วันศุกร์, กันยายน 29, 2566

#เศรษฐา การบริจาคเป็นสิ่งที่ดี แต่การคุ้มครองสิทธิพื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนไม่สามารถมาจากการ 'ไม่รับ' เงินภาษี หรือการสงเคราะห์ส่วนตัวแบบนี้ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์กับแค่คนไม่กี่คน เราต้องการให้นายกฯ ผลักดันนโยบาย #รัฐสวัสดิการ ถ้วนหน้า สำหรับประชากรหลายสิบล้านคนทั่วประเทศ


ภาพจาก "รัฐสวัสดิการ ทางเลือกสู่การสร้างคนให้เท่ากันในสังคม?"
The Active.Net





ประชาไท Prachatai.com
June 24, 2022 ·

ปาฐกถาเปิดเวทีขับเคลื่อนรัฐสวัสดิการ 2565 สฤณี อาชวานันท์กุล "ถอดรื้อมายา(อ)คติรัฐสวัสดิการในสังคมไทย" ชี้ไทยไม่ใช่สังคมที่สิ้นไร้ไม้ตอก ไม่ใช่สังคมที่ไม่มีเงินจ่ายเพื่อรัฐสวัสดิการ เป็นแค่สังคมที่รัฐยังไม่เห็นหัวประชาชนมากพอ
25 มิ.ย.65 – ในเวทีขับเคลื่อนรัฐสวัสดิการ 2565 WELFARE STATE 2022 ณ หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร จัดโดย เครือข่าย we fair และแนวร่วมรัฐสวัสดิการ #WELFARESTATE2022 ช่วงเช้า สฤณี อาชวานันทกุล กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “การถอดรื้อมายา(อ)คติรัฐสวัสดิการในสังคมไทย" โดยช่วงท้ายสฤณีกล่าวถึงมายาคติหนึ่งเกี่ยวกับการสร้างรัฐสวัสดิการว่า “รัฐสวัสดิการทำได้แต่ในประเทศร่ำรวยเท่านั้น ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา จะหาเงินจากไหนมาจ่าย"
อย่างไรก็ตามสฤณีชี้ว่า ที่ผ่านมานักเศรษฐศาสตร์หลายคนได้ออกมาชี้ช่องทางมากมาย ตั้งแต่การปฏิรูประบบภาษีให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น เก็บภาษีจากฐานทรัพย์สินมากขึ้น ลดการรั่วไหลของภาษีลง แต่ดิฉันอยากชวนให้มองอีกมุมด้วย อยากให้เริ่มต้นจากคำถามที่ว่า วันนี้เราอยู่ในสังคมที่รัฐใช้เงินภาษีเราแบบไหน
เราอยู่ในสังคมที่รัฐตกลงจ่ายเงินเป็นหมื่นล้านเพื่อซื้อเรือดำน้ำที่ไม่มีเครื่องยนต์ มีนายพลมากเกินความจำเป็นโดยที่หลายร้อยคนไม่มีหน้าที่ความรับผิดชอบชัดเจน มีอภิมหาเศรษฐีหนีภาษีที่ดินชนิดไม่แคร์สื่อด้วยการปลูกกล้วยเป็นพันเป็นหมื่นต้น บางรายเอาไปโฆษณาว่านี่คือ “โครงการซีเอสอาร์” คืนกำไรสู่สังคมอีกต่างหาก เศรษฐีบางคนไปซอยที่แปลงใหญ่เป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวถี่ๆ สร้างที่ตาบอดขึ้นมา ดูไม่มีเหตุผลทางธุรกิจอะไรรองรับเลยยกเว้นว่าอยากเลี่ยงภาษี
ส่วนภาษีมรดกซึ่งผลักดันกันมานานหลายปี เคยถูกคาดหวังว่าจะช่วยสร้างรายได้เข้ารัฐเป็นกอบเป็นกำ ลดความเหลื่อมล้ำสองเด้งผ่านการเก็บภาษีมรดกจากเศรษฐี และการนำรายได้จากภาษีมาจัดสวัสดิการให้กับประชาชน สุดท้ายภาษีตัวนี้ได้ออกเป็นกฎหมายในยุคสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ คสช. แต่งตั้ง ผ่านมา 5 ปี รัฐเก็บภาษีจริงได้เพียงปีละไม่กี่ร้อยล้านบาท
สังคมไทยไม่ใช่สังคมที่สิ้นไร้ไม้ตอก ไม่ใช่สังคมที่ไม่มีเงินจ่ายเพื่อรัฐสวัสดิการ เป็นแค่สังคมที่รัฐยังไม่เห็นหัวประชาชนมากพอ ยังไม่วาง “คน” เป็นเป้าหมายและหัวใจของการพัฒนาอย่างแท้จริงเท่านั้นเอง
ดิฉันเชื่อว่า บททดสอบที่แท้จริงว่าสังคมของเรามีสิทธิเสรีภาพขนาดไหน มีความเจริญทางวัตถุและจิตใจเพียงใด วัดไม่ได้จากสิทธิเสรีภาพและความเป็นอยู่ของอภิสิทธิ์ชน คนที่อยู่บนสุดของยอดพีระมิด แต่ต้องวัดจากสิทธิเสรีภาพและความเป็นอยู่ของสมาชิกในสังคมที่อ่อนแอที่สุด ไร้อำนาจต่อรองที่สุด รวมทั้งเราต้องมองไปในอนาคต มองแนวโน้มสิทธิเสรีภาพและความเป็นอยู่ของคนรุ่นหลังที่ยังไม่เกิดมาด้วย ตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน
รัฐสวัสดิการถึงที่สุดแล้วไม่ได้เป็นแค่เรื่องของความยุติธรรมทางสังคม ไม่ได้เป็นแค่หนทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในศตวรรษที่ 21 ที่ตอบโจทย์ความท้าทายของเราได้ สุดท้ายมันเป็นเรื่องของคำถามที่ว่า เราอยากเป็นคนแบบไหน และเราอยากอาศัยอยู่ในสังคมประเภทไหน
ดิฉันมองว่ารัฐสวัสดิการเป็นหัวใจของการสร้างสังคมที่น่าอยู่ สังคมที่เอื้อให้สมาชิกในสังคมมีความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน มีจิตสาธารณะ และมีภราดรภาพกับเพื่อนพลเมือง
รับชมเสวนาได้ที่: https://youtu.be/mVnkXqzQhk0
#รัฐสวัสดิการ #WELFARESTATE2022