วันเสาร์, กันยายน 23, 2566

ชอบบ้าง ชังบ้าง หงุดหงิดหมั่นไส้บ้าง ก็ว่ากันไป ธรรมดาโลก โดยรวมแล้วผมคิดว่าทัศนะ / วิจารณ์ของ ปิยบุตร แสงกนกกุล 'มีประโยชน์' เช่น เรื่องนี้


Worapoj Panpong
13h
·
ชอบบ้าง ชังบ้าง หงุดหงิดหมั่นไส้บ้าง ก็ว่ากันไป
ธรรมดาโลก
โดยรวมแล้วผมคิดว่าทัศนะ / วิจารณ์ของ ปิยบุตร แสงกนกกุล 'มีประโยชน์'
เช่น เรื่องนี้ : https://www.nandialogue.com/interview-piyabutr.../
.....
ปิยบุตร แสงกนกกุล “ผมต้องกลับมาพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างจริงจัง”

17/06/2023
by nandialogue

เมื่อวาน (16 มิถุนายน 2022) ปิยบุตร แสงกนกกุล แจ้งข้อความผ่านเฟซบุ๊กของเขาว่า–

‘เมื่อผมกลายเป็นผู้ต้องหาในความผิด 112’

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยสถานีตำรวจนครบาลดุสิต ได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ให้ผมไปพบคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน เนื่องจากผมเป็นผู้ต้องหาในความผิดฐาน ‘หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์’ กรณีนี้ ร้องทุกข์กล่าวโทษโดย นายเทพมนตรี ลิมปพยอม

ลงนามออกหมายเรียกโดย พ.ต.ท.พิชัย มีอัฐมั่น รองผู้กำกับการ (สอบสวน) สน. ดุสิต

1
ผลพวงจากรัฐประหาร 1976 เนติบริกรเขียนกฎหมายโดยจงใจเปิดช่องเอาไว้รูเบ้อเร่อ ว่าใครก็ฟ้องได้


ยังไม่นับว่าทั้งโดยตัวบทและการบังคับใช้ กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นดาบอาญาสิทธิ์แห่งปริศนา เป็นหัวข้อสนทนาใหญ่ที่ยังไม่มีบทสรุปร่วม โดยเฉพาะสองสามปีมานี้ ตัวเลขคดีความพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์

พูดและเขียนอย่างเปิดเผยมากว่าทศวรรษ พูดและเขียนด้วยปรารถนาดีไมตรีจิต พูดและเขียนในที่แจ้ง แม้กระทั่งกลางสภาผู้แทนราษฎร จนแล้วจนรอด ที่สุดก็ถึงคิวของ ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่

สื่อบางสำนักจั่วหัวว่า ‘เอาจนได้’

แปลไทยเป็นไทยในระหว่างบรรทัดว่า–ก็กูจะเล่นมัน ทำไม ใครมีปัญหา ?

2
กำหนดบินไปฝรั่งเศส 29 มิถุนาฯ นี้ จะต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยหรือเปล่า


ปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมว่ากันไป เบื้องลึกภายใน ปิยบุตรบริสุทธิ์ใจแน่ๆ มั่นใจแน่ๆ ว่าจะไม่มีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นกับเขา เพราะวิถีชีวิตต่างๆ นานาก็ดำเนินไปเป็นปกติสุจริตชน พูด คิด อ่าน เขียน เท่าที่กฎหมายอนุญาต เขาจบนิติศาสตร์ เขาเป็นอาจารย์สอนนิติศาสตร์ กรอบกรงข้อจำกัดเรื่องพวกนี้ เขาย่อมรู้ดี

3
เทปนี้เราคุยกันที่น่าน


27 พฤษภาคม 2022 เขามาบรรยายเรื่องปลดล็อกท้องถิ่น พอมีเวลาว่างหลังเลิกงานก็หาเหล้ายาดื่มกิน อัปเดตชีวิตทั่วๆ ไป และบางช่วงบางตอนผมขออนุญาตบันทึกเสียง..



“ที่ต่างจากชีวิตนักวิชาการมากคือเรื่องปริมาณคนฟัง ตอนเป็นนักวิชาการ สอนหนังสือที่คณะนิติศาสตร์ บรรยายในห้องเรียนใหญ่สุดก็มีคนฟังสี่ห้าร้อย ถ้าปริญญาโทก็บรรยายได้ลึก แต่ห้องเรียนเล็กลง เสรีภาพในการแสดงออกสูง แต่ฐานคนฟังจำกัด ประมาณยี่สิบคน แต่แม้กระนั้นก็ตาม เวลาเราจัดกิจกรรมเมื่อก่อน ตอน ‘นิติราษฎร์’ ก่อตั้งขึ้นมา ตำรวจทหารก็ตามเฝ้าเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม มันก็ยังมีเกราะคุ้มกันของนักวิชาการซึ่งอำนาจต่างๆ ยังปล่อยให้เราได้แสดงออกอยู่บ้าง แต่พอมาเป็นนักการเมือง สิ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจนคือเพดานลดต่ำลง ซึ่งมันก็แลกด้วยจำนวนคนฟัง คนติดตาม มีคนเชื่อมากยิ่งขึ้น”

4
จากสามสี่ร้อยกลายเป็นเท่าไร ?

“เบื้องต้นตั้งพรรคก็หลักหมื่น ทั่วประเทศนะครับ พอลงเลือกตั้งก็ขึ้นเป็นหลักล้าน ถึงวันนี้ก็มีอยู่ไม่น้อย ผมบอกไม่ได้หรอกว่าทุกคนเชื่อผมหมด เห็นด้วยหมด แต่อย่างน้อยเขาได้ยินได้ฟัง บางคนอาจไม่ได้เลือกเรา แต่เขาฟังเรา อีกข้อหนึ่งที่สำคัญ ภาพลักษณ์ของผมตอนเป็นนักวิชาการ มีคนเอาไปปลุกปั่นว่าน่ากลัวอย่างนั้นอย่างนี้ แต่พอเข้ามาทำงานการเมือง เจอคนมากขึ้น เขาก็ทักทายเข้ามาว่ามันไม่เห็นดูน่ากลัว ข้อเสนอที่ผมพูดไม่ได้แปลกอะไร ..อย่างที่ผมบอก พอเข้าวงการเมือง ข้อจำกัดมันสูง สูงตั้งแต่เริ่มต้นคือมันไม่ใช่ของผมคนเดียวแล้ว ตอนเป็นนักวิชาการ อยากพูดอะไร พูดไปเลย ผมเดือดร้อนคนเดียว รับผิดชอบคนเดียว แต่พอเป็นนักการเมือง มีพรรคการเมืองอยู่ข้างหลัง พูดอะไร มันกระทบคนอื่น ยกตัวอย่างง่ายๆ ตอนตั้งพรรค คือเรื่องสถาบันกษัตริย์ หรือเรื่อง 112 มันติดตัวผม พอติด องคาพยพเราทั่วประเทศเขาก็บอกให้ผมถอนเรื่องนี้ ถ้าผมไม่ถอน เขาบอกว่าเขาเดินต่อไม่ได้ หรือตัวอย่างล่าสุดเรื่องกำนันผู้ใหญ่บ้าน ธนาธรพูดออกไป ซึ่งไม่ได้อยู่ในข้อเสนอพรรค เขาพูดด้วยความคิดเห็นของเขา แต่พอพูด ในทางการเมืองเราก็รณรงค์ยาก มันจะมีข้อจำกัดพวกนี้เสมอ

“คือมันไม่ใช่ตัวเราคนเดียว ซึ่งต่างจากตอนเป็นนักวิชาการ เราพูดสุดและรับผิดชอบตัวเราเอง พอเป็นองค์กรการเมือง พูดอะไรไป มันไม่ได้เดือดร้อนผมคนเดียว มันมีองคาพยพอื่นด้วย ยังไม่นับรวมว่าต้องคิดถึงเรื่องคะแนนเสียง หรือโหวตเตอร์ บางคนเขาสนใจเฉพาะเรื่องนี้ บางคนสนใจเรื่องนั้น นึกออกใช่มั้ยครับ คือมันก็แลกกลับมาว่ามีคนติดตามมากขึ้น”

5
“สิ่งที่ทำให้ผมคิดว่า ผมต้องกลับมาพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างจริงจัง อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น มาจากการชุมนุมของราษฎร ตั้งแต่ช่วงปี 63-64
เราเป็นนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้มาตลอด ผมว่าผมพอมีทักษะ มีความรู้ในการสื่อสารเรื่องพวกนี้ให้เป็นระบบ ในการอภิปรายถกเถียงได้ เห็นน้องๆ เขาออกไปแสดงออกขนาดนี้ เราคิดว่าต้องออกไปช่วยสนับสนุนเรื่องวิชาการ ความรู้ต่างๆ แล้วก็แน่นอนว่า ตัวผมปลอดโปร่งมากขึ้นเพราะโดนตัดสิทธิ์ โดนยุบพรรค ก็มีอิสระมากขึ้น อย่างน้อยที่สุด ผมแสดงออกอะไรไป มันไม่เกี่ยวกับพรรค เพราะผมไม่ได้สังกัดแล้ว ส่วนใครจะบอกว่าโยงใยก็สุดแท้แต่เขา เราไม่ต้องประคับประคององค์กรของเรา ทำให้แสดงออกได้มากขึ้น”

6
“เวลาเป็นนักวิชาการ นักทฤษฎี เสนอเรื่องนั้นเรื่องนี้ ถ้าเลือกได้ ผมก็คงอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยได้ต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมตัดสินใจลงมาปฏิบัติเองเพราะเรามองเห็นแล้วว่า สิ่งที่เราเสนอ มันไม่มีคนเอาไปทำ คนเห็นด้วยเยอะ แต่ไม่มีคนทำ
ระยะหลังตอนเราจัดงานนิติราษฎร์ ตอนท้ายจะเปิดเวทีให้ซักถามตอนท้าย หลังๆ เริ่มมีคนพูดว่า รู้หมดแล้ว เห็นด้วยหมดเลย แต่ว่าแล้วเมื่อไรอาจารย์จะลงมาทำ ..ผมเก็บไปคิดคนเดียว ไม่ได้ปรึกษาในกลุ่ม คือมันก็น่าคิด ว่าถ้าเราเสนอแล้ว เราผลักดันแล้วเขาไม่ทำ พรรคการเมืองอื่นๆ ไม่ทำ เราอาจต้องทำเอง จุดชี้ขาดคือตอนแพ้ประชามติ 7 สิงหาฯ 59 ผมคิดว่าถ้าปล่อยไปอย่างนี้จะสู้กับเขายังไง ก็เลยตัดสินใจลงมาปฏิบัติเอง หวังว่าด้วยสติปัญญา ด้วยพลังที่เรามีอยู่บ้าง มันจะดึงคนให้เข้ามาสู่เส้นทางที่ถูกต้อง มีเยาวชนคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ๆ ที่เติบโตมาอีก”

7
ประเด็น
“ผมเห็นว่าการแบ่งเหลืองแดงแบบเดิมในยุคหนึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาหรือออกจากวิกฤติได้
ไม่ว่าคุณเป็นเสื้อเหลือง เสื้อแดง เพียงฝ่ายเดียว คุณไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้อีกแล้ว เราจำเป็นต้องเปลี่ยนด้วยกัน เปลี่ยนด้วยการตั้งโจทย์ใหม่ เพราะมันไม่ใช่เหลืองกับแดงทะเลาะกัน ไม่ใช่เหลืองเชียร์พรรคหนึ่ง แดงเชียร์พรรคหนึ่ง แต่มันต้องเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่รวมใจกัน ผมเรียกว่าเก้าสิบเก้าเปอร์เซ็นต์รบกับหนึ่งเปอร์เซ็นต์ เหลืองอยู่ในเก้าสิบเก้าเปอร์เซ็นต์นี้ แดงก็อยู่ในเก้าสิบเก้าเปอร์เซ็นต์นี้ เพียงแต่ว่าที่ผ่านมามันถูกแบ่งเพราะคุณเชียร์กันคนละพรรค แน่นอนว่ายังมีปัญหาเรื่องการสลายชุมนุม และอื่นๆ นี่ต้องคิดบัญชีกัน กระบวนการทางกฎหมายต้องคิดบัญชี แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือทำยังไงให้ปัญหาที่ฝ่ายเหลืองก็เจอ แดงก็เจอ จะโยงไปถึงคนหนึ่งเปอร์เซ็นต์ มันคือปัญหาในทางโครงสร้าง เราเลยตัดสินใจตั้งพรรคขึ้นมา แลกกับการที่ต้องลดเพดานในการนำเสนอลง”

8
กลืนเลือด..

“ผมเคยให้สัมภาษณ์ไปครั้งหนึ่ง โดยใช้คำว่ากลืนเลือด คือวันนี้ 27 พฤษภาฯ ครบสี่ปีพอดีที่ผมประชุมตั้งพรรค วันที่ผมกลืนเลือดคือ 15 มีนาฯ 61 วันนั้นเราจดแจ้งชื่อพรรคอนาคตใหม่กับ กกต. ฝ่ายที่เขาไม่ชอบพวกผม ฝ่ายอนุรักษ์นิยม เมื่อเห็นหน้าผม เห็นธนาธร ก็กังวลแล้วว่าพวกนี้ตั้งพรรคการเมือง จะทำอะไรกัน และวันนั้นก็โดนเพื่อนพ้องน้องพี่สื่อสารมาว่าถ้ายังติดเรื่องนี้ มันไปต่อไม่ได้ หรือไปต่อยาก ก็เรียกว่ากลืนเลือด ถ้าย้อนเวลาได้ ผมคิดนะว่าอาจไม่จำเป็นต้องทำถึงขนาดนั้น แต่โอเค เป็นความผิดพลาดที่ตัดสินใจไป กระนั้นก็ตาม ถ้าใครอ่านผมดีๆ ผมเป็นคนเขียนนโยบายพรรคเรื่องรณรงค์หาเสียง เกี่ยวกับประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ในนั้นผมไม่ได้พูดว่าเราจะแก้ 112 แต่ผมพูดเรื่องการแก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาททั้งระบบ คือมันอาจไม่ใช่ข้ออ้าง แต่อย่างน้อยเป็นร่องรอยความพยายามของผมที่อยากผลักดัน หรือพูดอะไรเรื่องพวกนี้อยู่บ้าง ภายใต้ข้อจำกัดที่มี”

9
“จนมาถึงพระราชกำหนดโอนกำลังพล จริงๆ มันปิดประชุมไปแล้ว จู่ๆ มี พรก. นี้ เลยต้องเปิดประชุมพิเศษขึ้นมา โอ้โฮ รอบนั้นผมคิดว่าถ้าผมไม่ต่อสู้ หรือไม่ทำอะไรเลย ชีวิตผม.. มันไม่ใช่เกียรติคุณส่วนบุคคล มันคือสิ่งที่เราพูด เรารณรงค์มาตลอด คือมันไม่ใช่ผมแล้ว เท่ากับขายวิญญาณให้ซาตานไปแล้ว
ถ้าผมไม่ทำอะไรกับพระราชกำหนดโอนกำลังพลเลย เหมือนผมขายวิญญาณให้ซาตาน ขายชีวิตความคิดให้การมาเป็นนักการเมือง ประชาชนคงผิดหวังเพราะเขาเห็นผม เลือกผม คงจะเห็นว่าผมเคยเสนอประเด็นอะไรก้าวหน้าบางอย่างอยู่ ใช่มั้ยครับ ฉะนั้น เรื่องนี้ยังไงก็ถอยไม่ได้”

10
“นี่เป็นที่มาของการพูดคุยกับสมาชิกในพรรค ผลออกมา โหวตไม่เห็นด้วย 70 คน ผมเป็นคนอภิปราย
ส่วนตัวลึกๆ ผมเชื่อว่า.. มันไม่มีบทพิสูจน์หรอกนะ แต่ผมเชื่อว่าการโหวต พรก.ฉบับนี้เป็นต้นเหตุสำคัญของสองเรื่องคือ หนึ่ง, ทำให้ ส.ส. หลายคนไม่ไปต่อกับเรา เพราะรู้ว่าอันตรายแล้ว เขาเลือกที่จะไปที่อื่น และสอง, อาจเป็นเหตุที่คนมีอำนาจรู้สึกว่าให้ผมอยู่ในสภาแห่งนี้ไม่ได้แล้วมั้ง ..เราไม่รู้ ว่ามาจากอะไร แต่ถ้าให้ย้อนเวลากลับหลังไป ผมก็ทำอีกนะ”

11
“ทุกวันนี้ ถ้ามีอะไรสักอย่างที่อยากแก้ ผมอยากแก้ตอนแถลงข่าวตั้งพรรค ว่าผมไม่น่าถอย เอาให้มันตรงไปตรงมาดีกว่า
ผมกลับมานั่งนึก เขาคงไม่มาห้ามผมหรอก คงปล่อยให้ตั้งพรรคไป เพียงแต่ว่าการทำงานภายในมันอาจจะยากขึ้น ในทางกลับกัน พอมานั่งคิด การถอยเรื่องนั้น พอเกิดกระแสสามนิ้วขึ้นมา พรรคก้าวไกลตัดสินใจกลับมาเดินเรื่องนี้ต่อ มันก็สามารถเปลี่ยน ส.ส. ในพรรคหลายคน คือเราเห็นพัฒนาการ ส.ส. ในพรรคหลายคนที่ช่วงแรกไม่ค่อยกล้า โอ้โฮ หลังๆ มีแต่คนมาขออภิปราย เท่าที่มีคนมาเล่าให้ฟังนะครับ หลายคนอยากอภิปรายประเด็นเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์มากขึ้นเรื่อยๆ ผมถึงบอกว่าบางทีถ้าต้องการขยับก้าวหน้าอะไรสักอย่าง อาจต้องสังเวยบางอย่างแลกกัน”

12
สิ่งที่นับเป็นความสำเร็จ พึงพอใจ หรือก้าวหน้า ที่ย้ายสถานะจากนักวิชาการมาเป็นนักการเมือง ?

“อันแรก ผมไม่กล้าพูดร้อยเปอร์เซ็นต์ เดี๋ยวจะหาว่าคิดเข้าข้างตัวเองเกินไป แต่ผมว่าไม่มากก็น้อย การที่ผมกับธนาธรตั้งพรรคอนาคตใหม่แล้วเดินสู้กับการเมืองในระบบเก่า มีส่วนทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่หันมาสนใจการเมืองมากขึ้น แม้วันนี้เขาจะเลือกอนาคตใหม่ เลือกก้าวไกลอีกมั้ย หรือเขาไม่เลือกแล้ว เขาว่าเราทำน้อยไป เขาไปไกลกว่าเราแล้ว อย่างน้อยที่สุดเราน่าจะเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขาสนใจการเมือง และคิดว่าสำคัญกับชีวิตเขาด้วย ผมว่าเรื่องนี้ประสบความสำเร็จ

“กับอันที่สอง ผมพยายามพูดมาโดยตลอด ตั้งแต่ตั้งพรรค เราเชื่อว่าการเมืองคือความเป็นไปได้ ที่ผ่านมาการเมืองเป็นข้อจำกัด เมื่อเข้าสู่ระบบแล้วก็ต้องจำกัดเท่าที่เขาให้เราเดิน แต่ผมพยายามทำให้สิ่งที่คนเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ ให้มันเป็นไปได้ เราอาจยังไม่ได้ทันที แต่อย่างน้อยมันมีแนวโน้ม เช่น การตั้งพรรคแบบนี้ขึ้นมา เอาคนใหม่ๆ มาลง มันก็เป็นไปได้ การอภิปรายในสภาโดยคนหน้าใหม่ๆ ก็เป็นไปได้ กระทั่งการโหวตไม่เอาพระราชกำหนดโอนกำลังพล ที่ผ่านมาไม่มีคนเชื่อว่าจะมีใครโหวต เอ้า ก็เป็นไปได้ ..หลังๆ เพื่อนพี่น้องผมในพรรคก้าวไกลอภิปรายเรื่องงบประมาณสถาบันกษัตริย์ จากคนที่ไม่เชื่อว่าเป็นไปได้ ก็เป็นไปได้ ภาพใหญ่คือพอเราเชื่อว่าสิ่งที่เป็นไปไม่ได้มันเป็นไปได้ มันเกิดความหวังขึ้นมา คิดว่าสองข้อนี้น่าสนใจ คือเป็นแรงกระตุ้นให้เยาวชนคนรุ่นใหม่สนใจการเมือง และสอง, คนมองว่าการเมืองคือความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนแปลง”



13
โดยส่วนตัว รู้สึกว่าพอใจในผลงานของตัวเองมาก ได้คะแนนดี หรือว่ายังทำได้ไม่ดี ?

“ต้องให้คนอื่นตัดสิน สิ่งที่ผมเสียดายคือผมมีเวลาน้อยไป ผมอยู่ในสภาแค่ 10 เดือน 28 วัน คือยังไม่เต็มปีด้วยซ้ำ วันก่อนผมไปคุยกับ ส.ส. พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นซีกรัฐบาลที่คิดเห็นตรงกันหลายอย่าง แต่เขามีข้อจำกัดในแบบของเขา ผมพูดตรงๆ กับเขาว่า ให้ผมอยู่ในสภา 4 ปี แล้วตัดสิทธิ์ผมเพิ่มเป็น 20 ปีก็ได้ ผมยอมแลกนะ ไม่ใช่ว่า ผมอยากเป็น ส.ส. ให้นานกว่านั้น แต่ผมมีความตั้งใจที่จะทำอะไรในสภาอีกหลายเรื่อง เช่น จะอภิปรายเรื่องที่แหลมคมโดยใช้วิชาการมากยิ่งขึ้น อภิปรายในลักษณะที่.. ถ้าไปดู จะเห็นว่าผมไม่เคยด่าใคร ไม่เคยเหน็บแนม แซะ ตอด พูดง่ายๆ ว่าเอาเนื้อๆ เน้นๆ ผมเชื่อว่ามันจะช่วยยกระดับ หรือเปลี่ยนรูปแบบการอภิปรายมากยิ่งขึ้น

“ถ้าอยู่นานกว่านี้ จะได้ทำมากกว่านี้ เพราะจะมีประเด็นแหลมคมตามมาเรื่อยๆ ซึ่งผมน่าจะช่วยได้ อีกเรื่อง ในฐานะที่เป็นประธานกรรมาธิการกฎหมาย สิทธิมนุษยชน ผมอยากให้กรรมาธิการสภามีหน้ามีตา น่าเคารพนับถือมากขึ้น เชื่อมั้ย ผมเข้าไป แรกสุด ผมชวนผู้แทนจากสถานทูตต่างๆ มาคุยเรื่องยกเลิกโทษประหารชีวิต วันนั้นจำได้ เจ้าหน้าที่สภาตกใจ เขาไม่เคยรับแขกต่างประเทศ คือมันสร้างความภูมิใจให้ ส.ส. แม้จะมาจากต่างพรรค เขารู้สึกว่า เออ มีประเด็นพูดคุยกับโลกได้บ้าง เราเป็นสภาชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งหลังรัฐประหาร ก็อยากจะเริ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน มีโปรเจ็กต์ที่อยากทำเยอะเลย แต่เสียดาย เวลามันน้อยไปหน่อย ผมอยากทำเรื่องความเป็นอยู่ของนักโทษที่ติดคุกในราชทัณฑ์ อยากจัดการบรรดาประกาศคำสั่งของ คสช. ที่ออกมาทั้งหมด ยังไม่ได้ทำเต็มที่ อยากทำเรื่องประเด็นปัญหานักโทษการเมืองที่เรื้อรังของทุกสี ทุกฝ่าย เชื่อว่าถ้าสถานการณ์เมืองแหลมคม กรรมาธิการกฎหมายและสิทธิมนุษยชนน่าจะขับเคลื่อนได้มากกว่านี้ เสียดาย.. ถ้าให้ผมอยู่จนครบและรีไทร์ไปเลย ก็ยังได้ อย่างน้อยเราได้ทำเต็มที่ใน 4 ปี”

14
ไม่ถึงกับรู้สึกแย่ ?

“มันมีสองประเด็น, 10 เดือน 28 วัน ผมเสียดาย แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้าย้อนเวลาได้ จะไม่ทำ เพราะถ้าเราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำ นำมาซึ่งการถูกตัดสิทธิ์ เราก็จะไม่ทำ ไม่ใช่ ..บางคนถามผมว่าถ้างั้น ตอนนั้นทำไมคุณไม่ซ่อนอยู่ข้างหลัง มาเป็นกรรมการบริหารพรรคทำไม โดนยุบก็ถูกตัดสิทธิ์ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าอนาคตอาจจะเกิดเรื่องแบบนี้ ให้ย้อนกลับไป ผมก็ไม่แก้นะ ไม่หลบซ่อน เพราะถ้าซ่อน มันก็ไม่ต่างจากพรรคอื่นๆ ที่ทำกัน ที่แย่ ผมก็กลายเป็นคนหลอกลวงตั้งแต่แรก ผมอยากว่ากันตรงไปตรงมามากกว่า หรือย้อนไปเรื่องธนาธรให้พรรคกู้เงิน บางคนถามว่าอยากกลับไปแก้ไขมั้ย ผมว่าเราจะเดินแบบเดิม เราไม่ได้อยากแก้ เพื่อว่าพรรคอาจไม่โดนยุบ ผมเชื่อว่าถ้าเขาจะยุบ ยังไงก็หาทางยุบจนได้อยู่ดี

“อีกประเด็นหนึ่ง ส่องกระจกทุกวัน ถามว่าผมสบตาตัวเองได้อยู่มั้ย.. ผมคิดตลอด พูดกับตัวเองทุกวันว่า ที่ตัดสินใจเข้ามาการเมือง ผมฝันจะเป็นนักวิชาการพร้อมกับเป็นนักการเมือง ไม่อยากเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่อยากเป็นนักการเมืองแท้ๆ ประเภทรอบจัด เจรจา พูดคุย พูดอย่างทำอย่าง เพื่อแก้ไขสถานการณ์ไปวันๆ หรือเป็นนักวิชาการล้วนๆ แบบเดิมอย่างเดียว ก็ไม่สามารถเอาอะไรมาผลักดันได้ คิดทุกวันว่าเราต้องเป็นทั้งสองแบบ ต้องไปเจอคน การเป็นนักการเมือง ไม่เจอคน เป็นไปไม่ได้ เป็นนักวิชาการ ถ้าพูดแล้วประชาชนฟังไม่เข้าใจ คุณอาจโวยวายว่าประชาชนไม่ฉลาด เป็นนักวิชาการบรรยายแล้วนักศึกษาไม่เข้าใจ คุณอาจบอกว่านักศึกษาไม่ขยัน แต่เป็นนักการเมืองพูดแบบนี้ไม่ได้ ถ้าประชาชนไม่เข้าใจสิ่งที่คุณพูด คุณต้องโทษตัวเองว่าสื่อสารไม่ได้เรื่อง”

15
“นักการเมืองสอนให้ผมรู้จักทักษะในการสื่อสารกับคนในวงกว้าง การเป็นนักการเมืองสอนให้ผมมีทักษะเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์
ผมกินเหล้าได้กับนักการเมืองทุกคน ทุกพรรค แต่แน่นอนว่าไม่ได้ไปไหนไปกัน จนทำให้เราเสียหลักการ เสียจุดยืน แต่ผมพร้อมกินเหล้า พูดคุยกับนักการเมืองทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ได้หมด เพราะว่าด้านหนึ่งการเข้ามาในท้ายที่สุดคุณยังไม่มีอำนาจอะไรโดยเด็ดขาด เราต้องผ่านการพูดคุย เจรจา หรือกับสื่อมวลชน ตอนเป็นนักวิชาการ ไม่ต้องพูดคุยกับสื่อก็ได้ สื่อมาสัมภาษณ์เสร็จ จบ กลับ แต่การเป็นนักการเมือง คุณไม่พูดกับสื่อมวลชนมันเป็นไปไม่ได้ การเป็นนักการเมืองสอนผมแบบนี้

“อีกเรื่อง, สิ่งที่สอนผม ก่อนตัดสินใจเข้ามาการเมือง ผมไปคุยกับนักวิชาการท่านหนึ่ง ชัดเจนว่าเขาเป็นรอยัลลิสต์ และผมนับถือว่าเขาเป็นรอยัลลิสต์ที่มีเหตุมีผล แกพูดกับผมมาคำ ว่าสังคมไทยชอบคนอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ชอบคนอวดดี ถือดี ผมกลับมานั่งขบคิด ว่ามนุษย์เรามันมีความอ่อนน้อมถ่อมตนได้โดยไม่ต้องเสียจุดยืนความคิดก็ได้นะ อ่อนน้อมไม่ได้หมายถึงลู่ลมไปได้ทุกทิศ แต่อ่อนน้อมคือท่าที ประเทศอื่นอาจไม่มีความจำเป็น แต่สังคมไทยมีบุคลิกบางอย่างที่ทำให้คนรู้สึกอยากจะฟัง ถ้าลองดูการครองตนของผมในสภา ผมไม่เคยทะเลาะกับใคร แต่ว่าผมทำอะไรของผมตามที่ตั้งใจ เช่น อภิปรายรัฐประหาร เรื่อง คสช. ผมไปเต็มที่นะ แต่ผมไม่เคยไปว่าใครในเรื่องส่วนตัว ไม่เคยจิกกัด แซะ ตอด การเป็นนักการเมืองสอนผม ก็พยายามไม่เสียอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง”

16
ความล้มเหลวล่ะ และกำลังเผชิญปัญหาอะไร ?

“ไม่รู้ว่าเป็น midlife crisis หรือเปล่า ปีนี้ผมย่าง 43 อาจจะย่างเข้า midlife crisis ก็ได้ คือเหมือนผมไม่ชัดกับตัวเอง ผมไม่มีสถานะที่ชัดเจนในตัวผมเอง เช่น กลับไปเป็นนักวิชาการก็ไม่ได้ หรือต่อให้เป็นได้ คนก็ไม่เชื่อว่าผมจะเป็นกลางทางวิชาการ แอบสอนหนังสือไปและเชียร์พรรคไหนไปด้วยหรือเปล่า ยังไงก็ตาม สังคมย่อมติฉินนินทา ยังไม่นับรวมว่า ถ้าผมกลับไป คนจะรู้สึกว่าสุดท้ายก็ไม่ต่างจากคนอื่นๆ โดนตัดสิทธิ์แล้วก็รอกลับมาใหม่ ไม่ได้ทำอะไรเลย ต่อไปคนอาจจะถูกตัดสิทธิ์มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเขารู้ว่าวิธีนี้เป็นยาแรง หยุดคน ไม่ให้แสดงออกในเวทีการเมือง ฉะนั้น ผมก็ถอยกลับไปอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยแบบเดิมไม่ได้ ขณะเดียวกัน ผมก็เคลื่อนไม่ได้เพราะในทางกฎหมายมันทำไม่ได้อยู่แล้วเรื่องครอบงำ ต่อให้ไม่มีใครจับได้ ผมก็เลือกที่จะไม่ทำ เพราะไม่งั้นพรรคใหม่จะเกิดการนำหลายศูนย์ ภาวะผู้นำของแกนนำรุ่นใหม่จะไม่เกิด เหมือนหลายพรรคในปัจจุบันที่ตกลงแล้วใครกันแน่เป็นหัวหน้าพรรค ใครกันแน่เป็นตัวจริง ทำให้หัวหน้าจริงๆ เขาทำงานยาก ..หลังๆ นี่บางทีเจอผู้สมัคร ส.ส. ผมยังไม่รู้เลยว่าเขาเป็นผู้สมัครพรรคก้าวไกล เพราะผมไม่ได้เข้าไปยุ่ง”

17
“ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้คนไม่ทรีตผมเป็นนักวิชาการร้อยเปอร์เซ็นต์
ขณะที่ในบทบาทนักการเมือง ระบบนี้ก็ไม่อนุญาตให้ผมเป็น เวลาผมแสดงความเห็นผ่านทางโซเชียลมีเดีย ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารฝ่ายตรงข้ามไม่ทรีตว่าผมแสดงความเห็นในทางวิชาการนะ เขาคิดว่าผมแสดงเพื่อหวังผลทางการเมือง ทั้งที่ผมก็เข้าไปข้องเกี่ยวกับการเมืองในระบบไม่ได้ ก็เลยเป็นสภาวะที่.. ตกลงศักยภาพ ความรู้ ทักษะที่เรามี จะใช้ประโยชน์ตรงไหนที่มันเกิดผลได้ ..ก็เป็นสภาพปัญหาที่ผมคิดมาตั้งแต่ยุบพรรคว่าจะอยู่จุดไหนดี”

มีคำตอบหรือยัง ?
“มีเรื่องการเมืองท้องถิ่นซึ่งเราสนับสนุนคนต่างๆ ไปลงท้องถิ่น แต่ไม่ได้บริหารเอง ช่วยเขาทำนโยบาย ช่วยเขาหาเสียง มันเคยมีเคสที่พี่ตู่ จตุพร ถาม กกต. ซึ่งก็ได้คำตอบว่าทำได้ ผมก็เลยช่วยเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นผู้ช่วยหาเสียงให้วิโรจน์ด้วย แต่ก็.. ยังไม่ชัด จนผมเริ่มคิดว่าหรือจะกลับมานั่งเขียนหนังสือที่ค้างๆ อยู่ ถ้าเขียนหนังสือ อยู่กับตัวเอง ใช้เวลาเยอะหน่อย น่าจะดี ผมมีงานค้างคาหลายอัน ปัญหาคือผมก็ยังไม่ได้ออกจากวงการเมืองชัดแจ้ง เขียนๆ อยู่ เดี๋ยวเพื่อนพ้องก็มาปรึกษา ถามไถ่คุยกัน ก็.. ทำให้หลุดไปอีก กลายเป็นว่าไม่ได้ทำอะไรสักอย่างที่เรารู้สึกว่าได้ใช้ศักยภาพสูงสุด ยังจับไม่ถูกสักอัน ตอนนี้เริ่มใช้วิธีไปต่างประเทศบ่อยๆ ไปอยู่คนเดียว อยู่กับภรรยา อาจจะนั่งคิดอ่านได้ดีขึ้น”

18
สถานะยังดูงงๆ ?

“ครับ, เรียกว่ากลับไม่ได้ ไปไม่ถึง ไปเป็นอาจารย์ก็ไม่ได้ หรือถ้าได้ ก็เท่ากับว่าการยุบพรรคมันก็ทำสำเร็จสิ ทำแล้ว ถีบผมออกไปได้ ใช่มั้ยครับ ..ไปไม่ถึงคืองานผลักดันในสภา มันไปไม่ได้อยู่แล้วตอนนี้ แต่ยังไงก็ตาม ผมว่าเราประสบความสำเร็จพอสมควรในแง่การสร้างกระแสความรับรู้ของคนรุ่นใหม่ แง่เปลี่ยนภูมิทัศน์การเมือง ทำให้พรรคการเมืองทุกพรรคปรับตัวมากขึ้น ในแง่เปลี่ยนรูปแบบการอภิปรายในสภา แง่ของการพยายามสืบทอดวิธีคิด จิตวิญญาณแบบอนาคตใหม่ จากรุ่นต่อรุ่นไปเรื่อยๆ ผมมองว่าเราจะเปลี่ยนการเมืองให้ดีกว่าเดิม มันต้องเติมคนใหม่เข้ามาเยอะๆ แน่นอนว่าคนใหม่ที่เข้ามาก็ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง แต่ต้องเติมคนใหม่ ไม่งั้นกระจุกอยู่แต่กับพวก political elite ไม่กี่คน แบบนั้นมันเปลี่ยนสังคมไม่ได้หรอก”

19
กำลังขับเคี่ยวอะไร ?

“อาจเป็นปัญหาของผมตั้งแต่เริ่มตั้งพรรคก็ได้ นั่นคือเป็นมนุษย์ที่มีสองภาค ทฤษฎีกับปฏิบัติ ผมพยายามหาทางบาลานซ์สองมุมนี้ให้มันกลมกล่อม ตอนนี้อาจค่อยดีขึ้นก็ได้นะ ผมตั้งมูลนิธิคณะก้าวหน้าขึ้นมา แล้วเปิดหลักสูตรให้คนมาเรียน เปิดหลักสูตรนักการเมืองท้องถิ่นก้าวหน้า ทำหลักสูตรสามเดือน ให้คนมาเรียนเสาร์อาทิตย์ อย่างน้อยที่สุด เป็นวิชาการ มีเนื้อหาที่สถาบันอื่นเขาไม่ทำ ที่อื่นเน้นสอนกฎหมาย การเมืองการปกครอง ของผม เอาประวัติศาสตร์ใส่ไปเยอะๆ เพราะเชื่อว่าเหตุที่กระจายอำนาจไม่ได้ก็เพราะประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม อีกอันหนึ่ง ตั้งใจทำหลักสูตร บรรยายฟรีให้คนอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป เดินสายบรรยายทั่วประเทศ ใช้ความเป็นนักวิชาการกับนักการเมืองมาผสมผสาน พูดง่ายๆ มันไม่ใช่บรรยายแบบหอคอยงาช้าง แต่บรรยายโดยมี political engagement อยู่ มีความคิดทางการเมืองกำกับ”

20
คำว่า midlife crisis จบไปหรือยัง ?

“ยังอยู่ในระหว่าง หลังๆ บางทีผมก็ไม่ชอบตัวเอง หงุดหงิดบ่อย กูวัยทองหรือเปล่าวะ (หัวเราะ) มันหงุดหงิดบ่อย รู้สึกว่าทำไมชีวิตเรามันไม่น่ารักเหมือนเดิม ตื่นเช้ามา เมื่อก่อน ยี่สิบสี่ชั่วโมงแทบไม่ว่าง นอนวันละสามชั่วโมง มาตอนนี้ โอ้โฮ ว่างมาก ว่างจนผมนั่งดูซีรีส์ได้ไม่รู้กี่เรื่อง อ่านวรรณกรรมได้เยอะ หลังๆ แนะนำคนให้ไปอ่านวรรณกรรมเรื่องนั้นเรื่องนี้ ดูซีรีส์เรื่องนั้นๆ ..โดยรวมก็ยังจัดการได้ไม่ดี แต่พยายามหาทางสร้างสมดุลให้มันกลมกล่อม ระหว่างนักวิชาการกับนักการเมือง”

21
อายุสี่สิบสาม หยุดการเรียนรู้หรือยัง ตั้งใจฝึกฝนอะไร ?

“ผมกลับไปอ่านประวัติศาสตร์ปฏิวัติ ทฤษฎีปฏิวัติเยอะขึ้น ใครว่าโบราณ ล้าสมัยก็ช่าง ผมอ่านประวัตินักปฏิวัติเยอะ ศึกษาว่าเขาคิดยังไง สู้ยังไง จบยังไง ล่าสุดอ่านชีวิตทรอตสกี กับอีกด้าน, ทักษะที่ผมขาดมาตลอด เนื่องจากสภาพครอบครัวไม่ได้ร่ำรวย พูดไปก็ตลก ใครเห็นทวิตเตอร์ก็ขำอยู่ ผมอยากว่ายน้ำให้เป็น อยากขี่จักรยานให้ได้ (หัวเราะเสียงดัง) กำลังจะได้ ก็ไม่ว่าง เราเป็นคนเมืองหลวง บ้านไม่รวย สมัยก่อนคุณจะหัดขี่จักรยานได้ยังไง มันไม่มีที่ ไปขี่ พ่อแม่กลัวรถชน โรงเรียนก็ไม่มีสระว่ายน้ำเหมือนสมัยนี้ คิดว่าจะสร้างทักษะที่ควรมีในวัยเด็กซึ่งเราไม่มี”

22
ยังมีเวลาอ่านหนังสือเสมอ ?

“มี สมัยเป็นนักการเมืองผมก็บังคับตัวเอง คนที่ทำให้ผมคิดเรื่องนี้ได้ ว่าต่อให้เป็นนักการเมืองให้ยุ่งตายยังไงแค่ไหนก็ตาม คุณก็ต้องอ่านหนังสือให้ได้คือโอบามา เขาเป็นประธานาธิบดี ใครจะสามารถพูดได้ว่าไม่มีเวลาได้เท่ากับโอบามา ใช่มั้ย เขาต้องยุ่ง ต้องไม่มีเวลาเท่ากับคนอื่นแน่ๆ แต่โอบามาอ่านหนังสือก่อนนอนทุกวัน หนึ่งชั่วโมง สองชั่วโมง ทุกปีเขาเขียนลิสต์ท็อปเท็นหนังสือที่อ่านได้ ท็อปเท็นหนังที่ดูชอบ ผมดูแล้ว เห็นเขาทำได้ ผมอยากทำ อ่านหนังสือก่อนนอนประมาณสองชั่วโมง บางทีอ่านหนังสือชั่วโมงหนึ่ง อีกชั่วโมงดูว่าใครด่าผมบ้าง เก็บไว้ปรับปรุงตัวเอง ตอนนี้ไม่ค่อยได้ไปสำรวจคนด่าแล้ว อ่านหนังสืออย่างเดียว

“ล่าสุดมาเห็นตัวอย่างจากคุณชัชชาติ แกวางตารางไว้ อ่านหนังสือทุกวันก่อนนอน ก็เลย.. ยังไงเรื่องนี้ผมต้องบังคับตัวเอง ผมเชื่อว่าหนังสือมีพลังของมัน หนังสือเป็นเล่มๆ นี่แหละ ผมอ่านบนไอแพดไม่ได้นาน ขีดเส้นยาก เปิดหน้า กว่าจะเจอ ถ้าเป็นกระดาษ บางทีเราจำได้ว่ามันอยู่หน้าไหน”

23
“คนเคยถามผม ว่าซื้อมาเยอะแยะ อ่านหมดเหรอ
โดนตั้งคำถามบ่อยๆ ผมอยากบอกว่าไม่มีใครอ่านหมดหรอกครับ ที่ซื้อมา แต่เราซื้อเพื่ออะไร หนังสือทำหน้าที่หลายอย่าง หนึ่ง, เป็นฐานข้อมูลความรู้ที่วันไหนเราต้องการค้นคว้า เราเรียกใช้ได้เลย วันนี้อยาก หยิบเลย ผมจำตำแหน่งหนังสือได้หมดนะ แม้ว่าไม่เรียงเป็นหมวดหมู่ แต่ผมรู้ ค้นได้ทันที บางทีบังเอิญเล่มนั้นอยู่ปารีส เล่มนี้อยู่กรุงเทพฯ มันก็หงุดหงิดนะ มีปัญหาบ้าง บางทีต้องซื้อเก็บไว้สองที่ให้มันหมดเรื่องไป สอง, เป็นอนุสรณ์ความทรงจำของเรา คือเวลาซื้อมา เราอาจบันทึกว่าซื้อเมื่อไร บางครั้งเขียน บางครั้งไม่เขียนไว้ แต่มีความทรงจำว่าเราหยิบมันอ่านครั้งแรกตอนนั้นรู้สึกยังไง อ่านอีกทีอาจคิดไม่เหมือนเดิมก็ได้ แล้วมันผูกกับความเติบโตของชีวิตเราด้วย แล้วข้อสุดท้าย, หนังสือทำหน้าที่สร้างจินตนาการใหม่ สำหรับผมหนังสือที่มีคุณูปการ มีคุณค่า ไม่ใช่แค่เล่าเรื่องว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน ยังไง แต่มีคุณค่าเพราะว่ามันสามารถกระตุ้นให้เราคิดแบบใหม่ สร้างจินตนาการแบบใหม่ งานวิจัย วิชาการ เสนอร้อยแปดพันเก้า แก้กฎหมายนั้นสิ ทำอันนี้สิ มันทำได้หมด แต่สำคัญกว่านั้นคือมันต้องเปลี่ยนให้เรามองโลกแบบใหม่”

24
“ผมพยายามเขียนหนังสือเกี่ยวกับศาล
อยากชวนคนให้คิดออกไปไกล ว่าศาลไม่ใช่แค่องค์กรชี้ถูกผิดทางกฎหมาย ศาลคือการเมือง ผมอยากกระตุ้นให้เปลี่ยนมุมมองใหม่”

25
จับหนังสือทุกวัน ?

“ใช่, เดินทางก็มีติดตัวทุกครั้ง ขึ้นเครื่องบิน ผมมีหนังสือติดไว้ตลอด ถ้าจะมีอะไรเบียดบังเวลาการอ่านของผมตอนนี้คือไอ้พวกซีรีส์นี่แหละ เพราะว่ามันเยอะมาก”

26
บทสนทนาสั้นๆ ของเราจบลงตรงนี้
ด้วยรุ่งเช้าเขามีบรรยายที่ จ.ลำปาง

27
ตามที่เป็นข่าวเมื่อวาน ปิยบุตร แสงกนกกุล ถูกฟ้องคดี 112


เขาเขียนแจ้งข่าวว่า–

“ผมนำเสนอความเห็นทางวิชาการ เขียน อภิปราย เกี่ยวกับประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และเสนอให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ทั้งในระดับรัฐธรรมนูญและระดับพระราชบัญญัติมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี ตั้งแต่สมัยยังเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนกระทั่งเข้าสู่แวดวงการเมือง ตลอดเวลามากกว่า 10 ปี จนถึงปัจจุบัน ไม่มีการแสดงความเห็น การเขียน การพูดของผมครั้งใดที่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างแน่นอน ผมแสดงความเห็นในเรื่องเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ก็ด้วยจิตสำนึกและเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย เพื่อรักษาประชาธิปไตยและรักษาสถาบันกษัตริย์ให้ดำรงอยู่รอดปลอดภัยภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปกำลังเผชิญกับความท้าทายของยุคสมัย”

28
“ไม่มีความเห็นใดของผมที่ต้องการเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ ไม่มีความเห็นใดของผมที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ มีแต่ความเห็นที่ปรารถนาดีต่อสังคมไทย
ต้องการให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่ทำให้ทุกคนทุกรุ่นทุกวัย ทุกความคิดเห็นที่แตกต่างกัน สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ โดยยังคงรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ได้ต่อไป

“ตลอดชีวิตของผม ไม่เคยเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา จนกระทั่งเข้าสู่แวดวงการเมือง ก่อตั้งพรรคการเมือง ผมจึงได้เป็นผู้ต้องหาครั้งแรกในคดีดูหมิ่นศาล และความผิดอาญาทางคอมพิวเตอร์ และเป็นจำเลยครั้งแรกในคดีความผิดตาม พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะและความผิดฐาน ‘ยุยงปลุกปั่น’ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ในส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นี่เป็นครั้งแรกที่ผมถูกร้องทุกข์กล่าวโทษ กลายเป็นผู้ต้องหาในความผิดฐานนี้ ไม่ต้องคิดอย่างสลับซับซ้อนก็คงตอบได้ว่า สถานะผู้ต้องหาและจำเลยในคดีเหล่านี้ ผมได้มาก็เพราะสัมพันธ์กับบทบาททางการเมือง”

29
“บรรดา ‘นักร้อง’ Hyper Royalist /Ultra Royalist ฟ้องผมในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะต้องการหยุดไม่ให้ผมพูด แต่หยุดผมไม่ได้หรอกครับ
ผมจะเดินหน้าแสดงความเห็นทางวิชาการ รณรงค์ข้อเสนอต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ต่อไป เพื่อพิสูจน์ว่าความเห็นและข้อเสนอแบบผมต่างหากที่จะช่วยรักษาสถาบันกษัตริย์ให้อยู่รอดปลอดภัยในยุคปัจจุบัน พฤติกรรมของพวกเขาต่างหากที่จะผลักดันสังคมไทยไปถึงทางตัน และไม่เป็นคุณต่อสถาบันกษัตริย์

“ผมจะไปพบคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนที่ สน. ดุสิต ในวันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน นี้ เวลา 10.00 น. –แล้วพบกันครับ”

30
‘เอาจนได้’ ผมคิดถึงข้อความพาดหัวข่าว


และคำบอกเล่าอันหนักแน่นของเขา “ผมต้องกลับมาพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างจริงจัง”.

เรื่องและภาพ: วรพจน์ พันธุ์พงศ์
หมายเหตุ : ภาพทั้งหมดเป็นงานเก่า ถ่ายสะสมไว้ในรอบสี่ปีที่ผ่านมา