน” “วีรภาพ” เลยถูกศาลอาญาลงโทษจำคุก 3 ปี คดี ม.112 กรณีพ่นสีเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ก่อนส่งให้ศาลอุทธรณ์สั่งประกันตัว


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
11h
·
ศาลอาญาลงโทษจำคุก 3 ปี “วีรภาพ” คดี ม.112 กรณีพ่นสีเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ก่อนส่งให้ศาลอุทธรณ์สั่งประกันตัว
.
28 ก.ย. 2566 ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาคดีของ “รีฟ” วีรภาพ วงษ์สมาน อายุ 20 ปี ผู้ถูกกล่าวหาในคดีข้อหาหลัก “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ “ร่วมกันชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 โดยถูกกล่าวหาว่า พ่นสีสเปรย์ข้อความ “ควรปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ #ไอ้ษัตริย์” บริเวณแยกดินแดง ระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2564
.
ศาลอาญาคำพิพากษาว่า วีรภาพมีความผิดตามมาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา ก่อนศาลอาญาส่งคำร้องขอประกันตัวไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ทำให้วีรภาพถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
.
คดีนี้ วีรภาพถูกฟ้องใน 5 ข้อกล่าวหา เขายืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และมีการสืบพยานในวันที่ 16-17 ส.ค. 2566 โจทก์นำพยานเข้าเบิกความทั้งหมดรวม 3 ปาก ได้แก่ พ.ต.อ.พีรรัฐ โยมา กับ พ.ต.อ.ประวิทย์ กองชุมพล เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวน สน.ดินแดง และ พ.ต.ท.สุรพล จันทร์สมศักดิ์ พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี ในขณะที่ฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าเบิกความ 1 ปาก ได้แก่ วีรภาพ ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยาน
.
ช่วงเช้าของวันนี้ที่ห้องพิจารณา 909 “วีรภาพ” พร้อมภรรยาและลูกชายวัย 8 เดือน ได้เดินทางมาศาล นอกจากนี้ยังมีผู้รับมอบฉันทะทนายความ รวมทั้งเจ้าหน้าที่องค์กรสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชน ร่วมเข้าฟังการพิจารณาคดีด้วย
.
เวลา 10.00 น. ศาลออกนั่งพิจารณาก่อนอ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า พิเคราะห์จากพยานหลักฐานของโจทก์แล้วเห็นว่ามีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 3 ปาก ที่เบิกความ ให้รายละเอียดถึงเหตุการณ์การชุมนุมโดยละเอียด เป็นขั้นตอนน่าเชื่อถือ ซึ่งพยานโจทก์ทั้ง 3 เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำตามหน้าที่ ไม่ได้มีสาเหตุโกรธเคืองจำเลย จึงไม่มีเหตุให้เบิกความใส่ร้ายจำเลย
.
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สืบสวนที่ได้จัดทำรายงานอย่างละเอียด ได้ติดตามสืบสวนจำเลยอย่างใกล้ชิด พบว่าก่อนหน้านี้จำเลยเคยเขาร่วมชุมนุมและขึ้นปราศรัย 2-3 ครั้ง และเห็นจำเลยปรากฏตัวในที่ชุมนุม เข้าร่วมชุมนุม พ่นสีสเปรย์ข้อความเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พร้อมข้อความหยาบคายต่อท้าย
.
เมื่อดูจากคลิปวิดีโอที่เป็นพยานหลักฐาน แม้จะไม่เห็นด้านหน้าของจำเลยขณะพ่นสีสเปรย์ แต่หากเปรียบเทียบจากรูปพรรณสัณฐานของจำเลยกับคลิปวิดิโอดังกล่าว จะพบว่ามีลักษณะใกล้เคียงกัน จึงน่าเชื่อว่าเป็นจำเลยที่เข้าร่วมชุมนุม และพ่นสีในที่เกิดเหตุจริง คำเบิกความของโจทก์ที่บอกว่าเห็นจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด จึงมีน้ำหนักรับฟังได้
.
ในประเด็นเรื่องข้อความเรียกร้องการปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ ศาลเห็นว่าคำว่าปฏิรูปสถาบันฯ นั้น เป็นคำแสดงความคิดเห็นโดยทั่วไป แต่เมื่อพิจารณาถึงคำไม่สุภาพที่พ่นต่อท้าย พบว่าเป็นคำสบถ หยาบคาย เจตนาว่าร้ายพระมหากษัตริย์ ประชาชนทั่วไปสามารถพบข้อความดังกล่าวได้ ทำให้เกิดความเกลียดชังและสร้างความเสื่อมเสียต่อในหลวงรัชกาลที่ 10
.
อีกทั้งพิจารณาจากคำเบิกความของจำเลย จำเลยได้อ้างตนเป็นพยานเพียงคนเดียว ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าจำเลยไม่ได้อยู่ในที่ชุมนุมตามที่กล่าวหา เป็นเพียงการเบิกความลอย ๆ ไม่อาจรับฟังได้
.
การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม แต่เนื่องจากอัยการไม่ได้บรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายบท ศาลไม่สามารถพิพากษาเกินคำขอได้ จึงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นบทหนักสุด จำคุก 3 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
.
ภายหลังการอ่านคำพิพากษา วีรภาพได้บอกลาภรรยาและอุ้มลูกชายวัย 8 เดือนของตัวเอง ก่อนเดินออกจากห้องพิจารณา โดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้คล้องกุญแจมือเขาพาลงไปห้องเวรชี้ ขณะที่ทนายความและนายประกันได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว
.
ต่อมาในเวลา 16.08 น. ศาลอาญามีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันตัวของวีรภาพให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาอีก 2–3 วัน ก่อนจะทราบผล
.
ผลของคำสั่งศาลอาญาในวันนี้ ทำให้วีรภาพจะต้องนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทำให้มีผู้ต้องขังคดีการเมืองที่อยู่ในระหว่างการต่อสู้คดีเป็นจำนวน 25 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 จำนวน 10 รายแล้ว แต่หากรวมผู้ต้องขังคดีที่สิ้นสุดแล้วจะมีทั้งหมด 35 ราย
.
สำหรับ “วีรภาพ” เป็นชาวกรุงเทพฯ อายุ 20 ปี เคยประกอบอาชีพขายเสื้อผ้ามือสอง แต่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และการบริหารล้มเหลวของรัฐบาล จนต้องปิดร้าน ทำให้เริ่มเกิดความสนใจทางการเมือง และเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2563-64
.
ปัจจุบันมีภรรยาและลูกชายวัย 8 เดือนที่ต้องเลี้ยงดู แม้จะถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เขาก็ยังยืนที่จะออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป เพราะอยากให้ลูกชายเขาที่เกิดมาเติบโตในสภาพบ้านเมืองที่เป็นปกติและอยู่ในระบอบประชาธิปไตย
.
.
อ่านบนเว็บไซต์: https://tlhr2014.com/archives/60075