วันศุกร์, กันยายน 29, 2566

ผู้นำฝ่ายค้านในสภาสำคัญอย่างไร ก้าวไกลถึงยอมให้ทัวร์ลง



ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรเป็นตำแหน่งที่ต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง โดยมีประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ผู้นำฝ่ายค้านจะอยู่ในตำแหน่งเท่ากับอายุของสภา เว้นแต่ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ

ที่มาที่ไป


ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์รัฐสภาระบุว่า ผู้นำฝ่ายค้านจะเกิดขึ้นในประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา และมีเฉพาะในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น มักจะเกิดขึ้นกับประเทศที่มีระบบ 2 พรรคหรือหลายพรรค อังกฤษซึ่งเป็นประเทศต้นแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาให้ความสำคัญกับพรรคฝ่ายค้านเป็นอย่างมาก เทียบเท่ากับพรรคฝ่ายรัฐบาล


ในส่วนของไทย ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านเกิดขึ้นครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2517 ซึ่งกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวระบุว่า “เราก็รับมาจากแนวของอังกฤษ” จากนั้นมีการบัญญัติเรื่องนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ รัฐธรรมนูญ 2521, 2534, 2540, 2550, 2560


ผู้นำฝ่ายค้านในอดีต


ในรอบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ไทยมีผู้นำฝ่ายค้านในสภาทั้งสิ้น 9 คน โดยพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ส่งหัวหน้าพรรคเข้ายึดครองเก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้านในสภามากที่สุด 4 คน ขณะที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ (ควม.) บันทึกสถิติเป็นผู้นำฝ่ายค้านมากที่สุด 4 สมัย

1. ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช พรรคประชาธิปัตย์ 1 สมัย (22 มี.ค. 2518 - 12 ม.ค. 2519)

2. พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร พรรคชาติไทย 2 สมัย (24 พ.ค. 2526-1 พ.ค. 2529 และ 30 ต.ค. 2535-7 พ.ค. 2537 )

3. พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พรรคความหวังใหม่ 4 สมัย (15 พ.ค.-16 มิ.ย. 2535, 26 พ.ย. 2540-2 มิ.ย. 2541, 2 ก.ย. 2541- 27 เม.ย. 2542, 12 พ.ค. 2542-9 พ.ย. 2543)

4. บรรหาร ศิลปอาชา พรรคชาติไทย 1 สมัย (27 พ.ค. 2537-19 พ.ค. 2538)

5. ชวน หลีกภัย พรรคประชาธิปัตย์ 3 สมัย (4 ส.ค. 2538-27 ก.ย 2539, 21 ธ.ค. 2539-8 พ.ย. 2540, 11 มี.ค. 2544-3 พ.ค. 2546)

6. บัญญัติ บรรทัดฐาน พรรคประชาธิปัตย์ 1 สมัย (23 พ.ค. 2546-5 ม.ค. 2548)

7. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์ 3 สมัย 23 เม.ย. 2548-24 ก.พ. 2549, 27 ก.พ. 2551-17 ธ.ค. 2551, 16 ก.ย. 2554-9 ธ.ค. 2556)

8. สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ พรรคเพื่อไทย 2 สมัย (17 ส.ค. 2562-26 ก.ย. 2563, 6 ธ.ค. 2563-28 ต.ค. 2564)

9. ชลน่าน ศรีแก้ว พรรคเพื่อไทย 1 สมัย (23 ธ.ค. 2564-20 มี.ค. 2566)

สำหรับหัวหน้าพรรค ก.ก. คนต่อไป กำลังจะกลายเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาคนที่ 10 ของไทย



อำนาจหน้าที่


หากถามว่าตำแหน่งนี้สำคัญอย่างไร เชื่อว่าบทบาทของผู้นำฝ่ายค้านที่สังคมจดจำได้น่าจะเกิดขึ้นในระหว่างการประชุมนัดสำคัญ ๆ ของสภาล่าง โดยเฉพาะการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี

ผู้นำฝ่ายค้านในสภาจะรับบท “ผู้อภิปรายเปิด” โดยพูดเป็นคนแรกเพื่อโหมโรง-ฉายภาพรวม-กระตุ้นให้ประชาชนติดตามตอนต่อไป และเป็น “ผู้อภิปรายปิด” ขมวดปมสำคัญ ๆ ที่เพื่อนสมาชิกอภิปรายมาตลอดหลายวันหลายชั่วโมง ทิ้งคำถามคาใจไว้ให้สังคม และขยี้ข้อสังเกตที่เป็นเหตุให้ฝ่ายค้านไม่อาจไว้วางใจรัฐบาลได้

แต่ในระยะหลัง-ในยุคเพื่อไทยตกที่นั่งแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ได้ใช้สูตรให้ผู้นำฝ่ายค้านในสภาอภิปรายเปิด และให้ประธานกรรมการประสานงานพรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภา (ประธานวิปฝ่ายค้าน) รับหน้าที่อภิปรายปิด

ทว่าอำนาจหน้าที่สำคัญของผู้นำฝ่ายค้านที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 คือ เป็นองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (มาตรา 203) เป็นองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ 4 องค์กร (มาตรา 217) ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 5 จาก 7 คน (อีก 2 คนเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา), ผู้ตรวจการแผ่นดิน 3 คน, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 9 คน และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) 7 คน

สำหรับคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา, ประธานสภาผู้แทนราษฎร, ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร, ประธานศาลปกครองสูงสุด และบุคคลซึ่งองค์กรอิสระแต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ องค์กรละ 1 คน


นอกจากนี้ผู้นำฝ่ายค้านในสภายังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการร่วม 5 คน เพื่อวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ใดเป็นกฎหมายปฏิรูป ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ หรือไม่ ในกรณีที่ ครม. และสมาชิกรัฐสภาเห็นไม่ตรงกัน (มาตรา 270 วรรคสี่)

ขณะที่ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร 2562 ข้อ 15 กำหนดให้ผู้นำฝ่ายค้านในสภาเสนอให้ประธานสภาแต่งตั้งประธาน 1 คน และกรรมการวิปฝ่ายค้านไม่เกิน 24 คน

นั่นหมายความว่า หากไม่มีผู้นำฝ่ายค้านในสภา ก็ไม่อาจแต่งตั้งประธานวิปฝ่ายค้านได้ และอาจทำให้การทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติไม่ราบรื่น เพราะขาดการประสานงานการประชุมในนามพรรคร่วมฝ่ายค้าน

อำนาจหน้าที่ของวิปฝ่ายค้านที่ถือปฏิบัติกันมาช้านานในการประชุมสภานัดสำคัญ ๆ คือ เข้าร่วมประชุมกับประธานสภา วิปรัฐบาล และวิปวุฒิ (กรณีประชุมร่วมรัฐสภา) เพื่อกำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาญัตติ/ร่างกฎหมายต่าง ๆ จากนั้นก็นำมติกลับมาแจ้งพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อกำหนดกรอบเวลาในการอภิปรายของแต่ละพรรค พอถึงวันประชุมจริง ก็ทำหน้าที่จัดคิว-ดีลคน-กำกับทิศทางการลงมติของ สส.ฝ่ายค้าน

ดูเหมือนพิธาเองก็ตระหนักในสิ่งนี้ จึงต้องการเปิดทางให้พรรคมีผู้นำคนใหม่ และเปิดทางให้สภามีผู้นำฝ่ายค้าน

ที่มา
ผู้นำฝ่ายค้าน-รองประธานสภา สรุปเงื่อนไขที่ก้าวไกลต้องแลกหลังพิธาลาออกหัวหน้าพรรค
บีบีซีไทย