เปิดเครือข่าย เครือญาติ ทักษิณ ชินวัตร วางหมากไว้ในเกมการเมือง กระจายคน 22 ปี
21 Sep 2023
Spring News
พาทวนเข็มนาฬิากา ย้อนเวลามาดู หมาก ทักษิณ ชินวัตร วางเครือข่าย หมากจุดให้เครือญาติ คนใกล้ชิด ได้ปักหลักในเกมการเมือง กระจายคน กระชับอำนาจ ครม.
"ครม.เศรษฐา" กำลังเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หวังสร้างโอกาสฟื้นฟูเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้องพี่น้องประชาชนอีกครั้ง หลังจากที่เพื่อไทยไม่ได้เป็นรัฐบาลมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ถูก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐประหาร เมื่อ 22 พ.ค. 2557
เวลานี้ ในช่วงหลังการเลือกตั้ง 2566 รัฐบาลเพื่อไทย มี สารพัดนโยบายทยอยออกมา ไม่ว่าจะเป็นมาตรการลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน และกระตุ้นเศรษฐกิจหลายประการ ในการประชุม ครม. เศรษฐา อย่างเป็นทางการเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน รัฐบาลเศรษฐา 1 ก็ได้แต่งตั้งบรรดา "คนใกล้ชิด-สส.สอบตก" พาเหรดนั่งเก้าอี้ "ข้าราชการการเมือง" จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งในทำเนียบรัฐบาล ที่ปรึกษารัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรี และอีกจำนวนไม่น้อย ที่ไร้ตำแหน่ง แต่ปรากฎตัวทำหน้าที่ประกบติดบรรดารัฐมนตรี และเข้าประจำการในแต่ละกระทรวง
ปี 2544 แต่งตั้ง เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เป็นเลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ
จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ เทียบสมัย "ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์" นับตั้งแต่ 22 ปีที่แล้ว 2 พี่น้อง "นายกฯ ชินวัตร" ก็มีการแต่งตั้งคนใกล้ชิด-วงศ์วานว่านเครือ-ญาติสนิทมิตรสหาย เข้าไปเป็นข้าราชการการเมือง ช่วยงานรัฐมนตรีจำนวนมาก
จนถูกครหาจากสังคมว่ามีผลประโยชน์ต่างตอบแทน มีผลประโยชน์ทับซ้อน ให้กับ บรรดาไพร่พล-ขุนศึก โดยไม่สนใจว่า ตำแหน่งที่ให้ไปนั่งนั้น เหมาะสมหรือไม่ ?
2546 แต่งตั้ง เยาวเรศ ชินวัตร เป็นนายกสภาประจำสถาบันราชภัฏอุบลราชธานี (จาตุรนต์ ฉายแสง เป็นรองนายกฯ)
หากนับเฉพาะ "เลือดเนื้อเชื้อไข" ที่ใครๆ ก็บอกว่า "เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ"นั้น พบว่าในสมัย"รัฐบาลทักษิณ" ทั้ง 2 สมัย ระหว่างปี 2544-2549 มีการแต่งตั้งบุคคล ดังนี้
- ปี 2544 แต่งตั้ง เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เป็นเลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ
- ปี 2546 แต่งตั้ง เยาวเรศ ชินวัตร เป็นนายกสภาประจำสถาบันราชภัฏอุบลราชธานี (จาตุรนต์ ฉายแสง เป็นรองนายกฯ)
- แต่งตั้ง พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร เป็นกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กร ทัพพะรังสี เป็นรองนายกฯ) แต่งตั้ง พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร เป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) แต่งตั้ง พล.อ.อุทัย ชินวัตร เป็นที่ปรึกษา รมว.มหาดไทย (วันมูหะมัดนอร์ มะทา)
- ปี 2547 แต่งตั้ง พล.อ.อุทัย ชินวัตร เป็นที่ปรึกษารองนายกฯ (วันมูหะมัดนอร์ มะทา) แต่งตั้ง พล.อ.อุทัย ชินวัตร เป็นที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ แต่งตั้ง พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด
- ปี 2548 แต่งตั้ง เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เป็นที่ปรึกษานายกฯ
- ปี 2549 แต่งตั้ง วีระพันธุ์ ชินวัตร กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ (สุรเกียรติ เสถียรไทย รองนายกฯ ปฏิบัติราชการแทนนายกฯ)
ถัดมาสมัย "รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช" ที่ยอมรับโดยสาธารณะว่าเป็น "ตัวแทน" ให้กับ"ทักษิณ" มีการแต่งตั้งบุคคลในปี 2551 คือ ทพญ.ศรีญาดา ชินวัตร เป็นเลขานุการ รมว.วัฒนธรรม
ถัดมาสมัย รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อ ปี 2554 แต่งตั้ง พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษานายกฯ ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ ลูกสาว เยาวเรศ ชินวัตร เป็นข้าราชการการเมืองประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ต่อมาปี 2556 แต่งตั้ง สมชัย โกวิทเจริญกุล สามี มณฑาทิพย์ ชินวัตร พี่สาวยิ่งลักษณ์ เป็นบอร์ดองค์การเภสัชกรรม
ขณะเดียวกัน ยังผลักดันให้มีการแต่งตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พี่ชาย คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภรรยาทักษิณ เป็น ผบ.ตร. โดยในช่วงเวลาเดียวกัน พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ยังถูกแต่งตั้งไปเป็นบอร์ดบริหารบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อีกด้วย
ประเด็นนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากคาบเกี่ยวกับกรณีการโยกย้าย พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ไปเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เบียดเก้าอี้ ถวิล เปลี่ยนศรี เลขาฯ สมช. ทำให้มีการยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลรัฐธรรมนูญ
• ไฟไหม้ฟาง สู่รัฐประหารปี 2557
สุดท้ายกลายเป็นเหตุการณ์ "ไฟไหม้ฟาง" เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ วินิจฉัยให้ "ยิ่งลักษณ์" พ้นเก้าอี้นายกฯ เมื่อ 7 พ.ค. 2557 กลายเป็นหนึ่งในชนวนให้เกิดการรัฐประหารในไทยเมื่อ 22 พ.ค.2557 ในเวลาต่อมา
ยังไม่นับ ระหว่างปี 2544-2557 ที่มี "ทักษิณ-สมัคร-สมชาย วงศ์สวัสดิ์-ยิ่งลักษณ์" นั่งเก้าอี้นายกฯ แล้วแต่งตั้ง "ขุนพล-คนใกล้ชิด" ไม่ว่าจะเป็นอดีตนักเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 10 (ตท.10) รุ่นเดียวกับทักษิณ รวมถึงบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางการเมือง-ธุรกิจ นั่งเก้าอี้ข้าราชการการเมืองจำนวนมาก
ตัดภาพมาปัจจุบัน ในปี 2566 "พรรคเพื่อไทย" ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับ 2 แต่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จในรอบ 12 ปี ดัน "เศรษฐา ทวีสิน" นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่เมืองไทย เป็นนายกฯ คนที่ 30
หลังจากนั้น มีการแต่งตั้งข้าราชการการเมืองจำนวนมาก ส่วนใหญ่ล้วนเป็น สส.สอบตก ที่เป็น"ไพร่พล"ขุมกำลังหลัก ที่"พ่าย"กระแส"สีส้มของก้าวไกล
ในช่วงได้รับโปรดเกล้าฯ ครม.ใหม่ มีการปล่อยเอกสารหลุดจากกระทรวงกลาโหมว่า จะมีการแต่งตั้ง "พายัพ ชินวัตร" เป็นประธานที่ปรึกษา รมว.กลาโหม และ "พอพงษ์ ชินวัตร" ลูกชายพายัพ เป็นเลขานุการประจำตัว รมว.กลาโหม สุทิน คลังแสง
เรื่องนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จน "สุทิน คลังแสง" ต้องออกมาเบรกว่า เอกสารดังกล่าวยังไม่ใช่ของจริง แล้วเรื่องนี้ก็เงียบหายไป
ล่าสุด เรื่องที่ถูกตั้งข้อสังเกต เมื่อปรากฎกลุ่มเพื่อนสนิท “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร รวมถึงลูกพี่ลูกน้อง แบ่งหน้าที่เข้าประกบตั้งแต่นายกฯ จนถึงรัฐมนตรี กระทรวงต่างๆ
รายที่ถูกเพ่งเล็งที่สุด เอิง "คณาพจน์ โจมฤทธิ์" รุ่นพี่สนิทอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ที่ประกบติดนายกฯ เศรษฐา ทุกย่างก้าว และล่าสุดร่วมทริปนายกฯ ในการประชุมยูเอ็น ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ท่ามกลางคำถามว่า ถูกตัดสิทธิการเมือง แต่ไปในสถานะใด
ขณะที่ "อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งยังเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย และไม่รับตำแหน่งใน ครม. ทว่า ในที่สุด นายกฯเศรษฐา ก็แต่งตั้งแพทองธาร เข้าร่วมกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ว่าด้วยซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อตั้งกำหนดยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย โดยนั่งรองประธาน และมีหลายกระทรวงอยู่ในคณะกรรมการชุดนี้
ทำให้ถูกมองว่า คณะกรรมการชุดนี้ ตั้งขึ้นเพื่อเปิดทางให้หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เข้ามามีบทบาททางการเมือง เสมือนมี “ครม.ซอฟต์พาวเวอร์” สั่งการโดย “แพทองธาร” เพราะแม้ “เศรษฐา” จะนั่งประธาน แต่คงมีน้อยครั้งที่เข้าร่วมประชุมด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการแต่งตั้ง “สรพันธ์ คุณากรวงศ์” น้องชายณัฐพงษ์ สามี “พินทองทา" ลูกสาวคนที่สองของทักษิณ เข้าไปเป็นเลขานุการ รมช.คมนาคม
ขณะเดียวกัน “แซน” ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ หลานสาว (ลูกสาว เยาวเรศ ชินวัตร) อีกคนของ “ทักษิณ” ก็เริ่มไปปรากฎตัวที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยพยายามเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับงานด้านประชาสัมพันธ์ของกระทรวงอย่างไม่เป็นทางการ
“รัฐบาลเศรษฐา” เพิ่งเริ่มต้นนับ 1 หากไม่มีอุบัติเหตุการเมืองเสียก่อน และทำผลงานได้ดี ย่อมมีโอกาสอยู่ยาวครบวาระ 4 ปี แต่ระหว่างทาง อาจได้เห็นการผลัดเปลี่ยนเวียนหน้าที่ ให้วงศ์วานวานเครือชินวัตร และเครือข่ายนักการเมืองในสังกัด มีโอกาสนั่งเก้าอี้การเมือง เพื่อตอบแทนกันอย่างถ้วนหน้า
ในทางกลับกัน ถือเป็นการกระจายอำนาจเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเลือกตั้งในอนาคต ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “กลุ่มคนรุ่น” ใหม่ภายใต้การนำของแพทองธารที่ “ทักษิณ ชินวัตร”ส่งไม้ต่อ กำลังซุ่มกระชับอำนาจนักการเมืองรุ่นเก่าในพรรค และครม.อย่างเป็นระบบ